งานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานฉลองรัฐธรรมนูญ

งานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานฉลองรัฐธรรมนูญ : งานประจำปีที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรัง

งานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานฉลองรัฐธรรมนูญ เป็นงานประจำปีจังหวัดเดียวในประเทศไทย ที่ได้นำเอาสถาบันพระมหากษัตรย์และสถาบันการปกครองแบบประชาธิปไตยมาผสมผสานเข้าไว้ในงานรื่นเริงประจำปีที่ทางรัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้จังหวัดต่างๆ จัดงานประจำปีได้ปีละครั้ง จังหวัดต่างๆ มีอิสระในการจัดงาน

การตั้งชื่องาน เนื้อหาสาระในการจัดงาน เดิมจังหวัดตรังใช้ชื่องานประจำปีว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนชื่องานมาเป็น งานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานฉลองรัฐธรรมนูญ เมื่อ พ.ศ. 2489

 

ความเป็นมาของงานฉลองรัฐธรรมนูญ

หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลชุดนั้นจัดให้มีการจำลองรัฐธรรมนูญขึ้นและมอบให้ผู้แทนราษฎรนำไปประดิษฐาน ณ หน้าศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด

ที่จังหวัดตรัง นายจังหวัด (จัง) จริงจิตร ผู้แทนราษฎรคนแรกได้นำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองมาจังหวัดตรัง เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ผู้ว่าราชการในสมัยนั้นได้จัดให้ข้าราชการ นักเรียน ประชาชนไปต้อนรับที่สถานีรถไฟตรัง แล้วนำมาประดิษฐานไว้หน้าศาลากลางจังหวัด และจัดให้มีงานเฉลิมฉลอง เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ในงานมีมหรสพพื้นบ้าน เช่น หนังตะลุง มโนราห์ ลิเกป่า

ในปีต่อมาทางจังหวัดก็จัดให้มีการเฉลิมฉลองเช่นเดิม และให้เรียกงานนี้ว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญ โดยถือเอาวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ คือวันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันกลางของงาน แต่เพิ่งจัดเป็นรูปการแน่นอน ในพ.ศ. 2480

เมื่อกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้จังหวัดทุกจังหวัดมีงานรื่นเริงประจำปีจังหวัดตรังก็ยังใช้ชื่องาน ฉลองรัฐธรรมนูญ มาเป็นชื่องานประจำปีของจังหวัด และจัดงานเป็นลำดับตลอดมา จนถึงปี พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นยกทัพเข้าสู่ประเทศไทย งานฉลองรัฐธรรมนูญจึงยกเลิกไปโดยปริยาย

ปี 2489 สงครามสงบ ข้าราชการและประชาชนชาวตรังมีมติให้ฟื้นฟูงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ รวม 7 วัน 7 คืน อนึ่ง เนื่องจากการจัดงานในครั้งนี้หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเพิ่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทางจังหวัดเห็นว่า วันพระราชสมภพ อยู่ในห้วงเวลาเดียวกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ จึงได้มีมติให้เปลี่ยนชื่องานประจำปีจังหวัดตรังเป็น งานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานฉลองรัฐธรรมนูญ เริ่มงานวันแรก คือวันที่ 5 ตรงกับวันพระราชสมภพ

งานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานฉลองรัฐธรรมนูญ จึงเป็นงานประจำปีจังหวัดตรังตลอดมา โดยมีลักษณะเนื้อแท้ของงานแบ่ง 4 ภาค คือ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ยกชูสถาบันการปกครอง (การเมือง) ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี วิชาการและภาคบันเทิง

 

งานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานฉลองรัฐธรรมนูญ

งานประจำปีที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรังมีความเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะไม่เหมือนใครก็คือนำเอารัฐธรรมนูญจำลองมาเฉลิมฉลองกันอย่างไม่เลิกรา จังหวัดอื่นมีการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญกันเฉพาะปีที่แจกจ่ายรัฐธรรมนูญจำลองไปให้เท่านั้น แต่จังหวัดตรังนำมาเป็นชื่องานประจำปี จัดงานทุกปี

