IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม  >  มรดกวัฒนธรรม-ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น-ช่างแต่งลายกระหนกโลงศพเมืองตรัง

มรดกวัฒนธรรม-ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น-ช่างแต่งลายกระหนกโลงศพเมืองตรัง

     ช่างแต่งลายกระหนกโลงศพเมืองตรัง  ในอดีตหากบ้านมีผู้เสียชีวิตลง  การจัดการพิธีงานศพนับเป็นเรื่องใหญ่  ต้องจัดให้สมกียรติแก่ผู้ล่วงลับ  และเพื่อศักดิ์ศรีของเจ้าภาพรวมทั้งคณะญาติพี่น้อง  การตกแต่งโลงศพให้สวยสดงดงามและวิจิตรตระการตา เป็นสิ่งหนึ่งที่จะต้องให้ความสำคัญลำดับต้นๆ
     การตกแต่งโลงศพสมัยก่อนต้องติดต่อช่างไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย ๑๕ วัน ช่างจะเข้าป่าไปตัดไม้ระกำนำมาตากให้แห้งก่อน  เมื่อจะลงมือทำ  ต้องมีพิธีไหว้ครู ถือครูหมอ  เสร็จงานแล้วต้องไหว้ครูหมออีกพร้อมๆ กับรดน้ำมนต์
     ลายกระหนกในสมัยก่อนใช้ลายไทยเพียง ๔ – ๕ ลายเป็นแม่ลายเอก ได้แก่ ลายประจำยามลูกฟักก้ามปู ลายฝาถ้วย(บัวคว่ำบัวหงาย) ลายเชิงกระจก  ลายหน้ากระดาน  ลายหน้าอุดรังมุม และลายร่องกระจกอื่นๆ ต่อมาประสมลายใหม่ๆ เข้าไป แตกลูกเป็นร้อยๆ ลาย
     วัสดุที่ใช้ตกแต่งลายมีเพียงกระดาษทองเกรียบ หรือทองอังกฤษ กระดาษมันไม้ระกำตากแห้งเอามาเหลาผ่าซีกไว้ติดกระจก  เรียกว่า  ลวดทางระกำ  ปัจจุบันมีกระดาษสะท้อนแสงเพิ่มเข้ามา  และใช้แผ่นโฟมแทนลวดทาระกำ  แต่ยังมีช่างบางคนใช้ไม้ระกำแบบยุคก่อน
     กระดาษพื้นหลังเรียกว่า  ทองพื้น กระดาษลายกระหนกเรียกว่า  ทองเกรียบและมีกระดาษสีเป็นกระดาษสอด  เรียกว่า  ซับกระดาษ  ให้เกิดลวดลายสีสันต่างๆ กัน
     ขั้นตอน วิธีทำ เริ่มจากวาดลายที่ต้องการลงบนกระดาษทองเกรียบ  ซึ่งจะมีแม่แบบไว้แล้ว  ทำทีเดียวได้คราวละมากๆ เพราะวางซ้อนกันได้หลายชั้น  แล้วใช่มีดคมๆ เช่น มีดแกะรูปหนังแกะลายตามที่วาดไว้ออกมา  เรียกว่า ขุดลาย ถ้าต้องการทำให้เกิดลายจุดติดต่อกันก็ต้อง  เดินมุก หรือ ฟันปลา
     กระดาษทองเกรียบที่ขุดลายแล้ว  ต้องวางทับกระดาษพื้นหลังซึ่งใช้กระดาษมัน เรียกว่า ทองพื้น ลวกลายกระหนกจะปรากฎตามสีทองพื้น  กรอบนอกคือทองเกรียบ ซึ่งมีลายจุดฟันปลาตามชอบ  ถ้าต้องการให้มีสีสันหลากหลายก็ใช้กระดาษสีต่างๆ สอดเป็น ซับกระดาษ นิยมใช้กระดาษสีสะท้อนแสงจะได้ขึ้นแสงไฟในตอนกลางคืน
     นอกจากนี้ใช้แผ่นโฟมทาสีแทนทางไม้ระกำ  เพื่อรองลายกระหนกให้ดูหนาลึก  ม่แบนราบ  มีน้ำหนัก  มองแล้วสวยงาม  และยังมีการนำกระจกมาติดให้เกิดความแวววาวสะท้อนแสง  เครื่องตกแต่งอื่นๆ ยังมี อาทิ ฉัตร พัด เจดีย์ เซิน (ใบกระจังรวน)  ดอกไม้หว ฯลฯ
     ช่างเปลื้อง ชัยแก้ว แห่งบ้านเกาะเคี่ยม ตำบลหนองตรุด  อำเภอเมืองตรัง เล่าถึงการประดับลายบนโลงว่า  จะติดแบบสอดหรือแบบลอยก็แล้วแต่ความสวยงามของโลงแต่ละใบในสมัยโบราณมักติดแบบสอด  คือติดลายกระหนกบนโลงเลย ส่วนกระหนกลอยหมายถึงการติดให้กระหนกนูนขึ้นมาจากผนังโลง สมัยก่อนใช้วัสดุที่เป็นม้เบาๆ เป็นตัวรอง  ปัจจุบันใช้โฟมการทำกระหนกลอยยุ่งยากกว่าและกินเวลานานกว่ากระหนกสอด
     ผู้ใหญ่ผล  บุญจันทร์  อายุ ๖๐ ปี ช่างตกแต่งลายกระหนกโลงศพแห่งบ้านยางงาม-ท่าปาบ  ตำบลบ้านโพธิ์ สืบทอดวิชามาจากบิดา  ผู้ฝึกฝนวิชาจากพ่อท่านแย้ม  เจ้าอาวาสวัดกะพังสุรินทร์ ทำมาตั้งแต่ ๖๐ – ๗๐ ปีก่อน ผู้ใหญ่ผลเองก็มีลูกชายสืบทอดงานช่างต่อไป
     เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ค่าทำลายกระหนกตกแต่งอย่างสูงไม่เกิน ๘๐๐ บาท หักค่าวัสดุประมาณ ๒๐๐ บาท มีเงินเหลือประมาณ ๕๐๐ บาท  สมัยค่าวัสดุแพงมาก ค่าตกแต่งลายกระหนก ซึ่งรวมถึง ดอกไม้ พลาสติก ไฟประดับ และผ้า ก็ตกราวๆ ๘,๕๐๐ บาท ทั้งนี้เจ้าภาพงานศพไม่ต้องวิ่งหาของดังยุคก่อน  แต่ผู้ใหญ่ผลก็ให้ข้อคิดไว้ว่า งานมาก่อนอย่าเห็นแก่เงิน ช่างบางคนสามารถรับงานตกแต่งพร้อมๆ กันด้ถึง ๕ โลง  ซึ่งต้องพลิกแพลงลวดลายไม่ให้ซ้ำกัน ถ้างานอยู่ในบริเวณใกล้กัน
     ช่างยุคก่อนให้ความสำคัญต่อการเซ่นไหว้ครูหมอ  เคารพและยึดถือวิธีการตามความเชื่ออย่างเคร่งครัด เช่น ต้องตั้งข้าว ๑๒ ที่ข้างโลงศพ แต่ปัจจุบันความเชื่อเหล่านั้นค่อยๆ เลือนหาย  ช่างทำพอเป็นพิธีที่บ้านของตัวเองเพื่อไม่ให้ยุ่งยากแก่เจ้าภาพ  ส่วนลายกระหนกมีความเชื่ออยู่ว่าไม่ให้เผาทั้งหมด  ช่างหรือคนใกล้ชิดต้องคอยดึงออกมานิดหนึ่งก่อนจะเผาศพเพราะเชื่อว่าถ้าเผาทั้งหมดจะทำลายวิชา  เมื่อดึงออกมาวิชายังอยู่  กระหนกลายคือตัวแทนของครูตัวแทนวิชา  ช่างบางคนต้องประพรมน้ำมนต์นำมาสระหัว  ทำเสร็จแล้วต้องชุบราศี  ทำเสน่ห์ให้คนรักชอบลายกระหนกนี้  มีการบวงสรวงครู  วันสุดท้ายเลี้ยงครู  เอาข้าวใส่ถ้วย ๑๒ อย่าง พร้อมหมากพลู ธูปเทียน กันอุบาทว์จัญไร และดึงกระหนกออกมานิดหนึ่ง ไม่เผาทั้งหมด เห็นได้ว่าเรื่องความเชื่อมีอยู่ทุกช่าง และมีหัวใจหลักเหมือนกันคือการบูชาครู
     ในจังหวัดตรังยังมีช่างเก่าแก่ฝีมือดีทำได้เต็มแบบ  คือ  นายเจียม  ราชกิจชอบ  อายุ ๕๐ ปี แห่งบ้านสี่แยกต้นปราง  ตำบลคลองปาง อำเภอรัษฎา  เล่าว่า ช่างเก่าแก่ทำลายกระหนกโลงศพมักอยู่ในหมู่บ้าน  เป็นงานสืบทอด ช่างต้องเขียนลายได้เอง และศึกษาหาประสบการณ์เอาเอง ลายเกิดได้ตามที่เรียนและรู้ตนเองนั้นเริ่มฝึกเมื่ออายุ ๑๒ ปี กับช่างข้างบ้านชื่อนายชุ่ม  ไชยพลสิทธิ์  และยังมีช่างต้นแบบอีกคนหนึ่งคือ ตาพร้าว  ราชกิจชอบ  แห่งบ้านควนเมา อำเภอรัษฎา  การทำลายกระหนกของช่างเจียมนั้นยึดขนบแบบเก่า  คือ  หาแบบให้เต็ม มิใช่ขาดเกินแล้วเพิ่มลายเข้าไป เพียงเพิ่มกระจกติดเข้าไปกับไม้เพื่อให้แวววาวสวยงาม  สมัยก่อนใช้ไม้ระกำเหลาแกะลาย
     ช่างเจียมกล่าวถึงความนิยมในการตกแต่งโลงศพไว้ด้วยว่า  ยุคแรก  ทำโลงกระหนกแบบทั่วไป  กระหนก ๓ ยอด หรือกระหนกยอดเดียว ยุคที่ ๒ ทำแบบโฟม ฟองน้ำ กระดาษย่น แล้วประดับดอกไม้ ยุคที่ ๓ เป็นโลงทองสำเร็จรูป ยุคปัจจุบัน หันกลับมานิยมตกแต่งลายกระหนกแบบเก่า
     ทุกวันนี้  ช่างเจียมยังยึดสิลปะทำลายกระหนกโลงศพเป็นอาชีพ  และยังฝึกลูกหลานเป็นผู้สืบทอดอีกต่อหนึ่ง  นอกจากนี้ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษถ่ายทอดวิชาให้เด็กนักเรียนที่โรงเรียนคลองปางวิทยาคม อำเภอรัษฎา
     ช่างรุ่นเก่าในจังหวัดตรังปัจจุบันมีอยู่น้อยมาก  ไม่เกิน ๒๐ คน แต่ก็น่ายินดีว่าเวลานี้ในเมืองตรังมีช่างรุ่นใหม่เกิดขึ้นกลายคน  เป็นพวกที่ผ่านการเรียนรู้หรือมีทักษะพิเศษด้านศิลปะ หันเข้ามาจับงานโดยศึกษาจากต้นแบบของช่างรุ่นเก่า
     จากอดีต งานตกแต่งกระหนกลายโลงศพฝีมือช่างพื้นบ้านเมืองตรังเดินทางข้ามมิติกาลเวลา  ปรับเปลี่ยนพัฒนาการไปตามแต่ละยุคสมัย ทว่า ยังคงทิ้งร่องรอยแห่งภูมิปัญญาคุณค่า  และฝีมือในเชิงช่างให้คนรุ่นหลังได้สืบสานต่อ  นับได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจอีกชิ้นหนึ่งของเมืองตรัง
 
   

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 32004
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย