IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม  >  มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ศาสนา-พุทธศาสนาในจังหวัดตรัง

มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ศาสนา-พุทธศาสนาในจังหวัดตรัง

     พุทธศาสนาในจังหวัดตรัง การเผยแผ่พุทธศาสนาเข้าสู้จังหวัดตรังมีมานานแล้ว หลักฐานที่ปรากฏ คือโบราณวัตถุประเภทพระพิมพ์ดินดิบในถ้ำต่างๆ แถบอำเภอห้วยยอด แสดงอิทธิพลของพุทธศาสนามหายาน เป็นหลักฐานร่วมสมัยกับอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งมีอายุประมาณตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 – 15 ต่อมามีตำนานพื้นบ้าน เช่น ตำนานนางเลือดขาวสร้างวัด สร้างพระพุทธรูปและนำพระพุทธสีหิงค์เข้ามาเมืองตรัง ตำนานการเดินทางไปร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เหล่านี้บ่งบอกถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาหินยานลัทธิลังกาวงศ์ และยังมีศาสนวัตถุ ศาสนสถานหลายแห่ง เช่น วัดในเส้นทางแม่น้ำตรัง และเส้นทางอื่นที่ติดต่อกับนครศรีธรรมราชได้ ซึ่งมี วัดท่าไทร วัดเขาปินะ วัดหูแกง วัดย่านเกลื้อน วัดถ้ำพระพุทธ เป็นต้น ส่วนด้านสายคลองนางน้อยขึ้นไปจรดพื้นที่ตรังเขา มีวัดสาริการาม วัดพระงาม วัดพระศรีสรรเพชญพุทธสีหิงค์ วัดภูเขาทอง วัดถ้ำพระพุทธโกษีย์ (ในเตา) เป็นต้น ในวัดจะมีพระพุทธปฏิมากรเก่าแก่ฝีมือช่างท้องถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก แสดงถึงความศรัทธาที่พุทธศาสนิกชนชาวตรังมีต่อพุทธศาสนามายาวนาน
     ต่อมาเมื่อความเจริญทางด้านการพระศาสนาจากส่วนกลางเข้ามา พร้อมกับการบริหารราชการแผ่นดินยุคใหม่ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนประยุกต์ วัดวาอาราม ศาสนวัตถุ ศาสนสถานที่สร้างขึ้นใหม่ในเชตชุมชนเมืองส่วนมากจึงสะท้อนอิทธิพลวัฒนธรรมศาสนาพุทธจากส่วนกลางอย่างเด่นชัด เช่น วัดตันตยาภิรม พระอารามหลวงแห่งเดียวในจังหวัดตรัง วัดควนวิเศษ วัดประสิทธิชัย วัดคลองน้ำเจ็ด วัดกุฏยาราม เป็นต้น วัดเหล่านี้ล้วนเป็นวัดในมหานิกาย มีเพียงวัดเดียวเท่านั้นที่ในชั้นต้นสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งสืบทอดธรรมยุตินิกาย คือ วัดมัชฌิมภูมิหรือวัดหน้าเขา ทั้งนี้ด้วยเจตนาของพระธรรมวโรดม จากวัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ แต่ไม่เป็นผลเพราะในสภาพปัจจุบันวัตร ปฏิบัติและกิจกรรมในพระศาสนาของวัดนี้ล้วนเป็นไปตามแบบมหานิกาย
     พุทธศาสนิกชนในจังหวัดตรัง ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสืบทอดประเพณีปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำตามวาระของแต่ละประเพณี การไปวัดเพื่อฟังเทศน์ฟังธรรมในวันธรรมสวนะ หรือเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนายังมีให้เห็นเป็นปกติ
 
     การปฏิบัติศาสนกิจดังกล่าวอาจแยกได้เป็น 2 ส่วน คือ
     การปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ ซึ่งได้แก่ การปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฏมหาเถรสมาคม ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มติของมหาเถรสมาคม ดำเนินไปโดยสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงและการปกครองทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่กำหนดให้พระสงฆ์ปฏิบัติและเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด คือ การปกครองคณะสงฆ์ที่มีความมั่นคง การศึกษาพระธรรมวินัยที่กระทำกันมาอย่างต่อเนื่อง การเผยแผ่พระธรรมในรูปแบบต่างๆ อันเป็นภารกิจหลักของสงฆ์ การดูแลรักษาศาสนสถาน สาธารณูปการภายในวัดก็ดำเนินไปด้วยดีตามพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช และข้อปฏิบัติของคณะสงฆ์จังหวัด
     ในส่วนของพุทธศาสนิกชน อุบาสก อุบาสิกา นั้นได้อุปถัมป์พระศาสนามาด้วยดีตลอด แม้ว่าอาจจะยังมีพุทธศาสนิกชนได้อาศัยพิธีกรรมและการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ที่ช่วยเอื้อให้การพระศาสนาของจังหวัดดำรงอยู่ได้ โดยส่วนใหญ่พุทธศาสนิกในจังหวัดตรังมักจะให้ความศรัทธาพระสงฆ์มากกว่าพระศาสนา การกล่าวถึงพระสงฆ์ผู้กอปรด้วยบารมีธรรมในเชิงศรัทธายกย่องว่า พ่อท่าน จึงมักได้ยินกันบ่อยครั้ง จนเป็นที่คุ้นเคย อาทิ พ่อท่านลบ พ่อท่านวัน พ่อท่านแสง พ่อท่านรุ่ง พ่อท่านคลิ้ง เป็นต้น ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามกิจศาสนาตามศรัทธาและประเพณีที่สืบทอดกันมา จึงนำพาให้เข้าใจหลักศาสนาหรือศาสนธรรมขึ้น
     สำหรับการเผยแผ่ศาสนธรรม คณะสงฆ์จะร่วมกับกรมการศาสนา จัดดำเนินการหลายรูปแบบ อาทิ จัดพระธรรมฑูตเผยแผ่หลักธรรมประจำอำเภอ โดยร่วมมือกับทางราชการกำหนดแผนงานการเผยแผ่เป็นประจำทุกปี กลุ่มเป้าหมายได้แก่ วัด โรงเรียน ชุมชน สถานที่ราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีองค์กรสนับสนุนช่วยเหลือ ได้แก่ พุทธสมาคม ยุวิพุทธิกสมาคม เป็นต้น นอกจากนั้น เจ้าคณะจังหวัดสามารถเสนอพระภิกษุเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเหลืองานการศึกษาเผยแผ่ คือ พระ ปริยัตินิเทศก์ พระจริยานิเทศก์ เป็นต้น ปัญหาและอุปสรรคของการเผยแผ่อยู่ที่เศรษฐกิจของจังหวัด และชุมชนของแต่บะท้องถิ่น ถ้าเศรษฐกิจดี การเผยแผ่จะดีและเกิดประโยชน์ยิ่งตามไปด้วยสำหรับกลุ่มเยาวชนมีการตั้งศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ภายในวัดศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และการเปิดเรียนธรรมศึกษาในโรงเรียน
     ปัจจุบันมีวัดและที่พักสงฆ์ในจังหวัดตรังทั้งสิ้นประมาณ 165 แห่ง มีคณะสงฆ์รวมกันประมาณพันเศษ ปัยหาและอุปสรรคซึ่งมีอยู่บ้างในกิจการพระศาสนาของจังหวัดคือการขาดแคลนศาสนทายาทที่มีความสามาถในการให้การศึกษาหรือเผยแผ่หลักธรรม ทั้งอาจเป็นเพราะความเปิดกว้างในการดำรงจนในเพศบรรพชิตและฆราวาสของพระพุทธศาสนานั่นเอง
     พุทธศาสนาในจังหวัดตรังที่กล่าวมาคือพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน แต่ยังมีอีกลักษณะหนึ่งคือลัทธิความเชื่อที่ติดมากับคนไทยเชื้อสายจีนตั้งแต่ครั้งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินตรัง ประมาณ 150 ปี ล่วงมาแล้ว วิถีความคิด ความเชื่อ ตลอดจนประเพณีปฏิบัติของชาวตรังเชื้อสายจีนเหล่านี้จึงตั้งอยู่บนหลักของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานผนวกกับลิทธิขงจื๊อซึ่งแพร่หลายอยู่ในเขตจีนใต้ดินแดนที่จากมา ความยากลำบากในการเดินทาง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยเรือสำเภากับการต้องดิ้นรนต่อสู้ขีวิตเพื่อลงหลักปักฐานในดินแดนใหม่ สิ่งพึ่งพิงทางใจจึงอาจเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมหรือบรรดาเทพอุปถัมภ์ตามความเชื่อและศรัทธาดั้งเดิมของแต่ละกลุ่มในการเดินทางจึงนำเอาตัวแทนสิ่งเคารพบูชาเข้ามาด้วย เช่น กระถางธูปและรูปเคารพต่างๆ ภายหลังจึงได้จัดสร้างสถานที่เป็นศูนย์รวมพิธีกรรมขึ้นตามความนับถือศรัทธาของกลุ่ม คือศาลเจ้าต่างๆ ที่ปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมากในจังหวัดตรัง และจดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว 17 แห่ง
     ศาสเจ้าเก่าแก่ในจังหวัดตรัง ได้แก่ ศาลเจ้ากิวอ่องเอี๋ย (เต่าหมู่กง) ศาลเจ้าท่ามกงเยี่ย ศาลเจ้าหมื่นราม ศาลเจ้าเปากง ศาลเจ้าโป้เซ้ง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าพระร้อยเก้าซึ่งกระจายอยู่หลายที่ เช่น ที่บ้านหินคอกควาย ตำบลบ้านนา บ้านหยงสตาร์ ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน ที่ตำบลย่านตาขาว อำเภอย่านตาขาว และที่ตำบลลำภูรา อำเภอห้วยยอดและยังมีศาลเจ้าอีกจำนวนไม่น้อยที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ตามกระแสการยกชูประเพณี พิธีกรรม และโฆษณาเผยแพร่เพื่อสร้างความสนใจในเชิงการท่องเที่ยว แต่ไม่ว่าศาลเจ้าเหล่านี้จะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากการประกอบพิธีกรรมเป็นไปตามความเชื่อถือศรัทธาที่มุ่งในด้านส่งเสริมความดีงามของจิตใจก็นับเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของผู้คนและสังคมเมืองตรัง

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 22512
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย