IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  รวมสาระความรู้  >  ความหมายของชื่อเมือง "ตรัง"

ความหมายของชื่อเมือง "ตรัง"

ตรังมาจากคำมลายู ออกเสียงตรังว่าเตอรัง (Terang) หมายถึงความสว่างสดใส เช่น เพลงไทยเดิมชื่อตรังบุหลัน แปลว่าแสงเดือนหรือความสว่างสดใสแห่งแสงเดือน ที่เรียกถิ่นดังกล่าวว่าตรังหรือเตอรัง เนื่องมาจากชาวมลายูคงแล่นเรือมาถึงลำน้ำตรังยามท้องฟ้ารุ่งอรุณหรือเริ่มสว่างเรืองรอง
ตรังมาจากคำบาลีสันสกฤต โดยเขียนเป็นตรังค์ คือการันต์ที่ ค บาลีสันสกฤตออกเสียงว่า “ตะรังคะ” หรือ “ตรังคะ” หมายถึงลูกคลื่นหรือกระแสคลื่น ดังตัวอย่างชื่อสถานที่และบุคคลเมืองตรังครั้งอดีต เช่นวัดตรังค��ูมิพุทธาว่าสพระยาตรังค��ูมา��ิบาล
เมืองตรังเดิมเป็นชุมชนโบราณ เคยเป็นหนึ่งในสิบสองเมืองนักษัตรของนครศรีธรรมราช โดยถือตราม้า (ปีมะเมีย) เป็นตราประจำเมืองสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตรังตั้งเมืองที่ควนธานี (ปัจจุบันควนธานีเป็นตำบลหนึ่งของอำเ��อกันตัง) ต่อมา พ.ศ. 2436 สมัยรัชกาลที่ 5 ตรังย้ายไปตั้งเมืองใหม่ริมฝั่งทะเลที่กันตัง จากนั้นพ.ศ.2458 สมัยรัชกาลที่ 6 ตรังย้ายไปตั้งเมืองใหม่อีกครั้งที่ตำบลทับเที่ยง อำเ��อบางรัก เมื่อตั้งที่ว่าการอำเ��อหรืออำเ��อเมืองตรัง ณ ตำบลทับเที่ยงจึงลดฐานะอำเ��อบางรักเป็นตำบลบางรักมาจนทุกวันนี้


กันตัง
ชื่ออำเภอมาจากคำมลายูว่ากัวลาเตอรัง (Kuala Terang) กัวลา หมายถึงปากน้ำ เช่น กัวลาลัมเปอร์ หมายถึงปากน้ำมีดินโคลน เตอรัง หมายถึง เมืองตรังดังคำอธิบายข้างต้น รวมคำทั้งสองแล้วหมายถึงปากน้ำเมืองตรัง ชาวบ้านออกเสียงสั้นละรวบรัดเป็นกราตัง – กระตัง จนในที่สุดเป็นกันตัง
กันตังเคยเป็นที่ตั้งเมืองตรัง เมื่อพ.ศ.2436 ต่อมาย้ายไปตั้งเมืองใหม่ ที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก เพราะกันตังอยู่ริมทะเลไม่ปลอดภัยจากข้าศึกที่ยกทัพมาทางเรือ และกันตังมักเกิดอหิวาตกโรคบ่อย
ชื่อบ้านนามเมืองที่กันตังมีคำมลายูหลายชื่อเช่น บ้านเกาะลิบง ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของน่านน้ำตรัง ลิบงหรือนิบง หมายถึงต้นเหลาชะโอนชาวใต้มักเรียกว่าต้นหลาโอน เกาะลิบงในอดีตเป็นท่าเรือสำคัญ เรือสินค้าต่างชาติแวะรับส่งสินค้า เช่น บรรทุกช้างไปขายถึงลังกา และเมืองอื่นๆเกาะลิบงเคยเป็นที่รวมทัพเรือจากเมืองภาคใต้หลายเมือง เดินทางไปรบชนะกองทัพพม่าในยุคต้นรัตนโกสินทร์


ปัจจุบันทะเลรอบเกาะลิบงชุกชุมด้วยหญ้าทะเลอันเป็นอาหารสำคัญของปลาพะยูน ปลาชนิดนี้ชาวไทยมุสลิมเรียก “ปลาดุหยง” เชื่อกันว่า น้ำตาปลาดุหยงนำไปปลุกเสกทำยาเสน่ห์ได้ด้วยดังบทเพลงตันหยงหรือเพลงหล้อเหง็ง(รองเง็ง) ที่ว่า
บุหงาตันหยง                       กำปงแลน้องมายังต้นเหมร
บังไปไม่รอดเสียแล้วเด้                      โถกเหนน้ำตาปลาดุหยง
คดข้าวใส่หวัก                                      คิดถึงคู่รักบังกินไม่ลง
โถกเหนน้ำตาปลาดุหยง                    บังกินไม่ลงสักเม็ดเดียว”
บุหงาตันหยง  =  ดอกพิกุล
กำปง  =  หมู่บ้าน
ต้นเหมรุ  =  ต้นสำเหร่
บัง  =  พี่ชาย
โถกเหน  =  ถูกเสน่ห์
หวัก  =  จวัก


บนเกาะลิบงมีชุมชนสำคัญ เช่น บ้านปาตู ปูเต๊ะ (ปาตู = หิน , ปูเต๊ะ = ขาว ) หมายถึงบ้านหิน ขาวถัดมาคือบ้านเจ้าไหม ตำนานเล่าว่าเจ้าไหมมาจากเมืองจีน มายุยงโต๊ะปังกาหราผู้ปกครองเกาะลิบงเกิดความเข้าใจผิด และรบพุ่งกับพระยางอกเขี้ยวแห่งบ้านทุ่งค่าย (ปัจจุบันอยู่ในตำบลบางสัก อำเภอกันตัง) ผลการต่อสู้ปรากฏว่าเสมอกัน ข่าวการรบพุ่งทราบไปถึงโต๊ะละหมัยซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่ผู้นำทั้งสองยำเกรง โต๊ะละ
หมัยพยายามห้ามทัพเพื่อให้สงครามยุติ แต่เจ้าไหมไม่เห็นด้วย เป็นผลให้โต๊ะละหมัยโกรธมาก จึงสาปเจ้าไหมเป็นภูเขาชาวบ้านเรียก “เขาเจ้าไหม” มาจนทุกวันนี้
ถัดมาคือบ้านสุไหงสิเหร่ หมายถึงคลองพลู (สุไหง = ลำคลองหรือแม่น้ำ , สิเหร่  = ต้นพลู) ชื่อหมู่บ้านจังหวัดอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับต้นพลูอีก เช่น บ้านเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต แสดงว่า พลูเป็นพืชสำคัญอย่างหนึ่งของชาวบ้าน ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า  กาญจนาคพันธุ์) เล่าไว้ในหนังสือภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ โดยกล่าวถึงชื่อ “ตะนาวศรี” ซึ่งคู่กับ “มะริด” ท่านอธิบายว่าตะนาวศรีมาจากคำมลายูว่า ตะนาวหรือตะนะหมายถึงแผ่นดิน ศรีหรือสิเหน่ หมายถึงพลู ตะนาวศรีจึงหมายถึง แผ่นดินอุดมด้วยต้นพลู ชื่อคู่กับปูเลาปินังหรือเกาะหมาก (ปูเลา = เกาะ , ปินัง = หมาก) ศรีอีกคพหนึ่งเป็นคำสันสกฤต หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง และความมีสวัสดิมงคล และศรีอีกคำหนึ่งเป็นคำเขมร เขียนเป็นสรี (เซร็ย) หมายถึงสตรี


