ผ้าทอนาหมื่นศรี นาหมื่นศรี แถบถิ่นชุมชนเกษตรกรรม สมัยโบราณมีการทอผ้าใช้เองด้วยกี่พื้นบ้านที่เรียกว่าหูกแทบทุกครัวเรือน
ในยุคแรกเริ่ม ผ้าทอนาหมื่นศรีใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมาทอเป็นผืนผ้า เช่น ฝ้าย ที่ปั่นกันเอง แต่ส่วนใหญ่ใช้ด้ายดิบที่ซื้อมาจากตลาด เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง การทอผ้าต้องหยุดชะงักลงเพราะเส้นด้ายขาดตลาด การจะปลูกฝ้ายปั่นฝ้ายเองก็ไม่ใคร่จะมีใครทำกันนัก หลังจากนั้นชาวบ้านหันไปนิยมผ้าที่ผลิตจากโรงง่นอุตสาหกรรม จากผ้าผืนเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีแบบ มีแบบแปลกใหม่ให้เลือกมากมาย ราคาก็ไม่สูงมาก
จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๔ นางนาง ช่วยรอด อายุขณะนั้น ๗๕ ปี ได้รวบรวมคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันได้ ๓ คน คือ นางผอบ ขุนทอง นางอิน เชยชื่นจิตร และนางฉิม ชูบัว รื้อฟื้นการทอผ้าแบบนาหมื่นศรีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทอเป็นผ้าถุง ผ้าห่ม แต่ยังขาดผู้สนใจ ครั้นเมื่อบุตรสาวของนางนาง คือนางกุศล นิลละออ ซึ่งแต่งงานไปแวกลับมาเยี่ยมบ้าน มาเห็นเข้าและชื่นชอบ จึงฝึกหัดจนชำนาญ ทอได้ทุก จึงเป็นผู้ประสานการรวมกลุ่ม
พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นต้นมา ได้รับการส่งเสริมพร้อมรับเงินทุนสนับสนุนจากทางการสร้างกี่กระตุกเพิ่มขึ้น ขยายสมาชิกได้มากขึ้น ได้ไปศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่น และเผยแพร่ผลงานกว้างขวางไปถึงส่วนกลาง ที่สำคัญคือ มีโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายผ้าทอนาหมื่นศรีแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ผ้าทอนาหมื่นศรีที่ทอสำเร็จรูปมีหลายชนิดที่ทอกันมาตั้งแต่เดิม มีผ้านุ่ง (ผืนยาวสำหรับโจงกระเบน) ผ้าถุง ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าสไบ ผ้าเช็ดหน้า ปัจจุบันมีผ้าตัดเสื้อชายหญิงออกแบบเป็นสีสันและลวดลายต่างๆ
ลวดลายเก่าแก่ดั้งเดิม ได้แก่ ลายลูกแก้ว ลายลูกแก้วเชิงดวง ลายลูกแก้วฝูง ลายลูกแก้วสีเม็ดใน ลายราชวัตร ลายตาหมากรุก ลายดอกจัน ลายเกสร ลายดอกกก ลายดอกพิกุล ลายเม็ดแตง ลายหางกระรอก ลายตัวอักษร ลายรูปสัตว์ ลายรูปคน
เมื่อครั้งที่ รัชกาลที่ ๖ เสด็จฯ เมืองตรัง พ.ศ. ๒๔๕๘ ประทับแรมที่ตำหนักโปร่งหฤทัย เขาช่อง สมุหเทศาภิบาลได้จัดผ้าพื้นเมืองของตรัง ซึ่งกล่าวว่ามีผ้ายก ผ้าราชวัตร ผ้าตาสมุก ผ้าคาด ผ้าเช็ดหน้า ถวายสำหรับพระราชทานแจกแก่ข้าราชการ เพราะในครั้งนั้นในเมืองตรังยังมีการทอผ้ากันมากรวมทั้งในชุมชนนาหมื่นศรีด้วย
ผ้าลายลูกแก้ว เป็นผ้าที่ใช้ได้สารพัดประโยชน์ ผืนสี่เหลี่ยมแบบผ้าเช็ดหน้า ใช้เป็นผ้าปูกราบพระ กราบขอขมา รองพานขันหมากไหว้เมีย(สู่ขอ) เช็ดหน้าเช็ดปาก โดยเฉพาะคนกินหมากใช้ผ้าลายลูกแก้วสีเหลืองแดงเช็ดปาก สีผ้ากับสีน้ำหมากกลมกลืนกันดี ถ้าเป็นผืนยาวใช้พาดไหล่สไบเฉียง คล้องคอ ในงานศพใช้ผ้าเช็ดหน้าลายลูกแก้วแบบผืนใหญ่ สีเหลืองแดงทอต่อกันยาวๆ จำนวน ๑๐ – ๑๒ ผืนพับทบกันเป็น ๔ ทบ วางบนพานและพาดขึ้นไปบนโลงศพ เรียกผ้าพานช้าง เมื่อเสร็จงานลูกหลานแบ่งกันใช้หรือไม่ก็ถวายพระที่วัด
ปัจจุบันผ้าทอนาหมื่นศรีกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง ในคนท้องถิ่นและผู้แวะเวียนมาจังหวัดตรังต่างถามหา บ้างนำไปฝากเป็นของที่ระลึก บ้างนำไปตัดเย็บเสื้อผ้า และชุดเครื่องของหน่วยงานต่างๆ
เส้นใยที่ใช้ทอนั้นซื้อจากโรงงาน เป็ยฝ้ายและเส้นใยสังเคราะห์ ย้อมสีเคมี แต่ยังคงรูปแบบลวดลายเอกลักษณ์ของนาหมื่นศรีเอาไว้ แต่เดิมปั่นด้ายเอง ย้อมสีด้วย ต่อมาใช้เส้นใย สั่งซื้อที่ย้อมมาแล้ว ปัจจุบันกำลังริเริ่มย้อมเองด้วยสีธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง
ทุกวันนี้กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี ซึ่งมีนางกุศล นิลละออ เป็นแกนนำมาตลอดมีช่างทอทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เป็นสมาชิกอยู่ประมาณ ๕๐ คน และยังมีช่างกี่กระตุกที่ชำนาญอยู่ ๓ คน นอกจากนี้ ชาวบ้านและผู้สนใจในละแวกใกล้เคียงและจังหวัดอื่นๆ มาขอรับการฝึกฝนวิชาทอผ้าจากบ้านนาหมื่นศรีไม่ขาดระยะ
ผ้าทอนาหมื่นศรี มรดกทางวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งของเมืองตรัง ยังคงรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งเข้ากับยุคสมัยได้อย่างลงตัวและเหมาะสม ทั้งนี้อยู่ที่คนรุ่นปัจจุบันจะต้องสืบทอดคุณค่า ภูมิปัญญา และพัฒนาการไห้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน