มรดกวัฒนธรรม-การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และดนตรี-การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และมหรสพเมืองตรัง-หนังตะลุง

ช่างภาพ : นายนิธิศนันท์ มานะภาคย์ รางวัลชมเชย / ชื่อภาพ : หนังตะลุงดาวรุ่ง จากการประกวดภาพถ่าย Trang Green City

หนังตะลุง หนังตะลุงเป็นศิลปะการละเล่นของเมืองตรังที่โดดเด่นของเมืองตรังงานรื่นเริงทุกชนิดของเมืองตรังรวมทั้งงานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ บวชนาค งานศพและงานแก้บนต่างๆ มักจะไม่ขาดหนังตะลุง

หนังตะลุงคณะหนึ่งประกอบด้วยบุคคล 8 – 9 คน มีนายหนังเป็นคนพากย์ทำหน้าที่ในการร้องกลอนบรรยาย เจรจา และเชิดรูปเบ็ดเสร็จ ไปในตัว มีเครื่องดนตรีที่สำคัญคือทับ 1 คู่ สำหรับเป็นตัวคุมจังหวะและทำนอง โหม่ง 1 คู่ สำหรับประกอบเสียงขับกลอน กลองตุ๊ก 1 ใบ สำหรับขัดจังหวะทับ ฉิ่ง 1 คู่ สำหรับขัดจังหวะโหม่ง และปี่ไฉน 1 เลาสำหรับเดินทำนองแต่ในระยะหลังมีเครื่องดนตรีอื่นๆ เข้าไปประสมหรืออาจใช้แทนดนตรีดั้งเดิม เช่น ใช้กลองชุดและกลองทอมบ้าแทนกลองตุ๊ก ใช้ไวโอลิน ออร์แกน กีตาร์ ซอ ปี่ เป็นต้น

รูปหนัง มีประมาณ 150 – 200 ตัว รูปหนังที่หนังตะลุงทุกคณะต้องมี ได้แก่ ฤาษี พระอิศวร ปรายหน้าบท เจ้าเมือง พระ นาง ยักษ์ ตัวตลก เทวดา รูปเหล่านี้จะมีหน้าตาในลักษณะเดียวกันทุกคณะ โดยเฉพาะตัวตลกแทบไม่มีอะไรผิดเพี้ยนกันเลย นอกจากรูปดังกล่าวแล้วแต่ละคณะจะตัดรูปเบ็ดเตล็ดอีกส่วนหนึ่ง เช่นสัตว์ต่างๆ ต้นไม้ ภูเขา ภูตผี ยานพาหนะ อาวุธ เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนิยายที่ใช้แสดง รูปหนังจะจัดเก็บไว้ในแผงหนังโดยวางเรียงอย่างเป็นระเบียบตามศักดิ์ของรูป

เรื่องที่ใช้แสดง เดิมหนังตะลุงเล่นเรื่องรามเกียรติ์ ต่อมาเล่นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เป็นนิทานประโลมโลกซึ่งเอามาจากวรรณคดีบ้าง ปัจจุบันนิยมเล่นเรื่องทำนองนวนิยาย อาจแต่งขึ้นเองหรือคนอื่นแต่งให้

หนังตะลุงส่วนใหญ่จะมีขนบนิยมในการแสดงคล้ายคลึงกัน มีการตั้งเครื่องเบิกโรง เป็นการทำพิธีเอาฤกษ์ขอที่ตั้งโรงและปัดเป่าเสนียดจัญไรเสียก่อน ตามแนวทางที่นายหนังได้รับถ่ายทอดต่อกันมา จบแล้วลูกคู่บรรเลงเพลงโหมโรง โดยการบรรเลงดนตรีล้วนๆ เพื่อเรียกคนดูและให้นายหนังได้เตรียมพร้อม

การแสดงหนังตะลุงในเมืองตรังส่วนใหญ่จะเริ่มออกฤาษีเพื่อคารวะครูและปัดเป่าเสนียดจัญไร แล้วเชิดพระอิศวร การเชิดรูปพระอิศวรถือเป็นศิลปะชั้นสูงของการเชิดรูปหนังตะลุง นายหนังมักอวดลีลาการเชิดหนังรูปอย่างสุดฝีมือ มีออกรูปปรายหน้าบทซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนายหนังใช้เล่นเพื่อไหว้ครู ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผู้ที่หนังเคารพนับถือทั้งหมด ตลอดทั้งใช้ร้องกลอนปรารภฝากเนื้อฝากตัวกับผู้ชม หลังจากนั้นก็จะออกรูปตัวตลกบอกเรื่อง หนังส่วนใหญ่ใช้รูปขวัญเมืองเล่นเป็นตัวแทนของนายหนัง ไม่มีการร้องกลอน มีแต่พูด เพื่อบอกเรื่องที่จะแสดงในคืนนั้น มีการเกี้ยวจอร้องกลอนสั้นๆ ก้อนตั้งนามเมืองเพื่อให้เป็นคติสอนใจแก่ผู้ชมและเริ่มแสดงเรื่องโดยตั้งเมือง ออกรูปกษัตริย์ โดยสมมุติขึ้นเป็นเมืองๆ หนึ่ง จากนั้นจึงเล่นเรื่อง

หนังตะลุงเมืองตรัง มีลักษณะเด่นที่การว่ากลอนคมชัด ดำเนินเรื่องแสดงเร็ว มีมุขตลกโปกฮาเป็นที่ชื่นชอบ หนังตะลุงรุ่นเก่าที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมเล่าขานของผู้คนมานาน มีหลายคณะ เช่น

หนังเม่ง บ้านนาพระ เป็นนายหนังที่เสียงก้อง หนังชิ้น หนังแป้นตรด หนังถ่อง บานห้วยเหรียง หนังถัด บ้านพรุโต๊ะปุก เด่นด้านการขับกลอนสด

หนังซัด บ้านนาปด เด่นด้านตลกเบ็ดเตล็ด มีตัวตลกเอกชื่อ ไอ้แว

หนังหล้า โคกหล่อ เป็นนายหนังที่มีเสียงสูงเหนือโหม่ง หาลูกคู่ตีโหม่งได้ยาก

หนังเดี้ยม บ้านควนศรีนวล เด่นด้านการขับกลอนสอดรับกับเครื่องได้ดี

หนังเหมือน เป็นที่มีมุขตลกตามสภาพการณ์ของผู้ชมหน้าโรง

หนังจูลี้ เสียงเสน่ห์ เด่นด้านการขับกลอนสดเสียงนุ่มนวลชวนฟัง

หนังหมุน เด่นด้านการแสดงเพื่อชีวิต การเมือง

หนังไข่ตุ้ง บ้านหนองตรุด เด่นด้านการแสดงบทกับรูปอย่างสอดรับลงตัว มีตลกเอกชื่อ ไอ้พุฒ ตัวหนังระบายสี

ปัจจุบันหนังตะลุงยังเป็นที่นิยมของผู้ชม นายหนังของเมืองตรังจะมีอยู่ทั่วไปตามตำบลหมู่บ้าน เป็นหนังเล็กๆ ที่รับงานแก้บนหรืองานในพื้นที่ พอมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักก็ได้รับการเรียกหาขยายวงกว้างไกลออกไปต่างอำเภอ ต่างจังหวัด หนังที่มีชื่อเสียงของตรังในยุคปัจจุบัน เช่น หนังอาจารย์ณรงค์ ตะลุงบัณฑิต หนังสุทิพย์ ลูกทุ่งบันเทิง ซึ่งเด่นด้านเพลงปฏิภาณ มุขตลกแบบทอล์กโชว์ หนังอาจารย์อนันต์ สิกขาจารย์ เป็นทั้งนายหนังและครูหนังสอนศิษย์ให้เป็นนายหนังตะลุงได้ดีไปแล้วหลายคน เป็นต้น หนังตะลุงหลายคณะได้รวมกันจัดตั้งเป็นชมรมหนังตะลุง มีนายหนังคณะต่างๆ เข้าร่วมแล้วไม่ต่ำกว่า 60 คน เพื่อให้หนังตะลุงได้ดำรงคงอยู่คู่เมืองตรังต่อไป

You may also like...