เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ-ยางพารา

rubber-5191097_1280

เมืองตรังเป็นถิ่นกำเนิดยางพารา หลักฐานคือต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทยที่อำเภอกันตัง ชาวตรังจึงเห็นว่าต้นยางพาราเป็นต้นไม้คู่เมือง

ยางพาราเป็นต้นไม้ที่มีมากที่สุดของจังหวัด ในปี พ.ศ. 2541 จังหวัดตรังมีพื้นที่ปลูกยางพาราถึง 1,173,468 ไร่ ซึ่งนับเป็นร้อยละ 71.46 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในจังหวัด

ยางพารามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hevea Brasiliensis (Willd. Ex A. Juss.) Muell .Arg. มีต้นกำเนิดมาจากแถบลุ่มน้ำอเมซอน ประเทศบราซิล ทวีปอเมริกาใต้ ต่อมามีผู้นำมาปลูกที่ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย หรือชวาและมลายูในสมัยโน้น

สมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง มีราชการและการค้าติดต่อกับชวาและมลายูเป็นประจำ ได้เห็นการปลูกยางพาราซึ่งจะทำรายได้งามแก่ชาวบ้าน จึงคิดนำพันธุ์ยางพาราเข้ามาปลูกในเมืองตรัง แต่พวกฝรั่งเจ้าของสวนหวงมาก ทำให้หาลู่ทางนำเข้ามาได้ยาก

ผู้มีส่วนสำคัญคนหนึ่งที่ช่วยทำให้ยางพาราเป็นพืชเอกลักษณ์ของเมืองตรังได้แก่ พระสถลสถานพิทักษ์ (คอยู่เกียด ณ ระนอง) หลานชายพระยารัษฎาฯ ซึ่งรับราชการอยู่ในเมืองตรังขณะนั้น พระสถลฯ ช่วยนำยางพาราเข้ามาในเมืองตรังได้สำเร็จและปลูกไว้ที่บ้านพักเป็นสวนยางรุ่นแรกของประเทศไทย

เมื่อได้พันธุ์ยางมาแล้ว พระยารัษฎาฯ ก็ส่งเสริมการปลูกยางพารา สร้างสวนยางตัวอย่างขึ้นที่ตำบลช่องในนามของสมเด็จกระพระยาดำรงราชานุภาพ เชิญชวนเจ้านายและข้าราชการให้มาทำสวนยางที่เมืองตรัง มีสวนของบรรดาข้าราชการที่บ้านบางหมากและตูลูลู้ดและสวนของพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร ที่ตำบลกันตังใต้ พวกนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านต้องไปเรียนวิธีปลูกยางและทำยางที่สวนยางตัวอย่าง มีการแจกเมล็ดพันธุ์ยางให้ชาวบ้าน รุ่นแรกๆ ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง นำเมล็ดพันธุ์ไปต้มกินเสียก็มี ส่วนวิธีปลูกบางทีก็ใช้ลูกยางเป็นลูกกระสุนธนูยิงไปตกไกลๆ ให้งอกขึ้นมาตามธรรมชาติ เป็นป่ายางที่อยู่ร่วมกับพืชอื่นๆ ที่ใช้ได้สารพัดประโยชน์

ผลจากการปลูกยางพารามาประจักษ์ชัดแก่ชาวตรังในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 3 – 4 ปี ตอนนั้นราคายางสูงมาก สูงสุดถึงกิโลกรัมละ 40 บาท ซึ่งนับว่าสูงมากสำหรับยุคสมัยที่ค่าเงินยังไม่ตกต่ำเช่นปัจจุบัน จากราคายางที่สูงขึ้นในยุคนั้นทำให้ชาวตรังหันมาทำสวนยางกันมากขึ้น จนบางครั้งมีการรุกล้ำเข้าไปในป่าเขาจนแม้แต่ป่าสงวนก็ไม่เว้น ตลอดแนว 2 ข้างถนน ไปจนถึงเขาควนต่างๆ ของเมืองตรังจึงปกคลุมด้วยสวนยางตลอด สมกับที่เป็นไม้เอกลักษณ์ของเมืองตรัง

ปัจจุบันต้นยางพาราต้นหนึ่งในสวนแรกอยู่ที่ริมถนนตรังคภูมิ คือหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์เพราะทุกคนถือว่าเป็น ยางพาราต้นแรกของประเทศไทย

 

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>