นอกจากนี้มีบ้านสุไหงปาตู หมายถึงคลองมีก้อนหิน บ้านแตะหรำ หมายถึงบ้านมีหอยนางรมชุกชุม บ้านคลองตีหมุน หมายถึงบ้านคลองแตงโมชาวใต้มักเรียกแตงโมว่าแตงจีน  คงเรียกตามชาวจีนที่มาทำไร่แตงโมและค้าขายแตงโมแก่คนไทย
ชุมชนมุสลิมบนฝั่ง เช่น บ้านโต๊ะเมือง หมายถึง ผู้อาวุโสชื่อนายเมืองที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ละแวกนั้น ใกล้บ้านโต๊ะเมืองมีภูเขาชื่อ “ตูลูลู้ด” มาจากคำมลายูว่า บาตูลูลุห์ หมายถึงหินริมทางผ่าน (บาตู = หิน , ลูลุห์ = ทางผ่าน) ที่เนินเขาแห่งนี้ในอดีตเป็นที่ไทยตั้งป้อมรบกับสลัดแขกมลายูที่เคลื่อนพลมาจากปากน้ำตรัง เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดสมัยรัชการที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หวันมาลีจอมสลัดจากเกาะยาว เมืองสตูลร่วมมือกับหลานพระยาไทรบุรีเข้าตีและยึดเมืองตรัง ภายหลังพระณรงค์สงครามเป็นแม่ทัพ ยกมาจากเมืองนครศรีธรรมราช ทัพไทยสามารถปราบโจรสลัด และพวกขบถไทรบุรีแตกหนีไป ปรากฎชื่อบ้านนามเมืองจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เช่น
ทับเที่ยง ชื่อตำบลเขตอำเภอเมืองตรังหมายถึงทัพเมืองนครศรีธรรมราช ยกทัพมาถึงเขตเมืองตรัง เวลาเที่ยงวัน ชาวตรังมักเรียกทัพเที่ยงแทนตัวเมืองตรัง ดังเรียกบ่อยางแทนสงขลา และบ้านดอนแทนสุราษฎร์ธานี
ทุ่งค่าย ชื่อตำบลเขตอำเภอย่านตาขาวหมายถึงท้องทุ่งเป็นที่ตั้งค่ายทหาร
คลองลำเลียง ชื่อตำบลเขตอำเภอย่านตาขาว หมายถึงคลองลำเลียงพลรบและเสบียงอาหาร


ปะเหลียน
ปะเหลียนมาจากชื่อเมือง “ปะลันดา” (Palanda) ในหนังสือภูมิศาสตร์ของคลอดิอุสปโตเลมีเมือ่ 1850 ปีมาแล้ว แต่ยังสรุปแน่นอนมิได้ บ้างว่าปะเหลียนมาจากนิทานเชิงตำนานที่เล่าถึงตาพันวังและยายคำพลี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านในทองใกล้ภูเขาบรรทัด ทั้งคู่ไม่มีบุตรแต่เป็นเจ้าของแร่ทองที่อยู่ตามบริเวณหมู่บ้านแห่งนั้น เมื่อตายายตายไปแล้วมักปรากฏทองบางส่วนที่หน้าผา มีลักษณะกลมเหมือนเหรียญ ต่อมาชุมชนแห่งนั้นเรียกว่าบ้านเหลียน ซึ่งมาจากคำว่าเหรียญดังกล่าว ภายหลังเพิ่มคำว่า “ปะ” ลงไปข้างหน้า จึงกลายเป็นอำเภอปะเหลียนมาจนทุกวันนี้
บ้างว่าปะเหลียนมาจากตำนานตาหมอเหลียนควาญช้าง ซึ่งติดตามช้างชื่อช้างดารา ตาหมอเหลียนมีเพื่อนเกลอมุสลิมชื่อศรีนังกรี ต่างมีอาคมเก่งกล้า ภายหลังทั้งสองคนสิ้นชีพไปแล้วชาวบ้านยังนับถือเป็นทวดศักดิ์สิทธิ์เรียกชื่อตาหมอเหลียน ต่อมาเติมคำว่า ปะ หมายถึงพ่อนำหน้าจึงเป็นปะเหลียน ซึ่งเป็นชื่ออำเภอปัจจุบัน
อำเภอปะเหลียนเคยขึ้นกับเมืองพัทลุง ต่อมาพ.ศ.2460  ทางการย้ายไปตั้งตัวอำเภอที่ตำบลหยง
สตาร์ และเปลี่ยนเป็นอำเภอหยงสตาร์ ขึ้นต่อจังหวัดตรัง จนกระทั่ง พ.ศ.2481 เปลี่ยนเป็นอำเภอปะเหลียนดังเดิม


สิเกา
สิเกาเป็นคำมลายูยืมคำสันสกฤตคือ สิขราไทยสิขรหมายถึงภูเขา หรือสาครา ไทยว่าสาครหมายถึงห้วงน้ำ บ้างลากให้เป็นคำจีนผสมคำไทยว่ากงสีเก่า แล้วกลายเสียงเป็นสิเกา สิเกาจัดตั้งเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ.2430
สิเกามีหาดทรายสวยงามชื่อ “ปากเมง” และภูเขาเมงอยู่ถัดไป เมงหรือเหม้งเป็นคำถิ่นใต้หมายถึงส่วนยอด เช่น เหม้งควน หมายถึงยอดเนิน เหม้งหัว หมายถึงกระท่อมหัว หรือชาวบ้านเรียกว่า “แบ็ดหัว” มีกลอนชาวบ้านที่กล่าวถึงคำดังกล่าวว่า “สุริยงส่งแสงแดงขล้งขล้ง ดวงเท่าด้งตั้งเขลงบนเหมงควน” กลอนสั้นๆนี้ พรรณนาดวงอาทิตย์ ส่องแสงเป็นสีแดงชัดเจน และดวงโตเท่ากระด้งวางอย่างสบายบนยอดเนิน
ตำนานเกี่ยวกับหาดปากเมง เล่าว่าชายชราชื่อเมง มีลูกสาวชื่อมุก ต่อมาพระยาลันตามาสู่ขอเฒ่าเมงก็ยกลูกสาสาวให้ด้วยความยินดี เมื่อเสร็จพิธีแต่งงานแล้ว พระยาลันตาจึงนำภรรยา พ่อตาและบริวารคืนเมือง แต่เรือและผู้คนต่างพลัดพรากและล่มสลายด้วยน้ำมือโจรสลัด จนกระทั่งต่อมาเกิดภูเขาและเกาะต่างๆเช่น เขาเมง เกาะมุก เกาะกระดาน เกาะไห (ชื่อเกาะนี้เขียนพิสดารเป็นเกาะไหงก็มี)เกาะเชือก และเกาะลันตา เกาะดังกล่าวอยู่ในเขตอำเภอสิเกาและอำเภอกันตัง ส่วนเกาะลันตาปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดกระบี่
ชายทะเลสิเกา กันตัง และปะเหลียน มีบริเวณหาดทรายต่อเนื่องกัน ปรากฏชื่อหาดและเกาะแก่งเป็นคำมลายู เช่น เกาะหลาวเหลียง มาจากปูเลาเลียง (ปูเลา = เกาะ เลียลหรือเหลียง = ชื่อไม้ชนิดหนึ่ง) เกาะหยงหลิน หมายถึง แหลมที่แขกกลิงค์จากอินเดียเดินทางมาขึ้นฝั่งบริเวณนั้น (ตันหยง = แหลม , หลิง = แขกกลิงค์)
ชื่อเกาะบางเกาะมีตำนานเล่าประกอบน่าฟัง เช่น เกาะพระพวง ที่เขตอำเภอกันตัง กล่าวถึงลูกชายอกกตัญญูไปได้ดิบได้ดีเป็นนายเรือสำเภาภายหลังกลับมาเยี่ยมถิ่นเดิม พ่อแม่หรือสองตายายแสนดีใจได้มะม่วงคนละผลไปรับลูกที่ท่าเรือ แต่ลูกกลับไม่ไยดี รังเกียจพ่อแม่ว่าขี้ริ้วขี้เหร่ เลยถอนสมอแล่นเรือออกจากท่า ภายหลังเรืออับปางเพราะผลกรรม เรือและสิ่งของในเรือกลายเป็นเกาะแก่งและภูเขาเช่นเรือเป็นเกาะเภตรา หมูกลายเป็นเกาะหมูหรือเกาะสุกร ที่ตวงข้าวสารเป็นภูเขาป้อย ภูเขาทะนาน สมอเรือเป็นหินสายสมอ ส่วนตายายตรอมใจตาย วิญญาณได้สิงสู่ผลมะม่วงที่โยนทิ้งไว้ริมหาด มะม่วงเจริญเติบโตเป็นต้นใหญ่รูปร่างคล้ายคน ต้นของยายหันหน้ามองทะเล แต่ต้นของตาหันหลังให้ทะเล เล่ากันว่าผลมะม่วงต้นของยายรสหวาน แต่ต้นของตารสเปรี้ยว ปัจจุบันมะม่วงคู่นี้ไม่มีต้นเดิมให้เห็นแล้วปรากฏแต่ศาลพระม่วง และต้นมะม่วงรุ่นหลานเหลน


ย่านตาขาว
ชื่ออำเภอนี้ไม่เกี่ยวกับคนขลาดกลัว แต่เป็นชื่อไม้เถาชนิดหนึ่ง ชาวใต้เรียกเถาว่าย่าน ไม้เถาชนิดนี้เมื่อโดนมีดตัดหรือกรีดมีน้ำยางสีขาวหยดเหมือนตาน้ำ จึงเรียกว่า “ย่านตาขาว”
ย่านตาขาวเป็นชุมชนต่อแดนระหว่างเมืองตรังและเมืองปะเหลียน ทางการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอย่านตาขาว เมื่อ พ.ศ.2491 และจัดตั้งเป็นอำเภอย่านตาขาว เมื่อ พ.ศ.2499


ห้วยยอด
ที่เรียกว่าห้วยยอด เพราะบริเวณนั้นเป็นแหล่งรวมของธารน้ำ ซึ่งไหลมาจากภูเขาและเนินรอบๆเป็นผลให้เกิดลำห้วยสามสาย คือ ห้วยไสถั่ว (ไส หมายถึง ป่าที่ถางเพื่อทำสวนทำไร่) ห้วยถัดมา คือห้วยหลักแก้ว และห้วยสุดท้ายคือห้วยยอดตรงจุดที่เกิดสายธารเช่นนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “ห้วยยอด” คือยอดของห้วยหรือธารน้ำ ห้วยยอดเดิมชื่ออำเภอเขาขาว และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอห้วยยอดมาตั้งแต่ พ.ศ.2460


รัษฏา
ชื่ออำเภอนี้ตั้งเป็นอนุสรณ์แด่พระยารัษฏา นุประดิษฐ์ (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรัง พระยารัษฏานุประดิษฐ์มีคุณูปการแก่เมืองตรังอย่างยิ่ง และได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งยางพาราเมืองไทย
ทางการได้จัดตั้งกิ่งอำเภอรัษฏา เมิ่อพ.ศ.2534 โดยแบ่งเขตจากอำเภอห้วยยอด และจัดตั้งเป็นอำเภอรัษฏา เมื่อพ.ศ.2539


นาโยง
ชื่ออำเภอนี้หมายถึง หมู่บ้านที่มีนาเชื่อมโยงติดต่อกัน แสดงถึงความนิยมในการทำนา ต่อมามีการทำนาน้อยลง เพราะชาวบ้านหันมาทำสวนยางพาราเป็นหลัก
นาโยงเดิมเป็นตำบลอยู่ในเขตอำเภอเมืองตรังแบ่งเป็นตำบลนาโยงและนาโยงใต้ จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อ พ.ศ.2533และเป็นอำเภอเมื่อพ.ศ.2536


วังวิเศษ
วังในที่นี้หมายถึง วังน้ำลึก ทั้งวังและภูเขาชื่อวังวิเศษ และเขาวิเศษ เล่ากันว่ามีพระสงฆ์รูปหนึ่งหมายนำสมบัติมีค่าไปร่วมสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช แต่เรืออับปาง ณ บริเวณนั้นพระคุณเจ้าจึงนำสมบัติไปซ่อนไว้ในถ้ำ และเขียนลายแทงไว้ว่า “ตาแบกยายทูน ทองทั้งมูลอยู่ใต้ตาแบก ใครคิดแตกกินไม่รู้สิ้น” หลังจากพระรูปนั้นมรณภาพแล้ว มักมีผู้พบเห็นวิญญาณท่านปรากฏที่ภูเขาแห่งนั้นในช่วงฝนตกหนัก ชาวบ้านจึงเรียกพระวิเศษ ต่อมาจึงกลายเป็นชื่อสถานที่และคำว่าพระกร่อนหายไปเหลือแต่เขาวิเศษและวังวิเศษ โดยเฉพาะเขาวิเศษชาวบ้านมักเรียกว่า “เขาวิเศษ”
วังวิเศษเดิมอยู่ในเขตอำเภอสิเกา ต่อมาทางการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอวังวิเศษ เมื่อพ.ศ.2533


หาดสำราญ
กิ่งอำเภอนี้แยกจากอำเภอปะเหลียน ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอเมื่อ พ.ศ.2537 ที่ชื่อหาดสำราญเพราะมีทัศนียภาพริมทะเลล้วนสวยงาม ชวนให้มีความสุขสำราญ
ก่อนจบบ้านนามเมืองตรัง ขอแถมท้ายด้วยคำต่อไปนี้


วิเชียรมาตุ
เป็นนามโรงเรียนประจำจังหวัดตรัง คู่กับโรงเรียนสภาราชินี นามทั้งสองนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง วิเชียรมาตุหมายถึงแม่แก้วหรือแม่ผู้ประเสริฐ โดยทำพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ.2460


วิเศษกุล
เขตเทศบาลนครตรังมีชื่อถนนวิเศษกุล วัดควนวิเศษ โรงเรียนวัดควนวิเศษ คำว่า “วิเศษ” นี้มาจากชื่อสกุลของนายนกยูง  วิเศษกุล หรือพระยาสุรินทราชา อดีตสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ซึ่งทำหน้าที่บริหารมณฑล ต่อจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ชื่อถนน ชื่อวัด และชื่อโรงเรียนดังกล่าวตั้งเป็นที่ระลึกนามสกุลของนายนกยูง ส่วนชื่อพระยาสุรินทราชานำไปเป็นชื่อสระน้ำ คือ สระกระพังสุรินทร์ รวมทั้งหาดสุรินทร์ที่ภูเก็ต


ยางพารา
ยางพารากำเนิดที่บราซิล อเมริกาใต้ ที่ได้ชื่อ “ยางพารา” เพราะอังกฤษเจ้าอาณานิคมยุคนั้นส่งพันธุ์ยางลงเรือที่เมืองพาราริมแม่น้ำอะเมซอนประเทศบราซิล เพื่อนำไปปลูกแพร่พันธุ์ยังประเทศอาณานิคมของตน ยางพาราเริ่มปลูกที่หัวเมืองมลายูอาณานิคมของอังกฤษ ช่วงนั้นพระยารัษฎาฯหรือเจ้าคุณเทศาฯ เจ้าเมืองตรังเดินทางไปหัวเมืองมลายู ถึงแม้ว่าทางการมลายูห้ามนำเมล็ดยางพาราออกนอกประเทศ แต่ท่านแอบนำเมล็ดยางบรรจุกล่องขนมปังลงเรือกลับเมืองตรัง (ช่วงนั้นอำเภอกันตังเป็นที่ตั้งเมืองตรัง) ยางพาราต้นแรกเริ่มกำเนิดที่กันตัง พ.ศ.2442 ปัจจุบันยางพาราต้นแรกยังยืนหยัดอยู่ถึงแม้ว่าอายุร่วม 107 ปีแล้ว (ปัจจุบัน พ.ศ.2549) บุคคลไม่ควรลืมคือพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) บิดาแห่งยางพาราเมืองไทยรวมทั้งหลานชายของท่านที่ร่วมเดินทางด้วยคือ พระสถลสถานพิทักษ์ (คออยู่เคียด ณ ระนอง)
 

ศรีตรัง
พันธุ์ไม้ดอกนี้แพร่หลายที่เมืองตรังพร้อมๆกับต้นยางพารา แหล่งที่มาก็มาจากบราซิลอเมริกาใต้เช่นกัน พันธ์ไม้ดอกสีม่วงอมน้ำเงิน เมื่อออกดอกทิ้งใบดูสดสวย มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Jacaranda แต่ไม่ทราบใครเป็นผู้ตั้งชื่อ “ศรีตรัง” เพียงชาวตรังเล่าต่อกันมาว่าพันธุ์ไม้ดอกนี้ปลูกที่ตรังครั้งแรกสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ศรีตรังต้นแรกนั้นปลูกที่บริเวณหน้าที่ทำการพลตระเวณหรือปัจจุบันเรียกว่า หน้าสถานีตำรวจภูธร


คำขวัญจังหวัดตรัง – “ชาวตรังใจกล้าสร้างแต่ความดี”
หรืออีกคำขวัญหนึ่ง – “เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา”


ตราประจำจังหวัดตรัง – รูปสะพานยื่นไปในทะเล (หมายถึงตรังป็นเมืองท่า) มีกระโจมไฟอยู่ปลายสะพาน (ความหมายตรัง = แสงสว่าง) และท้องทะเลมีลูกคลื่น (ความหมาย = ลูกคลื่น)

 

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 179725
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย