มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-พิธีกรรมจากความเชื่อ-ไหว้ครูหมอ-ตายาย

ไหว้ครูหมอ – ตายาย ครูหมอและตายาย เปรียบเสมือนเสาหลักของบ้านอันเป็นที่พึ่งพาช่วยเหลือปกปักรักษาลูกหลาน หมอชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีครูหมอ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยช่วยเหลือดูแลในการรักษาคนไข้ หรือตายายซึ่งเป็นบรรพบุรุษที่เคารพนับถือเป็นผู้ช่วยเหลอปกปักรักษาบุตรหลาน จึงพบเห็นการตั้งหิ้งบูชาไว้ที่บ้าน ใช้ผ้าขาวดาดเพดานไว้เหนือหิ้ง มีพานหมากพลู (เรียกว่า เชี่ยนครู) มีเทียนครูปักไว้ในพานและกระถางธูปบูชาประจำบ้าน
     หมอพร้อม ณ พัทลุง ผู้ผ่านวิถีประสบการณืชีวิตจากการช่วยเหลือผู้ป่วยไข้มานานโดยการรักษาแผนโบราณ การบีบนวดผู้ปวดเมื่อยเคล็ดขัดยอก การต่อกระดูกหัก ฯลฯ ซึ่งต้องผสมผสานตำราที่สืบทอดจากครูอาจารย์ ความเชื่อและวิธีการแบบชาวบ้าน จากประสบการณ์อันยาวนานชี้ให้เห็นว่า องค์ความรู้ ความเชื่อ และครูอาจารย์ ตายาย ต่างเป็นสิ่งเสริมเติมแต่งให้การประกอบพิธีการต่างๆ ประสบผลสำเร็จตามที่มุ่งหวัง และองค์ความรู้ที่ได้รับล้วนสืบต่อมาจากครูอาจารย์ จึงต้องระลึกถึงและบูชา ดังนั้น ลูกหลานและผู้ป่วย ผู้ได้รับการช่วยเหลือจะส่งราดบูชาครูหมอตอบแทนในเดือน 6 ของปี และผู้ที่นับถือตายายก็จะบูชาในเดือน 6 เช่นเดียวกัน
     เครื่องเซ่นไหว้ครูหมอหรือตายาย เรียกว่า ที่12 และมีไก่ หมากพลู กล้วย อ้อย ถั่ว งา ขนมโค ข้าเหนียว ข้าวเจ้า น้ำสวรรค์ (น้ำมะพร้าว) สุรา และอื่นๆ ตามแต่จะหาได้ ผู้ที่เคยได้รับการรักษาหากได้บนบานว่าจะเซ่นด้วยสิ่งใดก็จะต้องจัดหาสิ่งนั้นมาเซ่นไหว้ เรียกว่าส่งราดครูหมอ และมีสิ่งของอื่นๆ ตามแต่จะนำมาแก้บน เช่น การรับหนังตะลุงมาแสดง เซ่นไหว้ด้วยไก่ปากทอง แพะ เป็นต้น
     การตั้งเครื่องเซ่นไหว้เริ่มตอนค่ำ อัญเชิญครูหมอหรือตายายมารับเครื่องเซ่นไหว้ ครูหมอก็จะมาประทับทรงอวยพรแก่ลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข เสร็จพิธีแล้วลูกหลานก็จะขอของเซ่นไหว้ เรียกว่า ขอเดนขอชาน นำมากินต่อได้
     การไหว้ครูหมอและการบูชาตายายเป็นความผูกพันของผู้คนที่มีต่อสิ่งที่ตนเคารพนับถือ ซึ่งสามารถช่วยเหลือรักษาลูกหลานให้ปลอดภัยและช่วยเหลือในสิ่งต่างๆ ตามที่ตนปรารถนา ในเดือน 6 จึงมักเห็นการตั้งครูหมอและบูชาตายายโดยทั่วไป

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>