มรดกวัฒนธรรม-ภาษาและวรรณกรรม-เพลงรองเง็งตันหยง

การละเล่นชนิดนี้มีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์คือผู้เล่นต้องร้องกลอนโต้ตอบเพื่อเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหญิงชายส่วนใหญ่เป็นกลอนที่ผูกขึ้นสดๆ โดยมีฉันทลักษณ์ที่ค่อนข้างแน่นอน

ตัวอย่างบทชาย

บุหงาตันหยง หยงไหรละน้องยังดอกสาวเหล้า

แต่งงานกับบังตะน้องสาว ลูกออกมาขาวแล้วน่าชม

ถ้าได้ลูกหญิง อิจับแขวนปิ้งให้เรียนดัดผม

ลูกออกมาขาวแล้วน่าชม ดัดผมน้องหนอรำหล้อแหง็ง

 

ตัวอย่างบทหญิง

บุหงาตันหยง หยงไทรบังหนอ-ต้นสาวเหล้า

เขาว่าคำรักของบ่าวบ่าว เหมือนเปลือกลูกนาวที่สีสวย

ข้างในมันเปรี้ยว น้องยังเสียวเสียวจะกินด้วย

เหมือนเปลือกลูกนาวที่สีสวย แต่พอกินด้วยก็เข็ดฟัน (ตะ-เถอะ, อิ-จะ)

เนื้อเพลง เนื้อเพลงรองเง็ง ได้สอดแทรกค่านิยม วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในจังหวัดตรังไว้หลายประการ โดยเฉพาะในอำเภอกันตัง อำเภอสิเกา และอำเภอปะเหลียน ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูล ดังตัวอย่างต่อไปนี้

การประณาม ตำหนิ ตักเตือนทั้งหญิงและชาย เช่น

ตำหนิผู้หญิงขายตัว

บุหงาตันหยง หยงไทรน้องหนอ-ต้นดีปลี

เมื่อหน้าตาน้องตั้งดีดี มาเป็นกะหรี่เสียทำไหร

น้องสาวคิ้ววาด ได้คืนกี่บาทละหน้าใย

มาเป็นกะหรี่เสียทำไหร ไตรไม่ยอมจนทนตัดยาง

(ดีปลี-พริก, ไหร-อะไร, ทำไหร-ทำไม ทำอะไร, ไตร-ทำไม, ตัดยาง-กรีดยาง)

ตำหนิผู้ชายปากมาก

บุหงาตันหยง จริงบังหนอ-ต้นจิ้งจาย

ทำตัวไม่สมกับเป็นชาย ปากมากปากร้ายชอบแหลงหญิง

ปากเปียกปากตรก มันน่าตัดพรกให้ทำปิ้ง

ปากมากปากร้ายชอบแหลงหญิง จริงจริงบังหนอไม่น่าเป็น

(แหลง-พูด มาจาก แถลง, พรก-กะลา, ปิ้ง-กระจับปิ้ง)

การยกย่องชื่นชม ยกย่องผู้หญิงที่เป็นกุลสตรี และผู้ชายที่มีคุณธรรม เช่น

ยกย่องกุลสตรี

บุหงาตันหยง กำพงแลน้องยังต้นเดือยบิด

ถึงน้องไม่สวยบังไม่คิด บังเอาแต่หริดกิริยา

บังไปทำการ น้องสาวอยู่บ้านหุงข้าวไว้ท่า

บังเอาแต่หริดกิริยา คนนี้น้องหนาสายใจบัง

(หริด-จริต ในที่นี้หมายถึงกิริยามารยาท ท่า-รอ คอย)

ยกย่องชายที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข

บุหงาตันหยง หยงไหรน้องหนอ-ดอกสาวเหล้า

รับรักกับบังตะน้องสาว ทั้งปอทั้งเหล้าบังไม่เป็น

บังเป็นแต่งาน ใครใครทั้งบ้านเขากะเห็น

ทั้งปอทั้งเหล้าบังไม่เป็น หรือน้องไม่เห็นเหมือนคนอื่น (ปอ-โป)

 

การประกอบอาชีพ มีทั้งอาชีพประมง ทำนา และทำสวนยางพารา เช่น

บุหงาตันหยง กำพงน้องหนอชูต้นทัง

พบหน้าน้องสาวแล้วรักจัง ไปสร้างอวนต้าหลังกับบังหม้าย

ลมเลมันรัว บังอิอยู่หัวให้น้องอยู่ท้าย

ไปสร้างอวนต้าหลังกับบังหม้าย ตอบให้บังนี้ได้รู้ด้วย (หม้าย-หรือไม่)

บุหงาตันหยง กำพลแลน้อง-ยังต้นไทร

น้องไม่รักบังกะแล้วไป บังไม่มีไหรจิไปจ้าง

โอ้น้องคิ้วเฝือ บังไม่มีเรือมีแต่สวนยาง

ยังไม่มีไหรจิไปจ้างมี แต่สวนยางน้องเอาไหม (จิ-จะ)

ความเชื่อ มีความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ เช่น

การทำเสน่ห์เต่าเลือน

บุหงันหยง จริงจริงน้องหนอยังต้นกล้วยเถื่อน

มาอยู่ปละเลไม่กี่เดือน โถกเหฺน่เต่าเลือนหน่วยตาลาย

กลางคืนนอนฝัน กลางวันน้องหนอบังเหมือนจิไข้

โถกเหน่เตาเลือนหน่วยตาลาย แลไม้น้องเหอปลายลงดิน

(เต่าเลือน-เป็นการทำเสน่ห์ ที่ใช้คาถาอาคม โดยต้องวาดรูปเต่าลงบนอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ส่วนใหญ่ผู้หญิงเป็นผู้ทำ จึงมักวาดลงที่อวัยวะเพศ เชื่อว่าถ้าชายใดมีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงนั้นแล้ว ยากที่จะถอนตัวให้เลิกรักใคร่หลงใหลได้)

เชื่อการเวียนว่ายตายเกิดว่าชาติหน้ามีจริง

บุหงาตันหยง หยงไหรละน้องยังชื่อดอกหนุน

เกิดมาชาตินี้ไม่มีบุญ อะไรแทนคุณน้องบุญเลิศ

ไม่ได้ร่วมห้อง พาพี่น้องกันไปเถิด

อะไรแทนคุณน้องบุญเลิศ พี่ไปเกิดชาติหน้าค่อยท่ากัน

(หนุน-ขนุน)

เชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณ

บุหงาตันหยง กำพงน้องหนอยังต้นผักกาด

เก็บข้าว เก็บน้ำเสียให้ฉาด ไปไหว้พระธาตุหลาดเมืองคอน

คนดีหม้ายเบี้ย บังนี้อิเสียให้น้องก่อน

ไปไหว้พระธาตุหลาดเมืองคอน ขอพรน้องหนอให้ได้กัน

(ฉาด-หมด, หลาด-ตลาด)

 

ค่านิยม ในบทรองเง็งปรากฏค่านิยมหลายประการ เช่น

ไม่นิยมการแต่งงานกับพ่อหม้าย แม่หม้าย

บุหงาตันหยง หยงไหรบังหนอต้นดีปลี

เสียดายเป็นบ่าวมาทั้งที ไตรที่มาแต่งงานกับแม่หม้าย

หรือว่าขัดสน สาวสาววังวนหาไม่ได้

ไตรที่มาแต่งงานกับแม่หม้าย น่าอายบังหนอเพื่อนคราวกัน

 

นิยมการปลูกฟันทอง คือ การเลี่ยมฟันหรือครอบฟันด้วยทองคำ ซึ่งคนสมัยก่อนนิยมปลูกฟันทองกันมาก ทั้งนี้เพื่อความสวยงาม และแสดงถึงความมั่งมีอีกด้วย เช่น

บุหงาตันหยง หยงไหรละน้องหยงชื่อดอกยาง

ขอถามน้องสาวแม่เอวบาง ฟันทองซี่ห่างใครปลูกให้

โอ้น้องคนดี ปลูกที่ไหนสักทีละแม่โฉมฉาย

ฟันทองซี่ห่างใครปลูกให้ ช่อเอวละน้องผ้าลายดอก

 

ศิลปะการแต่งเนื้อเพลง

แม้เพลงรองเง็ง ส่วนใหญ่จะผูกเนื้อร้องในเชิงปฏิพากย์ แต่ก็มีศิลปะ ลีลาและชั้นเชิงอย่างน่าชื่นชม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

การใช้ความเปรียบเทียบเชิงอุปมาอุปไมย เช่น

บุหงาตันหยง กำพงแลน้องชูต้นส้มเหม้า

ตัวพี่นี้เหมือนกับรวงข้าว ถูกแกะ น้องสาวเก็บรวงไป

เหมือนปลาในวัง ใจน้องมันขังไว้ไม่ไปไหน

ถูกแกะของน้องเก็บรวงไป เห็นใจพี่มั่งหวังรักจริง

(แกะ-เครื่องมือเก็บข้าวของภาคใต้)

 

การใช้สัญลักษณ์ที่มีนัยของเนื้อหาแฝงอยู่ ต้องคิดตามจึงจะตีความได้ เช่น

บุหงาตันหยง หยงไหรละน้องหยงชื่อดอกแตง

เห็นนกบินหลาที่ปีกแดง บินข้ามกำแพงโรงโกปี้

บินเช้าบินเย็น บินให้เห็นเป็นทีที

บินข้ามกำแพงโรงโกปี้ ตัวนี้หรือน้องคนรักบัง (โกปี้-กาแฟ)

 

การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น

บุหงา ตันหยง จริงจริงบังหนอต้นพันตัน

น่าแปลกจริงเหอคนทุกวัน นกเขามันขันขริกขริกขรี้

บุหงาตันหยง หยงไหรบังหนอ-ต้นลีบุก

เสียงกลองเขาตีอยู่ ตุกตุก มะหยังวันศุกร์ไตรบังไม่ไป

 

การใช้คำที่มีลักษณะสองแง่สองง่าม ไปในทางหยาบโลน เช่น

บุหงาตันหยง กำพงน้องหนอยังต้นขี้เหล็ก

จำได้ไหมตอนเรายังเด็ก เราเข่เรือเล็กไปรุนกุ้ง (เข่-ขี่)

น้องสาวคิ้ววาด เรือมันติดหาดเรารุนกันรุ่ง

เราเข่เรือเล็กไปรุนกุ้ง น้ำเหอมันพุ่งสองข้างแคม

การใช้คำนามนัยที่หมายถึงผู้หญิงอย่างหลากหลาย เช่น หน้าใย สายใจ คิ้วเฝือ กานดา เป็นต้น ดังตัวอย่าง

บุหงาตันหยก หยงไหรน้องหนอดอกลิบง

บังไม่เคยลืมแม่โฉมยง ไม่ลืมบ้านลิบงสักเวลา

บังจะนอนฝัน ถึงหน้าน้องนั้นบ้านของกานดา

ไม่ลืมบ้านลิบงสักเวลา ไม่ลืมน้องยาคนเสื้อลาย

บุหงาตันหยง หยงไหรน้องหนอยังต้นข่า

คืนนี้วันดับเดือนไม่มา มาแต่ดวงหน้าแม่หน้าใย

โลกตาสองโลก น้องสาวบุญโปลก ได้มาแค่ไหน

มาแต่ดวงหน้าแม่หน้าใย ส่องใจให้พี่นี้หว่างครัน

(บุญโปลก-บุญปลูก, หว่าง-สว่าง)

 

เพลงรองเง็ง แม้เดิมจะเป็นเพลงปฏิพากย์ที่ร้องโต้ตอบกันในกลุ่มชาวไทยมุสลิมบางอำเภอในจังหวัดตรัง แต่ก็ได้กระจายไปทั่วทั้งจังหวัด จนผู้คนเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา สามารถจดจำมาร้องเล่นกันอย่างกว้างขวางและแม่นยำ

You may also like...