IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  บทสัมภาษณ์  >  จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์

จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์

หากจะเอ่ยถึงชื่อของศิลปินสายเลือดชาวตรัง ที่โด่งดังมีชื่อเสียงระบือลือไกลไปทั้งประเทศ ชื่อของ จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ จากหนังสือรวมบทกวี "ใบไม้ที่หายไป" ก็เป็นชื่อหนึ่งที่อยู่ในใจของใครต่อใครมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน จิระนันท์ พิตรปรีชา หรือ ชื่อเล่น "จิ๊ด"  เกิด เมื่อวันที่ 25 เดือนกุมภาพันธ์ 2498 ที่ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นบุตรสาวคนเดียวในจำนวนพี่น้อง 3 คน บิดาชื่อ นิรันดร์ มารดาชื่อจิระ เคยเป็นครูแล้วลาออกมาเปิดร้านขาย เครื่องเขียน แบบเรียน และหนังสือ เป็นลูกสาวเจ้าของร้านหนังสือที่โตมากับกองหนังสือ ภายในร้าน "สิริบรรณ" เริ่มเขียนกลอนในช่วงที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนประจำจังหวัด และประสบความสำเร็จเบื้องต้นในระดับกลอนประกวดเรื่อยมา จนกระทั่งจบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบเข้าเรียนต่อในคณะวิทยาศาสตร์ แผนกเตรียมเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2515 ถูกเลือกเป็นดาวจุฬา ทำงานอยู่กับกิจกรรมชมรมต่างๆ อยู่พักหนึ่ง ก็เกิดสงสัยในคุณค่าของระบบการศึกษาและสังคมมหาวิทยาลัย จึงผันแปรเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองแบบกลุ่มอิสระที่เริ่มก่อตัวขึ้นในยุคนั้น

หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ บทบาทและชื่อเสียงของจิระนันท์เป็นที่รับรู้ทั่วไป งานเขียนในรูปของบทกวีบางชิ้นกลายเป็นหนึ่งในบรรดาวรรคทองของยุคประชาธิปไตย แต่สภาพ-การณ์ทางการเมืองที่เริ่มพลิกกลับในปีถัดมา มีส่วนผลักดันให้จิระนันท์ตัดสินใจ "เข้าป่าจับอาวุธ" พร้อม เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และผลิตงานฉันทลักษณ์ออกมาภายใต้นามประพันธ์ "บินหลา นาตรัง" หกปีในป่าเขา เพียงพอสำหรับการรับรู้จำแนกแยกแยะ ระหว่างความถูกต้องและผิดพลั้ง   ประสบการณ์ป่าเขาเป็นประสบการณ์ที่ไม่ลืมเลือน เมื่อการปฎิบัติงานในป่าเขาไม่ใช่คำตอบ จึงกลับคืนสู่เมือง

เมื่อการต่อสู้ภายในขบวนปฏิวัติแหลมคมรุนแรงยิ่งกว่าการต่อสู้ใดๆ ที่ผ่านมา และถึงเวลาคืนเมืองในสภาพ “กรวดเม็ดร้าว” ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ บทกวีชุด "เกิดในกองทัพ" ของจิระนันท์ พิตรปรีชา เอกสารโรเนียวทำมือได้รับการจัดพิมพ์ออกมาในนาม "ใบไม้ที่หายไป" ซึ่งต่อมา จิระนันท์ พิตรปรีชา นั่งลง "บันทึกแรมทางของชีวิต" ในความหมายที่เป็น "อีกหนึ่งฟางฝัน" ลงพิมพ์ต่อเนื่องในนิตยสารแพรว จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ "อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต" คือผลงานเขียนเล่มสำคัญที่เพาะบ่มมากว่า ๑๐ ปี ของจิระนันท์ พิตรปรีชา เจ้าของบทกวีรางวัลซีไรต์อันโด่งดัง เข้มข้นด้วยแง่มุมชีวิตของจิระนันท์ ทั้งในบทบาทนักต่อสู้ทางอุดมการณ์ในยุค ๑๔ ตุลา นักคิด นักเขียน ภรรยา และแม่ ในลีลาการเล่าเรื่องอันชวนติดตาม นอกจากจะเขียนบทกวีอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังเขียนบทความ สารคดี แปลบทภาพยนตร์ อย่างต่อเนื่องด้วย ปัจจุบันเป็นนักเขียน และผู้จัดทำบทบรรยายภาพยนตร์

 

ปัจจุบันจิระนันท์ยังคงเขียนงานอย่างต่อเนื่องนอกจากบทกวีแล้ว ยังมีงานสารคดี และแปลบทภาพยนตร์ 
ชีวิตครอบครัว สมรสกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุลหรือสหายไท อดีตผู้นำนักศึกษาที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน มีบุตรชาย 2 คน ชื่อ แทนไท และ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

 นามปากกาที่ใช้ได้แก่ -  จิระนันท์ พิตรปรีชา , บินหลา นาตรัง

  ผลงานรวมเล่ม
- เดอะซีเคร็ต (The Secret)
- แปลบทกวีของ คิม ซีฮาร์
- เรื่องแปล โจรร้ายทั้งห้า ห้องสีเหลืองกับผู้หญิงคนนั้น
- บทบรรยายภาพยนตร์ต่างประเทศ จำนวนมาก
- งานเรียบเรียง ลูกผู้ชายชื่อ นายหลุยส์
- สารคดี โลกที่สี่ อีกหนึ่งฟางฝัน
- รวมบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์ หม้อแกงลิงชะโงกดูเรา
- อีกหนึ่งฟางฝัน...บทบันทึกแรมทาง จาก จิระนันท์ พิตรปรีชา


งานที่ได้รับรางวัล 

- พ.ศ. 2532 ได้นำบทกวีมารวมเล่ม ชื่อ ใบไม้ที่หายไป ซึ่งได้รับรางวัลซีไรท์ ประเภทกวีนิพนธ์ เมื่อ ปี 2532
- ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน หรือรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2538

*******************************************

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นกวี
 เริ่มเขียนกวีเพราะไม่มีอะไรจะทำ สมัยเด็กๆ เป็นลูกสาวคนเดียว พี่ชายน้องชายก็ไม่ค่อยเล่นด้วย แล้วก็อยู่ในร้านหนังสือ ร้านเป็นห้องแถว 3 ห้อง ซีกหนึ่งเป็นหนังสือเริงรมย์ล้วนๆ เลย พวกนิยายจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ในยุคนั้น โอเดียนสโตร์ สำนักพิมพ์เพลินจิตก็พิมพ์บู๊ลิ้ม ก็เหมือนมีห้องสมุดอยู่ในบ้าน พอไม่รู้จะทำอะไรก็มาอ่าน การอ่านคือตัวการสร้างนักเขียน แล้วบังเอิญ สิ่งที่เรา เลือกหยิบมาอ่านก็คือพวกที่เป็นกวีกับสารคดี นิยายนี่ไม่อ่านเลยนะ เริ่มอ่าน สารคดีต่างประเทศก่อนด้วยซ้ำ อ่านของหลิน ยู่ ถัง โดยไม่รู้ว่าเขาดังขนาดไหน ในยุคผลัดเปลี่ยนของประเทศจีน หรือเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่บ้านก็เป็น เอเย่นต์ด้วย ชอบมากเลยทั้งๆ ที่อ่านภาษาอังกฤษไม่ออก ชอบรูปถ่าย

กวีต้นแบบ
 ทีแรกเริ่มเขียนแบบเป็นเด็กปั้นก่อน เขียนประกวด อาจารย์ก็ชอบ เพราะเราเขียนแล้วได้รางวัลระดับจังหวัด ก็ไปประกาศหน้าแถว แล้วต่อมาก็ลุย อ่านเฉพาะคอลัมน์กวี ยังจำได้ เช่น หนังสือจักรวาลของค่ายพนมเทียน มีแต่เรื่องบู๊ ฆ่ากัน เราก็เลือกอ่านแต่จักรวาลกวี แล้วก็ส่งไปลง ทีนี้อ่านมากๆ ก็จะเจอต้นแบบ แล้วก็ติดตามเขาเหมือนตามดาราเลย สมัยอยู่ ม.ต้น เช่น วานิช จรุงกิจอนันต์ คนจะรู้จักพี่วานิชเฉพาะในแง่เรื่องสั้น นิยาย แต่ไม่ค่อยรู้ว่า ฝีมือกลอนแกเฉียบสุด แล้วก็ชอบชมรมวรรณศิลป์จุฬาฯ อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่สอบเข้าจุฬาฯ (หัวเราะ) แต่ไล่ไม่ทันเขา เขาจบไปก่อน
 ส่วนถ้าพูดถึงต้นแบบที่แบบก๊อปมาเลย ตอนนั้นยังจิระนันท์ของ ก๊อปอยู่ สุรศักดิ์ ศรีประพันธ์ อดุลย์ จันทรศักดิ์ พี่อดุลย์ตอนหลังก็มาสนิทกัน เพราะพี่รู้จักผลงานแทบจะทุกชิ้นของเขา ที่บ้านจะมีสมุด ปากกาหมึกซึม คัดลายมือเลยนะบทกวีที่ชอบจริงๆ ชื่นชมจริงๆ คัดไว้เลย เดี๋ยวนี้ไม่ไหว แค่ถ่าย สแกน จบ
 การที่เรามีต้นแบบในวัยเด็กมันดีเหมือนกันนะ เพราะถ้าเป็น รุ่นโพสต์โมเดิร์นมันไม่ยึดถือยึดเหนี่ยวอะไรอีกต่อไป ฉันจะเป็นของฉันอย่างนี้ คุณก็เท่ไปอีกแบบ แต่ว่ามันไร้โครงสร้างสิ้นดี อย่างหนังโพสต์โมเดิร์นหลายเรื่อง เออ...มันก็เท่ดีนะ แต่มันเหมือนบ้านไม่มีเสา นี่พูดอย่างใจกว้างแล้วนะ

อย่างนี้พอจะพูดได้ไหมว่า กวีที่ดีต้องมีพื้นฐานที่ดี
 ใช่ เป็นกรรมการตัดสินมาเยอะนะ ประเด็นที่อึดอัดที่สุดก็คือ ผิดฉันทลักษณ์นิดหน่อย ผ่านไม่ผ่าน บางคนไอเดียเฉียบ แหวกแนวมากๆ เลย แต่มาตกม้าตายเอาตรงฉันทลักษณ์ ซึ่งกรรมการอึดอัดเพราะถ้าจะให้ผ่าน มันก็ผิดเห็นชัดๆ ถ้าจะไม่ให้ผ่านก็ใจร้ายไปหน่อย เหมือนกับว่าไม่มีคะแนน ความคิดสร้างสรรค์เลยหรือ เพราะฉะนั้นคนที่รักจะเป็นกวีนะ มันเหมือน เพลงอาวุธสักอย่างหนึ่งน่ะ อย่างฤทธิ์มีดสั้น คุณต้องปาให้เป็นก่อน จะมาอ้างว่าคุณเป็นลี้คิมฮวง คนที่มีเหตุผลซึ่งพี่ว่าชุ่ยไปหน่อยนะ ก็คือว่า เราจะแหวกกรอบ เฮ้ย...ถ้าจะแหวกกรอบคุณเดินออกไปเลย ไปให้พ้นเลย ไม่ต้องมาอยู่ในกรอบแล้วทำเป็นผิดนิดผิดหน่อย มันไม่ได้น่ะ เวลาเราตัดสิน บทกวีรวมกับกวีไร้ฉันทลักษณ์ พวกไร้ฉันทลักษณ์ถ้าดีก็จะได้ไปเลย ให้ที่ 1 ไปเลย แต่พวกครึ่งๆ กลางๆ ฉันทลักษณ์ผิดแต่ความคิดดี พวกนี้จะตกมาอยู่ ชมเชย ที่ 2 ที่ 3 เพราะมันเหมือนคนสวยที่ยังแต่งไม่เสร็จ แต่ถ้าเป็น ไร้ฉันทลักษณ์ สวยก็สวยธรรมชาติไปเลย ไม่แต่งอะไรทั้งสิ้นแต่ก็ยังสวย แล้วคุณจะให้ใครล่ะ
 ชอบมูฮัมหมัด ฮาริส กาเหย็ม เขียนดี พวกแก๊งนี้มีอีกหลายคน
 แล้วคนที่เป็นครู แต่เราไม่สามารถเลียนแบบได้ก็คือ สถาพร ศรีสัจจัง แกเล่นเสียงเหมือนเสียงโนราห์ เพี้ยนนิดเพี้ยนหน่อย แต่ออกมาแล้วเป็นกวี ที่สวยมากๆ แล้วเขียนได้หวาน โรแมนติคสุดๆ แต่ขณะเดียวกันก็ทรงพลัง ทำไมต้องเอารางวัลศิลปินแห่งชาติไปแบ่งให้กวี 2 คน ปีหนึ่งมีคนหนึ่งก็ยาก พออยู่แล้วนะ ปีนั้นสถาพรกับประยอม ซอมทอง ต้องแบ่งรางวัลกัน แสดงว่า ประเทศนี้มันไม่มีที่สำหรับกวีหรือไง ตอนนี้รณรงค์อยู่ 2 อย่าง คือหนึ่ง กวีต้องเป็นสาขาหนึ่งของวรรณศิลป์ วรรณกรรม สองถ่ายรูปอย่าจับไปรวมกับ ทัศนศิลป์ พอตัดสินศิลปินแห่งชาติทีไร ถ่ายรูปกระเด็นทุกที เพราะกรรมการ เป็นจิตรกร

ทัศนะต่อกวีของไทย
 พี่ไปมาทั่วเลยนะ เทศกาลกวีนิพนธ์นานาชาติ ล่าสุดไปมาเคโดเนีย อ่านว่ามาเคนะ ไม่ใช่มาเซ ไปโคลอมเบีย นิคารากัว ประเทศที่น่ากลัวพวกนี้ คือประเทศที่จัดเทศกาลกวีได้ดีมากๆ มันแสดงให้เห็นอยู่อย่างหนึ่งก็คือ กวีคือเครื่องชโลมจิตใจจริงๆ เป็นประเทศยากจน ผ่านวิกฤติยาเสพติด วิกฤติสงครามกลางเมืองมา สิ่งที่มีอานุภาพมากในการเยียวยาจิตใจคือกวี น่าแปลกมากเลย อย่างโคลอมเบียนะ จัดที่เมืองเมเดยิน Medellin ซึ่งเป็นรังของเอสตาบัน ที่เป็นเจ้าพ่อเครือข่ายยาเสพติดระดับโลกสมัยเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน คุณนั่งกินกาแฟอยู่ข้างถนน อาจจะโดนลูกหลงมาเฟีย ยิงกันกลางถนน หรือกวาดล้างกันทีหนึ่ง ทหารตำรวจบุกเข้าไปบ้านมาเฟีย เห็นมาเฟียนั่งอยู่ เอาปืนกลกราดเหมือนในหนังเลย เหมือนมิสเตอร์แอนด์มิสซิส สมิธฉากเปิดอย่างไรอย่างนั้นเลย พอเขาทลายรังมาเฟียยาเสพติดได้ พวกประชาชนและเทศบาลเมือง ไม่ใช่ระดับประเทศนะ ร่วมใจกันลุกขึ้น มาบอกว่า ต่อไปนี้เราจะทำเมืองให้สวยงาม ไม่ได้ตั้งเป้าการท่องเที่ยว อะไรเลยนะ เราจะใช้ศิลปะบำบัด เยียวยาจิตใจ ก็จัดเทศกาล ทีแรกดูกันเอง เทศกาลกวี เทศกาลแจ๊ซ เทศกาลหนัง จนกระทั่งถึงเทศกาลดอกไม้ ที่นั่นเป็นแหล่งปลูกดอกไม้ชั้นดี ส่งตลาดอเมริกา พอยิ่งจัดคนยิ่งมา ทีแรกก็มาเพราะเอาใจช่วยเมืองน้อยๆ ให้กลับสู่สันติ ต่อมามันใหญ่ขึ้นทุกที เชื่อไหมว่าเมเดยิน โพเอททริ เฟสติวัล มันเป็นเทศกาลกวีที่ใหญ่ที่สุด ในโลกตอนนี้ พี่เจอกวีโนเบล เชมัส เฮนี่ ที่นั่น เจอกวีตัวพ่อของวรรณกรรมสเปนิส เออเนสโต กาดินัล ที่นั่น เรางงไปหมดเลย นี่คืออานุภาพของกวี น่าแปลก ที่ประเทศเรากวีกลายเป็นเหมือนเครื่องมือทางการเมืองอย่างเดียว ถ้าจะใช้นะ ถ้าจะอยู่เวทีวรรณกรรม ก็คือใช้เขียนด่ากัน ใช้เขียนยอกัน แทนที่จะเขียน ให้มันทะลุจิตวิญญาณมนุษย์ การแสวงหา ความงาม หรือว่าความทุกข์ หรืออะไรที่ยกระดับสู่นามธรรม ความรู้สึกอีกขั้นหนึ่ง

คิดว่ามันเป็นเพราะอะไร
 มีเยอะแยะ เอาเป็นว่าคนที่ยังเขียนอยู่ทุกวันนี้ได้นี่นะ ต้องนับถือว่าเป็นกวีตัวจริง (หัวเราะ) เพราะมันไม่มีเวทีจะให้ นี่พี่กำลังปั้น โครงการจะทำเทศกาลกวี แต่ว่าเราต้องตั้งหัวข้อให้มันชัด ไม่ใช่ทุกคนออกมา พ่นๆๆ ก็ไปดูมาแล้วหลายประเทศอย่างที่ว่า มันน่าเบื่อมากถ้าเราจะไป ยืนอ่านทื่อๆ แล้วคนฟังก็ไม่รู้ภาษา เราต้องทำเฟอร์ฟอร์มมิ่ง โพเอททริ กำลังคิดอยู่ น่าจะเริ่มที่อาเซียน น่าจะจัดใกล้ๆ กับซีไรต์

วิถีชีวิตช่วงนี้
 พี่เขียนกวี 2 แบบที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง อันแรกคือเหมือนเขียนบันทึก ชีวิตของเราเอง แง่มุมต่างๆ ที่คิดออกมาตอนที่เขียน อีกอันหนึ่งก็คือเหมือนงาน รับจ้างทั่วไป เลี้ยงชีพน่ะ งานช่างกับงานศิลปะ มันเปิดร้านแยกกันเลย งานศิลปะเปิดร้านอยู่ในห้องแถวของตัวเอง ใครจะมาหาต้องมาเคาะประตู เอาเอง เขียนงานช่างเยอะ แต่ไม่ได้รวมเล่ม ถ้าจะเอามารวมเล่มมันก็ได้ แต่เรารู้สึกว่ามันผ่านจุดนั้นมาไกลแล้ว ถ้าจะรวมเล่ม งานที่คนอยากอ่าน มันมีหลายประเภทไง สารคดี วิชาการ งานแปล มันได้หมดแหละ กวีเป็นเพียงกองหนึ่งที่เราเลือกได้ ทีนี้ที่ไม่รวมเล่มเพราะว่า ไม่มีเวลามาคัดสรร อย่างใบไม้ที่หายไป มันเป็นหนังสือที่ตอนนี้ขายไปแล้วกว่า 2 แสนก๊อปปี้ คิดว่าความสำเร็จส่วนหนึ่งมันมาจากการเลือกบทกวีมารวมเล่ม เพราะว่า มันร้อยกันเป็นเรื่องราวชีวิตตั้งแต่ก่อนเข้าป่าจนออกมา นั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะ ทิ้งไปประมาณเกินครึ่งน่ะมันถึงจะออกมาเป็นเล่ม เป็นเรื่องอย่างนั้นได้ ไม่อย่างนั้นก็ เอ้า...ชมนกชมไม้ ไปเรื่อยๆ มีแง่คิดนิดหน่อยก็เอามาลง หลายคนทำอย่างนี้ แล้วความที่เราไม่ได้คิดว่า ข้าคือกวีไง เป็นอะไรก็ได้น่ะ อย่างตอนนี้ก็มาทำชมรมถ่ายภาพ ชีวิตมันคือการสำรวจ มีพื้นที่ใหม่ๆ อีกตั้งเยอะ คุณอยากอยู่บนเกาะกวีก็อยู่ไปสิ ฉันกำลังสำรวจขั้วโลกเหนือ

ทัศนะต่อการอ่านของคนไทย
 ไปดูบนแผงหนังสือเหมือนซูเปอร์มาเก็ตน่ะ ช่วงนี้มีโปรโมชั่นอะไร อะไรกำลังอินเทรนด์ แล้วหนังสือวรรณกรรมดีๆ ก็จะถูกเบียดตกขอบ มันก็มีแฟนคลับอยู่ระดับหนึ่ง มันไม่เหมือนร้านหนังสือต่างประเทศ อย่างเพนกวินคลาสสิกมันจะอยู่ยั้งยืนยงตรงนั้นเลยนะ กี่ปีๆ ก็ต้องอยู่ 1 ชั้น ชาลร์ ดิกเก้นส์ ของเราหายหมด แผลเก่า ไม้เมืองเดิม ดอกไม้สด จนมาถึงมนัส จรรยงค์ ‘รงค์ วงศ์สวรรค์ ก็มีพิมพ์ใหม่นานๆ ที แต่ว่ามันไม่ได้อยู่บนหิ้ง วรรณกรรมประจำใจของคนในชาติ ฉะนั้นพฤติกรรมการอ่านทุกวันนี้ มันเป็น เรื่องของการบริโภค มันไม่ใช่การซึมซับความดีความงามและความจริง ในทางศิลปะ นี่พูดทั่วๆไป คอนซูเมอริซึ่ม ซึ่งนักเขียนจะอยู่ได้นี่ก็ต้องปรับบ้าง ไปแอนตี้ต่อต้านอยู่ขอบเวทีนะ ตายเปล่า มันยากตรงที่งานวรรณกรรมนี่คือ งานที่เขียนแล้วต้องพิมพ์ พิมพ์เป็นเล่มแล้วต้องขาย แล้วกว่าจะพิมพ์ขาย มันต้องผ่านหลายขั้นตอนมาก ผ่านสำนักพิมพ์ ผ่านสายส่ง ผ่านร้านหนังสือ แล้วเดี๋ยวนี้ใครมีครบวงจรทั้ง 3 อย่าง คนนั้นคือผู้กุมชะตาชีวิตนักเขียน แต่ก่อนเราเป็นนายตัวเอง เราจะเลือกพิมพ์ที่ไหนก็ได้ เพราะทุกสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรกจำนวน 3,000 เล่มเท่ากันหมด แต่เดี๋ยวนี้สำนักพิมพ์ใหญ่ ทุ่มโฆษณา เอ้า...สรยุทธชูปกออกทีวี แล้วก็สร้างกระแส สแกนกรรม ตัดกรรม พรึ่บเดียวพิมพ์ครั้งแรก 30,000 เล่ม 50,000 เล่ม นี่มัวมาด่ารางวัลซีไรต์อยู่ ไปด่าไอ้พวกนี้สิ พวกนี้ไม่ใช่วรรณกรรม เสร็จแล้วนักเขียนที่เรียกได้ว่า ฝีมืออย่างแดนอรัญ แสงทอง ต่างประเทศเขาแปล คนไทยไม่อ่านหรอก ไม่รู้ เป็นสังคมบริโภค
 นี่เราด่าไปทั่วเราก็กลายเป็นคนอารมณ์บูด ส่วนใหญ่พี่ไม่ได้สนใจ ใครหรอก เราก็ทำหน้าที่ของเราไป เพราะว่าเราเห็นมาเยอะนะ ในวงการ ศิลปะ วรรณกรรม งานตัวเองก็ดีๆ แต่มัวขมขื่น มัววิพากษ์วิจารณ์การตลาดโลกอยู่ ชีวิตมันไม่รื่นรมย์ เหมือนพวกวิจารณ์หนัง หนังเป็นสื่อบันเทิงชนิดหนึ่ง คุณจะไปจับผิดอะไรนักหนาล่ะ อย่างทุกคนพูด ชีวิตนี้แสนสั้น หนึ่งธุลีจักรวาล ก็ว่ากันไป แต่กี่คนที่เข้าใจมันจริงๆ บางอย่างปล่อยวางให้มันผ่านไปบ้าง แล้วเราจะแฮปปี้กว่านี้ในเสี้ยวเล็กๆ ของเวลาที่เรามีอยู่ แล้วทำอะไรได้ก็ทำ โดยที่ไม่ต้องไปยึดติดว่า ข้าคือกวี แล้วก็จะเปิดหูเปิดตาพบสิ่งใหม่ๆ อีกมากมาย อย่างความฝันวัยเด็กไม่ได้อยากเป็นกวี อยากเป็นช่างภาพ! ตอนนี้ได้ทำแล้ว เป็นประธานกลุ่มสหภาพโฟโต้ยูไนเต็ด ทำมาหลายครั้งแล้ว ยกขบวนช่างภาพ ไปถ่ายรูปเพื่อคืนสู่ท้องถิ่น สู่ชุมชน แหล่งที่มา ตลอดจนบุคคลที่อยู่ในภาพ อย่างที่ไปน่านมา เอาช่างภาพ 65 คนกระจายทั่วน่าน ถ่าย 2 วัน วันรุ่งขึ้น ก็เอาไปติดที่ลานกลางเมืองน่าน แล้วตอนเย็นมีคอนเสิร์ต ผู้ว่าฯ มาเปิด แล้วก็ไปลากศิลปินเพื่อนๆ น้าหงา น้าจุ้ย คุณสุนทรี คนเขาแห่มาทั้งเมืองเลย เพราะไม่เคยเห็นอะไรบ้าๆ แบบนี้มาก่อน แล้วเราก็โหลดภาพให้จังหวัดไว้ใช้ คือมันต้องมีเทศบาล มีผู้ว่าฯ อย่างนี้

นักเขียนโปรด
 มันจะเหมือนดูหนัง คือโปรดเป็นครั้งคราว แต่ไม่ได้อมตะอยู่ในใจ แต่มีอยู่คนหนึ่ง มนัส จรรยงค์ อย่างเปาโล โคเอโย ซื้อมาเป็นปีแล้วเพิ่งเปิดอ่าน เล่มเดียว อ่านเล่มที่แปลนั่นแหละ อย่างฟิโลโซฟี้ ออฟ เลิฟ เล่มนี้แปลเอง อ่านแล้วปิ๊งเลยขอแปล ประกาศหาสำนักพิมพ์เล็กมาพิมพ์ เพื่อทดสอบทฤษฎี บางอย่าง ว่าถ้าพิมพ์กับสำนักพิมพ์เล็ก มีชื่อจิระนันท์ แล้วทำโปรโมชั่น เปิดตัวเอง จะรอดไหม ปรากฏว่าพิมพ์ไป 4 ครั้งแล้ว ก็โอเคมากๆ เลย เราไม่ได้ต้องการยอดถล่มทลาย

ถิ่นเกิดหล่อหลอมอะไรเราบ้าง
 ตอนอยู่ในป่า เลือดปักษ์ใต้มันจะขึ้น รู้สึกถึง Identity ของตัวเอง อัตลักษณ์ เพราะว่าคิดถึงบ้านด้วย แล้วเราว่าสปิริตแห่งการสู้รบ บางอย่างในนั้นมันคือสปิริตปักษ์ใต้ จะคิดถึงตรังในแง่นี้ เป็นเหมือนบ้านแห่ง จิตวิญญาณ โดยที่ไม่ต้องมีที่ มีบ้าน มีทรัพย์สิน หรือว่าไปอยู่ อย่างตอนเด็กๆ ฮีโร่ของพี่คือคุณตา ก็คือนักเลงปักษ์ใต้นี่แหละ (หัวเราะ) เลี้ยงวัวชน เลี้ยงไก่ชน มีลูกน้องเรียกใช้ได้

อยากเห็นตรังเป็นอย่างไร
 ความจริงตรังก็ทำอะไรมาเยอะมากนะในแง่ที่ประจักษ์ ต่อสาธารณชน ล่าสุดพี่ก็ไปเป็นเทพีพะยูนให้ในตรังเกม อยากให้จัดดุลยภาพ ระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ เพราะว่าเวลาพี่ไปตรังทีไรจะเห็นมัน อยู่คนละขั้วเลย การพัฒนา การท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์ จัดงานเทศกาล เยอะแยะมากมาย เทศบาลจัดทำผังเมือง จัดทำน้ำพุ ทำเสาไฟฟ้าพะยูน แต่กลุ่มที่อนุรักษ์จะอยู่ชายขอบมากๆ พวกอนุรักษ์ธรรมชาติ อนุรักษ์ป่าชายเลน สมาคมหยาดฝน รวมทั้งหน่วยงานจากส่วนกลาง เช่น สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย  ไม่มีใครสน! คนตรังไม่รู้เรื่องเลย

 

 


ขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net/blog/saosawasdee/2008/12/15/entry-2
 

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 84532
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย