ตรังเล : กับภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ไม่ทำลายล้าง

ตรังเล

ตลอดระยะเวลา 119 กิโลเมตรของทะเลตรัง ชุมชนตรังดำรงชีวิตอยู่ด้วยทรัพยากรทางทะเลเกือบร้อยเปอร์เซนต์ ในช่วงแรก ทำการประมงแบบยังชีพ ด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมไม่ทำลายล้าง ตามชายฝั่งน้ำตื้น แต่ต่อมารัฐได้ให้สัมปทานป่าชายเลนเพื่อเผาถ่าย ใช้เรืออวนลากทำการประมงเชิงพาณิชย์เพื่อการส่งออก

ป๊ะบู นวลศรี ปราชญ์ชาวบ้านตรังเล บ้านแหลมมะขาม อำเภอสิเกา ได้ฉายภาพความเป็นตรังเลแต่อดีตสู่ปัจจุบันไว้ดังนี้

1. ยุคปลามาหาคน เป็นยุคแรกของหมู่ตรังเลที่ป่าชายเลนสมบูรณ์ หน้าทะเลสมบูรณ์ ปะการังสมบูรณ์ องครวมความเป็นทะเลสมบูรณ์ กุ้ง หอย ปู ปลา มาหาคนถึงชายฝั่งคนตรังเลไม่ต้องออกไปหาปลา

2. ยุคคนไปหาปลา เป็นยุคเริ่มต้นประมงพาณิชย์ (ปี 2508) และให้สัมปทานป่าชายเลน ซึ่งแบ่งได้ดังนี้

ก. ไปหาปลาใกล้ๆ ได้ปลา

ข. ไปหาปลาใกล้ๆ ไม่ได้ปลา

ค. ไปหาปลาไกลๆ ได้ปลา

ง. ไปหาปลาไกลๆ ไม่ได้ปลา

3. ยุคปลามาให้กำลังใจคน หลังจากการประมงพาณิชย์ การให้สัมปทานป่าชายเลน ทะเลตรังก็เสื่อมโทรม คนอกไปหาปลาทั้งใกล้ – ทั้งไกล ได้ไม่พอกิน ดังคำพูดของป๊ะมะโดด ชาวประมงพื้นบ้านตรังเล พูดไว้ว่า ไปตกปลาได้ปลาเค็ม คือกลับมามือเปล่า ต้องซื้อปลาเค็มกลับบ้าน หมู่ตรังเลแห่งบ้านทุ่งแหลมไทร แหลมมะขาม ได้ร่วมกันฟื้นฟูปลูกป่าชายเลนหลังจากชายเลนอุดมสมบูรณ์ กุ้ง หอย ปู ปลา กลับมาปรากฏตัวตนให้คนเห็นอีกครั้ง ปลาหลายชนิดที่หายหน้าหายตาไปยาวนาน กลับมาติดเป็ด ติดไซ ติดอวน อีกครั้ง ตรังเลเรียกยุคนี้ว่า ยุคปลามาให้กำลังใจคนที่อนุรักษณ์ฟื้นฟูปลาป่าชายเลน

4. ยุคคนเลี้ยงปลา หลังจากการฟื้นฟูปลูกป่าชายเลนชุมชน ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า กุ้ง หอย ปู ปลา เริ่มมีทีท่าว่าเพิ่มจำนวนขึ้น หมู่ตรังเลรู้ดีว่าลำพังป่าชายเลนสมบูรณ์อย่างเดียว หากเขตน้ำตื้นแนวหน้าทะเล เขตน้ำลึกแนวหินปะการัง เสื่อมโทรมถูกทำลายโดยเครื่องมือจับปลาแบบทำลายล้าง ดังนั้นกระบวนการอนุรักษ์หน้าทะเล แนวปะการังและการเลิกใช้เครื่องมือที่ทำลายล้าง จึงตามมา เป็นการเริ่มต้นยุคคนเลี้ยงปลา เลี้ยงปลาไว้ในอ่าวรอบๆ หมู่บ้านเป็นการจัดทรัพยากรทะเลแบบยั่งยืน

บนเส้นทาง 4 ช่วงยุคตรังเล ดังกล่าว กาลเวลาได้ฉายแววภูมิปัญญาตรังเลไว้มากมายหลายเรื่องนัก ดังจะหยิบยกให้เห็นพอเป็นรูปธรรม ดังนี้

ยุทธการฟื้นฟูค่าป่าใช้สอย ด้วยองค์ความรู้ของหมู่ตรังเล ที่ว่า มีป่า มีปลา (ป่าชายเลน) หมู่ตรังเล บ้านทุ่งแหลมไทร แหลมมะขาม จึงดำเนินการขอพื้นที่ป่าใช้สอยดั้งเดิมที่ถูกเจ้าสัมปทานป่าชายเลนยึดเอาไปดื้อๆ จนชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ลืมไปแล้ว นำมาฟื้นฟูปลูกป่าเป็นป่าชายเลนชุมชน ภายใต้หลักการ การมีส่วนร่วมแบบเบญจภาคี อันมี ชาวบ้าน นักพัฒนาเอกชน (NGOS) ข้าราชการ นักวิชาการ และสื่อมวลชน

ทุกขั้นตอนในการดำเนินการต้องประกอบไปด้วยภาคทั้งห้า โดยจัดเป็นเวทีสัมมนา ประชุม ร่วมกัน การฟื้นฟูปลูกป่าชายเลนชุมชน บ้านทุ่งแหลมไทร แหลมมะขามได้กลายมาเป็นแม่แบบของการจัดการฟื้นฟูป่าชายเลน และการจัดการทรัพยากรชายฝั่งให้แก่นักสิ่งแวดลอมได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา

ยุทธศาสตร์ ทะเลสมบูรณ์ พะยูนอยู่ได้ ประมงอยู่รอด ป๊ะบู นวลศรี ปราชญ์ชาวบ้าน บ้านแหลมมะขาม ผู้นำการฟื้นฟูปลูกป่าชายเลน ได้อธิบายให้คณะค่ายนักเรียนหนุนช่วยองค์กรชาวบ้านในการฟื้นฟูการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไว้ว่า

…ป่าชายเลนเปรียบเสมือนโรงเรียนอนุบาล – ประถม ชายฝั่งน้ำตื้นแนวเขตหญ้าทะเลคือโรงเรียนมัธยม แนวหินปะการังคือ ระดับมหาวิทยาลัย… ความเติบโตของทรัพยากรทางทะเลจะเริ่มต้นที่ ป่าชายเลน ชายฝั่งเขตน้ำตื้น และแนวหินปะการัง เช่นเดียวกับความเจริญเติบโตทางปัญญาของนักเรียนที่เริ่มต้นที่โรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย

ยุทธวิธีการนำพะยูนสัตว์ที่กล้จะสูญพันธุ์มาป่าวประกาศเพื่อเรียกร้องให้ช่วยอนุรักษ์ เพื่อหวังผลให้พะยูน ได้ช่วยอนุรักษ์หญ้าทะเล เพราะพะยูนกินหญ้าทะเล ไม่มีหญ้าทะเลไม่มีพะยูน เรืออวนรุน อวนลาก ทีเคยทำลายหญ้าทะเล ก็ถูกกระแสสังคมรักษ์พะยูนกดดัน ไม่กล้าเข้ามาทำการประมงด้วยเครื่องมือที่ทำลาย ด้วยภูมิปัญญาดังกล่าว ประชาชนหลายหมู่เหล่า หลายองค์กร หลายภาคี เข้ามาร่วมปักป้ายประกาศแนวอนุรักษ์หญ้าทะเล

เบื้องหลังการปักป้ายแนวอนุรักษ์หญ้าทะเลมีผู้คนที่มีจิตวิญญาณ ซึ่งผิดกับป้ายประกาศที่ส่วนราชการนำไปปิดประกาศที่มีแต่ความสวยหรู แต่เบื้องหลังแผ่นปายสวยหรูนั้นไม่มีคนไม่มีจิตวิญญาณ

อนุรักษ์เต่าทะเล ด้วยภูมิปัญญาตรังเล ผู้เฒ่าสูหมีด หมาดทิ้ง ผู้เฒ่าตรังเลแห่งบ้านทุ่ง อดีตนักล่าไข่เต่าตัวยง เกิดสำนึกห่วยใยด้วยเกรงว่า ถ้าไม่มีการอนุรักษ์ เต่าทะเลสูญพันธุ์แน่ๆ สำนึกเกิดจากการเห็นเขามีการอนุรักษ์ป่า เพราะป่าแทบจะหมด ต่อไปลูกหลานจะไม่ได้เห็นไม่รู้จัก สูหมีดตัดสินใจนำเอาไข่เต่าที่หาพบ มาเก็บกลบฝังทราย ฟักตามธรรมชาติไว้ใกล้บ้าน กั้นตาข่าย ไม่ให้หมา เหี้ย มาลักกิน การฟักไข่เต่าด้วยวิธีการของสูหมีด ลูกเต่าทุกตัวที่แตกไข่แข็งแรง คลานลงสู่ทะเล อย่างไม่หลงทิศผิดทาง ทำให้ Glen Hill อาสาสมัครมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ฯ บอกว่า การฟักไข่เต่าด้วยวิธีธรรมชาติดีกว่าฟักด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ด้วยลูกเต่าทุกตัวไม่สูญเสียสัญชาติญาณดั้งเดิม

 

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>