IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  เอกลักษณ์สำคัญของท้องถิ่น  >  เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ-พะยูน

เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ-พะยูน

               ตันหยง ตันหยง  หยงไหรละน้อง  เจ้าดอกเหฺมฺล
          บังไปไม่รอดเสียแล้วแด  ถูกเหน่น้ำตาปลาดุหยง
          คดข้าวสักหวัก   คิดถึงน้องรักบังกินไม่ลง
          ถูกเหน่น้ำตาปลาดุหยง  บังกินไม่ลงสักคำเดียว
     บทเพลงรองเง็งบทนี้ร้องกันอยู่ในแถบชายฝั่งทะเลตะวันตก ซึ่งรวมทั้งที่เมืองตรัง นอกจากการทำหน้าที่สะท้อนความเชื่อแล้ว ยังเป็นเครื่องยืนยันว่ปลาดุหยงหรือพะยูนเป็นที่รู้จักมานานแล้วในแถบนี้
     ปลาดุหยงหรือพะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตระกูลเดียวกับช้าง มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น หมูน้ำ เงือก วัวทะเล Dugong Sea cow มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dugong dugong
     มีนิทานชาวบ้าน กล่าวถึงหญิงมีครรภ์ที่อยากกินลูกหญ้าชะเงาซึ่งเป็นหญ้าทะเลชนิดหนึ่ง การกินหญ้านี้ทำให้นางกลายเป็นปลาดุหยงไปในที่สุด
     สมัยก่อน เรื่องราวของพะยูนคงเป็นรับรู้กันเฉพาะในหมู่เล ทั้งด้วยตำนาน บทเพลง ความเชื่อ และปรากฏการณ์จริงที่พะยูนบังเอิญมาติดอวน หรือมาเกยตื้นตาย
     พ.ศ. 2535 การประโคมข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการพบพะยูนฝูงสุดท้าย ผลการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน จิตสำนึกของประมงชาวบ้านที่เริ่มตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลไว้เป็นหม้อข้าวหม้อแกงให้กินนานๆ รวมกับการที่ทางราชการเริ่มส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเอกชนจัดงานสัปดาหักษ์พะยูน ล้วนส่งผลต่อการอนุรักษ์พะยูน
     เรื่องของ โทน พะยูนน้อย ซึ่งกลายเป็นตำนานของหมู่บ้านเจ้าไหมเกิดขึ้นเมื่อปี 2537 เมื่อเด็กน้อยแห่งบ้านเจ้าไหม พบพะยูนเกยตื้นและได้ช่วยชีวิตมันไว้ วันต่อๆ มามันก็เข้ามาวนเวียนอยู่อีกพวกเขาเลยตั้งชื่อให้ว่า “เจ้าโทน” โทนคุ้มเคยกับผู้คนในหมู่บ้านรวมทั้งผู้ใหญ่บ้าน เข้ามาเล่นกับเด็กๆ ยอมให้จับต้องได้ เมื่อข่าวแพร่ออกไป นักท่องเที่ยวก็หลั่งไหลเข้ามา หมู่บ้านเจ้าไหมกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คึกคักในยามนั้น เพียงหนึ่งปีผ่านไปเหตุการณ์เศร้าสลดก็เกิดขึ้น ด้วยข่าว “โทนตายแล้ว...โทนติดอวนตาย” หลังจากนั้นข่าวการตายของพะยูนตัวอื่นก็ตามมาเป็นระลอก
     ปี พ.ศ. 2539 จังหวัดตรังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 29 ในครั้งนั้นได้ใช้พะยูนเป็นสัตว์สัญลักษณ์และใช้ชื่อว่า พะยูนเกมส์ ทำให้ชื่อพะยูนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ และเมืองตรังเป็นที่รู้จักเริ่มขึ้นอีกนามหนึ่งคือ ดินแดนแห่งพะยูนฝูงสุดท้าย
     จากข่าวพะยูนฝูงสุดท้ายประมาณ 60 ตัวในปี พ.ศ. 2535 มีข่าวใหม่จากการสำรวจของสถาบันชีววิทยาทางทะเลภูเก็ตเมื่อ พ.ศ. 2541 ว่าพบพะยูนเพียง 34 ตัวเท่านั้น กระแสอนุรักษ์พะยูนที่เคยครึกโครมดูจะเบาบางลง แต่กลุ่มประมงพื้นบ้านยังคงเดินหน้าในการอนุรักษ์ชายฝั่ง เน้นการทำประมงด้วยเครื่องมือที่ไม่ทำลาย ซึ่งจะส่งผลให้ระบบนิเวศทางทะเลสมบูรณ์ขึ้น แนวหญ้าทะเลที่เป็นอาหารของพะยูนไม่ถูกทำลายนั่นคือการอนุรักษ์พะยูนอย่างแท้จริง เพราะทะเลที่สมบูรณ์จะช่วยรักษาพะยูนไว้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรัง

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 18907
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย