IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม  >  มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ศาสนา-ศาสนอิสลามในจังหวัดตรัง

มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ศาสนา-ศาสนอิสลามในจังหวัดตรัง

     ศาสนาอิสลามในจังหวัดตรัง ราวๆ ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ศาสนาอิสลามเข้ามาในแหลมมลายูพร้อมกับการค้าของชาวอาหรับและแพร่หลายไปมั่วในกลุ่มคนพื้นเมืองมลายู ต่อเนื่องมาจนถึงทางภาคใต้ของไทยและเมืองตรัง ที่เมืองตรังจะแพร่หลายอยู่ในชุมชนชายฝั่งทะเลเป็นส่วนมาก ประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดตรังส่วนใหญ่จึงเป็นหมู่เลอยู่ในเขตอำเภอสำเกา กันตัง ปะเหลียน ย่านตาขาว และกิ่งอำเภอหาดสำราญ
     หลักฐานที่ปรากฏชัดถึงการมีอยู่และเป็นที่ยอมรับว่าศาสนาอิสลามและมุสลิมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของเมืองตรัง คือในทำเนียบกรมการเมืองของเก่า พ.ศ. 2355 กล่าวถึงตำแหน่งกรมการเมืองต่างๆ รวมทั้งกรมการเมืองฝ่ายอิสลาม ซึ่งมีด่านทะเลฝ่ายไทยอิสลามมีด้านเกาะลิบง ด่านชายฝั่ง ด่านตอนใน และประวัติบอกเล่าของกลุ่มคนในตระกูลเก่าของอำเภอปะเหลียน กล่าวว่า เมื่อบ้านหยงสตาร์และบริเวณใกล้เคียง มีกลุ่มไทยมุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่น ทางการได้แต่งตั้งหลวงจางวางราชสมบัติ (จอมซินตรี) ดูแลกลุ่มมุสลิมแถบชายทะเล
     ปัจจุบัน ตรังเป็นจังหวัดหนึ่งที่ราชการกำหนดให้มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ดูแลกลุ่มชนมุสลิมตรังในด้านการปฏิบัติกิจทางศาสนาและพิธีกรรมให้เกิดความสะดวกและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
     ชาวตรังที่นับถือศาสนาอิสลามได้ชื่อว่าเป็นมุสลิมผู้มีสันติ นอบน้อม และมีแนวการดำเนินชีวิตโดยยึดถือหลักศรัทธาทั้ง 6 หลักปฏิบัติทั้ง 5 ประการแห่งศาสนา เช่นเดียวกับมุสลิมทั่วไป ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ที่ประพฤติตามครรลองแห่งหลักธรรมของศาสนายังปรากฏเป็นวัฒนธรรมอิสลามอยู่ในการดำเนินชีวิตของมุสลิมตรังโดยรวม
     คติความเชื่อต่างๆ ของมุสลิมประยุกต์ปรับเปลี่ยนหรืองดเว้นไปบ้างตามสภาพสังคมแวดล้อมและค่านิยมส่วนท้องถิ่น เช่น พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด มุสลิมโดยทั่วไปไม่คุมกำเนิดหรือทำแท้ง เพราะขัดกับหลักศาสนาอิสลาม มีศรัทธาต่อองค์อัลลอฮ์ ในฐานะผู้สร้างชีวิต การคลอดบุตรส่วนใหญ่จึงยังถือปฏิบัติตามหลักศาสนา มีพิธีอะชาน พิธีโกนผมไฟ พิธีตั้งชื่อเด็ก และพิธีอากีเกาะห์ ตามที่ท่านศาสดามูฮัมมัดได้ปฏิบัติเป็นต้นแบบไว้ แต่เนื่องจากความนิยมเฉพาะถิ่นจึงอาจมีพิธีอื่นเพิ่มขึ้น เช่น พิธีนำเด็กขึ้นเปล พิธียกเด็กให้เป็นลูกของคนอื่นเพราะความเจ็บป่วยเลี้ยงยาก การเปลี่ยนชื่อใหม่เพราะเชื่อว่ามีอักษรเป็นกาลกิณี ตลอดจนการตั้งชื่อเล่นให้เด็กตามกระแสนิยมที่ได้สัมผัสมาจากทางสื่อต่างๆ และมีไม่น้อยที่ตั้งชื่อจริงเป็นภาษาไทย ชื่อรองเป็นภาษาอาหรับ ส่วนพิธีโกนผมไฟนั้นปัจจุบันมุสลิมบางรายมิได้ถือปฏิบัติ
     ในพิธีเข้าสุหนัด มุสลิมตรังยังคงถือปฏิบัติตามคำสอนและแบบฉบับของท่านศาสดาเพื่อรักษาความสะอาดและป้องกันโรค บางท้องถิ่นได้ประยุกต์ความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขสมัยใหม่นำไปใช้ในพิธี เช่น การฉีดยาชา เชิญแพทย์พยาบาลมาทำพิธีที่บ้าน หรือนำเด็กไปยังคลินิกหรือโรงพยาบาลให้แพทย์ขลิบปลายอวัยวะเพศเด็กชาย
     ในส่วนของวัฒนธรรมทางสังคม มีแนวทางปฏิบัติตามศาสนบัญญัติที่เป็นพิธีกรรมเรียบง่ายและประหยัด ปฏิบัติได้ไม่ยาก ส่วนที่ปรับเปลี่ยนไปบ้างก็มี เช่น การแต่งกายตามความนิยมในท้องถิ่น การจัดขบวนขันหมากในพิธีสมรส การทำบุญครบ 3 วัน 7 วัน 40 วัน 100 วัน หรือครบปีแก่ผู้ตาย หรือการจัดเลี้ยงในพิธีการต่างๆ ตามกระแสสังคมที่ปรากฏทั่วไปในท้องถิ่นตรัง จนบางครั้งแทบแยกไม่ออกว่าไหนคือแก่นไหนคือกระพี้
     ด้านการจัดการศึกษาเพื่อสืบทอดศาสนาในจังหวัดตรังนั้น ในส่วนการศึกษา หลักศาสนา ได้มีมัสยิดต่างๆ จัดให้มีการสอนศาสนาภาคพิเศษ โดยใช้เวลาตอนเย็นหรือวันเสาร์อาทิตย์ สอนคัมภีร์ อัล-กุรอ่าน หรือการบรรยายธรรม (คุฏบะฮ์) ในพิธีละหมาดโดยอิหม่ามที่จังหวัดตรังยังไม่มีโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่ให้การศึกษาเบื้องต้น มุสลิมที่ประสงค์จะให้บุตรหลานได้เรียนศาสนาควบคู่กับวิชาสามัญจึงส่งบุตรหลานไปเรียนต่างจังหวัด เช่น จังหวัดสตูล ยะลา ปัตตานี
     มุสลิมโดยทั่วไปจะเน้นให้ครอบครัวเป็นสถาบันหลักในการสืบทอดศาสนา แต่สำหรับในจังหวัดตรังสถาบันครอบครัวยังปฏิบัติได้น้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะพ่อแม่ผู้เฒ่าผู้แก่ยังมีความรู้ในหลักศาสนาไม่เพียงพอ จึงมีสถาบันอื่นทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่บุตรหลานของตน
     มุสลิมในจังหวัดตรังเป็นผู้ตั้งมั่นในหลักศาสนา มีความเป็นอยู่อย่างสมถะ เป็นมิตรสนิทสนมกับทุกคนโดยไม่แบ่งแยกกลุ่มศาสนา ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลพึ่งพาอาศัย ไม่ตำหนิ เหยียดหยามซึ่งกันและกัน มุ่งแสวงความดีไปมาหาสู่ต่อกัน ทำให้เกิดความเข้าใจกลมเกลียวเป็นอย่างดี

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 54957
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย