มรดกวัฒนธรรม-การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และดนตรี-การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และมหรสพเมืองตรัง-กาหลอ

กาหลอ กาหลอเป็นเครื่องประโคมเก่าแก่นิยมเล่นในงานศพมานาน เสี่ยงปี่กาหลอ ผสมผสานกับเสียงฆ้องและกลองประโคมนี้ เชื่อกันว่า เป็นการปลุกวิญญาณผู้ตายให้คลายโศก รวมทั้งได้ปลอบประโลมญาติมิตรที่อยู่ข้างหลังด้วย

มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาในหมู่ผู้เล่นกาหลอหลายกระแส เช่น กระแสหนึ่งกล่าวว่า เป็นเครื่องประโคมในการแห่พระเศียรของท้าวมหาพรหม คล้ายกับเรื่องธรรมบาลกุมารกับท้าวมหาพรหมในตำนานสงกรานต์ ขณะที่ประโคมคุมเศียรและแห่แหนเพื่อนำไปเก็บรักษา ได้จัดให้มีดนตรีบรรเลง 3 อย่าง คือ กาหลอ หนังควน และละคอน (โนรา) ในการประโคมกาหลอนั้นพญายมเป็นผู้บรรเลงกลอนสวรรค์ พระภูมิเป็นผู้บรรเลงฆ้องสวรรค์ ส่วนพระอินทร์เป็นผู้บรรเลงปี่สวรรค์ บางตำนานกล่าวว่ามีพระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ บรรเลงดนตรีกาหลอและถือเป็นครูกาหลอ

นางเพียร อินทรสงเคราะห์ผู้สืบทอดกาหลอจากบรรพชน เล่าว่าในขบวนแห่เศียรท้าวมหาพรหมไปสวรรค์นั้น มีกาแก้ว การาม กาเติม กอหลอ มโนราห์ หนังตะลุง ร่วมไปด้วย แต่เกิดน้ำไหลหลาก กาแก้ว การาม กาเดิม หนีขึ้นสวรรค์ไปได้ มโนราห์ก็หนีทันได้ไปงานศพก่อน เหลือกาหลอไปไม่ทันจึงต้องรับคำสั่งให้คุมงานศพ เมื่อน้ำเริ่มขึ้นแล้วจึงต้องใช้ไม้ 2 อัน ทอดเป็นสะพานเพื่อข้ามแม่น้ำหรือที่เรียกกันว่า ทอดหมอน ดังนั้น โรงกาหลอจึงต้องทอดไม้เป็นหมอนรองข้างล่าง 2 อัน ตำนานนี้ยังเล่าต่อไปว่าหนังตะลุงนั้นถูกน้ำท่วมจึงต้องยกโรงให้สูงขึ้น

กาหลอวงหนึ่งจะมีเครื่องดนตรี 3 อย่าง คือ ปี่ชวา กลองทน (โทน) และฆ้อง ใช้ผู้ประโคมดนตรี 3 – 4 คน คือ หัวหน้าวงเป็นผู้เป่าปี่ เรียกว่านายโรงหรือนายปี่ ลูกวงอีก 3 คน ทำหน้าที่ตีกลองทน 2 คน เป็นโทนแม่กับโทนลูก เรียกว่านายทน ตีฆ้อง 1 คน เรียกว่านายฆ้อง

เพลงที่ใช้บรรเลงของกาหลอ มักจะแตกต่างไปตามคณะของกาหลอ ความเชื่อและครูที่ได้สั่งสอนกันมา เช่น วงกาหลอ ติ่ง เกื้อนะ บ้านไสถั่ว มีเพลงไหว้ครู ได้แก่ เพลงเก็บดอกไม้ ไหว้พระ ลาพระ ยายแก่ กุหนา ลาบัตร ส่วนตอนบ่ายจะเล่นเพลงหลัก 12 เพลง ที่ใช้บรรเลงเป็นเพลงแม่บท 12 เพลง คือ เพลงสร้อยทอง เพลงลายทอง เพลงแสงทอง เพลงนกเปล้า เพลงนกกรง เพลงนกกระจอก เพลงเมรัย เพลงเรียกพระพาย เพลงทอมท่อม เพลงสุริยน เพลงทวดเชิงตะกอน นอกจากเพลงแม่บทแล้วยังมีเพลงอื่นๆ เช่น เพลงเจ้าสร้อยทอง สุยล รี้ไร รั้วยาน ทองศรี ยายแก่ ไก่จ้อดัง นกจอกเต้น จุดไต้จ่อไฟ ฯลฯ

กาหลอมีโรงแสดงโดยเฉพาะและสร้างตามแบบที่เชื่อถือกันมา ต้องให้ประตูอยู่ทางทิศใต้ ส่วนพื้นจะยกสูงไม่ได้ ใช้ไม้ทำเป็นหมอนทอดบนพื้นดินแล้วหาไม้กระดานปูเป็นพื้น

ก่อนลงมือแสดงเจ้าภาพจะต้องเตรียมจัด ที่สิบสอง หมายถึงอาหารคาวหวาน ได้แก่ ข้าว แกง สุรา น้ำ ข้าวเหนียว ขนม จัดใส่ถ้วยใบเล็กๆ วางไว้ในภาชนะ (ถาด) เหมือนการจัดสำรับของคนไทยแต่ก่อน และที่ถ้วยทุกใบจะมีเทียนไขเล่มเล็กๆ ปักอยู่อีกอย่างเรียกว่า “เครื่องราด” มีเงิน 12 บาท หมาก 9 คำ ด้ายริ้ว 3 ริ้ว ข้าวสาร เทียน 1 เล่ม เมื่อนายโรงได้ที่สิบสองและเครื่องราดมาแล้วก็จะกระทำพิธีเบิกโรง บวงสรวงครูบาอาจารย์ (ครูหมอเฒ่า ครูหมอแก่) รำลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วลงมือแสดง เริ่มเพลงไหว้ครู แล้วต่อด้วยเพลงอื่นๆ

ข้อปฏิบัติของคณะกาหลอมีหลายประการ เช่น การรับประทานอาหาร เมื่อเจ้าภาพจัดสำรับมาครั้งแรกกี่สำรับก็จะต้องจัดมาเท่าเดิมในครั้งหลังจะขาดไม่ได้หรืออาจจะเพิ่มมากกว่าครั้งแรกก็ดียิ่งขึ้นไป อาหารการกินจะต้องไม่ปะปนกับใคร ขณะแสดงอยู่จะพูดทักทายใครภายนอกโรง หรือชักชวนใครเข้าไปนั่งในโรงก็ไม่ได้เพราะถือว่าเหมือนกับชักผีให้เข้าโรง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสตรี กาหลอที่เคร่งครัดจะอยู่เฉพาะในโรงไม่ออกนอกโรงจนกว่าจะเลิกงาน เสร็จสิ้นการแสดงแล้วก็จะออกทางข้างโรงที่ไม่ใช้ประตู ถ้าเจ้าภาพไม่ใช้กาหลอแห่ศพ กาหลอมักจะกลับไปตั้งแต่ยังไม่สว่างเหมือนคนลึกลับ เป็นต้น

กาหลอในยุคเดิมมีบทบาทต่องานศพค่อนข้างมาก เพราะสมัยก่อนไม่มีเครื่องขยายเสียงที่จะเปิดเพลงกล่อมในงาน กาหลอจึงเป็นดนตรีที่เจ้าภาพรับมาอยู่ประจำงานศพจนเสร็จสิ้น มีบทบาทสร้างบรรยากาศของงานมิให้เงียบเหงา และช่วยปลุกแม่ครัวให้ขึ้นมาช่วยทำกับข้าว กาหลอยังเรียนรู้การทำลายกระหนกโลงศพด้วย แต่เดิมกาหลอจะช่วยตีราคาลายให้โลงศพ เชื่อกันว่าเสียงกาหลอจะอ้อนวอนพระกาฬให้ยอมรับดวงวิญญานของผู้ตายไปสู่ปรโลกด้วย ปัจจุบันทายาทกาหลอหาได้ยากยิ่ง กาหลอจึงนับวันยิ่งเลือนหายไร้ผู้สืบสาน

You may also like...