ประเพณีงานศพ : เอกลักษณ์ของเมืองตรัง

00041

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เมืองตรังตรงกันว่า ความเป็นมาของใบประกาศกำหนดงานฌาปนกิจศพของเมืองตรังนั้น เริ่มขึ้นในหมู่คนจีนที่มาอาศัยเมืองตรังยุคแรกๆ เขียนบอกข่าวการตายของญาติพี่น้องมาแขวนปิดไว้ตามร้านกาแฟ ด้วยภาษาจีน เพื่อให้เพื่อนคนจีนด้วยกันได้รับทราบเหตุผลที่ต้องเขียนปิดไว้ตามร้านแฟ เป็นเพราะคนจีนนิยมดื่มกาแฟในตอนเช้า ประการหนึ่งและคงไม่มีเวลาเดินบอกข่าวการตาย

ซึ่งอาจเนื่องมาจากสภาพงานที่ดำเนินไปลักษณะปากกัดตีนถีบ บีบรัดตัว อีกประการหนึ่งจากเหตุผลสองประการดังกล่าวเป็นเหตุปัจจัยสอดคล้องกับการดำรงชีพของคนจีนเมืองตรังในยุคนั้นที่ต้องแยกกันประกอบอาชีพ ปลูกผักบ้าง ขายน้ำแข็งบอก (ไอศกรีมแท่ง) บ้าง เปิดร้านขายกาแฟและซื้อของเก่าบ้าง

ด้วยความเรียบง่ายของการบอกข่าวการตายในหมู่คนจีน ขยายอิทธิพลเข้าสู่หมู่คนไทยในเขตเมืองจากภาษาจีนมาเป็นภาษาไทย จากการเขียนลงบนแผ่นกระดาษมาสู่ระบบแผ่นพิมพ์ จากในเขตเมืองออกสู่ชนบทรอบเมืองอย่างที่เป็นอยู่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรังอย่างทุกวันนี้

หากลองมองให้ทะลุผ่านใบประกาศกำหนดงานฌาปนกิจศพ อันเป็นส่วนเสี้ยวของเอกลักษณ์ด้านรูปแบบค้นหาสารัตถะคุณค่าในประเพณีงานศพของเมืองตรัง ก็จะพบคุณค่าสารัตถะ เป็นมรดกวัฒนธรรมล้ำค่าสวยงามซ่อนเร้นอยู่ อย่างน้อยสองประการ คือคุณค่าทางด้านจิตใจกับคุณค่าทางด้านสังคม

จากใบประกาศกำหนดงานฌาปนกิจศพที่นำไปปิดไว้ตามร้านกาแฟ ศาลาพักริมทาง และร้านค้าในหมู่บ้านยังส่งผลสะท้อนยกระดับฐานะจิตใจสร้างเสริมคุณธรรมความเห็นอกเห็นใจให้เกิดขึ้น โดยที่ไม่ต้องเรียนรู้จากคำสอนหรือตำราใดๆ กล่าวคือก่อนที่คนเมืองตรังจะเข้าร้านกาแฟ พักศาลาริมทาง หรือเข้าร้านค้าในหมู่บ้าน ดูเหมือนจะเป็นนิสัยที่ต้องอ่านใบประกาศกำหนดงานฌาปนกิจศพ ก่อนอื่นใด การอ่านใบประกาศ เริ่มด้วยชื่อ นามสกุล หากไม่รู้จักชื่อผู้ตาย ก็จะเพ่งนึกหาชื่อเพื่อน พี่ น้องที่ตรงกับนามสกุลนั้น จากนั้นตรวจสอบดูรายชื่อคณะเจ้าภาพ หากพบเห็นชื่อคณะเจ้าภาพที่รู้จัก (เพื่อน พี่น้อง) ก็ถือว่าต้องไปงานนั้น การที่รู้แล้วไม่ไปถือเสมือนหนึ่งผิดจารีตนิยมของเมืองตรัง ข้อนี้แหละที่สร้างจิตสำนึกในหมู่คนตรังเกิดสำนวนประจำถิ่น งานศพอย่าขาด งานอื่นไม่เป็นไร ตรึงจิตใจความเป็นตรังไว้เหนียวแน่นและคงจะไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่ารากเหง้าแห่งจิตสำนึกดังกล่าว ปรากฏเป็นคำขวัญที่เน้นปรากฏทางจิตใจ ไม่ชูปรากฏการณ์ทางวัตถุว่า ชาวตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี

ด้วยจิตสำนึกเสมือนหนึ่งเป็นความผิด หากไม่ได้ไปงานศพ นี้เอง ได้ถักทอสายใจสร้างกัลยาณมิตร ก่อกำแพงขีดกั้นระบบเศรษฐกิจแบบตัวใครตัวมัน ทำนองธุระไม่ใช่ ไม่ให้ย่างกรายเข้ามากล้ำกลืนความมีน้ำใจที่เริ่มมาจากอดีตถ่ายทอดผ่านใบประกาศกำหนดงานฌาปนกิจศพอย่างไม่รู้วันเสื่อมคลายตราบถึงปัจจุบัน

คนต่างถิ่นมักจะตั้งข้อสังเกตว่า คนเมืองตรังดูเหมือนจะไม่ยึดงานศพเอาเสียเลยด้วยเห็นว่าคนที่ไปงานศพนั้น ไม่ค่อยได้ทำพิธีเคารพศพ หรือร่วมพิธีทางสงฆ์ การตั้งข้อสังเกตเช่นนี้ ถือว่าไม่เข้าใจประเพณีการไปงานศพของเมืองตรังดีพอ การงานศพของคนเมืองตรังชัดเจนในสองลักษณะคือ ไปเพราะรู้จักมักคุ้นกับผู้ตาย ครอบครัวผู้ตาย กับไปเพราะไม่ได้รู้จักมักคุ้นผู้ตาย ครอบครัวผู้ตาย แม้แต่น้อย การไปในลักษณะแรก ก็มีการทำพิธีเคารพศพ สวดศพเหมือนบ้านเมืองอื่นเช่นกัน แต่การไปในลักษณะหลัง เป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรังไป เพราะพี่น้องนามสกุลเดียวกับผู้ตาย ญาติห่างๆ ของเพื่อนสนิทสนมกัน การไปในลักษณะนี้แหละ เป็นการก่อขยายวงมนุษยสัมพันธ์อย่างมีศิลปะผ่านสื่อประเพณีงานศพสะท้อนคุณค่าไปสู่สังคมสันติสุขได้ประการหนึ่ง

คุณค่าสังคมของประเพณีงานศพของเมืองตรังอีกประการหนึ่งคือ สนองตอบธรรมเนียมพื้นฐานดั้งเดิมของความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์อยู่กันเป็นกลุ่ม สงเคราะห์กันอยู่ สงเคราะห์กันกินประเพณีงานศพของเมืองตรังธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมลักษณะดังกล่าว เริ่มด้วยการเกื้อกูลกันทางแรงกาย เป็นธุระตามถนัดเฉพาะด้าน เป็นต้นว่าหน้าที่สงฆ์ ตกแต่งประดับโลง ทำอาหาร ฯลฯ เป็นธรรมชาติหน้าที่ที่ไม่ต้องตามหากะเกณฑ์แต่ประการใด การจ้างมีบ้างในเขตเมืองแต่จะไม่ปรากฏในงานศพนอกเขตเมือง ดูเหมือนทุกคนในหมู่บ้านเป็นภาระหน้าที่แทน คนเฒ่าคนแก่ทำหน้าที่จัดหมาก ยาสูบ ชายสูงอายุช่วยผ่าฟืน ปะรำ ล้มวัวหมู เด็กหนุ่มพกมีดเชียงมาช่วยเชือดเนื้อ หญิงสูงอายุช่วยทำครัว เด็กสาวช่วยเสิร์ฟอาหาร เด็กก่อนวัยสาวช่วยกันล้างภาชนะ คนซื่อมือสะอาดทำหน้าที่รับเงินทำบุญ คนเฒ่าผู้แก่ที่รักสันโดษช่วยดูแลวัวควาย ถ้าครอบครัวผู้ตายมีวัว ควาย ฯลฯ คุณค่าเกื้อกูลแรงกายนี้แหละที่ประเพณีงานศพของเมืองตรังยังคงรักษาไว้ได้

คุณค่าทางสังคมประการสุดท้ายที่ปรากฏอยู่ในประเพณีงานศพของเมืองตรังเป็นเสมือนหนึ่งเวทีเสวนาสารทุกข์สุกดิบ ปรึกษาหารือในวิถีชีวิต จะเรียกว่า เป็นหน่วยประชาสัมพันธ์ของหมู่บ้านที่มีการตายเกิดขึ้นก็ว่าได้ที่ประเพณีงานศพของเมืองตรัง เป็นแนวเวทีเสวนานั้น เป็นผลสะท้อนมาจากจารีตนิยมของ คนเมืองตรังที่ว่า “ต้องไปนั่งเพื่อนศพ” ไมใช่เพียงเพื่อตามพิธีกรรมตามประเพณีแล้วก็กลับ กอปรกับค่านิยมของคนเมืองตรังอย่างหนึ่งคือต้องไปงานศพทุกคืนจนกว่าจะเผาหรือฝัง อันนี้เป็นค่านิยมที่อยู่เหนือความสิ้นเปลืองอาหารหวานคาว ที่จัดไว้ตอนรับถึงหกเจ็ดอย่าง ตลอดทุกคืนสำหรับ เขตเมืองกินหมี่ก่อนวันออกศพและกินหมูย่างในวันออกศพ ซึ่งเป็นธรรมเนียมในเขตเมืองเท่านั้น ส่วนหมู่บ้านนอกเขตเมือง มีการกินแกงสมรม (แกงเนื้อปนเครื่องในและอวัยวะทุกส่วนที่นิยมกินกัน) ในวันสุกดิบ ด้วยเหตุด้วยปัจจัยดังกล่าวประเพณีงานศพเมืองตรังจึงเป็นเสมือนเวทีเสวนายังผลให้เรียนรู้ประสบการณ์ในอดีต เรื่องการดำรงชีวิตในปัจจุบัน และอนาคตที่ดีงาม ทั้งด้านวัฒนธรรมประเพณีและทางด้านสังคมปฏิบัติ อย่างรอบรู้ โดยรอบด้าน ไม่แพ้ข่าวสารวิทยุ โทรทัศน์ หรือการเรียนรู้จากกระบวนการศึกษาปัจจุบัน

ประเพณีงานศพเอกลักษณ์ของเมืองตรังจะยังคงธำรงไว้ซึ่งสารัตถะและคุณค่าตายตัว ด้วยข้อจำกัดทางความรู้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทางภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์ของเมืองตรังตลอดจนกระบวนการทรรศน์ในการคิด การมอง อาจไม่เชื่อมโยงรอบด้าน เชื่อว่ายังมีความเป็นเอกลักษณ์ ของเมืองตรังอีกหลายรูปลักษณ์ หลายจิตลักษณ์ ที่ไม่ได้นำเสนอไว้ใน ณ ที่นี้

 

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>