IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น  >  ตรังเขา : กับภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่เกิดจากการสั่งสมสืบทอดบนวงเวียนชีวิต

ตรังเขา : กับภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่เกิดจากการสั่งสมสืบทอดบนวงเวียนชีวิต

     ความเป็นตรังเขา เริ่มต้นชีวิตกลางป่า และจบชีวิตลงกลางป่า มาหลายชั่วอายุคนแล้ว คือ ใบปริญญาที่รับรองว่า หมู่ตรังเขา มีภูมิปัญญา ดำรงชีพ ดำรงชีวิตอยู่กับป่า กับสัตว์ป่า ภายใต้กฎเกณฑ์ เสพ – สร้าง ระหว่างกันโดยไม่เสียสมดุล กลมกลืนอยู่ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ดังจะยกให้เห็นพอเป็นรูปธรรม
    
     ป่ายางพารา กลมกลืนสมดุลระหว่างยางพารากับป่าธรรมชาติ
     การปลูกยางพาราเป็นร่องแนวกลางป่าธรรมชาติ หรือที่หมู่ตรังเขาเรียกกันว่า ป่ายาง (ยางพารา) ไม่เป็นการทำลายป่าธรรมชาติให้สูญเสียความสมดุลแต่ประการใด เป็นการแผ้วถางร่องแนวพอเดินได้ ตัดฟันเถาวัลย์ที่พันรัดต้นยางพาราปลูกใหม่ในช่วง 1 – 2 ปีแรกเท่านั้น จากนั้นก็ถางร่องแนวเดินพอให้เดินกรีดยางได้ การทำสวนยางพารากลางป่า หรือที่เรียกว่า ป่ายาง ไม่แปลกแยกไปจากวิถีชีวิตดั้งเดิม คนกับป่า ในป่ายาง (พารา) ยังคงมีสภาพป่าธรรมชาติสมบูรณ์ แถมนำไม้ผลอื่นมาเพิ่มเติมปนอยู่กับป่า เช่น สะตอ ลูกเนียง ลูกเหรียง ลางสาด จำปาดะ พื้นล่างก็เป็นที่งอกงามของไม้เล็ก เช่น หมากหมก ดุเดะ ไปจนถึงเห็นนานาชนิด สัตว์ป่าหลายหลากชนิดก็ยังคงอยู่อาศัยได้เหมือนเดิม ป่ายาง (พารา) จึงยังคงมีสภาพเป็นเสมือนศูนย์การค้าของคนเมืองปัจจุบัน
     การปลูกยางพารา เป็นร่องแนวกลางป่า ใครกล้าปฏิเสธว่าไม่ใช่ต้นแบบของวนเกษตร ที่โลกวันนี้เรียกร้องร่ำหาให้เป็นทางเลือกใหม่ของการทำเกษตร หลังจากถูกภูมิปัญญาวิชาการจากตำรา รุกป่าราบพนาสูร เรียบเป็นหน้ากลอง เป็นสวนยางพาราสมัยใหม่ ภายใต้เขื่อนไขกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพารา
     ระหว่างป่ายาง (พารา) กับสวนยางสงเคราะห์ วันนี้กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ภูมิปัญญาตรังเขา เป็นภูมิปัญญาแท้ การปลูกยางแบบป่ายาง ป่าอยู่ได้ คนอยู่รอด ธรรมชาติยั่งยืน ชุมชนยั่งยืน ซึ่งผิดกับการปลูกยางแบบทำสวนยางสงเคราะห์ ที่ทำให้ธรรมชาติถูกทำลาย ชุมชนล่มสลาย พึ่งพาตนเองไม่ได้
     
     กน ทุกคนทำได้ สารพัดประโยชน์
     กน เป็นภาชนะที่มีรูปลักษณ์เหมือนย่ามพระ ทำมาจากกาบหมากที่ร่วงหล่นแล้วน้ำมาตัดส่วนใบออก เหลือเพียงตัวกาบ ตัดแต่งขอบ พับตรงกลาง ใช้ไม้กลัดเย็บทั้งสองข้าง ใช้เชือกร้อยรึงกัน สอดผ่านด้านข้างทั้งสอง โผล่ยาวมาต่อกันเป็นสายสะพาย สารพัดประโยชน์ใช้เช่นเดียวกับย่าม ดีกว่าย่ามตรงที่ใช้ใส่ของเปียก ของคาว เช่น จำพวก กุ้ง หอย ปูปลา และเนื้อสัตว์ได้ เพราะใช้แล้วทิ้ง ทิ้งแล้วย่อยสลายง่าย ไม่เป็นอันตรายเหมือนพลาสติกที่ทิ้งก็ไม่ย่อยสลายเผ่าทำลายก็เกิดก๊าซพิษ
       
     บอกหนทาง บอกน้ำ บอกดักปลา เทคโนโลยีจากไม้ไผ่โปะ
     บอกหนทาง บอก หรือ กระบอก ทำมาจากไม้ไผ่ หนาง คืออาหารที่ใช้วิธีการเก็บถนอมไว้กินนานๆ บอกหนางก็คือกระบอกที่ทำมาจากไม้ไผ่เพื่อบรรจุเนื้อสัตว์ หมักเกลือ ผสมหน่อไม้ หรือหยวกกล้วย เก็บไว้กินนานๆ
     บอกน้ำ หรือกระบอกใส่น้ำดื่มน้ำใช้ จากบ่อ ห้วย คลอง มายังบ้าน ขนำ ทำมาจากไม้ไผ่โปะ ซึ่งมีคุณสมบัติ ลำใหญ่ เปลือกเนื้อบาง กลวง ข้อปล้องยาว มีเนื้อที่มาก นำมาตัดแต่ง ทะลุ ข้อปล้อง ความยาวประมาณวากว่าๆ ไม่ทะลุข้อปล้องก้นใช้เป็นภาชนะนำน้ำจากท่อ ห้วย คลอง พื้นที่เขาตรังเกือบทุกส่วนลาดชันสูงต่ำสลับกัน ทำให้กระบอกใส่น้ำ เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุด น้ำไม่กระฉอก กระเซ็น เหมือนกับการใช้ถัง ปี๊บ ฯลฯ
     บอกดักปลา เป็นภูมิปัญญาตรังเที่เรียบง่ายได้ปลาเอามากิน เป็นเครื่องมือหาปลาที่เป็นหนึ่งเดียวกับการไปอาบน้ำยามเที่ยงยามเย็นที่ลำห้วย ลำคลอง ทำจากไม้ไผ่โปะนำมาตัดความยาวประมาณวาเศษๆ ทะลุข้อปล้องหัวท้ายทะลุถึงกัน นำไปวางไว้ใต้น้ำชายตลิ่ง ตามท่าอาบน้ำ เมื่อใดไปอาบน้ำ และอยากได้ปลามาแกง ก็ใช้ไม้ปลอกเปลือก สีขาว เพราะไม้สีขาวปลาเห็นได้ชัดเจน นำมาทุบตี กระทุ้งน้ำ ทำให้ปลาตื่นกล้า หาที่ซุกซ่อน กระบอกไม้ไผ่คือที่ซ่อนของปลา แต่มันคือภูมิปัญญาของคนตรังเขา หลังจากนั้นก็ค่อยเอาฝ่ามือปิดกระบอกข้างหนึ่ง แล้วค่อยยกปากกระบอกอีกข้างเหนือน้ำ ปล่อยให้น้ำในกระบอกไหลออกทางด้านฝ่ามือที่ปิดไว้เพียงแค่นี้ ก็ได้ปลามากิน ไปอาบน้ำไม่ได้ไปหาปลา แต่ก็ได้ปลาเอามาแกง อาบน้ำ หาปลากลับมาหุงหาอาหารไม่แปลกแยก เป็นหนึ่งเดียวกัน
 

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 17465
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย