IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม  >  มรดกวัฒนธรรม-โบราณคดี-รูปปั้นอนุสาวรีย์

มรดกวัฒนธรรม-โบราณคดี-รูปปั้นอนุสาวรีย์

     อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)
     อนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ อยู่บนเนินเตี้ยๆ ในบริเวณเขตเทศบาลเมืองตรัง ตรงต้นทางแยกออกสู่ถนนตรัง – พัทลุง พระยารัษฎาฯ ได้จัดสร้างตำหนักรับเสด็จฯ ได้รับพระราชทาน นามจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อ พ.ศ. 2452 ว่า ตำหนักผ่อนกาย คนเก่าๆ เรียกกันว่า ที่ยน เพราะรอบบริเวณนี้เป็นดินยน (ยน หมายถึงหล่มเลนหรือโคลนดูด) บางแห่งเขียนเป็น ที่ยล โดยให้เหตุผลว่าเปนที่สูงมองทิวทัศน์ออกไปรอบๆ ได้ชัดเจน
     พ.ศ. 2483 จอมพล ป.พิบูลสงคราม มาตรวจราชการและเยี่ยมเยียนเมืองตรัง ได้ดำริว่าควรสร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของพระยารัษฎาฯ หลวงวุฒิราษฎร์รักษา ผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้นจึงดำเนินการติดต่อประสานงานต่างๆ กับทางกรมศิลปากรให้จัดทำรูปหล่อโลหะ และจัดหาทุนในหมู่ข้าราชการพ่อค้าประชาชน จนกระทั่งย้ายไป ผู้ว่าราชการจังหวัดคนต่อมาได้ดำเนินการต่อ แต่ต้องล่าช้าเนื่องด้วยเป็นยุคเศรษฐกิจตกต่ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในที่สุดกรมศิลปากรก็จัดทำรูปหล่อแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2489 จากนั้นทางจังหวัดและเทศบาลเมืองตรังตกลงใช้บริเวณตำหนักผ่อนกายเป็นที่ก่อสร้างและประดิษฐานรูปหล่ออนุสาวรีย์ ซึ่งทำพิธีวางศิลาฤกษ์วันที่ 23 พฤษภาคม และพิธีประดิษฐานในวันที่ 10 สิงหาคม 2493 และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการพร้อมกับเฉลิมฉลองอนุสาวรีย์ในวันที่ 10 เมษายน 2494
     ตั้งแต่นั้นมา ในวันที่ 10 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ชาวตรังพร้อมใจกันจัดพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของพระยารัษฎาฯ ที่ให้ไว้แก่เมืองตรัง
     การสร้างรูปปั้นพระยารัษฎาฯ เป็นอนุสาวรีย์นั้นมีเพิ่มขึ้นอีกในสมัยหลัง คือ ที่ตำบลน้ำราบ กลางเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งสถานีทดลองยาง นายสมจิต แก้วทิพยรัตน์ ผู้อำนวยการสถานีทดลองยาง (พ.ศ. 2535-2540) เห็นว่าพระยารัษฎาฯ เป็นผู้มีคุณูปการทำให้ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดตรัง จึงจัดทำรูปปั้นพระยารัษฎาฯ มาประดิษฐานไว้เป็นที่ระลึกในบริเวณสำนักงาน เมื่อ พ.ศ. 2536 ต่อมาเมื่อย้ายที่ตั้งสำนักงานไปที่บ้านหนองผักฉีด ตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน พ.ศ. 2538 ก็จัดทำรูปปั้นครึ่งตัวของพระยารัษฎาฯ ประดิษฐานไว้ที่หน้าสำนักงานด้วย รูปปั้นทั้ง 2 นี้เป็นฝีมือของ นายเดชา เขียวลี อาจารย์สอนศิลปะโรงเรียนปะเหลียนผดุงศิษย์
     รูปปั้นพระยารัษฎาฯ ที่จัดทำเป็นอนุสาวรีย์ไว้ที่ตำบลน้ำราบนั้น มีลักษณะพิเศษกว่าอนุสาวรีย์อื่นๆ คือขนาดของรูปปั้นเล็กมาก สูงประมาณ 44 เซนติเมตร สื่อมวลชนต่างพากันประโคมข่าวว่า อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นอนุสาวรีย์ที่เล็กที่สุดในโลก
     รูปปั้น อนุสาวรีย์อื่นๆ เป็นรูปปั้นบุคคลที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมในกลุ่มต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชนบทและเป็นกำนันนักพัฒนา ได้แก่ อนุสาวรีย์ขุนกอบคีรีกิจ อดีตกำนันตำบลเขากอบ ที่ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอดอนุสาวรีย์ขุนเชี่ยวชาญกิจ อดีตกำนันตำบลหนองตรุด ที่วัดเชี่ยวชาญกิจ ตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรัง อนุสาวรีย์กำนันคล้าย ทวิสุวรรณ อดีตกำนันรางวัลแหนบทองคำ ตำบลโคกหล่อ ที่บ้านโคกพลา ตำบลโคกหล่ออำเภอเมืองตรัง อนุสาวรีย์นายกลึง เสมรดิษฐ์ (ขุนกัลปศาสน์) อดีตนายอำเภอเขาขาว (ห้วยยอด) และปลัดจังหวัดตรัง ที่โรงเรียนห้วยยอด (กลึงวิทยาคาร) ในฐานะผู้สร้างโรงเรียน รูปปั้นขุนนัยนาปยา ที่วัดเขาปินะ ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด ในฐานะผู้ดูแลวัด เป็นต้น

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 22309
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย