IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น  >  ตรังนา : กับภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่จำต้องผสมผสานเพื่อความอยู่ได้

ตรังนา : กับภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่จำต้องผสมผสานเพื่อความอยู่ได้

     ความเป็นตรังนา มิได้เป็นเหมือนชุมชนชาวนาภาคกลางที่มีพื้นที่นาสุดลูกหูลูกตาเป็นร้อยๆ ไร่ ผืนที่นาของเมืองตรังมีอยู่เป็นแปลงเล็กแปลงน้อยกระจายกันอยู่ตามที่ราบลุ่มระหว่างควน  ริมห้วย ริมคลอง ริมบ้าน ริมพรุ หมู่ตรังนาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำนาบนพื้นที่นาสี่ไร่ห้าไร่ เป็นการทำนาเพื่อเก็บไว้กินเอง ไม่เหลือพอที่จะขายข้าว หมู่ตรังนาจึงต้องทำนาปี ผสมผสานไปกับการเลี้ยงสัตว์ปลูกผัก
     ด้วยความหลากหลายในวิถีการดำรงอยู่ร่วมกันให้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ตรังนา ภูมิปัญญาตรังนา และเทคโนโลยี ตรังนา โดยเฉพาะ
       
     ทำนาน่ำ หรือนาหยอด
     ภูมิปัญญาประยุกต์ตรังนา เมื่อฝนแปดแดดสี่ เหลือแต่คำบอกเล่า
     ความเป็นเมืองฝนแปด แดดสี่ ของจังหวัดตรัง เหลือไว้แค่คำเล่าขานวันนี้ของชาวเมืองตรัง ฝนน้อย น้อยจนนาดอนในหลายๆ พื้นที่ไม่มีน้ำพอจะทำนาปีได้ ตรังนาบ้านโพธิ์ เขตอำเภอเมืองตรัง ประยุกต์วิธีการน่ำไร่ มาทำนาน่ำ คือใช้สัก (ไม้ยาวเหมือนพลองลูกเสือ ปลายแหลมมน) สักแทงเป็นหลุม พอหยอดกลบเมล็ดข้าวได้ การทำนาน่ำ หรือนาหยอด แม้ฝนจะทิ้งช่วง น้ำในนาไม่คึงขังก็ไม่ทำให้ข้าวกล้าเสียหาย ด้วยไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปปักดำใหม่อีก นับเป็นภูมิปัญญาประยุกต์ของหมู่ตรังนา
       
     ขายข้าว ตรังนาถือว่าเป็นเรื่องอุบาวท์
     การที่หมู่ตรังนามีความคิด ความเชื่อเช่นนี้ เนื่องจากการทำนาบนพื้นที่ไม่มากนัก แต่พอกินปีต่อปี หรืออย่างเก่งแต่ข้ามปี การขายข้าวจึงถือเป็นสิ่งไม่ควรทำ เป็นเหมือนคนสิ้นคิดเป็นความเชื่อทางคติชนที่มีความหมายห้ามเตือนไม่ให้ประมาท ในทำนองว่า “อย่างอื่นมี – ไม่มี ไม่เป็นไร แต่ข้าวเปลือกต้องอยู่กับเรือนข้าว” เสมอ
       
     ปลูกกล้วย – เลี้ยงวัว วัวไม่กินหน่อกล้วย
     ถ้าจะถือเอาภูมิปัญญาตามตำราวิชาการ เป็นตัวตั้ง การปลูกกล้วยกับการเลี้ยงวัวในพื้นที่เดียวกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะใบและยอดหน่อยกล้วยคืออาหารโปรดของวัวทุกตัว แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องมีวัวไว้ไถนา มีกล้วยไว้กินไว้แกง หมู่ตรังนาค้นพบวิธีการป้องกันไม่ให้วัวกินหน่อกล้วย โดยนำเอาขี้วัวสดมาละเลงน้ำ เข้มข้น แล้วใช้เปลือกมะพร้าวจุ่มน้ำขี้วัวเข้มข้น ระบายทาใบกล้วย ยอดกล้วย รับรองได้เลยว่า อาทิตย์ – สองอาทิตย์ วัวไม่กล้าแตะต้องใบกล้วย ยอดกล้วยเป็นอันขาด
  
     เลี้ยงไก่บ้าน – ปลูกพริกขี้หนู ไก่ไม่จิกเม็ดพริกขี้หนู อยู่ร่วมกันได้
     ปกตินั้นการเลี้ยงไก่บ้านตามธรรมชาติกับการปลูกพริกขี้หนู ไปด้วยกันไม่ได้เพราะไก่ชอบจิกเม็ดพริกขี้หนู ไม่มีเหลือไว้ให้คนปลูกได้กิน และยังทำให้ต้นกิ่งร่อยเราะหักรานแล้วเฉาตายไปในที่สุด ภูมิปัญญาตรังนา ใช้กานใบระกำริดใบออก คงหนามไว้ ตัดเป็นท่อนๆ วางรอบๆ ต้นพริกขี้หนู ไก่ไม่กล้าเข้ามาจิกกินเม็ดพริกเป็นอันขาด เพราะกลัวหนามระกำจะตำเอา
       
     เดือนสามหลามเหนียว กินอยู่ตามฤดูกาล
     กินอาหารให้ได้รส ได้คุณค่า ต้องกินอาหารที่มี เป็น อยู่ ตามฤดูกาล เท่านั้น กินเหนียวหลาม ต้องกินเดือนสามจึงจะได้รส ได้คุณค่า เพราะเดือนสามข้าวเหนียวในทุ่งนาสุกไม้ไผ่สีสุกที่ปลูกไว้เป็นรั้วรอบๆ บ้าน ที่แตกหน่อแทงมาแต่เดือนหกเดือนเจ็ด กำลังดีเหมาะสำหรับทำกระบอกข้าวหลาม (เวลาหลามข้าวหลาม เนื่อเยื่อไม่แตกหลุดมากับเปลือกกระบอก) ข้าวเหนียวใหม่ ลำไม่ไผ่กำลังดี มีหรือเหนียวหลามไม่อร่อย มากคุณค่าประสาตรังนากับการกินอยู่ตามฤดูกาล
       
     เครื่องมือดักปลา ภูมิปัญญาตรังนา
     ไอ้ยุด เครื่องมือดักปลาของตรังนา มีลักษณะเหมือนกับชะลอมของภาคกลางเพียงแต่เพิ่ม งา ทางปลาเข้าไว้ตรงด้านข้าง ทำมาจากซี่ตอกไม้ไผ่ขัดตาห่างๆ เพราะต้องการปลาหมอ ปลากระดี่ ขนาดกลางถึงใหญ่เท่านั้น วิธีการดักก็แตกต่างไปจากเครื่องมือดักปลาประเภทมีงาทั้งหลาย ยกเว้นไซจม คือไม่ได้ดักตามช่องน้ำคันนา แต่นำไปวางไว้ตามทางปลาเดินโดยไม่ต้องใส่เหยื่อเหมือนเครื่องที่ใช้จมตามในนา หนอง คลอง อย่างเช่น ลัน ข้อง เป็นต้น การวางไอ้ยุดถือเป็นภูมิรู้อันลึกซึ้งถึงวิถีชีวิตและอุปนิสัยของปลาหมอ ปลากระดี่ คนทั่วๆ ไปที่ไม่เคยคลุกคลีสืบทอดการเรียนรู้ ทำได้แค่นำไอ้ยุดไปวางเท่านั้น ไม่มีปลาหมอ ปลากระดี่ เข้าไอ้ยุดแน่นอน
       
     จมไซปลาเดิน ถือเป็นภูมิปัญญาของตรังนาในการดักปลาอีกอย่างหนึ่ง อาศัยหลักการเดียวกับการดักไอ้ยุด คือรู้ทางเดิน การเดินทางของปลา ต่างกับไอ้ยุด คือรู้ทางเดิน การเดินทางของปลา ต่างกับไอ้ยุดตรงสถานที่วาง คือ จมไซปลาเดิน จะนำไซไปวางไว้ตามข้างตลิ่งคลอง การจมไซปลาเดิน ไม่มการใส่เหยื่อเหมือนการจมไซทั่วไป ลักษณะของไซที่ใช้จมปลาเดิน ก็คือไซจมทั่วๆ ไป แต่ต้องขนาดใหญ่พิเศษ ซี่ไซห่าง เก็บเอาแต่ปลาตัวใหญ่ ปลาเล็กปล่อยไว้ให้โตก่อน ปลาที่ไซคือปลาแทบทุกชนิดที่มีอยู่ในคลอง
       
     ซั้ง : ทำนบชักน้ำเข้านา – หลอนปลาเข้าไซ และไม่ทำลายระบบนิเวศน์
     เนื่องจากพื้นที่นาของเมืองตรังมีอยู่ประปรายสองข้างคลอง ข้างห้วย และราบน้ำท่ามกลางหุบเขาหุบควนเสียเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่นาที่มีน้ำบริบูรณ์พอเพียงสำหรับการไถ หว่าน ดำ มีอยู่จำเพาะที่อยู่ติดกับข้างห้วย  ข้างคลอง ข้างสายน้ำเพียงไม่กี่บิ้งนาเท่านั้น นอกนั้นเป็นนาดอน นาโคก อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติอย่างเดียวไม่อาจทำนาได้ จำต้องหาทางนำน้ำจากลำคลอง ลำห้วย สายน้ำขึ้นไปใช้ด้วยการทำซั้ง
     การทำซั้ง คือการปิดกั้นสายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำขึ้นไปใช้ในที่โคกที่ดอน ใช้หลักการเดียวกับการทำนบ ทำเขื่อน ต่างกันตรงที่ซั้งเป็นการปิดกั้นชั่วคราว เป็นครั้งคราว อุปกรณ์ที่นำมาปิดกั้นได้แก่ไม้หลัก ปักรอแล้วใช้ใบไม้ (ส่วนมากใช้ใบสาคู) ที่ขึ้นอยู่สองข้างลำน้ำมาวางซ้อนทับกัน สายน้ำที่ไหลจะช่วยให้ใบไม้ลู่ไปอัดแน่นกับเสารอ ยิ่งใช้ใบไม้มาก รูรั่วแทบจะไม่มี ในที่สุดน้ำก็เอ่อล้น หน้าซั้งท่วมบิ้งนาที่ติดกับตัวซั้งไหลผ่านลำรางกลางคันนาขนาดใหญ่ไปยังนาโคกนาดอน
     พอได้น้ำพอตามความต้องการ ก็ชักใบไม้ที่ซั้งซ้อนซับออกจากเสารอ เหลือไม้แต่เสารอ เมื่อใดต้องการใช้น้ำเอาใบไม้ไปซั้งซ้อนซับที่เสารอเดิม วิธีการเช่นนี้ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ ด้วยความเป็นซั้ง – ทำนบ ใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เมื่อกระชากใบไม้ออกจากเสารอความเป็นสายน้ำก็คงสภาพความเป็นธรรมชาติเหมือนเดิม ซึ่งต่างกับการทำนบ – เขื่อน ที่ก่อให้เกิดตะกอนหน้าเขื่อน หน้าทำนบ และเปลี่ยนแปลงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมไปโดยสิ้นเชิง
     นอกจากซั้งเป็นเทคโนโลยีที่ชักน้ำเข้านา ที่ไม่กระทบกระเทือนระบบนิเวศน์ใดๆ แล้ว ผลพวงที่ได้รับกคือการดักไซทั้งปลาขึ้นและปลาลง ซั้งจึงเป็นเทคโนโลยีที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของตรังนา ไว้ให้สังคมที่นิยมทำนบและเขื่อนได้เปรียบเทียบศึกษา
 

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 18949
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย