มรดกวัฒนธรรม-ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น-พร้านาป้อ

พร้านาป้อ บ้านนาป้อ ชุมชนเกษตรกรรมรอบนอกของตัวเมืองตรังหมู่บ้านคนไทยมุสลิม ผู้คนส่วนใหญ่ยังทำนา ทำสวน และรับจ้างทั่วไป

พร้านาป้อ เป็นผลิตและมรดกทางวัฒนธรรมของผมู่บ้าน ที่สั่งสมภูมิปัญญาและประสบการณ์มาตั้งครั้งบรรพชนสืบทอดมาจนถึงลูกหลานรุ่นปัจจุบัน ช่างตีพร้าแห่งบ้านนาป้อแทบทุกคนกล่าวว่า ตั้งแต่เกิดจำความได้ก็เห็นเขาตีพร้ากันแล้ว

ในอดีต เมื่อเสร็จหน้านา คนนาป้อจะลงมือตีพร้าแทบทุกครัวเรือนมีโรงตีเหล็กเป็นของตัวเอง เหล็กที่นำมาตีก็ซื้อเหล็กเหนียว (เหล็กกล้า) มาจนตลาด นายหมาน จับปรั่ง ช่างตีพร้านาป้อ วัย ๖๐ กล่าวว่า ตอนรุ่นพ่อการทำนาพร้าแต่ละเล่มลำบากมาก ต้องใช้มือเพียงอย่างเดียว การแต่งพร้าต้องใช้ตะไบถู ไม่มีเหล็กเจีย เครื่องสูบลมเข้าเตาก็ต้องใช้มือ ไม่มีเครื่องสูบลมไฟฟ้า อุปกรณ์ผ่อนแรงเหมือนสมัยนี้

ขั้นตอนในการผลิตพร้า เริ่มจากการนำเหล็กมาตัดแบ่งตามความต้องการสู

บลมเข้าเตาไฟ ใช้ถ่านไม้เคี่ยมเป็นเชื้อเพลิง วางบนทั่งตีด้วยค้อนให้เป็นรูปขนาดตามต้องการหลังจากนั้นตอกตรายี่ห้อ ตกแต่งให้สวยงามอีกครั้ง ลับคมมีดด้วยเครื่องเจีย ขั้นตอนสุดท้ายคือชุบด้วยน้ำประสานทองผสมลวดทองแดง แต่ปัจจุบันช่างบางคนหันมาใช้น้ำมันเครื่องแทนน้ำประสานทอง ซึ่งม่ทำให้คุณภาพด้อยลงกว่าเดิม

จากต่างคนต่างทำ ทำเสร็จนำไปขายเอง ไปถึงหาดใหญ่ สงขลา นครศรีธรรมราช หลีงปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ชาวบ้านจึงมารวมกลุ่มกันเพื่อลดต้นทุนค่าวัสดุอุปกรณ์ และตัดพ่อค้าคนกลางที่เข้ามากดราคาหรือผูกขาด ตัวแทนของกลุ่มจึงส่งพร้าไปขายเอง และยังได้ประยุกต์ปรับเปลี่ยนรูปแบบพร้าออกมาหลากหลสยตามความต้องการของตลาดแต่ละท้องถิ่น เช่น

พร้าหัวแหลม ส่งขายในจังหวัดยะลาและประเทศมาเลเย ใช้ตราเบตง ส่งขายในจังหวัดกระบี่ ใช้ตราจระเข้ ส่งขายในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและชุมพร ใช้ตรา ๐๐๗

พร้าหัวตัด ส่งขาย หาดใหญ่ ตรัง พัทลุง ใช้ตรา ๕ ดาว และตรา ๒๒

พร้าภูเก็ต ส่งขายในจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง ใช้ตราหน่อไม้และตราน้ำเต้า

ขนาดของพร้านับกันเป็นเบอร์ เล็กสุดเบอร์ ๐ ต่อไปก็เป็นเบอร์ ๑ ,๒,๓ เบอร์ ๔ นับเป็นเบอร์ใหญ่ที่สุด

พร้าแบบโบราณ เช่น พร้านกแก้ว พร้าโอ ไม่มีใครที่นาป้อตีกันแล้ว เหลือแต่นายหมานที่ยังสืบทอดอยู่ นานๆ ครั้งถึงจะทำออกมาตามที่ลูกค้าสั่งพิเศษ

พร้านาป้อเคยส่งขายไปทั่วประเทศไทย พร้อมๆ กับคำชมในเรื่องคุณภาพ ผู้มีคุณูปการต่อการสร้างชื่อเสียงพร้านาป้อให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย คือ ผู้ใหญ่เด็น เอ็ม เอ็ม ผู้ส่งเสริมการรวมกลุ่มตั้งเตาตีเหล็ก และรวบรวมผลิตภัณฑ์ของลูกบ้านออกรถตระเวนขายส่งไปทั่วทุกภาค เมื่อผู้ใหญ่เด็นก็เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ปัจจุบันตลาดพร้านาป้อมีเฉพาะภาคใต้

กำนันหมัด เอ็ม เอ็ม ลูกชายผู้ใหญ่เด็น อายุ ๕๒ ปี บอกถึงสาเหตุที่ต้องหยุดกิจการว่า หยุดไป ๒ – ๓ ปีแล้ว ขาดคนงาน คนไปทำงานอุตสาหกรรม บางส่วนไปทำสวนของตนเอง และช่างตีเหล็กเมื่ออายุมากก็หมดเรี่ยวแรงต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเผาเหล็กเพื่อตีพร้าต้องใช้ถ่านที่ให้ความร้อนสูงมาก คือถ่านไม้เคี่ยมเท่านนั้นแต่เมื่อกรมป่าไม้ประกาศปิดป่าปิดสัมปทาน ถ่านไม้เคี่ยมก็หายาก

โดยเฉลี่ยแต่ละบ้านผลิตมีดวันละ ๒๐ เล่ม รวมทั้งหมู่บ้านก็ได้วันละ ๔๐๐ เล่ม ช่างตีพร้าส่วนใหญ่ของเมืองตรังผ่านการฝึกฝนไปจากบ้านนาป้อแทบทั้งสิ้น เช่น ช่างสวัสดิ์ ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานอยู่ที่อำเภอย่านตาขาว ช่างอื่นๆ ก็มีอีกหลายคน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีพร้าจากภาคอื่น รูปสวย ราคาถูก เข้ามาตีตลาด แต่คุณภาพยังสู้พร้านาป้อไม่ได้ เพราะความคม และความทนทานดีกว่า ชื่อเสียงของพร้านาป้อยังได้รับการกล่าวขานยืนยันถึงคุณภาพที่ดีเยี่ยม

บ้านนาป้อนอกจากทำพร้าแล้ว ยังผลิตเครื่องใช้อื่นๆ ตามความต้องการของยุคสมัย เช่น มีดกรีดยาง มีดดายหญ้า เคียวเกี่ยวข้าว กรรไกรสอยผลไม้ กรรไกรหนีบหมาก เป็นต้น

เกี่ยวกับการตีตราหรือยี่ห้อ จะเป็นไปตามที่คนนิยม หรือตามที่พ่อค้าจากภายนอกเข้ามาสั่ง โดยไม่ถือลิขสิทธิ์ว่าเป็นของคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ก็เป็นการรับรู้กันว่าคนไหน ตระกูลใดเป็นต้นแบบ

นอกจากความโด่งดังของชื่อเสียงพร้านาป้อแล้ว จังหวัดตรังยังมีช่างตีพร้า รวมถึงช่างทำอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ รายเล็กรายน้อยกระจายอยู่ในแต่ละชุมชนแทบทุกอำเภอ

นายประยุง ไชยกูล อายุ ๗๕ ปี ช่างตีเหล็กรุ่นแรกของตลาดห้วยยอดเล่าว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ฝึกวิชาการตีเหล็กจากช่างคนจีน โดยเริ่มต้นจากตีเหล็กกลมขายญี่ปุ่นต่อมายึดอาชีพตีพร้าขาย ใช้ตราตาเป็นยี่ห้อ ตีครั้งละไม่มาก ส่งไปขายจังหวัดใกล้เคียง เมื่อก่อนที่นี่มีทั้งหมด ๓ เตา ปัจจุบันเจ้าของเสียชีวิตหมดแล้วและเลิกกิจการไป ส่วนของลุงมีลูกชายและลูกเขยรับช่วงกิจการต่อ

นับเป็นเวลาหลายชั่วอายุคนที่พร้าได้สร้างชื่อเสียงขจรไกลจากช่างพื้นบ้านทำใช้เอง และขายเล็กๆ น้อยๆ ในละแวกใกล้เคียง พัฒนามาสู่การผลิตครั้งละมากๆ เพื่อป้อนตลาด มีความจำเป็นตองปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับประโยชน์การใช้สอยตามวิถีของยุคสมัย จึงเป็นเรื่องท้าทายช่างรุ่นใหม่ว่าจะรักษาคุณค่า มรดก และเอกลักษณ์ ของพร้านาป้อเอาไว้ได้อย่างไร

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>