ภูมิศาสตร์

1. ที่ตั้งและอาณาเขต จังหวัดตรังอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นจังหวัดที่มี   พื้นที่จังหวัดเลียบชายฝั่งทะเลตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย  ยาวตลอดแนวเขตจังหวัดถึง 119 กม. ประมาณเส้นรุ้งที่ 7 องศา  31  ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่  99  องศา 38  ลิปดาตะวันออก  อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตามเส้นทางสายเพชรเกษม 828 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 4,941.439 ตารางกิโลเมตร หรือ  3,088,399.375  ไร่   มีอาณาเขตติดต่อด้านจังหวัดต่าง ๆ   ดังนี้
ทิศเหนือ  จดอำเภอทุ่งสง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  และอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
ทิศใต้ จดอำเภอทุ่งหว้า  จังหวัดสตูล   และทะเลอันดามัน  มหาสมุทรอินเดีย
ทิศตะวันออก จดอำเภอควนขนุน  อำเภอกงหรา  อำเภอตะโหมด  จังหวัดพัทลุง (มีเทือกเขาบรรทัดกั้นอาณาเขต)
ทิศตะวันตก จดอำเภอคลองท่อม  เกาะลันตา  จังหวัดกระบี่และทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย

2. ลักษณะภูมิประเทศ  สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่โดยทั่วไปจะเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับด้วยภูเขาใหญ่เล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่ราบเรียบมีจำนวนน้อยซึ่งใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว  ทางทิศตะวันออกมีเทือกเขาบรรทัดยาวจากตอนเหนือจดตอนใต้  และเป็นแนวเขตแบ่งจังหวัดตรังกับจังหวัดพัทลุง ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น  มีป่าชายเลนสำหรับท้องที่ที่อยู่ติดกับทะเล มีพื้นที่เป็นเกาะจำนวน 46 เกาะ อยู่ในพื้นที่อำเภอกันตัง 12  เกาะ  อำเภอ     ปะเหลียน  13  เกาะ  และอำเภอสิเกา  21  เกาะ

3. ลักษณะภูมิอากาศ                              
3.1  ฤดูกาล  แบ่งตามลักษณะอากาศของประเทศไทยออกเป็น  2  ฤดู  คือ 
ฤดูร้อน  เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม 
ฤดูฝน   เริ่มตั้งเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกลางเดือนกุมภาพันธ์   
                       
3.2  
ลักษณะอากาศทั่วไป  จังหวัดตรังอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดประจำเป็นฤดูกาล 2 ชนิด คือ
ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม  
ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือน พฤษภาคม 

3.3   อุณหภูมิของอากาศปี 2551 อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27.05 องศา-เซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยตลอดปี 34.64 องศาเซลเซียส  อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยตลอดปี 21.46 องศาเซลเซียส 
ความชื้นสัมพัทธ์ ปี 2551 ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 82.63% ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ยตลอดปี 98.83% ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ยตลอดปี 49.08%
ปริมาณฝนปี 2551  ปริมาณฝนตกตลอดปี 1,781.4 มิลลิเมตร จำนวนวันที่มีฝนตกตั้งแต่ 0.1 มิลลิเมตรขึ้นไป  มีทั้งหมด 161 วัน

4. แหล่งน้ำธรรมชาติ  จังหวัดตรังมีแม่น้ำลำคลองที่สำคัญอยู่  2  สาย  คือ 
4.1 แม่น้ำตรัง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช  จังหวัดพัทลุงและจากเทือกเขาเขตจังหวัดกระบี่  มีความยาวประมาณ 123 กิโลเมตร มีลำน้ำสาขา    ที่สำคัญ  7 สายได้แก่ คลองชี คลองท่าประดู่ คลองกะปาง คลองมวน คลองยางยวน คลองลำภูรา และคลองนางน้อย แม่น้ำนี้ไหลผ่านท้องที่จังหวัดตรัง 5 อำเภอคือ อำเภอรัษฎา อำเภอห้วยยอด อำเภอวังวิเศษ อำเภอเมืองตรังและอำเภอกันตัง แล้วไหลลงทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ที่ปากน้ำกันตัง   อำเภอกันตัง

4.2 แม่น้ำปะเหลียน  มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัดในเขตจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูล มีความยาวประมาณ 58 กิโลเมตร มีลำน้ำสาขาที่สำคัญ 7 สาย  ได้แก่ คลองปะเหลียน  คลองลำแคลง คลองลำปลอก  คลองห้วยด้วน  คลองลำพิกุล  คลองโพรงจระเข้ (คลองไหนุ้ย) และคลองลำชาน แม่น้ำนี้ไหลผ่านท้องที่จังหวัดตรัง 2 อำเภอ คือ อำเภอย่านตาขาวและอำเภอ ปะเหลียน  แล้วไหลลงสู่ทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ที่ปากแม่น้ำปะเหลียน อำเภอปะเหลียน

5. ทรัพยากรธรรมชาติ  ทรัพยากรที่สำคัญของจังหวัดตรังจำแนกตามประเภท   ต่าง ๆ  ได้ดังนี้                     
- สัตว์น้ำ จังหวัดตรังมีอาณาเขตติดต่อกับชายทะเล ด้านทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย  มีความยาวประมาณ 119 กิโลเมตร จึงอุดมไปด้วยสัตว์น้ำ นานาชนิด
- แร่ แร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่  ดีบุก  ถ่านหินและแร่แบไรท์
- รังนก  มีตามเกาะต่าง ๆ ในเขตอำเภอกันตัง อำเภอปะเหลียน และอำเภอสิเกา

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>