IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม  >  มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ความเชื่ออื่นๆในจังหวัดตรัง

มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ความเชื่ออื่นๆในจังหวัดตรัง

   ความเชื่อมีอิทธิพลต่อแนวคิดและการประพฤติปฏิบัติของบุคคลและชุมชน ความเชื่อของชาวตรังก็เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ในภาคใต้คือเป็นความเชื่อที่มีพื้นบานมาจากลัทธิศาสนา เท่าที่มีอยู่ทั่วไปจะเป็นความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิต่างๆ และอาจเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์ ซึ่งจะมีเกร็ดความเชื่อต่างๆ ในจังหวัดตรัง ดังนี้
     
     พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปที่ชาวบ้านศรัทธาเชื่อถือกันมาก ได้แก่ พระพุทธสีหิงค์ ทั้งอค์ที่หายไปและองค์ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีสรรเพชญพุทธสีหิงค์ อำเภอนาโยง พระประธานวัดสาริการาม พระองค์กลางวัดเขาปินะ พ่อแก่เงิน ที่วัดท่าพญา อำเภอปะเหลียน เป็นต้น การปฏิบัติคือบนบานศาลกล่าว เมื่อสำเร็จความประสงค์ก็แก้บนด้วยดอกไม้ธูปเทียน ปิดทอง หรือมีหนังตะลุง มโนราห์ถวาย
     
     พ่อท่านศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของบุคคลผู้ล่วงลับ ส่วนใหญ่จะเป็นพระภิกษุสงห์ที่กระทำความดีงามจนเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน เมื่อมรณภาพไปจึงมีผู้ศรัทธาเชื่อถือว่าสามารถดลบันดาลสิ่งต่างๆได้ พระภิกษุในจังหวัดตรังซึ่งเป็นที่เชื่อถือในลักษณะนี้มีหลายรูป เช่น พ่อท่านลบ วัดตรังคภูมิฯ พ่อท่านวัน วัดประสิทธิชัย พ่อท่านสีทันดร์ หรือพ่อแก่สีทันดร์ วัดศรีน้ำเจ็ด เป็นต้น พ่อท่านเหล่านี้ส่วนใหญจะมีรูปปั้นที่ชาวบ้านสร้างไว้เป็นตัวแทนเพื่อกราบไหว้บูชาและบนบานศาลกล่าวให้สำเร็จในสิ่งที่ประสงค์ เมื่อประสบผลสำเร็จตามที่ขอก็จะจัดสิ่งของมาบูชาตามที่บนบานไว้ เช่น การปิดทอง ถวายพวงมาลัย ดอกไม้ธูปเทียน หรืออื่นๆ เช่นเดียวกับการบนพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
     
     ท่ามกงเยี่ย เป็นความเชื่อของกลุ่มชาวตรังเชื้อสายจีน ที่เชื่อว่าพระท่ามกงเยี่ยมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งของผู้ที่ไม่มีบุตรได้ เมื่อบนบานขอบุตรจากพระท่ามกงเยี่ยและได้สมประสงค์ ก็จะตั้งชื่อลูกให้ขึ้นต้นด้วยคำว่าท่ามเพราะถือว่าเป็นลูกของพระท่ามกงเยี่ย และเป็นสิริมงคล ส่วนการเซ่นไหว้ก็ทำไปตามที่บนไว้ ส่วนใหญ่มักจะบนกันด้วยหมูย่างเป็นหลัก
    
     ชิน จากความเชื่อว่าในพื้นที่ทุกแห่งจะมีพระภูมิเข้าที่เป็นเทพารักษ์ประจำสถานที่ มีบริถิวรักษาทางสัญจร ท้าวนาคารักษาห้วงน้ำ ฯลฯ ซึ่งจัดเป็นพระภูมิช่วยปกป้องรักษา และยังมีผีให้คุณโทษประจำที่ต่างๆ อีกที่เรียกว่า ชิน ซึ่งมีหลายประเภท เช่น ชินห้วย ชินหนอง ชินคลอง ชินท่า ฯลฯ
     ในบรรดาผีชินที่ประจำพื้นที่ต่างๆ นี้ ชาวบ้านเชื่อว่ามีชินละหมาดเป็นใหญ่ดูแลบริวารชินทั้งหมด เมื่อชาวบ้านไปทำมาหากินในเขตพื้นที่ของผีชิน ก็อาจจะถูกผีชินให้โทษขนบังเกิดอาการเป็นไปต่างๆ นานา บางรายถึงแก่ชีวิต ต้องหาหมอชาวบ้านหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยประสานเรียกหาผีชินที่ให้โทษเหล่านี้มาตกลงขอขมาและบูชาเซ่นไหว้เสียให้ถูกต้อง เช่น จัดสร้างศาลาและเซ่นให้กินของต่างๆ ตามที่ตกลงกัน สานแผงตั้งเครื่องเซ่นสูงต่ำตามศักดิ์ของผีชินมี หมากพลู ขนมโค ไก่ ฯลฯ หากไม่ไปเซ่นแก้ตามที่ตกลงก็จะมาให้โทษ มีอาการเป็นไป แต่หากปฏิบัติถูกต้องเซ่นแก้ไหว้ตามตกลง อาการป่วยไข้ต่างๆ ที่เป็นอยู่ก็หายไปอย่างเป็นปริศนา
     ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีชิน เกิดจากความกลัวในโทษที่ผีชินได้แสดงให้เห็นในอาการของผู้ถูกผีชิน เพราะโดยปกติแล้วเชื่อกันว่าผีชินในที่ต่างๆ ไม่ได้ให้โทษแก่ผู้ใด นอกจากจะไปก้าวล้ำในพื้นที่ของผีชินเข้าเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีผีชินให้โทษชาวบ้านจึงมักขอขมาและจัดหาของเซ่นไหว้เพื่อให้ผีชินยกโทษให้ มีพิธีกรรมการเซ่นไหว้ให้เป็นไปตามที่ผีชินต้องการหรือข้อตกลงเป็นการขอขมาโทษในสิ่งที่ได้กระทำผิดพลาดไป
     
     โต๊ะดำ เชื่อกันว่าโต๊ะดำเป็นวิญญาณเจ้าที่เจ้าของแผ่นดินและเป็นมุสลิม ในที่ดินบางแห่งเมื่อผู้คนเข้าไปปลูกสร้างบ้านเรือน หรือทำมาหากินในที่ดินนั้น ก็ต้องมีการเซ่นไหว้โต๊ะดำซึ่งมักทำกันเป็นประจำทุกปี หากไม่มีการเซ่นไหว้โต๊ะดำ เจ้าของที่ก็จะสำแดงอิทธิฤทธิ์ก็ให้เกิดอาการเจ็บไข้หรืออุปสรรคขัดข้อง บางครั้งก็จะมาเข้าทรงในร่างของบุคคลภายในบ้านเพื่อสำแดงความเป็นเจ้าที่และบอกความต้องการ เมื่อมีการเซ่นไหว้แล้วโรคภัยหรืออุปสรรคจะหายไป
     
     ตาหมอช่อง เล่ากันว่าตาหมอช่องเป็นชาวนาตำบลช่องมีความรู้ทางไสยศาสตร์อยู่ยงคงกระพันและมีวาจาสิทธิ เป็นที่นับถือในหมู่ชาวบ้าน อยู่มาก็หายสาปสูญไปนานๆจะมาปรากฎรอยเท้าเสือแต่เป็นรอยเท้าที่มี 5 นิ้ว ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นเสือตาหมอช่อง เพราะเสือจริงนั้นจะมี 4 นิ้ว ต่อมามีผู้นับถือบูชามากขึ้น ถึงกับอัญเชิญมาเข้าทรง เมื่อเข้าทรงร่างทรงจะแสดงอาการเหมือนเสือ คำรามเสียงดัง
     เรื่องเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของตาหมอช่องคือ ที่ขนังของตาหมอช่องซึ่งเรียกกันว่าเกาะตาหมอช่องอยู่ในหมู่ที่ 4 ตำบลช่อง อำเภอนาโยง สมัยก่อนคณะหนังตะลุงหรือมโนราห์ที่เดินทางข้ามจังหวัดตรัง - พัทลุง จะต้องเดินทางผ่านเกาะตาหมอช่อง ตอนผ่านจะต้องเล่นบูชาให้ตาหมอดู  1 คืน ถ้าไม่เล่นก็จะเกิดอาการต่างๆ เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย ปวดท้อง ปวดหัว เป็นต้น ปัจจุบันที่เกาะตาหมอช่อง ยังเห็นร่องรอยศาลไม้เก่าๆ แต่ไม่ปรากฏว่ามีเชื้อสายของตาหมอข่องเหลืออยู่
     ความเชื่อเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของตาหมอช่องยังคงสืบทอดต่อๆมาในตำบลช่องและตำบลใกล้เคียง มีผู้นิยมบนบานศาลกล่าวและอัญเชิญมาเข้าทรงกันเป็นประจำ จนประมาณ พ.ศ. 2530 พระครูสังวรโกวิท เจ้าอาวาสวัดกระช่องเปี่ยมราษฎร์ เห็นว่าตาหมอช่องเป็นที่นับถือของชาวบ้าน จึงส้รางรูปปูนปั้นเสือตาหมอช่องขนาดใหญ่เท่าเสือจริงแล้วทำพิธีประดิษฐานรูปปั้นไว้ที่ซุ้มประตูวัด ผู้คนนิยมมาบนบานศาลกล่าว เมื่อสมประสงค์ก็จุดประทัดบูชากันเสียงสนั่น

     ทวดหลักเขต บนถนนสายตรัง- พัทลุง บนเขาบรรทัดตรงจุดที่อยู่สูงสุดของถนนสายนี้คือเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างจังหวัดตรังกับพัทลุง เชื่อกันมาแต่ครั้งโบราณว่าตรงนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำอยู่คือทวดหลักเขต แต่เดิมมีผู้ทำเป็นศาลเล็กๆ ไว้พอเป็นที่สังเกต หลังจากการก่อสร้างถนนประมาณช่วง พ.ศ. 2532 ได้มีการปรับปรุงตัวศาลให้สวยงามขึ้น คนเดินทางผ่านจะแสดงความเคารพ กราบไหว้ ขอความคุ้มครอบให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ พวกที่ขับรถก็จะกดแตรหรือปล่อยมือจากพวงมาลัยเพื่อยกมือไหว้เป็นเชิงบอกกล่าวคารวะ การกระทำนี้ยังสืบเนื่องมาในกลุ่มคนขับรถประจำทาง รถรับจ้าง และรถบรรทุก ผู้ใช้เส้นทางสายนี้เป็นประจำการชะลอรถ เพื่อคารวะทวดหลักเขตในจุดนี้เสมือนเป็นเครื่องเตือนสติในการขับรถไป ด้วยเพราะแต่เดิมถนนสายนี้ทั้งคดโค้งและสูงชันจนเรียกกันว่า เขาพับผ้า หากไม่มีสติกำกับให้ตลอดจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
     
     เสน่ห์น้ำตาปลาดุหยง ตามชุมชนชายฝั่งทะเลเชื่อกันว่า น้ำตาพะยูนหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ปลาดุหยงใช้ทำยาเสน่ห์ได้ตามบทเพลงรองเง็งที่ร้องกันว่า บังไปไม่รอดเสียแล้วเด ถูกเหน่น้ำตาปลาดุหยง เพราะฉะนั้นเมื่อจับพะยูนได้ก็จะเอามาลนไฟให้เจ็บปวดจนน้ำตาไหล แล้วเอาน้ำตานั้นไปทำยาเสน่ห์ด้วยวิธีทางไสยศาสตร์ ความเชื่อนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พะยูนลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่ด้วยกระแสการอนุรักษ์พะยูนและการอนุรักษ์ทะเลของกลุ่มประมงพื้นบ้าน องคืกรต่างๆ ทั้งเอกชนและราชการที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของพะยูนที่มีต่อระบบนิเวศชายฝั่งคงจะช่วยให้พะยูนตายน้อยลง แต่ความเข้าใจที่สำคัญกว่านั้นคือ การแสวงหาเสน่ห์จากการประพฤติปฎิบัติในสิ่งดีงาม ย่อมมีคุณค่ากว่าเสน่ห์ของขลังจากน้ำตาแห่งความเจ็บปวดของเพื่อนร่วมโลก

     ยาสั่ง เป็นศาสตร์ความรู้ด้านยาพิษชนิดหนึ่งที่เคยพบในท้องถิ่นตรัง ผู้ใช้จะแอบผสมยาสั่งลงไปในอาหารของบุคคลหรือกลุ่มเป้าหมาย ยาสั่งบางชนิดกินเข้าไปแล้วจะอาเจียนเป็นโลหิตจนตายเพราะพิษโดยตรง แต่บางชนิดผู้ถูกพิษยาจะยังไม่รู้สึกว่าถูกพิษ จนกว่าจะไปกินของแสลงที่กำหนดไว้ในการปรุงยา จึงจะเกิดอาการหรือถึงแก่ความตายโดยหาสาเหตุไม่ได้แต่ในบรรดาผู้รู้ด้วยกันเกี่ยวกับเรื่องยาสั่งกล่าวว่า มีตำราแก้ยาสั่งซึ่งต้องประเภทรางจืด ใช้สมุนไพร 108 ชนิด ซึ่งหายากยิ่ง
     กล่าวกันว่าอำเภอนาโยงคือดินแดนยาสั่งในอดีต มีการใช้ยาสั่งเพื่อลองนากับผู้คนในงานเลี้ยงหรือร้านอาหารจนทำให้คนตายนับสิบ ยุคหนึ่งผู้คนจึงไม่ไว้วางใจในความปลอดภัยของอาหารในร้านหรือในงานเลีย้งของท้องถิ่นนี้ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการถูกพิษยาสั่งของผู้คนในเมืองตรังไม่ว่าจะเป็นที่นาโยงหรือที่อื่น
 

 

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 131292
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย