IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ 1  >  พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) : ผู้สร้างพื้นฐานความเจริญของเมืองตรัง
       เจ้าเมืองนักพัฒนาผู้สร้างพื้นฐานความเจริญของเมืองตรัง นักปกครองและนักบริหารดีเด่นของกระทรวงมหาดไทย ผู้ได้รับการขนานนามว่า  ขุนถนน ได้แผ้วถางบุกเบิกที่ทุรกันดารให้เป็นทางสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้าน ตำบล เมือง ทั่วภูมิภาคของมณฑลภูเก็ต ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ สร้างความเจริญก้าวแก่ภูมิภาคนี้ เป็นผู้พัฒนาเมืองตรังให้ก้าวหน้าจากที่ได้ชื่อว่าเมืองป่า เมืองลี้ลับจนกลายเป็นเมืองเกษตรกรรมและเมืองท่าค้าขายที่ยิ่งใหญ่ของภาคใต้ฝั่งอันดามัน
       ผู้มีจิตใจงดงาม คือความหมายแห่งนามซิมบี๊ ผู้สืบสายเลือดชาวจีนฮกเกี้ยน ถือสกุล แซ่คอ จากบิดา คือ คอซู้เจียง ณ ระนอง หรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี อดีตเจ้งาเมืองระนองและจางวางกำกับเมืองระนอง คอซิมบี๊ ณ ระนอง เป็นบุตรชายคนสุดท้องซึ่งเกิดแต่ภรรยานามว่า กิ้ม ชาวเมืองระนอง
       คอซิมบี๊ เกิดเมื่อวันพุธ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐ ที่เมืองระนอง ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๕๖ ที่บ้านจักรพงษ์ เมืองปีนัง ในขณะดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตและองคมนตรี ศพของท่านถูกนำไปฝั่งไว้ ณ เมืองระนองแผ่นดินเกิด ในสุสานของตระกูล บนเขาระฆังทอง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ตระกูล ณ ระนองได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๕
       ชีวิตวัยเยาว์ไม่ปรากฎว่าได้เข้าศึกษาในสำนักหรือสถาบันใดๆ แต่สามารถพูดภาษาต่างๆ ได้ถึงเก้าภาษา ได้แก่ไทย อังกฤษ มลายู ฮินดูสตานี และภาษาจีนต่างๆ อีก ๕ ภาษา ได้เดินทางไปกับบิดาผู้มีกิจการค้าที่ปีนังและประทศจีนอยู่เสมอ ครั้งสุดท้าย พ.ศ. ๒๔๒๒ ก่อนบิดาจะสิ้นชีวิตงได้พาซิมบี๊ไปส่งยังเมืองเอ้หมึง มณฑลฟูเกี้ยน ประเทศจีน เพื่อให้ศึกษาด้านการค้า และดูแลกิจการค้าของบิดา แต่เมื่อทราบข่าวว่าบิดาสิ้นชีวิตใน พ.ศ. ๒๔๒๕ ซิมบี๊จึงเดินทางกลับเมืองระนอง
       พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) พี่ชาย ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองระนองแทนบิดา  ได้นำซิมบี๊เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ใน พ.ศ. ๒๔๒๕ และในปีเดียวกันซิมบี๊ก็ได้เป็นผู้ก็ได้เป็นผู้ช่วยเมืองระนอง รับบรรดาศักดิ์ หลวงบริรักษ์โลหวิสัย พร้อมทั้งช่วยดูแลกิจกรรมต่างๆ ของตระกูล ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองกระบุรีใน พ.ศ. ๒๔๒๗ บรรดาศักดิ์พระอัษฎงคตทิศรักษา
       ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๓๓  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระอัษฎงคตทิศรักษา เจ้าเมืองกระบุรี มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรังและพระราชทานสัญญาบตรเป็น พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี
        เมื่อเดินทางมารับตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง พระยารัษฎาฯ เร่งรัดปรับปรุงบ้านเมืองตรังตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ปรัลปรุงด้านการคมนาคมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาโดยจัดซ่อมสะพาน ถนน เพื่อให้เป็นทางเกวียนขนส่งสินค้า จัดทำแผนที่เมืองตรัง เมืองปะเหลียน เพื่อทราบจำนวนพื้นที่และจัดสรรให้แก่ราษฎรสร้างแรงจูงใจให้ราษฎรทำนาโดยยกเว้นภาษีเป็นเวลา ๖ ปี หลัจากนันก็จะให้กรรมสิทธิ์ที่นาแนะนำผู้ที่ทำนาอยู่แล้วให้ปลูกพืชเสริม เช่น มะพร้าว กาแฟ พริกไทย จันทน์เทศ สำหรับกล้วยป่าให้ปลูกเพื่อเป็นอาหารสุกร พวกที่มีอาชีพเย็บตับจากส่งไปขายเมืองเดลี  ประเทศอินเดีย ท่านแนะนำให้ทำนาด้วย โดยให้เหตุผลว่าเงินที่ได้จากการขายตับจากนั้นควรเป็นเงินรองรังสำหรับใช้จ่าย ส่วนการทำนานั้นได้ข้าวมาหุงกินไม่ต้องซื้อข้าวสารราคาแพง เพราะในเวลานั้นเมืองตรังต้องสั่งข้าวพม่าจากปีนัง ท่านนำเอาวัฒนธรรมการลงแขกมาเป็นแรงจูงใจให้ราษฎรสนใจการทำนา คือให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าแนะนำการทำนา โดยให้ลูกบ้านไปทำนาให้กับผู้ใหญ่บ้านของตนคนละ ๒ วัน และให้ผู้ใหญ่บ้านเลี้ยงอาหาร ผู้ใหญ่บ้านนำลูกบ้านไปทำนาให้กำนันคนละ ๑ วัน กำนันเลี้ยงอาหารส่วนราษฎรด้วยกันต่างก็ผลัดเปลี่ยนไปช่วยกันทำนาคนละ ๒ วัน แต่ต้องเตรียมข้าวห่อกันไปเองโดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้กำกับ ถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็ปฎิบัติทำนองเดียวกัน
        พระยารัษฎาฯ มุ่งให้ราษฎรตรังมีความเป็นอยู่ที่ดี  พึ่งพาตนเองได้  ท่านได้เชิญชวนกำหนดให้ราษฎรเมืองตรังทุกครัวเรือน ปลูกผัก พริก ตะไคร้ มะละกอ ฯลฯ อย่างน้อยครังเรือนละ ๕ ต้น ๕ กอ และเลี้ยงไก่ ๕ แม่ พร้อมกับติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะๆ เสริมกำลังใจแก่ผู้ปฎิบัติ ผลผลิตที่เหลือกินเหลือใช้ในครอบครัว บางชนิดก็ส่งเสริมการส่งออก ดังมีรายงานสินค้าส่งออกจากเมืองตรังเมืองปะเหลียนไปปีนังและเมืองเดลีในพ.ศ. ๒๔๓๕ คือ พริกไทย ตับจาก ดีบุก สุกร เป็ด ไก่ โค กระบือ มีมูลค่าประมาณ ๕๗,๐๐๐  เหรียญ
        เพื่อให้ราษฎรมีเงินทุนหมุนเวียน พระยารัษฎาฯ ยืมเงินจากส่วนกลางให้ราษฎรนำไปลงทุนทำไร่พริกไทย เหมืองแร่ ฯลฯ ท่านแต่งตำราการเกษตร โดยบอกให้เลขานุการจดทั้งให้นักโทษเพาะกล้าไม้แจกจ่ายแก่ราษฎร  นอกจากนี้ท่านยังมีสายตายาวไกลในการรักษาพันธุ์ไม้บางชนิด เช่น ห้ามตัดไม้ยางเพราะน้ำมันยางสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่าควบคุมการตัดไม้หวาย ไม้เคี่ยม เป็นต้น ท่านมีกุศโลบายต่างๆ ทำให้ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจด้านการเพาะปลูกและการบำรุงรักษา  ดังมีเรื่องเล่าว่า  พระยารัษฎาฯ ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านป่าวประกาศว่า ท่านป่วยด้วยโรคประจำตัวจำเป็นต้องใช้ตัวยาจากกาฝากตามต้นไม้ขอให้ราษฎรช่วยกันเก็บต้นกาฝากเพื่อนำให้ไปต้มกิน ด้วยความรักและความเป็นห่วงเจ้าเมืองหรือด้วยความเกรงกลัวเจ้าเมืองประกอบกัน  กาฝากทั้งหลายจึงถูกเก็บจนเกือบจะหมด เป็นผลให้ต้นไม้เจริญสมบูรณ์ ออกดอกออกผลเต็มที่ ราษฎรจึงเกิดความเรียนรู้ว่าต้นกาฝากนั้นทำให้ต้นไม้ไม่เจริญเติบโต สมควรทำลายให้หมดไป
        การปรับปรุงเมืองตรังให้เป้นเมืองเกษตรกรรมประสบความสำเร็จด้วยดี นับได้ว่าพระยารัษฎาฯ ได้สนองพระราชดำริของรัชกาลที่ ๕ อย่างเต็มกำลัง เป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป  จนได้รับพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตรธิการ แต่พระยารัษฎาฯ ปฎิเสธด้วยเหตุผลว่า
        ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีนั้น เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ แต่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นความจำเป็นของประเทศว่าเสนาบดีเป็นแต่เพียงผู้สั่งงานและมีเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญประจำอยู่แล้วไม่สำคัญเท่าสมุหเทศาภิบาลที่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับราชการฉลองพระกรุณาธิคุณอยู่ขณะนี้  เป็นตำแหน่งที่รับผิดชอบแทนพระองค์ในหน้าที่ปกครองประชาชนให้ได้ผลตามความมุ่งหมายของรัฐบาล ถ้าได้ทรงพระกรุณาเลือกหาตัวเสนาบดีกระทรวงเกษตรได้ใหม่แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะฉลองพระกรุณาธิคุณในตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลไปตามเดิม
        ภารกิจด้านการดูแลความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองตรังก่อนที่พระยารัษฎาฯ จะมาว่าราชการเมืองตรังนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๓๓ ราษฎรตรังได้ยื่นฎีการ้องเรียนต่อรัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จฯเมืองตรัง มีความปรากฎประโยคหนึ่งว่า เงิน ๒๐ เหรียญแล้วไม่ต้องกลัวอันใดแสดงให้เห็นว่าอำนาจเงินมีอิทธิพลต่อการปกครองจึงขาดความยุติธรรม  ทำให้โจรผู้ร้ายชุกชุมเกิดการปล้นจี้ไม่เว้นแต่ละวัน ผู้ร้ายข้ามแดนเข้ามาหลบซ่อนอยู่มาก ในระหว่างราษฎรจีนด้วยกันต่างก็ทะเลาะวิวาทกันไม่จบสิ้น ล้วนก่อปัญหาเรื้อรังขึ้นในเมืองตรัง นับเป็นภารกิจหนักที่ต้องเร่งแก้ไข  ดังนั้นท่านจึงเร่งรัดให้ทุกบ้านมีเลขทะเบียนบ้าน รายละเอียดของผู้อยู่อาศัยจำนวนโคกระบือ จัดทำรูปพรรณโค กระบือ จดทะเบียนเรือ กำหนดสถานที่จอดเรือ เพื่อป้องกันการลักลอบขนดินปืนจากเรือต่างประเทศ  ด้านการติดตามจับโจรผู้ร้าย อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ติดตามจับข้ามแดนได้โดยไม่ต้องกลับมาเอาหนังสือสูตรนารายณ์  หรือหนังสืออนุญาตจับผู้ร้าย ส่วนวิธีตามจับ โค กระบือ ที่ถูกขโมยนั้น ก็ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านตามรอยเท้า โค กระบือ รอยเท้าไปสิ้นสุดตำบลใดหมู่บ้านใด ก็ให้เจ้าหน้าที่หมู่บ้านนั้นตามลอยต่อไป บ้านเรือนราษฎรทุกหลังจะต้องมีเหลาะ (เกราะ) สำหรับไว้ตีบอกเหตุ เมื่อถูกโจรผู้ร้ายเข้าปล้นทุกบ้านจะต้องตีบอกต่อๆ กันไป พร้อมทั้งช่วยกันจับผู้ร้าย บ้านใดไม่ให้ความร่วมมือจะถูกพิจารณาโทษตามควรแก่เหตุ ส่วนการทะเลาะวิวาทของราษฎรจีนนั้น ท่านได้ขอผูกภาษีเมืองตรังแล้วแบ่งให้ราษฎรจีนไปทำอีกช่วงหนึ่ง  เมื่อเกิดทะเลาะวิวาทก็มีหัวหน้าจีนคอยไกล่เกลี่ยกันเอง ทำให้ให้เหตุการณ์สงบลงได้
        เมื่อเมืองตรังเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยแล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระยารัษฎาฯ จึงดำเนินการย้ายที่ตั้งเมืองจากควนธานีไปที่กันตัง ท่านมุ่งมั่นให้เมืองใหม่ที่กันตังมีความเจริญก้าวหน้าเท่าเทียมเมืองปีนัง จึงจัดวางผังเมืองใหม่โดยมีช่างชาวอิตาเลียนมาช่วย จัดการขุดลอกร่องน้ำ (แม่น้ำตรัง) เพื่อให้เรือสินค้าเข้าออกสะดวกขึ้น พัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้าเพื่อให้กันตังเป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือ สนับสนุนพ่อค้าให้จัดตั้งบริษัททำธุรกิจขนส่งสินค้ากับต่างประเทศแม้เมื่อไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตแล้ว ก็ยังคงติดตามโครงการท่าเรือน้ำลึกที่กันตัง โดยเสนอโครงการต่อกรุงเทพฯ แต่โครงการนี้ไม่เป็นผล และท่านยังผลักดันการสร้างสถานีรถไฟที่กันตัง ทำให้กันตังเป็นเมืองท่าค้าขายต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        ด้านการคมนาคมทางบก พระยารัษฎาฯ เร่งดำเนินการตัดถนนหลายสาย แทบจะกล่าวได้ว่าถนนสายสำคัญๆ ของเมืองตรังและถนนเชื่อมระหว่างเมืองล้วนเป็นถนนที่พระยารัษฎาฯ ดำเนินการกรุยทางไว้ทั้งสิ้น ในพ.ศ. ๒๔๓๘ ท่านจัดการสำรวจและตัดถนนบนเขาบรรทัดเพื่อติดต่อกับพัทลุง นับเป็นการเชื่อมฝั่งทะเลตะวันตกกับตะวันออกให้ไปมาสะดวกขึ้นถนนสายนี้ได้ชื่อว่าสวยงามมาก
        ทางด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  ท่านดำเนินการย้ายสำนักสงฆ์ไปสร้าวัดคือวัดกันตัง หรือวัดตรังคภูมิพุทธาวาส โดยนิมนต์พระลบ ธมสุวณโณ (พระครูบริสุทธิ์ศีลาจารย์ฑิสังฆปาโมกข์) จากวัดควนธานีให้มาบช่วยบำรุงและจัดการศึกษา โดยก่อตั้งโรงเรียนลบจรุงวิทยาขึ้น ตลอดทั้งมอบหมายให้ข้าราชการช่วยสอนหนังสือและอบรมเด็กๆ ด้วยอีกทางหนึ่ง ท่านมีคำพูดติดปากเมื่อไปตรวจเยี่ยมราษฎรและพบปะเด็กอยู่ประโยคหนึ่งว่า
        มึงลูกใคร อยู่บ้านตำบลใด เรียนหนังสือหรือยัง พ่อแม่มึงขี้ขโมยไหม ทำนาหรือเปล่า ลูกหลานข้าราชการหรือราษฎรที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ท่านจะส่งไปให้เรียนที่ปีนังและในกรุงเทพฯ ศึกษาจบก็ให้มาทำงานและให้ความรู้แก่ข้าราชการอื่นๆ ส่วนในด้านส่งเสริมศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ท่านสนับสนุนทั้งหนังตลุง มโนราห์ ถึงกับคัดเอามโนราห์เก่งๆ มาฝึกซ่อมในจวน พร้อมทั้งฝึกให้ทำอาหารไปด้วย กล่าวกันว่าท่านมีคณะมโนราห์ของท่านเองด้วย
        พระยารัษฎาฯ เอาใจใส่ด้านสาธารณสุขพื้นฐาน โดยกวดขันเรื่องความสะอาดบ้านเรือน บ่อน้ำของราษฎร ตลอดทั้งความสะอาดของร่างกายโดยแจกสบู่ให้แก่ราษฎรใช้ถูตัวจัดหาแพทย์ประจำตำบล บริจาคทุนทรัพย์สนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลมิชชันนารี แก่ ดร.เคมเบท  อีแวลล์  ดันแลป ดี.ดี.(หมอดันแลป) ในปี ๒๔๕๒ นับเป็นครั้งแรกที่เมืองตรังมีการบำบัดรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน
        ตลอดระยะเวลา  ๑๑ ปีของการปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง เมืองที่ถูกทอดทิ้งให้ทรุดโทรมจนเกิดปัญหาการปกครองที่ต้องรับแก้ไขนั้น ได้ถูกกอบกู้ให้กลับเข้าสู่ความสงบสุขโดยเจ้าเมืองที่มีนามว่า พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ทำให้บ้านเมืองพัฒนาขึ้นในทุกๆ ด้าน
        บ้านของท่านที่กันตัง เป็นอนุสรณสถานที่ชาวตรังจัดตั้งขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ ให้เป็นแหล่งศึกษาประวัติและงานของท่าน และทุกๆ ปีในวันที่ ๑๐ เมษายน ชาวตรังร่วมนอมรำลึกถึงคุณูปการของท่านที่มีต่อเมืองตรัง นำพวงมาลาไปสักการะที่อนุสาวรีย์ ณ บริเวณตำหนักผ่อนกายเดิม และคงปฎิบัติเช่นนี้สืบทอดต่อไป

 

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 64155
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย