มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น-การแต่งกาย

การแต่งกาย การแต่งกายของผู้คนในจังหวัดตรังในอดีตถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงมาตามยุคสมัย ชาวบ้านแต่เดิมโดยทั่วไปนุ่งผ้าโจงกระเบน ผู้ชายมักนุ่งแบบไว้ชายเรียกว่านุ่งเลื้อยชายหรือลอยชาย คือใช้ผ้าทอผืนยาวนุ่งขมวดพกรัดเอวแบบเกี่ยวคอไก่ และจะใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่าหรือรัดเอวทับ ไม่ค่อยจะสวมเสื้อ แต่ในงานที่เป็นพิธีการต่างๆ เช่น งานแต่งงาน ไปวัดทำบุญ นิยมใช้ผ้าพื้นนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อ มีผ้าพาดเฉียง ส่วนสตรีก็นุ่งโจงกระเบนเช่นเดียวกัน หากไม่สวมเสื้อผ้าก็มีผ้าคาดอกหรือผ้าสไบ ในช่วงต่อมาเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุง มีทั้งผ้าซิ่นเชิง ผ้าปาเต๊ะ และผ้าลายต่างๆ เช่น ผ้าลายหางกระรอก ผ้าลายช่อหมาก เป็นต้น

สมัยก่อนกลุ่มสตรีไทยเชื้อสายจีน นิยมนุ่งผ้าโสร่งปาเต๊ะ คาดเข็มขัดทอง เงินหรือนาก ตามฐานะ สวมเสื้อลูกไม้บางๆ หรือลูกไม้โปร่ง พอให้เห็นเข็มขัดรำไร ถ้าไปงานศพจะใช้เสื้อลูกไม้สีขาว ผ้าโสร่งปาเต๊ะสีค่อนไปทางดำหรือน้ำเงิน การแต่งกายลักษณะนี้ยังมีอยู่บ้างในสตรีรุ่นก่อนๆ

ในปัจจุบันยังมีผู้ชายไม่น้อยที่แต่งกายอยู่กับบ้านตามแบบเดิม คือใช้ผ้าโสร่ง แต่เมื่อออกนอกบ้านส่วนใหญ่จะสวมเสื้อกางเกงตามสมัยนิยม ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงซึ่งมีทั้งผ้าลายไทย ผ้าปาเต๊ะ ผ้าซิ่น สวมเสื้อตามสมัยนิยม

ชายไทยมุสลิมจะนิยมนุ่งผ้าถุงประเภทผ้าโสร่งตาหมากรุก สวมเสื้อยาว และสวมหมวก สตรีนุ่งโสร่งปาเต๊ะ เสื้อเข้ารูปแขนยาวที่เรียกว่าเสื้อ ยอหยา หรือ ย่าหยา และใช้ฮิญาบคือผ้าคลุมศีรษะ เพราะสตรีมุสลิมต้องปฏิบัติตามหลักศาสนาว่าจะต้องปดปิดอวัยวะในส่วนที่พึงปกปิดให้เรียบร้อย ปัจจุบันมุสลิมรุ่นใหม่อาจแต่งกายตามสมัยนิยมบ้าง แต่เมื่อทำพิธีละหมาดหรือมีงานพิธีการต่างๆ จะแต่งตามแบบเดิม

การแต่งกายในงานศพ เจ้าภาพเท่านั้นที่จะแต่งดำล้วน ผู้ไปร่วมงานส่วนใหญ่ใช้สีดำขาว หรือสีอื่นๆ ที่ไม่ฉูดฉาด

You may also like...