มรดกวัฒนธรรม-ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ-ศาสนา-คริสต์ศาสนาในจังหวัดตรัง

คริสต์ศาสนาในจังหวัดตรัง คริสตชนในจังหวัดตรังเริ่มแรกจำกัดอยู่ในหมู่ตลาดของเขตตรังเมือง ต่อมาจึงแพร่หลายออกไปตามเขตอื่นบ้าง แต่ไม่มาก คือไม่ถึงร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด และยังแบ่งเป็น 2 นิกาย ได้แก่ โปรเตสแตนต์ กับโรมันคาทอลิก
    
     นิกายโปรเตสแตนต์ เป็นนิกายที่ยึดพระคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นหลัก และไม่ผูกพันกับอำนาจของพระสันตปาปา ความเป็นมาของคริสตจักรในจังหวัดตรังจากคำบอกเล่า กล่าวว่า เริ่มจาก Mr.John Carrington จากคณะ American Bible Society เข้ามาเป็นคนแรก ต่อมาในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2453 Dr.Eugene P.Dunlap และ Dr.I.C.Bulkley ได้ก่อตั้งสถานีประกาศขึ้นโดยใช้สถานที่โรงพยาบาลทับเที่ยง แล้วตั้งเป็นคริสตจักรตรังในอีก 2 ปีต่อมา มีสมาชิกแรกเริ่ม 100 คนเศษ
     ใน พ.ศ. 2456 คริสตจักรตรังสร้างโบสถ์แห่งแรกที่ทับเที่ยง ในที่ดินซึ่งซื้อไว้ในคราวเดียวกับการจัดซื้อที่ทำสุสานคริสเตียน โบสถ์หลังนี้ทำด้วยไม้ไผ่ ต่อมาใน พ.ศ. 2458 จึงสร้างเป็นอาคารถาวรก่ออิฐถือปูน ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบโกธิค
     ในยุคต้นของการเผยแผ่ศาสนา มี Dr.dunlap Mr.Snyder และ Rev.Charles Hoch เป็นผู้ดูแลกิจการ คริสตชนตรังส่วนใหญ่เป็นหมู่ตลาดเชื้อสายจีน จึงต้องใช้ภาษาจีนเกือบทุกครั้งในการประชุมนมัสการที่โบสถ์ จนประมาณ พ.ศ. 2480 เมื่อ ศาสนาจารย์สุข พงศน้อย มาเป็นศิษยาภิบาล เวลานั้นการนับถือคริสตศาสนาขยายไปสู่ชาวตรังกลุ่มอื่นๆมากขึ้น ชาวตรังเชื้อสายจีนรุ่นใหม่พูดภาษาไทยได้มากขึ้น การประชุมนมัสการและการเทศนาธรรมจึงเปลี่ยนมาใช้ภาษาไทย
     กิจกรรมด้านศาสนาของคริสตชนตรังเกิดการชะงักงันในปี พ.ศ. 2485 เพราะผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที ่2 แต่ก็ได้รับการฟื้นฟูใหม่อีกครั้งในปี 2494 ด้วยความเกื้อกูลของ Dr.Song ชาวไต้หวัน ผู้รับภารกิจฟื้นฟูคริสตจักรแถบเอเชียอาคเนย์ จากนั้นก็เจริญเรื่อยมา โดยมีผู้ประกาศคือนายวิลเลียม เชาวน์ชูเวชช์ เป็นหวัเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญ ต่อมาใน พ.ศ. 2527 คริสจักรตรังได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตั้งโบสถ์จากคณะ American Pressbyterion Mission แล้วตั้งเป็นคริสตจักรภาคที่ 16 ก่อนจะแยกมาตั้งเป็นคริสตจักรภาคที่ 17 ซึ่งมีพิธีสถาปนาจัดขึ้นที่โบสถ์คริสตจักรตรัง (เลขที่ 24 – 26 ถนนห้วยยอด อำเภอเมืองตรัง) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2534
     ปัจจุบันคริสตจักรภาคที่ 17 มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 12 คริสตจักร อยู่ที่กระบี่ นครศรีธรรมราช และตรัง ในจังหวัดตรังมีคริสตจักรตรัง (ทับเที่ยง) คริสตจักรกันตัง คริสตจักรห้วยยอด คริสตจักรย่านตาขาว คริสตจักรวังวิเศษ คริสตจักรโคกทราย คริสตจักรโคกม่วง คริสตจักรอ่าวตง มีสมาชิกคริสเตียนในภาคที่ 17 รวมทั้งสิ้นประมาณพันเศษ
     ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในจังหวัดตรังก็เช่นเดียวกับคริสเตียนที่อื่นๆโดยทั่วไป กล่าวคือ ศรัทธาในเรื่องความรอดโดยพระคุณและความเชื่อผ่านทางพระเยซู ยึดในศาสนบัญญัติที่สำคัญ 2 ประการ คือ รักพระเจ้าด้วยสุดหัวใจ สุดจิต สุดกำลัง และสุดความคิดและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ประกอบศาสนพิธีโดยถือหลักความบริสุทธิแห่งจิตวิญญาณและพิธีการที่เรียบง่าย มีศาสนพิธีสำคัญ 2 ประการที่ถือปฏิบัติ คือ พิธีมหาสนิท (Communion) และพิธีบัพติสม์ (Baptism)
     คริสเตียนชาวตรังดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบศีลธรรมตามบทบัญญัติในพระคัมภีร์ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ และได้ประยุกต์ธรรมเนียมปฏิบัติบางประการให้กลมกลืนกับขนบธรรมเนียมประเพณีและค่านิยมของท้องถิ่น เช่น การประกอบพิธีมงคลสมรสที่โบสถ์บางแห่ง จะจัดให้คู่บ่าวสาวซึ่งต้องเป็นคริสเตียนทั้งคู่กราบคารวะบิดามารดา ยกน้ำชาไหว้ญาติผู้ใหญ่ตามแบบจีนหรืออาจมีผูกผ้าแก่คู่บ่าวสาว ในพิธีศพจะมีการจัดเลี้ยงตามแบบท้องถิ่นตรังด้วย ส่วนพิธีสวดและฝังจะเป็นแบบคริสเตียน
     ในด้านการศึกษาและถ่ายทอดหลักศาสนา ทุกวันอาทิตย์ในการประชุมนมัสการที่โบสถ์ ศาสนาจารย์ ผู้ปกครอง หรือศิษยาภิบาลจะหนุนใจคริสเตียนและให้ความรู้เกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์ ประมาณครึ่งหนึ่งของคริสตชนในตรังสนใจประกอบกิจสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มอาสาสมัครเปิดสอนนรวีวารศึกษา (Sunday School) แก่เด็กๆ มีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อกนุนใจและสอนพระคัมภีร์ (Cell group, Care group) ตามบ้านธรรมศาลา และโรงเรียนคริสเตียนต่างๆ ด้วย นับเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นธรรมชาติ
     คริสตศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในจังหวัดตรัง ได้หยั่งรากอยู่ในจังหวัดตรังประมาณ 90 ปีแล้ว พร้อมๆ กับกิจกรรมบริการสังคมด้านการแพทย์และการศึกษา โดยมีโรงพยาบาลทับเที่ยง โรงเรียนอนุกูลสตรีทับเที่ยงและโรงเรียนยุวราษฎร์วิทยา )ปัจจุบันได้รวมกันเป็นโรงเรียนตรังคริสเตียนศึกษา) เป็นเครือข่ายให้บริการแก้ชุมชนชาวตรังจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

     นิกายคาทอลิก ในตรังเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2495 หลังจากสงครามคอมมิวนิสตืในประเทศจีน คณะบาทหลวงมิชชันนารีสติกมาตินชาวอิตาเลียนจำนวน 5 คน เดินทางจากประเทศจีน เนื่องจากถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนขับไล่ออกจากประเทศ คณะบาทหลวงได้เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเชตมิสซังโรมันคาทอลิกราชบุรี และได้รับมอบหมายให้ทำงานเผยแผ่ในเขต 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ระนอง ตรัง กระบี่ และพังงา โดยจัดให้มีกิจการโบสถ์และโรงเรียนขึ้นในพื้นที่ที่มีคณะทำงานในแต่ละจังหวัด 69 ที่จังหวัดตรังนั้นมีโบสถ์คาทอลิกนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ และโรงเรียนดรุโณทัย
     โบสถ์นักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 49 ถนนเจิมปัญญา อำเภอเมืองตรัง ก่อตั้งใน พ.ศ. 2504(ค.ศ. 1961) โดย บาทหลวงยอห์น เซเรซัตโต หนึ่งในจำนวน 5 คนแรกของมิชชันนารีสติกมาตินชาวอิตาเลียน เขตมิสซังโรมันคาทอลิกสุราษฎร์ธานี ได้เข้ามาบุกเบิกงานเผยแผ่ในจังหวัดตรัง เริ่มจากครอบครัวคาทอลิกในพื้นที่จำนวนเพียงไม่กี่คน จนปัจจุบันมีคริสตชนคาทอลิกในจังหวัดตรังประมาณ 200 คน และยังมีงานบริการทางการศึกษาแก่ชุมชน คือ โรงเรียนดรุโณทัย อยู่ในอำเภอเมืองตรัง ซึ่งเปิดสอนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2510 (ค.ศ.1967) กิจการของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเจริญขึ้นเรื่อยมาตามลำดับจนปัจจุบัน
     แม้ว่าคริสเตียนในจังหวัดตรังจะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็ได้มีส่วนช่วยสร้างสรรค์จรรโลงสังคมตรังให้มีความสุขสงบและพัฒนาไปในทางที่ถูกต้องดีงามมาโดยตลอด

You may also like...