IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม  >  มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-พิธีกรรมจากความเชื่อ-ไหว้พระภูมิ-พลีเรือน

มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-พิธีกรรมจากความเชื่อ-ไหว้พระภูมิ-พลีเรือน

     ไหว้พระภูมิ - พลีเรือน การไหว้พระภูมิ - ทำขวัญบ้าน (พลีเริน หรือ พลีเรือน) เป็นประเพณีจากความเชื่อที่ว่า มีพระภูมิเจ้าที่เป็นเทพารักษ์ประจำสถานที่ใช้ปลูกส้รางบ้านเรือนที่อาศัย พระภูมิมีหลายองค์ แต่ที่มักจะออกชื่อในพิธีเซ่นสังเวย มีท้าวกรุงพาลีนางธรณีรักษาแผ่นดิน บริถิวรักษาทางสัญจร ท้าวนาคารักษาห้วงน้ำ ท้าวชัยมงคลรักษาเรือน ท้าวธรรมโอฬารรักษาเรือกสวนไร่นา เพชรคนธรรพ์รักษาศาลเจ้าและ โรงวิวาห์ ฯลฯ และยังมีพระภูมิชั้นต่างๆ ลงมาอีก เช่น พระภูมิรักษาหัวบันไดบ้าน ประตู คอกสัตว์ เป็นต้น การทำขวัญบ้านจึงมักจะเกี่ยวข้องร่วมกับพระภูมิเจ้าที่ เสา-ภูมิบ้าน และศาลพระภูมิ เจ้าของบ้านมักจะทำร่วมกันเสมอ
     การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านโดยทั่วไปมักจะมีเสาภูมิเป็นเสาหลักของบ้าน ส่วนใหญ่เป็นเสากลางหรือเสาเอกของบ้าน ถือว่าเป็นที่สิงสถิตของเจ้าที่บ้านเจ้าที่เรือน ซึ่งเป็นผู้ปกปักคุ้มครอง เสาภูมิจึงมักผูกผ้าขาว – แดงพันไว้ และมีศาลพระภูมิจัดไว้เป็นที่นอกบ้านอีกที่หนึ่ง การไหว้ศาลพระภูมิส่วนใหญ่จะจัดทำกันในตอนเช้า ตรงกับวันเสาร์ วันอังคารเป็นหลัก เจ้าของบ้านจะจัดหาเครื่องเซ่นไหว้บูชา ที่ขาดมิได้มีไก่ หมากพลู ขนมโค ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และอื่นๆ โดยมีผู้รู้หรือหมอเป็นผู้เซ่นไหว้ อัญเชิญนางธรณี พระภูมิเจ้าที่ ตั้งสัคเคชุมนุมเทวดาและเชิญพระภูมิให้มารับเครื่องเซ่น ไหว้บูชา เพื่อให้อวยมิ่งสิ่งพรแก่เจ้าของบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข เสร็จพิธีแล้วก็จะขอเดนขอชานเพื่อให้ลูกหลานกินต่อได้
     การพลีเริน เป็นการไหว้พระภูมิเจ้าที่บ้านเจ้าที่เรือนควบคู่กับการบูชาบวงสรวงเพื่อสะเดาะเคราะห์ ให้เป็นสิริมงคลตามความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับอิทธิพลพราหมณ์ พิธีพลีเรินใช้เวลาประมาณ 1 คืนกับครึ่งวัน เจ้าของบ้านจะต้องจัดหานัดหมายกับหมอผู้ทำพิธีไว้แต่เนิ่นๆ หลายวัน ดูวันที่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำกันในเดือน 4 เดือน 6 เดือน 9 เดือน 11 และเดือน 12 เจ้าพิธี คือบุคคลที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า หมอทำขวัญบ้าน หรือหมอพลีเริน
     เมื่อถึงวันกำหนด เจ้าของบ้านจะยกโรงหมอ ที่หน้าบ้าน เตรียมเครื่องบูชาและสิ่งของต่างๆ เช่น เทียนอายุ (เทียนพันด้วยด้ายเป็นรอบตามจำนวนอายุ) อาหารคาวหวาน ได้แก่ ข้าวกระทง – น้ำกระทง ปลามีหัว – หาง กล้วย อ้อย ถั่ว งา ขนมโค ขนมแดง – ขาว – เหลือง สายสิญจน์ถักด้วยใบหญ้าคามีความยาวพอสำหรับขึงพาดบนประตูบ้านทั้งด้านหน้า – ด้านหลัง หมากพลู ข้าวตอก ดอกไม้ ฯลฯ เมื่อหมอมาถึง ซึ่งจะเป็นเวลาหลังเที่ยงวัน ก็จัดเตรียมทำศาลสำหรับวางเครื่องสังเวยและเครื่องพลีต่างๆ กระทงสำรับ เป็นต้น
     ตอนค่ำหลังกินอาหารแล้ว ห้ามล้างหม้อล้างจานหรือสาดเทน้ำของเสียทุกอย่าง หมอจะไหว้ครูและเริ่มพิธี อัญเชิญพระภูมิเจ้าที่บ้านเจ้าที่เรือน ตั้งสัคเคชุมนุมเทวดา อัญเชิญเทพยดาต่างๆ ให้มารับเครื่องสังเวย หมอจะทำพิธีจนถึงเที่ยงคืน เมื่อเซ่นไหว้เสร็จแล้วก็นำศาลไปส่งให้ไกลจากเขตบ้านโดยใช้ไม้นำมามัดเป็นจางหยาง 3 ขา สำหรับเป็นฐานตั้งศาลไว้บน ส่งศาลเสร็จก็เป็นอันเสร็จพิธีในคืนนั้น หลังจากนั้นหมอจะจัดให้มีการแทงศาสตราเสี่ยงทายโชคชะตา รุ่งขึ้นในตอนเช้าหมอจะให้ประพรมน้ำมนตร์ และมุงคา โดยเอาสายสิญจน์หญ้าคาผูกมัดบนประตูบ้านทุกบานที่เป็นทางออกนอกบ้าน เป็นอันเสร็จพิธี เจ้าของบ้านมักจะนำน้ำมนตร์มาวางไว้หน้าบ้าน หากมีคนมาที่บ้านก็จะประพรมน้ำมนตร์ปัดสิ่งไม่ดีออกเสียก่อนเข้าในบ้านในวันนั้น
     การไหว้พระภูมิเจ้าที่และพลีเรินถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ และแสดงถึงความมีสัมมาคารวะตอบแทนต่อผู้มีอุปการะคุณ ทำให้เจ้าของบ้านพ้นจากเคราะห์และอยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนี้ชาวบ้านที่เลี้ยงสัตว์ ทำเรือกสวนไร่นา ก็มักจะมีพิธีไหว้พระภูมิเจ้าที่คอกวัว – ควาย เจ้าที่เรือกสวนไร่นาในพื้นที่ได้ทำกินด้วย เป็นวิถีชุมชนที่มีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่นตรัง

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 81081
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย