มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น-การกินอยู่

การกินอยู่ ชาวตรังถือว่าการกินอยู่เป็นเรื่องสำคัญ อาหารของเมืองตรังจึงเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาอยู่หลายชนิด ในงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศพ งานแต่งงาน หรืองานอื่นๆ จะมีการจัดเลี้ยงอาหารกันอย่างเต็มที่เสมอ
     ชาวตรังโดยทั่วไปจะรับประทานข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก และมีแกงต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทมีรสจัด เครื่องแกงมักมีส่วนประกอบประเภท กะปิ พริกไทย ขมิ้น ตะไคร้ ฯลฯ กับข้าวแต่ละมื้อส่วนมากจะมีแกงเผ็ดเป็นหลัก เช่น แกงส้ม แกงกะทิ แกงไตปลา แกงคั่วพริก หรือน้ำพริก ที่ขาดไม่ได้คือ ผักเหนาะ ประเภทผักสดเป็นเครื่องแกล้ม
     ชาวตรังรับประทานอาหารหลักวันละ 3 มื้อ มื้อที่มีลักษณะพิเศษคืออาหารเช้าซึ่งแตกต่างไปตามสภาพท้องถิ่นและอาชีพ
     ในชนบท พวกสวนยางพาราต้องออกจากบ้านไปกรีดยางก่อนรุ่ง มักจะกินข้าวที่เหลือไว้จากมื้อเย็นรองท้องไปก่อน เรียกว่า กินข้าวสอ
     พวกหมู่เลประกอบอาชีพประมง ก่อนออกทะเลกิน โกปี้-เหนียวปิ้ง ในชุมชนหมู่บ้านที่มีร้านค้าก็จะมีร้านกาแฟและขนมต่างๆ แต่เดิมมัจะมีอาหารประเภทข้าวเหนียวเป็นหลัก คือ เหนียวปิ้ง ข้าวต้มใบกะพ้อ ข้าวต้มมัดและข้าวเหนียวหน้าต่างๆ เช่น หน้ามะพร้าว หน้าสังขยา หน้ากุ้ง เป่าล้าง (ข้าวเหนียวไส้กุ้งห่อใบตองปิ้ง) ปัจจุบันมีขนมอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง
     ร้านอาหารเช้าอีกชนิดหนึ่งคือร้านขนมจีนซึ่งหาได้ทั่วไป มีทั้งที่ขายตามเพิง ตั้งโต๊ะในร้านกาแฟ หรือเปิดเป็นร้านโดยเฉพาะ น้ำยาขนมจีนเมืองตรังในแถบทับเที่ยงจะมีลักษณะพิเศษกว่าที่อื่น คือนิยมผสมกุ้งแห้งป่น ที่ขาดไม่ได้ต้องมีเคียงคู่กับขนมจีนคือผักเหนาะ มีทั้งผักสด ผักดอง ผักลวก ผักสดมี แตง ถั่วฝักยาว ถั่วงอกและยอดผักต่างๆ เช่น มันปู หมรุย มะกอก มะม่วงหิมพานต์  กระถิน จิก ผักดอง มีแตงดองน้ำส้มสายชูโรยหอมแดงเล็กน้อย บางที่อาจจะมีหัวไชโป๊ผสมลงไปด้วย ผักลวกมักเป็นผักบุ้ง หน่อไม้ ลวกธรรมดาหรือลวกกะทิก็ได้
     ในเขตตรังเมืองตอนเช้า ผู้คนจะนิยมรับประทานกาแฟและขนมตามร้านค้า ขนมที่เป็นหลักคือ ขนมทอดน้ำมัน ได้แก่ จาโก๊ย (ปาท่องโก๋) และขนมเคลียว (ไส้ไก่) ปาท่องโก๋ (เป็นขนมแป้งนึ่ง มีรูพรุน ที่เป็นสีขาวเพราะใช้น้ำตาลทรายขาว ถ้าจะให้เป็นสีน้ำตาลอ่อน ก็ใช้น้ำตาลทรายแดง) ข้าวเหนียวต่างๆ เช่นเดียวกับร้านในหมู่บ้าน ซาลาเปา ขนมจีบ และขนมนึ่งประเภทติ่มซำ ซึ่งปัจจุบันมีอาหารเพิ่มขึ้นหลายชนิด ได้แก่ ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งหมูย่าง
     ความนิยมรับประทานอาหารเช้าตามร้านกาแฟของหมู่ตลอดเมืองตรังมีมานานปรากฏชัดในสำนวนว่า “ยกขึ้นเช้าๆ ไม่เซ้าซี้…ถือขวดโกปี้ไปร้านโกกุ้น…” (ร้านโกกุ้น เป็นร้านกาแฟที่อยู่บริเวณสี่แยกตรงข้ามที่ว่าการอำเภอเมืองตรัง ถือเป็นศูนย์กลางที่ชุมนุมกินกาแฟเป็นอาหารเช้า หลังมื้อเช้าแล้วร้านกาแฟเปิดต่อเป็นที่นั่งสนทนาการบ้านการเมืองไปตลอดวัน ปัจจุบันเปลี่ยนเจ้าของและเปลี่ยนรูปแบบร้านไปแล้ว) แม้แต่บทร้องลิเกป่าตอนหนึ่งก็ได้สะท้อนถึงความนิยมกินกาแฟของผู้คนในท้องถิ่น ความว่า
     อยู่ทับเที่ยงบังอยู่ไม่ได้  ต้องโยกย้ายไปอยู่กันตัง
     อยู่กันตังบังตั้งร้านโกปี้  ขายนู่ขายนี่ภาษีหาศาล
     เป็นที่น่าสังเกตว่าร้านกาแฟและร้านอาหารประเภทอื่นในเมืองตรังมีเป็นจำนวนมากและเปิดขายตลอดวันมาตั้งแต่เดิม อาจจะเริ่มมาจากความเป็นเมืองท่าค้าขายที่ผู้คนต้องใช้ชีวิตนอกบ้านประการหนึ่ง บวกกับความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของเมืองตรังในยุคที่ยางพารามีราคาดีประการหนึ่ง อีกทั้งค่านิยมความใจใหญ่ใจกว้างของคนเมืองตรังนำไปสู่การกินเลี้ยงกันในโอกาสต่างๆ รวมกัน ทำให้ร้านอาหารในเมืองตรังเปิดกิจการอยู่ได้แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา โดยเฉพาะร้านกาแฟ ปัจจุบันมีมากขึ้น มีทั้งประเภทเปิดเฉพาะตอนเช้า เปิดตลอดวัน และเปิดเฉพาะกลางคืน สำหรับในตอนกลางคืนนั้นจะมีร้านประเภทตั้งโต๊ะริมถนนเป็นจำนวนมาก เมืองตรังจึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองคนช่างกิน
     อาหารพื้นเมืองหลายชนิดเดิมเป็นที่นิยมทั่วไปในเมืองตรัง เป็นที่รู้กันว่ากะปิดีต้องเป็นกะปิเกาะเคี่ยม อำเภอกันตัง กะปิท่าข้าม อำเภอปะเหลียน สมัยหลังน้ำปลาของกลุ่มแม่บ้านหยงสตาร์เพิ่มขึ้นมาด้วย ปลาเค็มและกุ้งแห้ง เดิมมีที่หาดทรายขาว อำเภอกันตัง ต่อมาที่กิ่งอำเภอหาดสำราญก็ขึ้นชื่อมาก
     ยังมีอาหารและขนมต่างๆ ของเมืองตรังที่น่าสนใจ เช่น ขนมเค้ก หมูย่าง กล่าวไว้ในบทว่าด้วยเอกลักษณ์ ส่วนอาหารอื่นๆ มีดังนี้
     เคยจะหลู บางทีเรียก จะหลู เป็นอาหารคาวประเภทหมักดองของชุมชนตรังเล ทำจากกุ้งฝอยขนาดเล็กหรือกุ้งเคยประเภทเดียวกับที่ใช้หมักทำกะปิ มีอยู่ตามบริเวณชายฝั่งที่น้ำตื้นๆ ขั้นตอนการทำคือล้างกุ้งให้สะอาดแล้วคลุกกับเกลือป่น ใช้เกลือ 1 ใน 10 ของกุ้ง ใส่ภาชนะปิดปากแน่น หมักไว้  2 – 3 วัน ก็นำมาปรุงรับประทานได้ เป็นอาหารหลายชนิด เช่น ยำโดยใส่หอมซอย พริกขี้หนู บีบมะนาว นึ่ง โดยผสมกับไข่ไก่หรือไข่เป็ด ใส่หอมแดง ตะไคร้ พริกขี้หนู ผัด ใช้ผัดกับหมูสามชั้น ใส่หอมแดงซอย ตะไคร้ พริกขี้หนู ใบมะกรูดหั่นฝอย เป็นเครื่องปรุงรส
     หอยส้ม เป็นอาหารคาวประเภทหมักดองของชุมชนหมู่เลเช่นเดียวกับเคยจะหลูใช้หอยใช้หอยปะที่แกะจากเปลือกแล้วหมักเกลือ ปิดฝาให้มิดชิด ประมาณ 2-3 วัน ก็ใช้รับประทานได้ อาจปรุงรสเพิ่มด้วยตะไคร้หั่นบางๆ หอมซอย พริกขี้หนู
     ขนมปากหม้อ เป็นอาหารว่าง ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งมันเล็กน้อย มีไส้ที่ผัดด้วยหมู มันแกว หอม กระเทียม สับละเอียด รสเค็มหวาน และมีถั่วงอกลวก วิธีทำ ใช้ผ้าขาวบางรัดปากหม้อที่ใส่น้ำค่อนหม้อ พอน้ำเดือดให้ละเลงแป้งบางๆ บนผ้าขาว ใช้ฝาครอบคะเนพอแป้งสุก ใส่ไส้ผัดและถั่วงอกลวก พับแป้งห่อเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตักใส่จานโรยหน้าด้วยแตงกวา ผ่าซีกหรือผ่าสี่หั่นบางๆ ราดด้วยน้ำจิ้มจากค้อมเจืองผสมถั่วลิสง ปรุงรสเปรี้ยวหวาน
     อาหารที่ใช้น้ำจิ้มลักษณะเดียวกับปากหม้อยังมีอย่างอื่นอีก ได้แก่ หัวหมู ไส้หมูและเต้ากั้ว (เต้าหู้ยัดไส้ด้วยหมูและถั่วงอก ทอดหั่นเป็นชิ้น) อาหารเหล่านี้จะโรยด้วยแตงกวาหรือผักบุ้งลวก ราดน้ำจิ้ม มีขายทั่วไปเป็นอาหารว่าง
     ค้อมเจือง เป็นเครื่องปรุงอาหารประเภทน้ำจิ้ม ตามตำรับของชาวไทยเชื้อสายจีน เดิมเรียกว่า ห่อยชิ้นเจือง แปลว่าซอสใหม่หรือซอสสด มีสีออกส้มแดง ทำจากมันเทศ ถั่วลิสงต้มจนสุกเปื่อยนำไปโม่จนละเอียด แล้วปรุงแต่งด้วยน้ำตาล น้ำส้ม เกลือ ต้มจนเดือดแล้วเคี่ยวต่อด้วยความร้อน เมื่อเย็นสนิทจึงนำบรรจุใส่ภาชนะมีฝาปิดแล้วนำออกขาย ใช้เป็นน้ำจิ้มหมูย่างหรือเป็นส่วนผสมของน้ำจิ้มขนบจีบและขนมนึ่งประเภทติ่มซำ ปอเปี๊ยะ และผสมน้ำราดขนมปากหม้อเมืองตรัง
     ขนมจาก ซึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำตาล มะพร้าวขูด ห่อด้วยใบจากอ่อนกึ่งแก่ แล้วนำไปปิ้งไฟถ่านจนสุกหอม เดิมเป็นขนมที่อยู่คู่กับโรงหนังตะลุง พบเห็นได้เมื่อมีงานต่างๆ ในท้องถิ่น ขนมจากในอำเภอกันตังห่อด้วยใบจาก ส่วนในแถบอื่นห่อด้วยใบสาคู
     กะละแม เป็นขนมทำด้วยแป้งข้าวเหนียวกวนกับน้ำตาลและกะทิ เดิมใส่ถาดตัดแบ่งชิ้นห่อด้วยกาบหมาก มีขายในงานเทศกาลหรืองานรื่นเริง สมัยหลังตัดชิ้นเล็กๆ พอคำห่อด้วยพลาสติก บรรจุวางขายทั่วไป เป็นขนมของฝากเป็นที่นิยมมานานไม่น้อยกว่าขนมเค้ก ภายหลังมีการดัดแปลงปรุงรสให้เลือกเพิ่มขึ้น เช่น รสเตยหอม รสทุเรียน เป็นต้น
     ขนมอื่นๆ ของเมืองตรังยังมีอีกหลายชนิด ที่วางขายเป็นประจำและมีจำนวนมากมายหลายสิบเจ้าในงานเทศกาลหรืองานรื่นเริงต่างๆ ได้แก่ ข้าวหลาม และขนมปอดควาย (คล้ายขนมรังผึ้งของทางภาคกลาง)
     ประเภทขนมแห้งที่ทำจากโรงงานมีหลายชนิด เช่น ขนมเคลียว ขนมโกสี (ขนมโก๋) ขนมม่อหลาว ขนมหวี ขนมพอง ขนมก้านบัว ขนมถั่วต่อย ขนมถั่วตัด ขนมเต้าส้อ ฯลฯ ที่ทำรับประทานเองตามบ้านหรืออาจจะทำขายด้วยก็มี ขนมขี้มอด ทำจากแป้งข้าวเจ้าบดแห้งคั่วให้สุกหอมคลุกน้ำตาลทราย บรรจุในกรวยกระดาษ เวลารับประทานให้เด็ดยอดกรวยแล้วกรอกใส่ปาก เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ

You may also like...