IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม  >  มรดกวัฒนธรรม-การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และดนตรี-การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และมหรศพเมืองตรัง-มโนราห์

มรดกวัฒนธรรม-การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และดนตรี-การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และมหรศพเมืองตรัง-มโนราห์

     มโนราห์ มโนราห์หรือโนรา เป็นศิลปะการแสดงที่โดดเด่นของเมืองตรังคู่กับหนังตะลุง สามารถใช้เป็นเครื่องวัดมาตรฐานคุณภาพของชายหนุ่มเมืองตรังในสมัยก่อน จนกล่าวกันว่า เป็นธรรมเนียมผู้ชายไปขอลูกสาว ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องถามก่อน 2 ข้อ คือ รำโนราเป็นหรือไม่ กับ ลักควายเป็นหรือไม่ ถ้าไม่เป็นก็หมดโอกาสจะได้ลูกสาว เพราะบิดามารดาของผู้หญิงไม่เห็นว่าจะเลี้ยงเมียได้อย่างไร ที่เป็นเช่นนี้เพราะการเป็นมโนราห์นั้นต้องเป็นคนที่คล่องแคล่วและมีไหวพริบปฏิภาณ ส่วนการขโมยควายนั้นแสดงถึงความกล้าหาญใจนักเลง
     ตำนานมโนราห์ที่เล่ากันมานั้น กล่าวถึงนางนวลสำลีธิดาพระเจ้าสายฟ้าฟาด ที่ทรงครรภ์และถูกลอยแพไปติดเกาะกะชัง คลอดบุตรให้ชื่อว่าพระเทพสิงหร ต่อมาได้ฝึกท่ารำจนชำนาญ มีท่ารำหลัก 12 ท่า คือ ท่าแม่ลาย ท่าบัวตูม ท่าเขาควาย ราหูจับจันทร์ ท่าบัวบาน ท่ากินนร ท่าบัวคลี่ ท่าจับระบำ ท่าบัวแย้ม ท่าลงฉาก หงส์ลีลา ท่าแมงมุมชักใย ท่าฉากน้อย ช้างประสานงา และท่าผาลา ซึ่งเป็นท่าแบบฉบับของมโนราห์มาจนทุกวันนี้ เมื่อพระเทพสิงหรได้กลับบ้านเมืองก็ได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าสายฟ้าฟาดให้เป็นขุนศรีศรัทธา มโนราห์ทั้งหลายเคารพนับถือขุนศรีศรัทธาเป็นครูมโนราห์สืบทอดกันมาจนปัจจุบัน
     มโนราห์เมืองตรังยังมีบรมครูที่เป็นมโนราห์จริงๆ มิใช่มโนราห์ในตำนาน คือขุนทาและขุนเทพ ซึ่งกล่าวกันว่า ขุนทาอยู่บ้านทุ่งหมาย ขุนเทพน้องชายอยู่ฝ่ายอยู่บ้านโพธิ์
     อ้วน สุระกุล เล่าถึงประวัติของตระกูลที่มีบรรพบุรุษเป็นมโนราห์ผู้มีชื่อเสียงของเมืองตรัง ชื่อมโนราห์เอียด เป็นบุตรของมโนราห์แก้ว รูปงาม รำสวย เสียงเพราะ พระยารัษฎาฯ มักจะให้มโนราห์เอียดมารำเสมอ และพาไปรำถึงภูเก็ต ทั้งเคยนำมโนราห์เอียดเข้าเฝ้า สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต่อมามโนราห์เอียดได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนเทพชาตรี ซึ่งก็คือบุคคลที่มีผู้กล่าวถึงว่าเป็น ขุนเทพน้องชาย นั่นเอง ส่วนขุนทาแห่งบ้านทุ่งหม้ายนั้น คือ ขุนศรัทธาใจภักดิ์ (ศรีเงิน) เป็นครูมโนราห์แทบทั่วจังหวัดตรัง ตอนรัชกาลที่ 6 เสด็จฯ เมืองตรัง พ.ศ. 2458 ขุนทาเลิกเล่นมโนราห์แล้ว แต่พาลูกศิษย์หลานศิษย์มารำถวาย มีหมื่นวิเศษนัจกิจ (มโนราห์คลิ้ง) มารำด้วย มโนราห์คลิ้งเดิมเป็นคนสนิทของพระยารัษฎาฯ ต่อมาได้ไปเป็นกำนันแต่ไม่พอใจลาออกเสีย สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยรับสั่งถามว่าเหตุไรจึงลาออก นายคลิ้งทูลชี้แจงว่า
     เป็นกำนันที่ไหนจะสู้เป็นมโนราห์ได้ อย่าว่าแต่จะให้เป็นกำนันเลย ถึงแม้จะให้เป็นนายอำเภอ เจ้าเมือง หรือเทศาก็ไม่ต้องการ สู้เป็นมโนราห์ไม่ได้ เป็นมโนราห์จะฆ่าคนเฆี่ยนคนหรือทำอะไรได้เท่ากับเทศา แต่ดีกว่าเทศา เพราะเทศายังมีคนถอดได้ แต่เป็นมโนราห์ไม่มีใครถอดได้
     ส่วนเชื้อสายของขุนทาคือมโนราห์ช่วยเกาะแต้ว เคยเป็นกำนันตำบลเกาะเปียะ สมัยที่ยังขึ้นอยู่กับอำเภอกันตัง
     การฝึกหัดและสืบทอดการละเล่นมโนราห์เป็นเรื่องยากลำบาก คนเมืองตรังมีสำนวนว่า คนโฒ่ห์หัดโนรา คนปัญญาหัดหนัง ปกติคำว่า คนโม่ห์ คนตรังหมายถึง คนโง่ แต่ในที่นี้เป็นคำเปรียบ ไม่ได้หมายความว่าโง่ แต่หมายความว่าการฝึกหัดศิลปินหนังตะลุงนั้น บุคคลที่มีไหวพริบปฏิภาณด้านเชาวน์ปัญญา ต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สำนวนโวหาร บทขับร้อง บทเจรจาพัดรูปซึ่งสร้างสรรค์ความคิดของตนเองขึ้นได้นับว่าเป็นผู้ที่เหมาะสำหรับฝึกหัดหนัง ส่วนคนที่ฝึกมโนราห์นั้นเน้นความจำมากกว่าไหวพริบปฏิภาณ ท่องบทร้องที่สอนให้แม่นยำจำให้ขึ้นใจ เล่นลูกคอล้อลูกเอื้อนสูงต่ำให้แพรวพราวลงจังหวะกับฉิ่งโหม่งทับกลองต้องฝึกท่ารำสวยงามฉับไวตามลีลามโนราห์ชาตรีฉบับครูเป็นพื้นฐาน
     มโนราห์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดตรังแต่เดิมมีหลายคณะ ที่เด่นดังที่สุด ได้แก่ มโนราห์เติม ซึ่งเป็นยอดด้านปฏิภาณขับกลอนสด คณะอื่นๆ ได้แก่ คณะมโนราห์เฟื่อง แห่งลุ่มน้ำท่าจีน คณะพรานแผ้วหน้าทอง คณะมโนราห์เลื่อน ไสต้นวา คณะมโนราห์หมึก เขาแก้ว คณะมโนราห์คล้อยหมื่นบาล ลูกศิษย์ขุนทา คณะมโนราห์แป้น เครื่องงาม ซึ่งเป็นมโนราห์ที่มีลักษณะเด่นด้านการแต่งกายสวยงาม การแสดงแต่ละครั้งจึงต้องขนอุปกรณ์แต่งชุดโนราห์ไปมากจนได้ชื่อว่า แป้น เจ็ดหาบ
     ปัจจุบันมโนราห์เมืองตรังมีเหลืออยู่ไม่กี่คณะ ที่ยังคงเป็นที่นิยม ได้แก่ คณะศรวรรณะ จุก ศ.แป้นตรัง หรือมโนราห์จุก ลูกศิษย์มโนราห์แป้น มโนราห์ครื้น เอียดจุ้ย หรือครื้นศิลป์เสน่ห์ ลูกศิษย์มโนราห์เติม มโนราห์ทวีน้อย  แห่งบ้านนาโยงใต้ ทำหน้าที่ถ่ายทอดศิลปะมโนราห์เยาวชนไปพร้อมกับการเดินโรงแสดงตามที่มีผู้เรียกหา มโนราห์คณะรุ่มรวย อำนวยศิลป์แห่งบ้านในเตา อำเภอห้วยยอด เป็นต้น
     นอกจากมโนราห์ฉบับครูแล้วยังมีมโนราห์อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า โนราโกลน ซึ่งมีการรำท่าเลียนแบบมโนราห์ทุกบทตอน แต่การแต่งกาย บทร้อง และท่ารำเป็นแบบตลกล้อเลียน มโนราห์จริงให้เป็นที่สนุกขบขัน การล้อเลียนเริ่มตั้งแต่การแต่งกายซึ่งใช้ลูกมะเดื่อ เปลือกหอย หรือวัสดุอื่นมาร้อยทำเป็นเครื่องแต่งกายแทนชุดมโนราห์ ใช้กาบมะพร้าวมาทำเป็นหางหงส์ หรือแม้แต่บทขับก็แสร้งเลียนแบบให้ผิดเพี้ยนไปจากบทเดิม

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 69769
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย