ความสำคัญของจังหวัดตรังในด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย

1. ทรัพยากรที่สำคัญ ทรัพยากรที่สำคัญของจังหวัดตรังจำแนกตามประเภท ต่าง ๆ ได้ดังนี้

1.1 ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ปลูกทั่วไปทุกอำเภอแต่ที่ปลูกมากที่สุด ได้แก่ อำเภอปะเหลียน

1.2 สัตว์น้ำ จังหวัดตรังมีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเลอันดามันมหาสมุทรอินเดีย ในเขตอำเภอสิเกา, กันตัง, ปะเหลียน, ย่านตาขาว และ กิ่ง อ.หาดสำราญ มีความยาวประมาณ 119 กิโลเมตร จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ทะเลนานาชนิด

1.3 แร่ แร่ธาตุสำคัญ ได้แก่ แร่ดีบุก ฟลูออไรด์ ถ่านหินและแบไรท์มีมาก ที่อำเภอห้วยยอด

1.4 ปาล์มน้ำมัน ปลูกมากที่อำเภอสิเกาและอำเภอวังวิเศษ ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดกระบี่

1.5 รังนก มีตามเกาะต่าง ๆ ในเขตอำเภอกันตัง อำเภอปะเหลียน อำเภอสิเกา ซึ่งเอกชนได้รับสัมปทานเก็บในแต่ละปี

——————————————————————————–

2. อาชีพที่สำคัญ อาชีพที่สำคัญที่ทำรายได้มาสู่จังหวัดตรัง ได้แก่

2.1 การกสิกรรม พืชที่ปลูกที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าว มะพร้าว ปาล์ม-น้ำมัน ทุเรียน มะม่วงหิมมะพานต์ สะตอ กาแฟ แตงโม ถั่วลิสง ผักต่าง ๆ

2.2 การประมง จังหวัดตรังมีอาณาเขตติดต่อกับฝั่งทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียถึง 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปะเหลียน อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง อำเภอสิเกา และอำเภอหาดสำราญ เป็นอาชีพและรายได้หลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดตรัง

2.3 การอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เช่น โรงงานรมควันยาง สกัดน้ำมันปาล์ม ผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง ผลิตอาหารทะเลกระป๋อง ผลิตปลาบดแช่แข็ง (ซูริมิ) ฯลฯ

2.4 การป่าไม้ ได้แก่ การเผาถ่านไม้

2.5 การพาณิชย์ ได้แก่ การค้าส่ง ค้าปลีก ค้ากับต่างประเทศ มีสินค้าจากผลิตผลทางการเกษตร เช่น ยางแผ่นรมควัน ยางแท่งทีทีอาร์ สัตว์น้ำทะเลและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำทะเล ฯลฯ

ภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง ภาวะเศรษฐกิจและการค้าของจังหวัดตรังขึ้นอยู่กับพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยางพารา ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำสวนยางพารา ถ้าปีใดยางพารามีราคาสูง เศรษฐกิจของจังหวัดโดยส่วนรวมก็จะดีแต่ถ้าปีใดราคายางพาราตกต่ำเศรษฐกิจโดยส่วนรวมก็จะซบเซาตามไปด้วย

จากรายงานสรุปผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัด ปี พ.ศ. 2550 จัดทำโดยสำนักบัญชีประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

- มูลค่าผลิตภัณฑ์รวม (GPP.) ของจังหวัดตรังในปี 2550 มีมูลค่า 61,924 ล้านบาท

มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดตรัง

 

สภาพการณ์ด้านพาณิชย์

1. สถานการณ์ด้านพาณิชย์

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 มีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าภาวะค่าครองชีพของจังหวัดตรังที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าประเภทข้าวสาร เนื้อสัตว์ อาหารทะเล และน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาสูงขึ้นตลอดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน แต่สินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่มีราคาอยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะการส่งออกที่ผ่านด่านศุลกากรกันตังเพิ่มสูงขึ้นตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนในจังหวัดมีกำลังซื้อสูงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงสิ้นปี 2551 รายได้ของเกษตรกรเริ่มลดลง อันมีผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สิ่งที่เห็นชัด ๆ ก็คือ ราคายางพาราที่ลดลงเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยราคายางพาราในจังหวัดตรังได้ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี ระหว่างวันที่ 8 – 12 ธันวาคม 2551 ซึ่งราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ที่เกษตรกรได้รับกิโลกรัมละ 28 – 30 บาท และน้ำยางสดราคากิโลกรัมละ 25 – 27 บาท ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของประชาชน อันจะเห็นได้จากในเดือนธันวาคม 2551 มีขออนุญาตการจดทะเบียนรถตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก รวม 1,388 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2551 ซึ่งมีการขออนุญาตฯ จำนวน 2,047 คัน หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 32.19 ซึ่งจะเป็นข้อสังเกตได้ว่าการจดทะเบียนรถยนต์ที่ลดลง อันมีผลกระทบจากกำลังซื้อของประชาชนมีน้อยลงจากราคาพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมันมีราคาตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ราคายางพาราได้เริ่มกระเตื้องขึ้น ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551 เป็นต้นมา ทั้งนี้ แม้การส่งออกยางพาราจะมีการชะลอตัวบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดที่จะมีปัญหามากนัก

สำหรับภาวะการลงทุน ปี 2551 มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดตรัง จำนวน 4 โครงการ เงินลงทุน 457.70 ล้านบาท การจ้างงานคนไทย 1,782 คน ได้แก่ การผลิตของเล่นจากไม้ การผลิตพลังงานไฟ้ฟ้าจากก๊าซชีวภาพ การผลิตน้ำมันเมล็ดในปาล์ม และที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือปานกลาง ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า จำนวนโครงการฯ ลดลงร้อยละ 33.33 และเงินลงทุนลดลงร้อยละ 31.72

ในปี 2551 มีการส่งออก – น้ำเข้าที่ผ่านด่านศุลกากรกันตังมีมูลค่าการค้ารวม 17,588.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีมูลค่ารวม 11,063.50 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น ร้อยละ 58.97 โดยการส่งออกมีมูลค่า 16,357.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่า 10,235.17 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 59.87 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,230.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่ารวม 828.34 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 48.61

2. จำนวนผู้ประกอบการธุรกิจการค้าประเภทต่าง ๆ ของจังหวัดตรัง ปี 2551

จำนวนนิติบุคคลที่คงอยู่จนถึงปี 2551 รวม 1,682 ราย แยกเป็น

- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 20 ราย

- ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำนวน 1,190 ราย

- บริษัท จำกัด จำนวน 472 ราย

3. จำนวนผู้ประกอบการธุรกิจการค้าประเภทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนเพิ่มและขอเลิก ปี 2551

การจดทะเบียนนิติบุคคลในปี 2551 มีการขอจดทะเลียนจัดตั้งบริษัท 44 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ซึ่งมีการขอจดทะเบียนฯ จำนวน 26 ราย หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 90.91 แต่มีเงินทุนจดทะเบียน 114.11 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ที่มีเงินทุนจดทะเบียน 161.80 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 29.47 และจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด 63 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีการขอจดทะเบียน 59 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.78 เงินทุนจดทะเบียน 60.73 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีเงินทุนฯ 66.06 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 8.78 โดยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจการก่อสร้าง ขายส่ง ขายปลีก บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การผลิต และขนส่งสินค้า

4. แนวโน้มเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง ปี 2552

แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจจังหวัดตรัง ปี 2552 คาดว่าจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ ที่มีผลทำให้ อุตสาหกรรมยานยนต์ตกต่ำลงกว่าร้อยละ 30 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางของจังหวัดด้วย เพราะประเทศคู่ค้าชะลอการสั่งซื้อและรับมอบยางพารา ทำให้ราคายางพาราไม่ดีเท่าที่ควร กำลังซื้อของประชาชนในจังหวัดลดลง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลทำให้รายได้ของประชาชนในจังหวัดลดลง ตามราคาขายปลีก น้ำมันเชื้อเพลิง และความต้องการซื้อของประชาชนที่ลดลงจากการะมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมอาหารในจังหวัด คือ อาหารทะเลแช่แข็ง สถานการณ์ยังพอไปได้ อาจจะมีปัญหาในเรื่องที่ต้องตามออเดอร์ (ยอดสั่งซื้อ) จากต่างประเทศในปีต่อไปบ้าง แต่ ผู้ประกอบการคาดว่า เมื่อเป็นเรื่องของอาหาร น่าจะยังมีออเดอร์เข้ามา ส่วนอาหารกระป๋องก็ยังดีอยู่พอสมควร อาจเป็นเพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นคนยังต้องทาน แม้ในช่วงที่มีปัญหาเศรษฐกิจคนก็จะหันมากินอาหารกระป๋อง

ด้านการจ้างงานที่ผ่านมาในจังหวัด ยังถือว่าขาดแคลนแรงงาน เพราะฉะนั้น คาดว่า ในช่วงปีต่อไปที่เป็นช่วงวิกฤติก็เหมือนกับว่ายังไม่กระทบไปถึงการเลิกจ้าง เพราะว่าเดิมขาดอยู่ในช่วงปี 2552 เท่ากับว่าปรับให้เข้าไปในการผลิตที่ให้เหมาะสมกับตลาดที่ต้องการ เมื่อตลาดมีความต้องการลดลง แรงงานที่ไม่พออยู่ก็เลยเหมือนว่าพอดี แต่ที่จะมีการว่างงานบ้างก็ในส่วนที่ ถูกเลิกจ้างจากจังหวัดหรือภูมิภาคอื่นแล้ว แรงงานดังกล่าวกลับมาบ้านเดิมในจังหวัดตรัง ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือต่อไป

ส่วนการท่องเที่ยวจะมีผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วง ไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาลดน้อยลง แต่จังหวัดตรังส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาระยะสั้น เมื่อเห็นเหตุการณ์ดีขึ้นก็จะกลับเข้ามาอีกในช่วงครึ่งปีหลังของ ปี 2552

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>