การที่จังหวัดได้นำเอารัฐธรรมนูญ มาเป็นชื่องานเข้าประจำปี และมีกิจกรรมทางวิชาการที่โรงเรียนทุกโรงเรียนเข้าร่วม (ก่อนปี พ.ศ. 2523) เป็นต้นว่า ประกวดเรียงความ ประกวดกลอน ประกวดโต้วาที ประกวดบทกวี ที่ว่าด้วยเรื่องราวรัฐธรรมนูญ การเมือง นอกจากจะมองเห็นรูปลักษณ์ อันเป็นเอกลักษณ์ของงานประจำปีจังหวัดตรังดังกล่าวแล้ว ยังผลให้เห็นคุณค่าด้านจิตลักษณ์ ดังนี้ คือ การจัดกิจกรรมทางวิชาการที่ว่าด้วยรัฐธรรมนูญ การเมืองการประชาธิปไตย อันเปรียบเสมือนการฟูมฟักดูแลต้นประชาธิปไตย (รัฐธรรมนูญจำลอง) ที่นำมาปลูกไว้บนแผ่นดินตรัง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2476 ทำให้ประชาธิปไตยเจริญงอกงามโดยภาพรวมๆ ซึ่งอาจมองเห็นได้จากปรากฏการณ์ ดังนี้

ความตื่นตัวทางการเมืองในยุคแรก ไม่เพียงแต่ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ตามนัยของรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่คนตรังรู้จักการเมืองแบบสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในยุคแรกก็มีคนตรังอย่าง นายมงคล ณ นคร นายสิน เดิมหลิ่ม ครูปลอบ เศวตะดุล ก็เป็นกรรมการกลางพรรค เช่นกัน

ผู้แทนราษฎรที่มีอุดมการณ์ นายก่อเกียรติ (เวื่อง) ษัฏเสน และผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่าง นายประภาส คงสมัย มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างมั่นคง ยืนเคียงข้างประชาชนตลอดชีวิต ไม่เกรงอิทธิพลอำนาจรัฐแต่ประการใด

ความต่อเนื่องในเรื่องของรัฐธรรมนูญ – การเมือง – การประชาธิปไตย น่าจะเป็นเหตุปัจจัยให้นายชวน หลีกภัย ลูกแม่ค้าได้ก้าวสู่ความเป็นนายกรัฐมนตรี ใช่หรือไม่?

เหตุที่งานประจำปีจังหวัดตรัง มีความเป็นเอกลักษณ์อีกประการหนึ่งคือสาระในเนื้องานอันเป็นการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และยกชูสถาบันการเมือง เป็นงานศิลปวัฒนธรรมที่ยังคงเป็นวิถีของเมืองตรังที่ยังไม่ตาย กล่าวคือ ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานฉลองรัฐธรรมนูญ ทุกภาคีเข้ามามีส่วนร่วมที่ทำให้เนื้อหาสาระในงานมีความเป็นเอกลักษณ์ภาคราชการ แบ่งเป็นอำเภอ แสดงผลงานเผยแพร่ผลงานทางราชการของอำเภอควบคู่ไปกับการสนับสนุนภาคเกษตรนำพืชมาประกวด (ถือเป็นการคัดพันธุ์ – ขยายพันธุ์) ภาควิชาการ โรงเรียนทุกโรงเรียนหรือรวมกันเป็นกลุ่มโรงเรียน จัดให้มีการประกวด แข่งขัน ทักษะทางวิชาการในด้านต่างๆ เช่น ประกวดโต้วาที ประกวดแต่งกลอน ประกวดเรียงความ ประกวดวาด – ปั้น รวมไปถึงการแข่งขันกีฬา – ทั้งประเภทนักเรียนและประชาชน ภาคการแสดงพื้นบ้าน มีหนังตะลุง มโนราห์ ลิเกป่า รวมไปถึงการแสดงพื้นบ้านจากภาคอื่น เช่น ลิเก ลำตัด

 

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>