มรดกวัฒนธรรม-ภาษาและวรรณกรรม-คำคล้องจอง คำร้องเล่น

คนไทยนิยมใช้ภาษาที่มีคำคล้องจองกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จะเห็นว่าเรามีสำนวนคล้องจองใช้กันมากมาย เช่น ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว รักยาวบั่น รักสั้นให้ต่อ เป็นต้น

ในจังหวัดตรังมีถ้อยคำคล้องจอง คำร้องเล่นมากมาย ซึ่งเป็นข้อมูลมุขปาฐะเสียเป็นส่วนใหญ่ และวัยที่ใช้กันมากคือวัยเด็ก เพราะเด็กๆ จะรวมกลุ่มทำกิจกรรมและละเล่นต่างๆ อยู่เสมอ จนทำให้คุ้นหูกับถ้อยคำคล้องจองไปโดยปริยาย เช่น เล่น ฉับโหยง หรือ ขวิดโหยง ก็จะมีบทร้องประกอบว่า “ฉับโหยง โยงไม้เกรียบ ผัวเล่นเกรียบ เมียเล่นฉับโหยง” (ฉับโหยง-การเล่นกระดานหก บางทีเรียก ขวิดโหยง) บทคล้องจองที่ร้องเล่นสืบทอดกันมาใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น หยอกล้อ ต่อว่า เสียดสี สดุดี และ ร้องเล่น เป็นต้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

กา กา ยาบ ยาบ

ถ้าจะหยอกให้ทารกหรือเด็กเล็กๆ หัวเราะ ก็จะจักจี้ โดยใช้มือทำเป็น กาบิน ให้เป็นจังหวะประกอบบทร้อง ด้วยการจีบรวบปลายนิ้วแล้วแผ่ออก ทำท่าจะเกาะที่รักแร้บ้าง หน้าท้องบ้าง แต่พอร้องถึงวรรคสุดท้ายที่ว่า

ตรงนี้ นี้ นี้ นี้ นี้… ก็ทำท่ากาเกาะแล้วจักจี้ให้เด็กหัวเราะ ดังบทร้องว่า กา กา กา บินมา ยาบ ยาบ ฉาบต้นโพ โผต้นไทร กาขี้ไหล เกาะตรงไหน เกาะตรง นี้ นี้ นี้ นี้ นี้…

 

กินข้าวแล้วนอน ตามความเชื่อเกี่ยกับกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งที่ผูกเป็นคำคล้องจองเพื่อแสดงเจตนาว่า ถ้ารับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ พักผ่อนพอข้าวเรียงเม็ด คือ ให้อาหารย่อยก่อนจึงเริ่มทำงานนั่นเอง ดังบทคล้องจองว่า กินข้าวแล้วนอน เทดาให้พรให้มั่งให้มี กินข้าวแล้วนั่ง เทดาแช่งสั่ง ไม่ให้มั่งไม่ให้มี (เทดา-เทวดา)

 

กินปละโคนโจรแทงตาย ลำอ้อย ท่อนโคนจะหวานเข้มและจางลงในท่อนปลาย จึงมีคำหลอกเด็กให้เข้าใจผิดคิดแย่งกินท่อนปลาย เพื่อตนจะได้กินท่อนโคน ว่า กินปละโคนโจรแทงตาย กินปละปลายว่ายน้ำเป็น (ปละ-ด้าน,ฝ่าย)

จำจิตจำใจ บท “จำจิตจำใจ” เป็นประหนึ่งคาถาที่ทำให้มีความจำแม่นยำเด็กๆ จะท่องบทนี้ทันทีที่อ่านหนังสือเสร็จ โดยใช้ฝ่ามือตบบนลงหนังสือ แล้วมาตบที่หน้าอกบริเวณหัวใจ สลับกัน ตบหนึ่งครั้งท่องหนึ่งพยางค์ แต่ใน 3 พยางค์สุดท้ายนั้นให้ตบเฉพาะที่หน้าอกอย่างเดียว เป็นการย้ำให้จำ ว่า จำ จิต จำ ใจ ไป ไหน อย่า ลืม กลาง ค่ำ กลาง คืน อย่า ลืม หนัง สือ จำ จำ จำ

 

ช่วยจันทร์ ถ้าเกิดจันทรุปราคา ทุกคนในบ้านต้องออกมาช่วยจันทร์ เพราะเชื่อว่าราหูซึ่งเป็นยักษ์อมพระจันทร์ไว้ ถ้าได้ช่วยกันราหูจะคายพระจันทร์คืนออกมา การช่วยจันทร์นอกจากจะยิงปืน ตีเกราะเคาะไม้ ตีกลองฆ้องโหม่ง หรืออื่นๆ แล้ว ยังตะโกนช่วยจันทร์กันว่า ช่วยจันทร์เจ้าเห้อ ขี้เห้อ คายเห้อ หรือ ช่วยจันทร์เจ้าเห้อ ขี้เห้อคายๆ ราหูตัวร้าย มัดซ้ายมัดขวา

 

ช้าง ช้าง ช้าง สมัยก่อนมีช้างใช้งานกันอยู่ทั่วไป ช้างจึงเดินผ่านไปมาหน้าบ้านอยู่เสมอ เด็กๆ เห็นช้างก็จะร้องกันว่า ช้าง ช้าง ช้าง ตัดเต่าร้าง ช้างกินไม่ไผ่ หมูกินบอน พังพอนกินไก่ มาไวๆ เถิดหนานางช้าง

ดุกแส็ด แป็ดอุด ส่วนของสัตว์ ผลไม้ หรือพืชผักที่นำมาใช้เป็นอาหาร และจัดว่าเป็นสุดยอดของความอร่อย ได้นำมาผูกเป็นถ้อยคำคล้องจองไว้ว่า ไก่กินอุด มุดกินท้าย ความกินโมง หอยโข่งกินหัว ถั่วกินเม็ด เห็ดกินดอก หรืออีกสำนวนหนึ่งว่า ดุกแส็ด แป็ดอุด มุดท้าย ควายโมง ช่อนไข่ ไหลหาง (แส็ด-ครีบปลา แป็ด-เป็ด อุด-ก้น มุด-มะมุด,โมง-ส่วนก้น)

 

เด็กขานตด เด็กขานตด เป็นคำหยอกล้อเวลาเรียกให้เพื่อนขานรับ ถ้าเพื่อนขานก็จะว่า เด็กขานตด ซดน้ำขี้แห้ง กูทาแป้ง มึงทาเถ้า กูกินข้าว มึงกินขี้ กูกินปลาดี มึงกินปลาเน่า ถ้าเพื่อนไม่ขานก็ถูกว่าเช่นกัน ว่า เด็กไม่ขาน ขี้คาวาน เช็ดเลียน เช็ดเลีย

 

เด็กแก้เปลือย ถ้าเห็นเด็กคนใดที่ไม่นุ่งผ้า ก็จะหยอกล้อกันว่า เด็กแก้เปลือย งอกเดือยข้างหน้า เด็กนุ่งผ้า งอกหญ้าแข็ดมอน

เด็กขี้เก้ง เด็กที่ถ่ายอุจจาระแล้วยังไม่ทันได้ล้างก้น หรือไม่ล้างก้นด้วยเจตนา เรียกว่าเด็กขี้เก้ง สมัยก่อนไม่มีส้วมใช้อย่างปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่จะถ่ายในป่าหรือชายทุ่ง แล้วใช้ใบไม้เช็ดก้น ถ้าเพื่อนรู้ก็จะถูกหยอกล้อว่า เด็กขี้เก้ง เล้งหมาอ้น หมากสองต้น พร้าวต้นเดียว

 

เด็กขี้แพ้ เด็กขี้แพ้ เป็นคำต่อว่าเด็กที่เลิกหรือหนีจากการละเล่นต่างๆ หรือผู้ที่ถูกท้าชกต่อย แต่ไม่สู้ว่า เด็กขี้แพ้ พาแม่ไปวัด พ่อท่านยิกฉัด พลัดแต่เฏ้ เข้ยิกข็อบ แล่นหย็อกๆ มาช็อก กันเด๊ (ฉัด-เตะ, เฏ้-กุฏิ, เข้ยิกข็อบ-จระเข้ไล่กัด, ช็อก-ชก, เด๊-ซิ)

 

เด็กขี้ร้อง ถ้าเด็กคนไหนร้องไห้เพราะความอ่อนแอ ขี้แย หรือด้วยเหตุอื่นๆ ก็แล้วแต่ จะถูกหยอกล้อว่า เด็กขี้ร้อง จับใส่ข้อง ไปร้องกลางเทือก ตาเหลือกๆ กินเทือกพุงปลิ้น (โถก-ถูก)

เด็กเดินก่อน เด็กเดินกลาง เด็กเดินหลัง เวลาเดินไปไหนมาไหนด้วยกันเป็นกลุ่ม เด็กๆ มักจะหยอกล้อ ต่อว่า หรือเอาใจ คนเดินก่อน เดินกลาง หรือเดินหลัง จนต้องแย่งเดินสลัที่กันชุลมุน ดังว่า

เด็กเดินก่อน กินบอนจุ้มขี้ หรือ เด็กเดินหน้า กินขี้หมากับมันหมู

เด็กเดินกลาง อาบน้ำในอ่าง ทาแป้งดอกจันทน์ ทามันดอกโดน หรือ เด็กเดินกลาง กินรางหมาเน่า (ดอกโดน-ดอกกระโดน)

เด็กเดินหลัง กินปลาลัง กับดังเหนียว หรือ เด็กเดินหลัง มูสังกอดคอ ถือพร้ากาหลอ ฟันคอมูสัง หรือ เด็กเดินหลัง มูสังกอดคอ ผีสอหลอ หักคอเสียบไส้ (มูสัง-ชะมด)

 

ตดฉีด ถ้าได้ยินเสียงตด หรือได้กลิ่นตดในวงเล่นหรือวงสนทนา แต่ไม่มีใครรับว่าเป็นคนตด ก็จะมีการว่าบทเสี่ยงทายหาคนตดกัน โดยจะเริ่มนับเรียงทีละคน คนละ 1 พยางค์ ผู้ใดถูกชี้ลงพยางค์สุดท้ายของบทสรุปว่าคนนั้นเป็นคนตด ดังบทเสี่ยงทายสำนวนต่างๆ ว่า

ตด ฉีด ตด ฉ้วง นาย ด้วง ผัก ฉีด ยื่น มือ ไป ดีด ฉีด ขล็อง คล็อง เน่า น้ำ เต้า หมิน ฮือ

ตด ฉีด ตด ฉ้วง นาย ด้วง ขึ้น ครู ใคร แล ตา กู คน นั่น แหละ ตด

ตด ฉีด ตด ฉาด ผ้า ร้าย ไส้ ขาด บาด แตก แหก เหิน เพิน พาน ขาน ตด

ตด ฉีด ตด ฉอย มด หนอย ขึ้น รั้ว ใคร ยิ้ม ใคร หัว คน นั้น แหละ ตด

ฝน ตก ปรอยๆ มด หนอย ขึ้น รั้ว ใคร ยิ้ม ใคร หัว คน นั้น แหละ ตด

จุ้ม จี้ จุ้ม จวด จุ้ม หนวด แมง วัน จุ้ม จี้ จัก จั่น แมง วัน จับ ผลุ้ง (มดหนอย-มดตะนอย)

 

ตรู ตรู ตรู ในการตกเบ็ด พอเกี่ยวเหยื่อเสร็จแล้ว เจ้าของเบ็ดจะเอาเหยื่อที่เกี่ยวนั้นมาจับไว้ แล้วท่องบทคล้องจองประเภทหนึ่งมนต์เรียกปลาว่า ตรู ตรู ตรู เรียกคู่มึงมา เท่าแข้ง เท่าขา มาจับเบ็ดกู ตรู ตรู แล้วถ่มน้ำลายใส่เหยื่อ 1 ครั้ง ก่อนหย่อนเบ็ดลงน้ำ

 

ตู้ตี้นอแน จักจี้ให้เด็กหัวเราะสนุกสนาน แล้วร้องคำคล้องจองประกอบว่า ตู้ตี้ นอแน รักแร้หม้ายขน ได้เมียสองคน งอกขนรักแร้

 

ท้อน ท้อน ไม่หวาน การรับประทานลูกกระท้อน จะปอกเปลือกออกแล้วสับซอยเนื้อกระท้อนให้รอบ จากนั้นใช้ข้างมีดทุบลงบนส่วนหัวของลูกกระท้อนหลายๆ ครั้ง เพื่อให้เนื้อนุ่มน่ารับประทาน ขณะสับและทุบกระท้อนก็จะว่า ท้อน ท้อน ไม่หวาน จุ้มหีป้าปาน หวานเลี่ยน หวานเลี่ยน

แทงท่อล้อ การนั่งไกวเปลไม้กระดาน ถ้าเปลไกวในแนวตรง เรียกเวโหฺยน แต่ถ้าเสียสมดุลระหว่างความเร็วของหัวเปลทั้งสองข้าง ทำให้เปลไกวในแนวเฉียง เรียกเวแทงท่อ ซึ่งมักจะร้องบทเล่นว่า แทงท่อล้อ ท่อล้อ ไข่เขียด ไข่ลุงเอียด เหนียดไว้ชายคา พลัดลงมา หน่วยเดียวเท่าเผล้ง (เว-ไกว เหนียด-เหน็บ เผล้ง-ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ทรงเตี้ย กระพุ้งข้างป่อง คอแคบ ปากผายใช้ใส่น้ำ ใส่ข้าวสาร)

 

ปี่ ปี่ ไม่ดัง การทำปี่ด้วยซังข้าว ถ้าไม่แยงรูปล้องชังเพื่อทำความสะอาดเสียก่อน ปี่ก็มักจะไม่ดัง ดังนั้นจึงต้องเอาปลายซังข้าวที่เล็กกว่าแยงรูปล้องชังของปี่ ขณะแยงเข้าๆ ออกๆ ก็จะร้องบทคล้องจองประกอบว่า ไอ้กลั้งๆ ปี่ไม่ดัง เอาซังแยงวาน ปี่ไม่ขาน แยงวานป้าสังข์ ยังมีสำนวนอื่นๆ เช่น ปี่ ปี่ ไม่ดัง เอาซังแยงวาน ปี่ ปี่ ไม่ดัง เอาซังมาแยง ถูกลูกแหยงแยงขึ้นแยงลง ถูกเสาธง แยงลงแยงขึ้น ปี่ ปี่ ไม่ดัง เอาซังมาแยง ถูกลูกแหยงแยงขึ้นแยงลง ถูกเสาธง ดังปีลี้ ปีลี้ (ไอ้กลั้ง-ชื่อปลาน้ำจืด คล้ายปลาช่อน)

 

ปี๊ด ป๊อด ปี๊ด ป๊อด เป็นสัญญาณขอทางเลียนเสียงแตรรถ ใช้ร้องเล่นประกอบการเล่นขับรถ ลากรถ หรือรุนลูกล้อ ว่า ปี๊ด ป๊อด ห้วยยอด คลองเต็ง เถ้าแก่ขับเอง ไม่พักเสียตางค์ การกล่าวถึงห้วยยอดและคลองเต็ง คงเป็นเพราะถนนเพชรเกษมสายห้วยยอด-ตรัง เป็นสายหลักที่ตัดขึ้นใช้ในสมัยแรกๆ จึงเป็นที่รู้จักของคนตรังทั่วไป โดยถนนจะตัดผ่านบ้านคลองเต็งด้วย

 

ฝนตกแดดออก ถ้าฝนตกสลับกับแดดออก ก็จะร้องเล่นกันว่า ฝนตกแดดออก นกจอกเข้ารัง ตั๊กแตนเล่นหนัง โม่งครึมๆ

 

ฝนตกแส็กๆ ถ้าฝนตกปรอยๆ ก็จะร้องเล่นกันว่า ฝนตกแส็กๆ แด็กๆ อย่ายุ่ง พาเมียเข้ามุ้ง นอนให้รุ่งแผ็ก (รุ่งแผ็ก-สว่างเต็มที่)

 

รักพ่อรักแม่ หยอกเล่นให้ผู้อื่นกะพริบตา โดยใช้มือโบกขึ้นลงบริเวณตาเป็นจังหวะ จังหวะละหนึ่งพยางค์ แล้วร้องบทคล้องจองว่า รัก พ่อ รัก แม่ รัก หมา ตา กริบ ถ้าใครกะพริบตาตอนข้อความสุดท้ายที่ว่า รักหมาตากริบ ก็จะถูกหยอกล้อว่ารักหมา แต่ถ้าใครฝืนไม่กะพริบตาก็จะไม่ถูกหยอกล้อ เพราะแสดงว่ารักพ่อและรักแม่นั่นเอง (ตากริบ-ตากะพริบ)

 

หยะเข้าตา ถ้าขยะเข้าตาใคร ก็มักจะให้ผู้อื่นช่วยถ่างตา แล้วเป่าลมเข้าตา เพื่อจะให้ขยะออกจากตา โดยก่อนเป่า ก็ท่องบทร้องประดุจคาถา ว่า หยะเข้าตา แมงคาเข้าหู บอกลุงชู หายเผี้ยงๆ

 

ไหว้ไฟจักจั่น ไหว้แม่ไฟจักจั่น เป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง คือเชื่อว่าแม่ไฟจักจั่นเป็นเทพธิดาอย่างแม่โพสพ ทำให้ทารกปัสสาวะรดที่นอน และปวดอุจจาระในเวลากลางคืน ซึ่งในสมัยก่อนนั้น ไม่มีความสะดวก เพราะไม่มีส้วมในบ้าน ต้องออกไปถ่ายนอกบ้านบริเวณชายป่าหรือชายทุ่ง ดังนั้นจึงอ้อนวอนขอต่อแม่ไฟจักจั่นให้ถ่ายเฉพาะกลางวัน ว่า ไหว้ไฟจักจั่น ให้ขี้กลางวัน อย่าเยี่ยวกลางคืน หัวค่ำต้องปืน ดึกดื่นต้องขวาก หวันขึ้นเทียมปลายหมากขี้เถิด เยี่ยวเถิด

 

หัวล้านป้านแป้ว เด็กหัวล้าน โกนหัว หรือตัดผมเกรียน มักจะถูกหยอกล้อว่า หัวล้านป้านแป้ว แคว็กขี้แมว มาใส่หัวล้าน (แคว็ก-ควัก)

 

อองแป้ง อองเถ้า การทำเชื้อแป้งข้าวหมาก หรือที่ชาวตรังเรียกว่า ลูกแป้ง นั้น เมื่อปั้นเป็นเม็ดเสร็จใหม่ๆ ก็จะโรยเชื่อยีสต์ พร้อมกับท่องว่า อองแป้ง อองเถ้า อองดิน อองทราย ใครเป็น ใครตาย กูโร้หมดแล้ว ท่องไปจนกว่าโรยเชื้อทั่วแล้วจึงหยุด (ออง-ละออง โร้-รู้)

 

อีบึ้งอีใบ้ บึ้ง คือ แมงมุมขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ขุดรูอยู่ในดิน ช่วงหน้าแล้งจะวางไข่ และคนมักจะแยงรูบึ้งเอาไข่มากินเล่น โดยใช้เรียวหวายหรือเรียวไม้อื่นแยงหมุนลงไปแล้วดึงไข่บึ้งขึ้นมา ชาวใต้ เรียกว่า ยอนบึ้ง ซึ่งขณะยอนบึ้งก็จะท่องบทร้องประกอบว่า อีบึ้ง อีใบ้ ผ้าร้ายอยู่บน ร้อนๆ รนๆ ส่งไข่ขึ้นมา เดือนสี่เดือนห้า ฟ้าผ่าอีบึ้ง

 

อีโหยน อีหญวบ เป็นคำร้องเล่นประกอบการไกวเปลว่า อีโหยน อีหญวบ แกงหัวบวบ หัวล้านลักซด แกงปลาหลด ทั้งซดทั้งจาน แกงไม่หวาน เทลงล่าง หมาเก็บก้าง คางคกขึ้นเริน ยายสีเงิน นั่งทิ่มน้ำชุบ กุบกับเขาตะ คว้าหาด้ามบวย หยิบโถกโลกกล้วย ด้ามบวยหล่นล่าง หรือ อีโหยน อีท็อง จีนหลังก็อง แล่นเข้าป่าเตย ชาวบ้านร้าง งอกหางยาวรี ชาวกงสี ขายวัวขายควาย (จาน-ราด เริน-เรือน น้ำชุบ-น้ำพริก กุบกับ-รีบร้อน ตะ-เถอะ โลก-ลูกบวย-กระบวย)

 

ไอ้แก้ว (อีแก้ว) การหยอกล้อเด็กที่ชื่อแก้ว โดยเรียกชื่อ พอเด็กหันหน้ามาก็จะหยอกว่า ไอ้แก้ว (อีแก้ว) กินข้าวแล้ว ไปดักนกคูด ตดดังปูด นกคูดบินหนี ขึ้นควนธานี กินหีนกคูด หรืออีกสำนวนหนึ่งว่า ไอ้แก้ว (อีแก้ว) กินข้าวแล้ว ไปดักนกยาง โถกหมูโถกค่าง โถกช้างหางค็อด เข้าป่าเสียยศ ค็อดแด้งๆ (นกคูด-นกกะปูด ค็อด-คด แด้ง-กระเด้ง หยัก งอน)

ไอ้แดง (อีแดง) การหยอกล้อเด็กที่ชื่อแดง โดยเรียกชื่อแล้วร้องว่า ไอ้แดง (อีแดง) แกงกบ ทิ่มเครื่องไม่ครบ กบวิ่งลงคลอง หรือ ไอ้แดง (อีแดง) แกงกบ ทิ่มเครื่องไม่ครบ แม่(ผัว)ตบตายโหง

ตัวอย่าง คำคล้องจอง คำร้องเล่น ในจังหวัดตรังดังยกมานี้ บางบทจะแทรกภูมิปัญญาการสอนเด็กไว้อย่างชาญฉลาด เช่น บท เด็กเดินก่อน สอนให้ผู้เดินทางระมัดระวังตัวอยู่เสมอ หรือบท อีแดง สอนให้มีความรอบคอบในงานบ้านการครัว เป็นต้น บางบทกล่าวถึงสถานที่ในจังหวัดตรังด้วย เช่น ควนธานี คลองเต็ง ห้วยยอด บางบทมีคำทะลึ่งหยาบโลนบ้าง บางบทใช้ร้องประกอบกิจกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นบทร้องทำนองหยอกล้อหยอกเล่น เพื่อความสนุกสนานของเด็กๆ จะเห็นว่า คำคล้องจอง คำร้องเล่น ทุกบทมีสัมผัสสระ ซึ่งเป็นการปลูกฝังความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนให้แทรกซึมอยู่ในสายเลือดโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่วัยเยาว์ ดังนั้นไม่แปลกเลยที่คนสมัยก่อนมักมีปฏิภาณไหวพริบเชิงกวีกันทั่วไป

You may also like...