IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม  >  มรดกวัฒนธรรม-โบราณคดี-โบราณวัตถุ

มรดกวัฒนธรรม-โบราณคดี-โบราณวัตถุ

     พระงาม เป็นพระพุทธรูปประจำวัดพระงาม ประดิษฐานอยู่ในศาลาการเปรียญของวัด วัดตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองตรัง ตามประวัติกล่าวว่า วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2224 มีตำนานว่านางเลือดขาวเป็นผู้มาสร้างวัดพระงามและสร้างพระพุทธรูปไว้ในคราวเดียวกับที่สร้างวัดพระศรีสรรเพชญพุทธสิหิงค์
     พระงามเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลักษณะพิเศษคือนิ้วพระหัตถ์ซ้ายมี 6 นิ้ว มีพระพักตร์งามจิ้มลิ้มคล้ายหน้าผู้หญิง เรียกกว่า พระพุทธรูปแบบหน้านาง แสดงถึงฝีมือช่างพื้นบ้านที่จัดได้ว่างดงามมาก จึงได้ชื่อว่า พระงาม
    
      พระพุทธรูปวัดสาริการาม วัดสาริการาม อยู่ในหมู่ที่ 9 ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมืองตรัง ตามประวัติวัดกล่าวว่าสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. 2240
     ลักษณะของพระพุทธรูปเป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัย มีประวัติว่า มีพระภิกษุกาแก้ว-การาม จากเมืองพัทลุง มาปักกลดอยู่ในบริเวณที่ว่างกลางทุ่ง ในคืนหนึ่งมีเสียงประหลาดดังขึ้นก็พากันไปดู พบว่ามีพระไม้แกะสลักผุดขึ้นมาจากพื้นดิน จึงนำมาบูชาและจัดสถานที่ให้เป็นสำนักสงฆ์ขึ้น ต่อมามีพ่อค้าชาวจีนคนหนึ่งถูกพายุพัดเรือล่ม ขณะว่ายน้ำอยู่เกิดนิมิตว่ามีพระมาช่วยไว้ เมื่อรอดชีวิตมาได้ก็ออกสืบหาพระ จนในที่สุดก็มาพบที่วัดแห่งนี้ จึงได้สร้างพระพุทธรูปปูนปั้นครอบพระพุทธรูปไม้นั้น ประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในอุโบสถ รูปลักษณะคล้ายคลึงพระพุทธสิหิงค์จำลอง เป็นที่เคารพสักการะและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านในละแวกวัดมาตลอด
     
     พระนอนวัดภูเขาทอง วัดภูเขาทอง ตำบลน้ำผุดเหนือ อำเภอเมืองตรัง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2465 ภูเขาทองแห่งนี้ปรากฏชื่อขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานว่า ภูเขาชุมทอง
     ในวัดนี้มีโบราณวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธรูปปูนปั้นปางปรินิพพาน ประดิษฐานอยู่ตรงเพิงผา องค์พระมีความยาว 9 เมตร ฝ่าพระบาทมีลวดลายนูนคล้ายดอกบัว สภาพทั่วไปมีความสมบูรณ์อยู่มาก เป็นเพราะว่าได้มีการปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. 2504 ประวัติการสร้างพระพุทธรูปไม่แน่ชัด ตามที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมากล่าวว่า เมื่อครั้งบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช หมู่พุทธบริษัทที่ไปไม่ทันได้ฝังทรัพย์สมบัติไว้ใต้เพิงผาและสร้างพระพุทธรูปปิดทับ แต่บางกลุ่มก็เล่าว่าเป็นพระที่นางเลือดขาวมาสร้างไว้
     ลักษณะพิเศษของพระนอนวัดภูเขาทองคือพระเศียรสวมเทริดมโนราห์ นับเป็นงานพุทธศิลป์ที่ผสมผสานกับศิลปะพื้นบ้าน โดยฝีมือและแนวคิดสร้างสรรค์ของช่างพื้นบ้านและนับเป็นพระนอนสวมเทริดมโนราห์หนึ่งเดียวในเมืองตรัง
     
     พระนอนวัดถ้ำพระพุทธและพระบริวาร วัดถ้ำพระพุทธตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา วัดนี้นับเป็นโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งของเมืองตรัง
     โบราณวัตถุที่สำคัญคือ พระนอน ณ บริเวณเพิงผา หันหน้ามาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพระพุทธปูนปั้น ความยาว 14 เมตร ที่ฐานพระที่ช้างแบกเรียงเป็นระยะ 9 ตัว พระนอนองค์นี้มีมาก่อนการสร้างวัดเพราะตามประวัติวัดกล่าวว่าวัดสร้างประมาณ พ.ศ. 2374
     ตรงปลายพระบาทของพระนอน จะมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยซึ่งมีขนาดแตกต่างกันอยู่หลายองค์ และด้านนอกสุดมีเจดีย์องค์เล็กๆ รูปทรงคล้ายกับพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ถัดออกมายังมีพระปูนปั้น ลักษณะพิเศษคือ สวมเทริดและมีเครื่องประดับตกแต่งเหมือนมโนราห์ เชื่อกันว่ารูปปั้นสวมเทริดมโนราห์องค์ใหญ่ที่เด่นที่สุด คือรูปนางเลือดขาวผู้สร้างพระพุทธรูปทั้งหมด รูปปั้นเหล่านี้ก่อด้วยปูนเพชร คือปูนขาวผสมน้ำตาล ปัจจุบันรูปปั้นเหล่านี้ชำรุดไปมาก อาจเป็นเพราะกาลเวลาที่ยาวนานและขาดการเอาใจใส่ดูแลรักษาอย่างถูกวิธี
     ในวัดถ้ำพระพุทธยังมีโบราณวัตถุประเภทภาชนะทองเหลืองและเครื่องถ้วยชามจำนวนมาก ซึ่งทางวัดนำมาจัดแสดงไว้ เล่ากันว่าเป็นของที่มาซุกซ่อนไว้สมัยเกิดสงครามกับพม่าในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นๆ
     ไม่ไกลจากวัดนี้มีหุบเขาซึ่งมีพื้นที่กว้าง เรียกชื่อว่า อ่าวพิชัยสงคราม มีเรื่องเล่าว่าเป็นที่พระยาพิชัยสงครามมาพักพลตอนยกไปตีไทรบุรี ในเรื่องเล่านี้กล่าวถึงถ้ำ ชื่อถ้ำพิชัยสงคราม ซึ่งอยู่ในบริเวณนี้เช่นกัน
     เมื่อครั้งที่ทางวัดขุดหลุมเพื่อลงเสาจัดสร้างหลังคาครอบพระนอน มีผู้พบเศษภาชนะดินเผา เปลือกหอย และชิ้นส่วนกระดูกปะปนอยู่ในดิน แต่ยังไม่มีการสำรวจวิเคราะห์จากนักวิชาการว่าสถานที่นี้จะเป็นแหล่งชุมชนโบราณยุคใดหรือไม่

     พระพุทธรูปไม้แกะสลักวัดเขาพระวิเศษ
     ที่วัดเขาพระวิเศษ อำเภอวังวิเศษ มีพระพุทธรูปไม้แกะสลักจำนวนมาก แต่มีอยู่ 2 องค์ที่มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามสมุทร ความสูงประมาณ 130 เซนติเมตร ทาสีสันสวยงาม
     พระพุทธรูปไม้แกะสลักฝีมือช่างพื้นเมืองจะมีอยู่ตามวัดต่างๆ หลายวัดในเมืองตรัง บางแห่งเรียกว่าพระพุทธรูปไม้แก่นจันทร์ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปยืน ฝีมือช่างพื้นบ้านมักใช้ในประเพณีลากพระ นอกจากนี้การสร้างพระพุทธรูปไม้ยังมีขึ้นตามคติความเชื่อว่าใช้สำหรับสะเดาะเคราะห์ พระพุทธรูปชนิดนี้มีทั้งอิริยาบทยืนและนั่ง ขนาดเล็กๆ สูงตั้งแต่ 2-3 นิ้วจนถึงประมาณหนึ่งคืบ เมื่อเสร็จพิธีแล้วเจ้าของจะนำไปไว้ตามหลืบซอกถ้ำหรือที่ลับตาของวัดต่างๆ
     
     พระปู่-พระย่า อยู่ในอุโบสถวัดประสิทธิชัย (วัดท่าจีน) อำเภอเมือง เป็นพระพุทธรูปสร้างด้วยเงินแท้ มีประวัติเกี่ยวพันกับบุคคลในประวัติศาสตร์เมืองตรัง
     พระปู่ เป็นพระพุทธรูปยืน สูง 1.63 เมตร ใช้ชันบุด้วยเงินแท้ มีข้อความจารึกที่ฐานว่า วันเสาร์ เดือนสี่ แรมสิบเอ็ดค่ำ จุลศักราช หนึ่งพันสองร้อยสี่สิบห้า ปีกุน เบญจศก ข้าพเจ้าพระยาตรังวิษยานุรักษ์พิทักษ์รัฐเสมา ผู้สำเร็จราชการ บุตรพระสิทธิสงครารามณรงค์ ปลัดเมืองไทร ได้สร้างพระพุทธรูปนี้ไว้ในพระพุทธศาสนา
     พระย่า เป็นพระพุทธรูปยืน สูง 1.14 เมตร สร้างด้วยชันบุด้วยเงินแท้เช่นกัน มีข้อความจารึกที่ฐานว่า วันเสาร์ เดือนสี่ แรมสิเอ็ดค่ำ จุลศักราช หนึ่งพันสองร้อยสี่สิบห้า ปีกุน เบญจศก ข้าพเจ้าแม่กิ้ม ภรรยาท้าวพระยาตรัง ได้สร้างพระพุทธรูปนี้ไว้ในพระพุทธศาสนา
     ข้อความจารึกกล่าวถึงพระตรังควิษยาณุรักษ์พิทักษ์รัฐสีมา (ทองบาน) ต้นตระกูล “วิทยารัฐ” และภรรยา คือผู้สร้างพระ เมื่อ พ.ศ. 2426 บรรดาลูกหลานในตระกูลจะเรียกพระนี้ว่า พระปู่-พระย่า ด้วยถือเอาว่าเป็นเสมือนตัวแทนของผู้สร้าง
     
     พระพุทธรูปหินอ่อนวัดตรังคภูมิพุทธาวาส ในจังหวัดตรัง มีพระพุทธรูปหินอ่อนมากมายหลายขนาดอยู่ตามวัดต่างๆ แต่องค์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือพระพุทธรูปหินอ่อน พระประธานในอุโบสถวัดตรังคภูมิพุทธาวาส
     ประวัติพระพุทธรูปองค์นี้ กล่าวว่า เมื่อพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองตรัง สร้างเมืองใหม่ที่กันตัง ต่อมาก็สร้างวัด แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปหินอ่อนจากพม่ามาเป็นพระประจำวัด พร้อมทั้งพระอัครสาวก ช้างสิงห์ อย่างละ 1 คู่ และพระพุทธรูปหินอ่อนขนาดเล็ก หน้าตักกว้าง 15 นิ้ว อีกองค์หนึ่ง ต่อมาเมื่อย้ายที่ตั้งวัด ประมาณ พ.ศ. 2442 ก็ใช้ล้อเลื่อนชะลอพระพุทธรูปและบริวารไปใช้ที่วัดใหม่
     พระพุทธรูปหินอ่อนองค์นี้เป็นพระปางมารวิชัย เดิมพระเศียรไม่มีพระเกตุมาลาอันเป็นลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปหินอ่อนทั่วไปที่มีอยู่ในเมืองตรัง ชาวบ้านเรียกชื่อว่า พระขาว หรือหลวงพ่อขาว แต่ทางวัดตรังคภูมิฯ ได้ต่อเติมพระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิงและทาสีทองทั่วทั้งองค์พระ ทำให้ชื่อหลวงพ่อขาวเลือนไป ต่อมาเมื่อปฏิสังยรณ์อุโบสถ พ.ศ. 2534 ได้ขัดสีทองออกบางส่วนแล้ว แต่ยังมีการเสริมสีสันตรงพระพักตร์และไตรจีวร
     พระพุทธรูปหินอ่อนวัดตรังคภูมิฯ มิได้มีความสำคัญเพียงความเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่านั้น หากยังเป็นพระสำคัญคู่เมืองคู่เมืองเมื่อครั้งเมืองยังอยู่ที่กันตังและถ้ารวมถึงพระพุทธรูปหินอ่อนทั้งหมดในจังหวัดตรัง ก็อาจเป็นหลักฐานยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองตรังกับพม่า ทั้งในด้านการค้า ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม อีกด้านหนึ่ง

     ปืนใหญ่เมืองตรัง เมืองตรังเดิมเป็นเมืองหน้าด่านของนครศรีธรรมราช เมื่อพระบริรักษ์ภูเบศร์(น้อย) ดำรงตำแหน่งเป็นพระยานครศรีธรรมราชแล้ว ก็ลงมือพัฒนาเมืองตรังด้วยตนเองจนเจริญก้าวหน้า มีเรือต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายปีละมากๆ ด้านการทหารก็ปรับปรุงจนเป็นฐานทัพเรือที่มีเรือรบ เรือไล่ เข้าประจำการอยู่จำนวนมาก เพื่อใช้รักษาปากน้ำป้องกันศึกพม่าและโจรสลัดที่อาจจะมารุกราน นอกจากนั้นยังได้จัดหน่วยราชการพิเศษขึ้นในเมืองตรังซึ่งต่างไปจากเมืองนครศรีธรรมราช คือจัดกรมปืนให้มีหน้าที่ในการจัดหา สะสมตลอดจนรักษาปืนไว้ใช้ในราชการสงคราม ดังปรากฏในทำเนียบกรมการเมืองตรัง มีรายชื่อกรมการทำหน้าที่ในกรมปืนดังนี้
     ขุนสิรินทร     ถือศักดินา 400 กรมปืน
     ขันณรงค์       ถือศักดินา 300 กรมปืน
     ในรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2381 เกิดเหตุการณ์สำคัญ คือ หลานพระยาไทรบุรีชื่อตนกูมะหะหมัดสะอัด กับตนกูมะหะหมัดอาเกบ สมคบกับหวันหมาดหลีโจรสลัดซึ่งพำนักอยู่ที่เกาะยาว ยกพวกเข้าตีเมืองตรัง สตูล และปะเหลียน สามารถยึดครองเมืองตรังได้ระยะหนึ่ง จนกระทั่งทางเมืองนครศรีธรรมราชร่วมกับสงขลา ปราบปรามพวกก่อการและตีเมืองไทรบุรีได้ จึงขนเอาปืนใหญ่และอาวุธต่างๆ มาเก็บไว้ที่เมืองสงขลาและเมืองตรัง ปืนใหญ่เมืองตรังจึงมีที่มาหลายทาง
     พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาเมืองตรัง ทรงบันทึกเรื่องปืนใหญ่ไว้ว่า
     ... บ่ายโมงกลับมาลงเรือ เราลืมว่าถึงเรื่องปืนที่เห็น คือปืนเหล็กใหญ่ทิ้งอยู่ริมศาลเจ้า 4 กระบอก เป็นปืนใหญ่ที่มีโรงปลูกครอบไว้ ยังที่ด่านควนราชสีห์ ก็เห็นมีอยู่อีกหนึ่งโรงว่าเป็นปืนแต่ครั้งไปตีเมืองไทรได้เชลยมา เจ้าพระยานครฯ เอามาไว้ที่นี่ มีปืนทอง 2 กระบอกอยู่ที่บ้านข้าหลวง เป็นปืนสมเด็จเจ้าพระยาซื้อมาเมื่อครั้งจีนวุ่นวายที่ภูเก็ต 
     เรื่องปืนทอง พบว่ามีการนำเข้ามาในเมืองตรังถึง 2 ครั้ง รวม 4 กระบอก แต่เหลือเพียง 2 กระบอก อยู่ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรจังหวัดตรัง ปืนทั้ง 2 กระบอกมีรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตประทับอยู่บนปืนด้วย คือ กระบอกที่ 1 น้ำหนัก 100 กิโลกรัม บริษัท Lefoy เป็นผู้สร้าง วิศวกรชื่อ Dovai สร้างเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1843 (พ.ศ. 2386) กระบอกที่ 2 น้ำหนัก 99 กิโลกรัม ผู้สร้างคือบริษัท Toulousi Mather สร้างในปี ค.ศ. 1838 (พ.ศ. 2381) ปืน 2 กระบอกนี้น่าจะเป็นชุดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ซื้อมา
     นอกจากนั้นยังมีปืนใหญ่อีก 29 กระบอก เป็นปืนที่ทำด้วยเหล็กหล่อวางอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดตรัง เช่น บริเวณหน้าศาลากลาง ศาล บ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด หน้าสนามกีฬาเทศบาลจังหวัดตรัง บริเวณอนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ วัดกะพังสุรินทร์ หน้าที่ว่าการอำเภอกันตัง และหน้าสำนักงานหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ตง.7 อำเภอกันตัง เป็นต้น
     ยังมีปืนใหญ่ของจังหวัดตรังอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทางหน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา นำไปไว้ที่ป้อมปากน้ำแหลมทราย จำนวน 17 กระบอก เมื่อคราวซ่อมป้อมนี้ใน พ.ศ. 2513

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 60977
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย