มรดกวัฒนธรรม-การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และดนตรี-การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และมหรสพเมืองตรัง-รองเง็ง

รองเง็ง รองเง็ง หร้อแหง็ง หล้อแหง็ง หรือเพลงตันหยง เป็นศิลปะการเต้นรำพื้นเมืองของไทยมุสลิมที่นิยมเล่นกันในท้องถิ่นภาคใต้ เล่นกันว่า ในชายฝั่งตะวันตกเริ่มมีเป็นครั้งแรกที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ในจังหวัดตรังก็มีคณะรองเง็งตามหมู่บ้านมุสลิมตามชายฝั่งและเกาะ

สถานที่เล่น ใช้ลานดินกว้างๆ หรือหาดทราย ก่อนสมัยที่มีไฟฟ้า ใช้ตะเกียงเจ้าพายุหรือจุดไต้ปักรอบๆ ลาน มีเสื่อปูหรือใช้เก้าอี้วางรอบวงสำหรับผู้ชม

การเล่นรองเง็งจะมี 2 ลักษณะ คือ การแสดงที่มีการรับวง เป็นการแสดงให้ดูโดยมีการรำร้องของพ่อเพลงแม่เพลง และอาจมีนางรำเพิ่มเติมมาด้วย ไม่มีการขายบัตรรองเง็ง ส่วนอีกแบบหนึ่งคือมีการขายบัตรให้ผู้ชมเข้าไปโค้งขอรำกับนางรำเหมือนรำวง

เครื่องดนตรีในการเล่นรองเง็งมีไวโอลิน เป็นเครื่องสาย เป็นตัวหลักของการบรรเลงท่วงทำนองเพลง มีรำมะนาเป็นเครื่องประกอบจังหวะ บางคณะอาจมีเครื่องดนตรีอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ซอ ตะโพน และกรับ

การแต่งกายมีลักษณะง่ายๆ แบบพื้นบ้าน ผู้ชายสวมเสื้อกางเกงธรรมดา บ้างก็นุ่งโสร่งทับและสวมหมวกหนีบ ผู้หญิงนุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อยอหยา และมีผ้าคล้องคอ ถ้ามีนางรำนางรำจะใช้ผ้าถุงนุ่งสั้นแค่เข่า แต่งหน้าทาปากให้มีสีสัน

สิ่งที่น่าสนใจในการละเล่นรองเง็งคือขนบการเล่นซึ่งมีการไหว้ครู ครูรองเง็งคือนางยวน ซึ่งมีที่มาแห่งเดียวกับลิเกป่า

การละเล่นรองเง็งในเมืองตรังมิได้จำกัดผู้ชมอยู่ในกลุ่มมุสิลมเท่านั้นชาวไทยพุทธที่มีงานมงคล เช่น แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ก็รับรองเง็งมาเล่นเช่นกัน ในงานประจำปีของจังหวัดสมัยแรกๆ ก็เคยมีรองเง็งมาแสดงด้วยทุกวันนี้ที่เมืองตรัง หาคระรองเง็งอาชีพได้ยากแล้ว แต่มีกลุ่มที่ยังพอรวบรวมพ่อเพลงแม่เพลงและคนเล่นดนตรีมีร้องรำกันได้บ้างในยามที่มีงานรื่นเริงของหมู่บ้าน เช่นที่บ้านพรุใหญ่ ตำบลบางหมาก ที่ตำบลวังวน ที่เกาะลิบง อำเภอกันตัง กลุ่มเหล่านี้บางทีก็ไปเล่นให้เพื่อนฝูงในต่างตำบลหมู่บ้านก็มี สำหรับที่บ้านหลังเขา เกาะลิบง กล่าวกันว่าแม้ยามค่อนรุ่งขณะกำลังกรีดยาง ยังคงมีเสียงขับขานเพลงรองเง็งโต้ตอบกันจากต้นยางต้นโน้นต้นนี้เป็นที่ครึกครื้น สืบทอดชีวิตวิญญาณให้รองเง็งยังคงอยู่คู่เมืองตรังต่อไป

You may also like...