มรดกวัฒนธรรม-การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และดนตรี-การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และมหรสพเมืองตรัง-ลิเกป่า

ลิเกป่า

ลิเกป่า ลิเกป่า ลิเกบก ลิเกรำมะนา หรือแขกแดงก็เรียก เป็นศิลปะการแสดงที่เล่นทั่วไปในจังหวัดชายทะเลฝั่งตะวันตก เชื่อกันว่าเริ่มเกิดขึ้นที่ปากแม่น้ำตรัง ในอำเภอกันตังปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะเล่นในจังหวัดใดในบทร้องตามท้องเรื่องแต่เดิมนั้นใช้ฉากที่อำเภอกันตังเป็นหลัก

ที่มาของเรื่องกล่าวกันว่าลอกเลียนมาจากชีวิตจริงของแขกอินเดีย ที่เข้ามาขายสินค้าเร่และตั้งหลักปักฐานอยู่ที่กันตัง ส่วนใหญ่มักขายผ้าและเครื่องประดับ ชาวตรังเรียกแขกเหล่านี้ว่าแขกเทศหรือแขกแดง ลิเกป่าคงจะมีขึ้นในช่วงไม่นานนัก เพราะท่าเรือที่กันตังเพิ่งจะรุ่งเรืองเป็นเมืองค้าในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากที่พระยารัษฎาฯ ย้ายเมืองจากควนธานีไปอยู่กันตังและมีบทร้องบางตอนกล่าวเจ้าเมืองคือพระยารัษฎาฯ แต่งตั้งแขกแดงให้เป็นใหญ่ด้วย

ลิเกป่า04

เนื้อเรื่องที่เล่นกล่าวว่าแขกแดงเป็นพ่อค้าเร่ชาวเมืองลักกะตา (กัลกัตตา) เดินเรือมาค้าขายตามหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกของไทย มีสินค้าจำพวก เสื้อผ้า แพรพรรณ เพชรนิลจินดา และผ้าไหม แขกผู้นี้เที่ยวค้าขายไปตามที่ต่างๆ หลายเมือง จนในที่สุดมาได้เมียสาวที่อำเภอกันตังเรียกว่า ยายี หรือยาหยี (ในเรื่องเรียกว่า จิ หรือจี) แขกแดงมาอยู่เมืองไทยเป็นเวลานาน ค้าขายจนร่ำรวย บางครั้งก็ไปหลายวันจึงจะกลับมาบ้านที่กันตัง วันหนึ่งเกิดคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนเพราะเป็นห่วงพ่อแม่ซึ่งชรามากแล้ว จึงคิดกลับบ้านเมือง เมื่อกลับถึงบ้านก็ขอให้ยายีไปด้วยกับตน ตอนแรงนางไม่ยอมไปเพราะเป็นห่วงพ่อแม่และกลัวหนทางไกล จะอ้อนวอนเท่าใดก็ไม่ยอม จนต้องขู่ว่าจะหย่านางจึงยอมรับปาก เมื่อตกลงเช่นนั้นแขกแดงก็สั่งให้ยายีลาพ่อแม่พี่น้องตลอดถึงผู้ชม และให้สะหมาดนำสิ่งของเครื่องใช้ลงเรือ และยังนำสินค้าบางอย่างไปขายตามรายทางด้วยระหว่างแล่นเรือออกจากท่ากันตังแขกก็ชี้ชมธรรมชาติ จนกระทั่งถึงเมืองลักกะตา บางที่ก็ให้จบแค่เรือไปเกยตื้นเพราะน้ำลง บริเวณที่เรือเกยตื้นคือเกาะลิบง บางทีเป็นเกาะเหลาเหลียง

ผู้แสดง ลิเกป่าคณะหนึ่งมีประมาณ 9 – 20 คน รวมทั้งลูกคู่ในการเล่นดนตรี ตัวแสดงสำคัญ มี 3 ตัว ได้แก่ แขกแดง ยายี และสะหมาด ซึ่งแต่งตัวดังนี้

ลิเกป่า02

แขกแดง เป็นตัวเองของเรื่อง แต่งตัวเลียนแบบแขกอินเดีย แต่จะแต่งเท่าที่พอจะหาเสื้อผ้าได้ ไม่ได้ยึดถือรูปแบบตามแขกอย่างเคร่งครัดนัก คือ สวมกางเกงขายาว นุ่งผ้าโสร่งทับเพียงเข่าไว้ข้างนอก เรียกว่า กาอัน สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวไว้ข้างใน สวมเสื้อนอกสีดำทับอีกชั้นหนึ่ง สวมหมวกแขกสีดำแบบชาวมุสลิมที่เรียกว่าหมวกหนีบ ใส่หนวดเครารุงรัง แขวนสร้อยคอลูกประคำหลายเส้น และแต่งหน้าตาให้ดูแบบแขกทั่วไป

ยายี หรือยาหยี แต่งตัวแบบผู้หญิงไทยมุสลิมภาคใต้ ที่เรียกว่าเสื้อหยอหยา ใช้ผ้าลูกไม้มาตัดเป็นเสื้อเข้ารูป ตัวเสื้อยาวถังหน้าขา แขนยาวลีบรัดแขน คอสี่เหลี่ยมเล็ก นุ่งผ้าโสร่งปาเต๊ะ มีลวดลายและสีสันสดใส คลุมศีรษะด้วยผ้าบางๆ ให้โผล่แต่หน้า มีผ้าห้อยคอเป็นแถบเล็กๆ ยาวถึงน่อง แต่งหน้าตาพิถีพิถันให้สวยงาม

สะหมาด คือคนรับใช้หรือเสนา เป็นตัวตลกของเรื่อง แต่งตัวแบบคนใช้ชาวชนบท แต่งหน้าเพื่อให้ดูตลกขบขัน

เครื่องดนตรี มีกลองรำมะนา 2 – 3 ใบ ฉิ่ง 1 คู่ กรับ 1 คู่ และอาจมีปี่ชวาหรือซอ บางโรงมีกลองทัด โหม่ง ฆ้อง ระนาดอยู่ด้วย

เวทีการแสดง ปลูกโรง 6 เสา หลังคาเพิงหมาแหงน กั้นม่านกลาง ปูเสื่อเล่นกับพื้นดินหรือยกพื้นสูงตามแต่สะดวก

ลำดับขั้นการแสดง เริ่มด้วยเบิกโรงขอที่ขอทางสำหรับแสดง แล้วโหมโรง เล่นดนตรีเพื่อเรียกคนดู แล้วถึงบทว่าดอก ซึ่งในบทจะมีชื่อดอกไม้ เนื้อหากล่าวชมความงามหรือพรรณนาความรัก กาศครู เป็นบทขับรำลึกถึงครูบาอาจารย์ที่แนะนำสั่งสอนกันมา และนางยวนซึ่งนับถือกันว่าเป็นครูของลิเกป่า ในตอนนี้จะมีการต่อไปเป็นการบอกชุดสิบสองภาษาซึ่งคล้ายกับลิเกที่เล่นกันในภาคกลาง แล้วจะถึงตอนสำคัญคือการออกแขก โดยแขกแดงจะจุดเทียนขับบทในม่านก่อน บทที่ขับเป็นภาษาแขก แล้วขับบทขย่มม่านออกหน้าโรง เดินย่างสามขุม หรือเต้นสามขา มือหนึ่งเท้าสะเอวเต้นออกหน้าโรง แล้วขับบทแบบแขก ลูกคู่ก็รับทุกตอนไป

เมื่อออกมาหน้าม่านแขกก็เริ่มบทคารวะเจ้าภาพและผู้ชมแล้วแนะนำตัวเอง ต่อมาก็เรียกยายีออกมาเพื่อจะชวนกลับไปบ้านเมือง แล้วดำเนินเรื่องไปตามเนื้อเรื่องย่อข้างต้น เมื่อถึงเมืองลักกะตาหรือเรือติดหากแล้วมีตัวตลกออกมาบอกเรื่อง เล่นเรื่องแบบละครต่อ เมื่อจบการแสดงตัวแสดงทุกคนจะออกมายืนหน้าม่าน และร้องบทส่งครูเป็นลำดับสุดท้าย ในการแสดงปัจจุบัน ถ้าผู้จัดงานกำหนดเวลาน้อย ก็จะจบเพียงตอนที่เรือเกยตื้นหรือไปถึงลักกะตาเท่านั้น

ลิเกป่า03

บทร้อง ลิเกป่าแต่ละคณะจะมีบทร้องตามเนื้อเรื่องข้างต้น แต่อาจแตกต่างกันบ้างในถ้อยคำและรายละเอียด

สำเนียงขับร้องลิเกป่าก้ำกึ่งกันอยู่ระหว่างสำเนียงถิ่นใต้และสำเนียงกลาง และยังมีท่วงทำนองต่างกันไปตามลักษณะของตัวแสดง เช่นบทยายีสำเนียงจะออกเป็นถิ่นใต้มาก แต่ถ้าเป็นบทนางเอก ตอนเล่นเรื่องทำนองจะค่อนไปทางสำเนียงกลางมากกว่า

แต่เดิมแหล่งที่มีลิเกป่ามากที่สุดคือในชุมชนมุสลิมด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตรังในเขตอำเภอกันตัง คือที่ พระม่วง นาเกลือ หัวหิน สิเหร่ และท่าปาบ เรียกได้ว่ามีกันเกือบทุกหมู่บ้าน ลิเกป่าเมืองตรังที่มีชื่อเสียงมาแต่เดิม ได้แก่ คณะ ย้อย ศิลปินชาวใต้ แห่งตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไปแถบริมฝั่งทะเลตะวันตก เคยไปแสดงในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง รัฐไทรบุรีและเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย คณะส่ง เจริญศิลป์ ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว เป็นต้น

ปัจจุบันที่ยังคงรวมเป็นคณะรับเล่นในงานต่างๆ จะมีมากในอำเภอกันตัง ได้แก่ คณะ ฉิ่ง เจริญศิลป์ ตำบลบางหมาก คณะ ส.ประเทืองศิลป์ และคณะของนายโหม้ย แย้มไหม ตำบลโคกยาง คณะ นายโหระ หลีสู ที่เกาะลิบง คณะกุ้งทอง ที่อำเภอย่านตาขาว คณะลิ้ม เสียงแก้ว แคล้ว เสียงทอง ที่กิ่งอำเภอหาดสำราญ คณะลิเกหมึก อำเภอวังวิเศษ เป็นต้น

ลิเกป่า05

ลิเกป่าเมืองตรังอาจได้รับความนิยมน้อยลง ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่สามารถยึดการแสดงเพียงอย่างเดียวเป็นอาชีพหลัก แต่ยังรวมคณะอยู่ได้ด้วยใจรัก จึงเป็นที่น่ายินดีว่ามีสถานศึกษาคือโรงเรียนบ้านบางหมาก ที่เชิญลิเกป่าคณะ ฉิ่ง ศิลป์เจริญ มาเป็นผู้ฝึกสอนลิเกป่าให้นักเรียน เพื่อจะสืบสานศิลปะการแสดงลิเกป่าเอาไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวตรังต่อไป

You may also like...