IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  บทสัมภาษณ์  >  วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์

วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด  และ อาจารย์สถาปัตย์ มอ.

ขอขอบคุณ ประเด็นคำถามสัมภาษณ์ จาก ผู้สื่อข่าวกองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ตรังนิวส์



 

ปัจจุบันคุณอายุเท่าไหร่ ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ไหน
ดิฉันเป็นคนตรังโดยกำเนิด เป็นลูกสาวคนโตของคุณพ่อวิศาล และ คุณแม่สมสุข สุทธินนท์ บ้านเดิมอยู่ที่ถนนไทรงาม ท้ายซอยของร้านสิริบรรณเก่า ในตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรังค่ะ ปัจจุบันอายุ 39 ปี (เกิดปี พ.ศ. 2515 ค่ะ)

 

อาชีพดั้งเดิมของพ่อแม่คืออะไร
พ่อแม่ของดิฉันรับราชการทั้งคู่ แม่เคยทำงานอยู่ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง ส่วนตำแหน่งสุดท้ายของพ่อก่อนเกษียณคือปลัดอำเภอเมืองตรังค่ะ 

 

มัธยมปลายเรียนจบที่ไหน
ตั้งแต่อนุบาลจนถึงม. 3 ดิฉันเรียนที่โรงเรียนบูรณะรำลึก และไปสอบเข้าเรียนต่อ ม.ปลายที่โรงเรียน สามเสนวิทยาลัย กรุงเทพฯ สอบเทียบตอน ม.5 เข้าสถาปัตย์ จุฬา

 

อาชีพที่ใฝ่ฝันตอนเด็กๆคืออะไรคะ
ตอนเรียนสมัยเด็กๆ ดิฉันก็เหมือนเด็กต่างจังหวัดทั่วไป ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเลือกอาชีพที่หลากหลายมากนัก ต่างกับสมัยนี้ที่มีช่องทางการรับรู้ข่าวสารข้อมูลมากมาย ทำให้รู้จักกับทางเลือกหลากหลายกว่า ด้วยความบังเอิญตอนสอบเข้าเรียน ม. 4 ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยนั้น ดิฉันสอบเข้าได้ลำดับที่ 1 ทำให้มีหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนมาขอสัมภาษณ์ และในครั้งนั้นดิฉันก็ถูกถามว่า อยากทำอาชีพอะไร ความที่ไม่รู้จักอาชีพอะไรมากนัก ประกอบกับชอบเรียนทั้งวิทยาศาสตร์ ชอบคำนวณ และชอบวาดรูปด้วย จึงตอบไปว่าอยากเป็นสถาปนิก เพราะเป็นวิชาที่ต้องใช้ทั้งความรู้วิทยาศาสตร์และศิลปะควบคู่กัน คำตอบนี้เป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจมาตลอด

 

ตอนเด็กๆจนถึงเข้ามหาวิทยาลัย เรียนหนังสือเก่งไหมคะ เกรดอย่างไรบ้าง
สมัยเรียนหนังสือ แม้ว่าดิฉันจะไม่ได้เป็นคนหัวดีมาก แต่ได้เกรดที่น่าพอใจ เพราะชอบบรรยากาศการเรียน ได้ครูดี ที่ทำให้มีแรงบันดาลใจ และขยันอ่านทบทวนมาก ประกอบกับเป็นคนชอบอ่านหนังสือด้วย

 

ในวัยเด็กได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวอย่างไรบ้าง
การปลูกฝังในครอบครัวของดิฉัน พ่อแม่จะไม่เน้นการอบรมสั่งสอนด้วยคำพูด แต่มาจากการปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง ในเรื่องความซื่อสัตย์ อดทน ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค ฯลฯ เมื่อพ่อแม่ฝึกให้เราคิดเป็น ช่วยเหลือตัวเองได้ ช่วยเหลือคนอื่นได้ ก็จะให้อิสระในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การทำงาน หรือการใช้ชีวิต ไม่เคยถูกกดดันหรือบังคับให้ทำตามใจพ่อแม่เลย มีแต่สนับสนุนและให้กำลังใจ แต่เพราะเรารู้ว่าพ่อแม่รักเรามาก ถึงพ่อแม่จะไม่คอยบังคับขู่เข็ญ เราก็จะไม่ออกนอกลู่นอกทาง เพราะไม่อยากให้พ่อแม่เสียใจ 

 

สิ่งที่ยึดมาใช้จากพ่อแม่ ครอบครัวมาจนถึงปัจจุบันคืออะไรบ้าง
สิ่งที่ยึดถือในการดำรงชีวิตจากครอบครัวมาจนปัจจุบันคือความซื่อสัตย์ ทำมาหากินด้วยความสุจริต ไม่โลภ และไม่ทุจริตคดโกง ไม่ยึดติดกับวัตถุหรือทรัพย์สินเงินทองมากจนมองข้ามความถูกต้อง หรือละเลยคุณค่าทางจิตใจและครอบครัว

 

ทำไมถึงเลือกเรียนสถาปัตย์ฯ
เหตุผลที่เลือกเรียนสถาปัตย์ ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นคนที่ชอบคิดสร้างสรรค์ ชอบศิลปะ แต่ในขณะเดียวกันก็ชอบความเป็นเหตุเป็นผล ชอบการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ด้วย ซึ่งสาขาวิชานี้จำเป็นต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ผสมกัน เนื่องจากเป็นสาขาวิชาที่ต้องตอบสนองความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และผลงานสถาปัตยกรรมก็เป็นสิ่งที่ยืนหยัดอยู่ข้ามกาลเวลา เป็นหมุดหมายของประวัติศาสตร์ และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นวัฒนธรรม อารยธรรมของชนชาติต่างๆ

 

ทำไมถึงชอบงานเขียนด้วย
สำหรับความรักในงานเขียน เริ่มต้นมาจากความรักในการอ่าน ซึ่งเดิมเป็นเพียงงานอดิเรก ประกอบกับกระบวนการในการเรียนสถาปัตยกรรม นอกจากจะต้องสื่อสารด้วยภาพแล้วยังต้องมีการสื่อสารด้วยการเขียน และการพูด นิสิตคณะสถาปัตย์จึงถูกฝึกให้เขียน ให้วาด ให้ถ่ายทอดความคิดของเราด้วยสื่อประเภทต่างๆอยู่เสมอ ส่วนตัวดิฉันเองที่จับงานเขียนอย่างจริงจังจนทำให้เบนเส้นทางชีวิตเข้ามาสู่การเป็นนักเขียน คอลัมนิสต์ และบรรณาธิการนั้น  ก็เพราะเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก และชอบคิดเรื่องราวต่างๆ โดยเอาความรู้จากสิ่งที่อ่านมาผสมผสานกัน เมื่อคิดแล้วก็อยากบันทึกไว้เป็นเรื่องราว แรกๆก็เขียนเองอ่านเอง นานเข้าก็แบ่งให้คนอื่นอ่านด้วย ซึ่งต้องขอบพระคุณไปยังคุณครูวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษทุกท่านที่โรงเรียนบูรณะรำลึกผู้ปลูกฝังให้ดิฉันมีความรักในการใช้ภาษามาจนทุกวันนี้

 

มาเป็นบก.นิตยสาร Hi-Class ได้อย่างไร
หลังเรียนจบปริญญาโท ดิฉันทำงานเป็นอาจารย์รุ่นก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และมีบริษัทออกแบบของตัวเอง ชื่อ ดีพี สตูดิโอ จำกัด หลังจากที่งานในอาชีพหลักไปได้ดีโดยที่ดิฉันไม่เหนื่อยมากนัก ก็มีเวลามาเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก โชคดีได้มีหนังสือวรรณกรรมของตัวเองตีพิมพ์ออกมา ได้รับเชิญเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารต่างๆ ทำให้ดิฉันค้นพบว่าชอบงานเขียน และชอบงานสื่อสารมวลชน และเมื่อมองย้อนไปในอดีต ก็เห็นว่า เด็กไทยเรามีความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพต่างๆน้อยมาก ในปี 2545 ดิฉันจึงเปิดแมกกาซีนออนไลน์ที่รวมบทสัมภาษณ์คนทุกสาขาอาชีพเพื่อให้ความรู้แก่เด็กๆในการตัดสินใจเลือกอาชีพ ชื่อว่า YES! หรือ www.yes-wedo.com  ซึ่งมีคอนเซ็ปต์ว่า “สาระบันเทิง เพื่อชีวิตที่ใช่ในแบบของคุณ” เว็บนี้ทำให้ดิฉันได้สวมบทบรรณาธิการเป็นครั้งแรก และเมื่อมีการเผยแพร่ข่าวให้เว็บ YES! เป็นที่รู้จัก ก็มีนิตยสารอื่นมาชวนไปลองทำงานเป็นบรรณาธิการ และดิฉันก็ตอบรับนิตยสาร HI-CLASS เพราะเป็นสื่อที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตผู้คน โดยเฉพาะการสัมภาษณ์บุคคลเป็นสิ่งที่ดิฉันชอบมาก มีเซคชั่นศิลปะที่ตรงกับรสนิยมของดิฉัน ถือเป็นโอกาสที่ได้ก้าวสู่อาชีพการเป็นสื่อมวลชนเต็มตัว

 

ชอบคำว่าสถาปนิกนักเขียนไหมคะ แล้วรู้สึกอย่างไรกับคำนี้
คำว่า ‘สถาปนิกนักเขียน’ เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญที่หนังสือพ้อคเก็ตบุ้คเล่มแรกของดิฉัน ออกตีพิมพ์ในจังหวะที่ดิฉันชนะเลิศการประกวดออกแบบสถาปัตยกรรมโครงการบ้านกับธรรมชาติ ทำให้มีสื่อมาสัมภาษณ์และเผยแพร่ออกไปในช่วงเดียวกัน ซึ่งดิฉันก็รู้สึกกระดากที่ถูกเรียกแบบนี้ เพราะดิฉันเองก็ไม่ใช่สถาปนิกที่เก่งกาจ หรือเป็นนักเขียนที่มีผลงานดีเด่นอะไรมาก แค่ทำได้อย่างละนิดอย่างละหน่อย ... รู้แบบเป็ดเท่านั้นเอง : ) 

 

คิดว่าทำไมถึงทำอะไรได้อย่างหลาย ไปพร้อมๆกัน(หมายถึงงานหลายด้าน ครอบครัวและอื่นๆ)
ดิฉันมักโดนตั้งคำถามเสมอว่า ทำไมถึงทำอะไรหลายอย่างไปพร้อมๆกัน ถ้าเป็นเมื่อก่อนดิฉันคงตอบว่า เป็นเพราะมีความสนใจหลายอย่าง แต่มาถึงตอนนี้ ดิฉันคิดว่าเหตุผลจริงๆ นั้นน่าจะมาจากการที่ครอบครัวไม่ได้ปลูกฝังให้เราใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวย แต่หล่อหลอมให้เราเป็นคนที่รักการผจญภัยในชีวิต รักการแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ ชอบการเดินทาง การถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ชอบพบปะสังสรรค์กับผู้คน รักการอุทิศตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม รักครอบครัว และเหนือสิ่งอื่นใดคือรักที่จะมีความสุข ซึ่งความสุขในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความสุขในทางวัตถุ แต่เป็นความสุขสงบทางจิตใจ ไม่รุ่มร้อนอยากได้ทรัพย์สินเงินทองอะไรมาก เมื่อเราไม่ต้องคร่ำเคร่งมุ่งหาเงินมากนัก ก็จะมีเวลาเหลือทำอย่างอื่นได้เยอะแยะ ดิฉันมาสังเกตตัวเอง จากการที่ดิฉันทำหนังสือ HI-CLASS ได้รู้จักของหรูของแพงมากมาย แต่กลับไม่เคยรู้สึกอยากได้หรืออยากครอบครองอะไรเลย มีแค่ความอยากรู้อยากเห็น อยากไปถ่ายรูป แล้วกลับมานั่งหลังขดหลังแข็งเขียนคอลัมน์ เขียนหนังสือ ได้เงินนิดหน่อยแต่มีความสุขเหลือเกิน ที่สำคัญได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวเต็มที่ มีเวลาไปดูแลพ่อแม่ ได้กอด ได้ใกล้ชิดกับลูกทุกวัน สอนลูกทำกับข้าว วาดรูป ดูหนัง ฟังเพลงด้วยกัน มีเวลาไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกับสามี ได้สังสรรค์กับเพื่อนฝูง ทุกวันนี้ดิฉันมีความสุขดีตามอัตภาพ

 

นิยามคำว่าการบริหารชีวิตคืออะไร
การได้เกิดมาเป็นคนบนโลกใบนี้ เปรียบได้กับการที่เรามีบัตรเที่ยวสวนสนุกมาคนละใบ ในสวนสนุกมีเครื่องเล่นให้เลือกหลายอย่างตามความชอบ ถ้าเราแข็งแรง และรู้วิธีที่จะเล่นอะไรได้หลายๆอย่าง ก็สามารถเลือกลองของเล่นได้มากกว่าคนอื่น  ถ้าเราไม่แข็งแรง ขี้เกียจหาความรู้ และขี้เกียจลงแรง ก็เล่นได้น้อย
สมมุติว่าสวนสนุกเปิดตอนเก้าโมงเช้า ปิดตอนห้าโมงเย็น ตอนนี้ถ้าเปรียบกับชีวิตดิฉันก็คงเหมือนได้เล่นมาถึงตอนบ่ายโมงแล้ว การบริหารชีวิตที่ดีในทัศนะของดิฉัน ก็คือการจัดการเวลาที่มี หรือเวลาที่เหลืออยู่ ให้สมดุลกับทุกเรื่องที่เราอยากจะเล่น จะได้เล่นให้ครบ เล่นให้ดีโดย ไม่ต้องเจ็บตัว และเมื่อหมดเวลา ทุกอย่างจบ เราต้องออกจากสวนสนุกกลับบ้านเก่าไป คนอื่นก็มาเล่นต่อ หลักการของดิฉันคือ เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็อยู่ให้เป็นสุข เมื่อจากไป ก็ไม่มีอะไรให้ต้องเสียใจ

 

ทำไมถึงคิดมาร่วมก่อตั้งคณะสถาปัตย์ฯ มอ.ตรัง(บ้านเกิด)
ดิฉันทราบข่าวการเปิดคณะสถาปัตย์ มอ.ตรัง จากการที่ดิฉันทำเว็บไซต์ www.iamtrang.com  ซึ่งนำเสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับตรัง รวมถึงบุคคลในภาคส่วนต่างๆของตรัง เช่น คุณสลิล โตทับเที่ยง , คุณชาลี กางอิ่ม, คุณไมตรี อินทุสุต ฯลฯ และดิฉันมีโอกาสได้มาสัมภาษณ์คุณชวน หลีกภัย เมื่อท่านทราบว่า ดิฉันเคยเป็นอาจารย์สถาปัตย์ จึงชวนมาช่วยโครงการฯ ซึ่งดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสทำเพื่อบ้านเกิดของเรา   เพราะดิฉันเองก็เห็นว่า ตรังและจังหวัดต่างๆในภาคใต้เป็นภูมิภาคที่อุดมด้วยทรัพยากรมากมาย แต่ยังขาดแคลนองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับบริบทในภูมิภาคภาคของเราอย่างแท้จริง  ในด้านการออกแบบ การวางผังเมือง การจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงความรู้ในการออกแบบที่จะมาช่วยพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ การเปิดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงน่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืน และการที่ดิฉันจะได้มีโอกาสช่วยงานนี้ก็นับเป็นเกียรติแก่ตนเองและครอบครัวอย่างยิ่ง

 

คาดหวังอะไรบ้างกับการร่วมก่อตั้งครั้งนี้
การเข้ามาร่วมงานในระยะแรก ไม่ได้มีการผูกมัดอะไรเลย ทุกคนยินดีมาช่วยแบบอาสาสมัคร ไม่ว่าจะเป็น ผศ. ดร. ไตรรัตน์ จารุทัศน์ (หัวหน้าโครงการ), อ. ตรีชาติ เลาแก้วหนู และ อ.คัมภีร์ คล้ามนฤมล เพราะทุกท่านต่างหวังอยากจะเห็นสิ่งดีๆเกิดขึ้นในท้องถิ่นของเรา แต่เมื่อถึงขั้นที่ต้องมีอาจารย์ประจำหลักสูตร ทางมหาวิทยาลัยก็ต้องให้เราทุกคนตัดสินใจว่า จะสามารถเข้ามาช่วยงานอย่างเต็มตัวในฐานะอาจารย์ของมอ.ตรัง เป็นทางการได้เมื่อไหร่ ซึ่งนอกจากจะมีคณาจารย์ชุดแรกที่มาประจำแล้ว เราก็ยังมีคณาจารย์สถาปัตย์ผู้ทรงคุณวุฒิระดับแนวหน้าของประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆเข้ามาสอนให้เราอีกมากมาย

 

คณะทำงานก่อตั้งคณะฯ มาจากส่วนไหนบ้าง
คณะทำงานของเรา มีผู้นำคือ ท่านรองอธิการบดี รศ. ดร. ปิติ ทฤษฎิคุณ  ผู้บริหารสูงสุดของ มอ. วิทยาเขตตรัง ร่วมกับ ผศ.พักตรา คูบุรัตถ์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ  โดยมี ผศ. ดร. ไตรรัตน์ จารุทัศน์ จากสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เป็นหัวหน้าทีมจัดตั้งคณะ ร่างหลักสูตร และเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยมีคณาจารย์ผู้ร่วมทีมซึ่งนอกจากจะเป็นผู้สอนในอนาคตแล้ว ก็มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันในช่วงก่อตั้ง ได้แก่ อ. ตรีชาติ เลาแก้วหนู เป็นผู้ดูแลเรื่องงานวิชาการ อ.คัมภีร์ คล้ามนฤมล เป็นผู้ดูแลในเรื่องการเตรียมความพร้อมทางกายภาพ และตัวดิฉันเองดูแลงานด้านประชาสัมพันธ์

 

ฝากอะไรถึงนักเรียนที่คิดจะเป็นรุ่นบุกเบิกสถาปัตย์ฯ มอ.ตรัง
สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์นั้น เป็นสาขาวิชาที่ไม่เพียงแต่เรียนสนุก อุดมด้วยความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังเป็นสาขาวิชาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศและท้องถิ่น การเปิดคณะขึ้นในมอ. วิทยาเขตตรัง จึงเป็นโชคดีของนักเรียนในภาคใต้ที่ต่อไปไม่จำเป็นต้องจากบ้านไปเรียนต่อต่างถิ่นไกลบ้าน เพราะคณะสถาปัตย์ที่นี่มีคุณภาพไม่แพ้ใคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับด้วยมาตรฐานคุณภาพการศึกษาระดับนานาชาติ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการผลิต ทรัพยากรบุคคล 'ระดับผู้นำ' ที่ถึงพร้อมด้วยวิสัยทัศน์ องค์ความรู้ ทักษะ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ ด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ สามารถตอบสนองความต้องการทางวิชาชีพ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับสากล ได้อย่างมีคุณธรรมและมีจิตสำนึกที่ดีงามต่อสังคม

 

ฝากอะไรถึงผู้หญิงเมืองตรังบ้าง
 จากที่ได้เกิด เติบโตขึ้นมาเป็นชาวตรัง และมองย้อนกลับเข้าไปสู่เมืองตรังอีกครั้งหลังจากที่มาใช้ชีวิตอยู่ต่างถิ่นมากกว่าครึ่งชีวิต ดิฉันสังเกตว่า ตรังเป็นเมืองที่มีผู้หญิงเก่ง มีความเก่งกาจสามารถเท่าเทียมกับผู้ชายอยู่เป็นจำนวนมาก หรือจะมองว่าเป็นส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้ครอบครัวของคนบ้านเรามีความเข้มแข็ง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และทางวัฒนธรรม เพราะผู้หญิงเป็นกำลังสำคัญในครอบครัวเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ชายได้แล้ว ผู้หญิงยังเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของท้องถิ่น แสดงให้เห็นว่า เมืองตรังของเรามีความเจริญในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ที่มอบความเท่าเทียมทางเพศมาให้กับผู้คนในสังคมมาตั้งแต่สมัยก่อนๆ และบุคลิกที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของผู้หญิงเมืองตรัง คือมีลักษณะความเป็นผู้นำสูง เฉลียวฉลาด ขยัน อดทน มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็มีบทบาทที่อ่อนโยนของความเป็นแม่ และเป็นภรรยาที่ให้เกียรติ เคารพสามี ซึ่งเป็นคุณลักษณะสามประการที่หลอมรวมกันได้ลงตัวอย่างน่าทึ่งและน่าชื่นชม
 

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 21490
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย