มรดกวัฒนธรรม-โบราณคดี-สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

พระพุทธสิหิงค์เมืองตรัง พระพุทธสิหิงค์ในเมืองไทยถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง มีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช แต่ละองค์จะมีตำนานแตกต่างกันไปบ้าง แต่ที่ตรงกันคือกล่าวถึงที่มาดั้งเดิมว่ามาจากลังกา ต่อมาก็มีพระพุทธสิหิงค์สกุลช่างนครศรีธรรมราช สังเกตได้ว่าเมืองที่มีพระพุทธสิหิงค์ส่วนใหญ่เป็นเมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครอง จึงน่าภูมิใจว่าเมืองตรังซึ่งเป็นเพียงเมืองท่าหน้าด่านในอดีตก็ยังมีพระพุทธสิหิงค์เป็นสิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

ตำนานพระพุทธสิหิงค์เมืองตรังเกี่ยวพันกับตำนานนางเลือดขาวของพัทลุง กล่าวว่า นางได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากลังกาผ่านมาทางเมืองตรัง และสร้างวัดขึ้น ณ ริมคลองนางน้อยเพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จากลังกา คือหลักฐานบ่งบอกว่าดินแดนเมืองตรังคือหนึ่งในเส้นทางการเผยแผ่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ที่เข้ามาสู่อาณาจักรไทย จากตรังจึงต่อไปยังเมืองนครศรีธรรมราชและพัทลุงก่อนจะขยายไปสู่เมืองอื่นๆ

ลักษณะขององค์พระพุทธสิหิงค์เมืองตรังทำด้วยสำริด ปางมารวิชัย ชัดสมาธิเพชรหน้าตักกว้างประมาณ 12 นิ้ว พระเกตุมาลาเป็นรูปบัวตูม ชายสังฆาฏิอยู่เหนือพระอุระ พระองค์ล่ำสัน พระพักตร์อิ่มเอิมแบบผลมะตูม ฐานเขียงซ้อนกันหลายๆ ชั้น ชั้นล่างสุดของฐานพระจะมีโลหะหล่อยื่นออกมาทั้งซ้ายขวา มีรูทั้ง 2 ข้าง ด้านหลังองค์พระมีห่วง 2 ห่วง สันนิษฐานว่าเป็นที่ใช้เสียบฉัตร

ต่อมาชาวบ้านแถบนั้นมีความศรัทธาร่วมกันสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลักษณะองค์พระเป็นเช่นเดียวกับพระพุทธสิหิงค์องค์เดิมแต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก หน้าตักกว้าง 60 นิ้ว สูง 99 นิ้ว บางตำนานก็เล่าว่า นางเลือดขาวเป็นผู้สร้างพระพุทธสิหิงค์จำลององค์นี้พร้อมกับการสร้างวัด ส่วนองค์เดิมนั้นกล่าวกันว่า พระตรังควิษยาณุรักษ์พิทักษณ์รัฐสีมาเจ้าเมืองตรังผู้มีบ้านเดิมอยู่ที่บ้านหัวถนนได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดหัวถนน ตำบลนาพละ อำเภอนาโยง

พระพุทธสิหิงค์จำลองนั้น ชาวบ้านนับถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถบนบานขอความช่วยเหลือได้ เมื่อประสบความสำเร็จตามที่บนบาน ผู้ขอจะแก้บนด้วยการจัดหนังตะลุงหรือมโนราห์ถวาย แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นการปิดทองคำเปลวที่องค์พระแทน

ส่วนพระพุทธสิหิงค์องค์เดิมนั้นเล่ากันว่า เป็นพระศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเป็นอันมาก ในวันสงกรานต์ของทุกๆ ปี ทางจังหวัดจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาให้ประชาชนได้สรงน้ำและกราบไหว้บูชา แล้วอัญเชิญกลับไปประดิษฐานที่วัดหัวถนนเป็นประจำ จนกระทั่งถึงวันที่ 18 มกราคม 2526 พระพุทธสิหิงค์ก็หายไปจากวัด

ใน พ.ศ. 2530 จังหวัดจัดสร้างพระพุทธสิหิงค์ขึ้นใหม่ ให้ชื่อว่า พระพุทธสิหิงค์มิ่งมงคลตรัง จำลองแบบมาจากภาพถ่ายของพระพุทธสิหิงค์ที่หายไป แต่มีขนาดใหญ่กว่า ประดิษฐานที่ศาลาพระพุทธสิหิงค์ สระกะพัง สุรินทร์

แม้วันนี้เรื่องพระพุทธสิหิงค์เมืองตรังจะเหลือเพียงตำนานคำบอกเล่าเท่านั้น แต่เรื่องราวของพระพุทธรูปองค์นี้ก็ควรจะได้บันทึกไว้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจชาวตรังว่า ครั้งหนึ่งเรามีของดีมีค่าแต่ไม่สามารถรักษาไว้ได้ต่อไปจะต้องช่วยกันระแวดระวังดูแลรักษา อย่าให้ของที่เหลืออยู่เกิดสูญหายซ้ำสองซ้ำสามขึ้นมาอีก เพราะเมื่อหายไปแล้ว โอกาสที่จะได้คืนนั้นแทบไม่มีเลย แม้จะสร้างขึ้นใหม่ได้ แต่จะให้มีคุณค่าเทียบของเดิมได้นั้นยากนัก

ศาลหลักเมืองตรัง

ศาลหลักเมืองตรัง

ศาลหลักเมืองตรัง ศาลหลักเมืองตรังตั้งอยู่ที่ตำบลควนธานี อำเภอกันตัง สถานที่ตั้งตรงนี้อยู่ในบริเวณที่ตั้งเมืองเก่า

หลักฐานการสร้างศาลหลักเมืองตรังเป็นเพียงคำบอกเล่าเชิงตำนานที่ถ่ายทอดกันมาในหมู่ชาวตรังรุ่นเก่า ๆ ว่า ศาลหลักเมืองแห่งนี้มีวิญญาณอภิบาลเป็นสตรี จึงเรียกกั นว่าเจ้าแม่ศาลหลักเมือง เนื่องจากในพิธีตั้งศาลหลักเมืองนั้น พระอุภัย (บางแห่งว่าพระอุไทย) เจ้าเมืองให้ทหารตีฆ้องร้องป่าวไปตามบ้านต่างๆ ถ้าหญิงขานรับ ให้นำตัวมาฝังในการตั้งศาลหลักเมือง ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้เรื่องจึงไม่ยอมขาน แต่หญิงมีครรภ์ผู้หนึ่งชื่อนางบุญมากำลังทำอาหารเย็นอยู่ในครัวเกิดพลั้งเผลอขานรับจึงถูกนำตัวไปฝังพร้อมพิธีฝังเสาหลักเมือง

บางกระแสเล่าว่า เจ้าเมืองพอใจนางทองเหมน้องสาวนายทองเอมสามีนางบุญมา แต่นางทองเหมไม่ยินยอม พี่ชายจึงพาหนีกลับบ้านเดิมที่พัทลุง นางบุญมาภรรยานายทองเอมจึงถูกนำตัวมาทำพิธีฝังพร้อมเสาหลักเมือง

ที่ตั้งศาลหลักเมืองเดิมเป็นเพิงเล็กๆ หลังคามุงสังกะสี เสาหลักเมืองมีจอมปลวกขึ้นจนมองไม่เห็นตัวเสา เมื่อถึง พ.ศ. ๒๕๐๔ – ๒๕๐๕ ทางจังหวัดได้สร้างศาลาจตุรมุขขึ้นแทนเพิงเก่า พ.ศ. ๒๕๓๐ สร้างรั้ว และพ.ศ. ๒๕๓๒ ลาดขึ้นรอบๆ ศาลา

ศาลาหลักเมืองตรังนับเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของชาวตรังทั่วไปจนเกิดความเชื่อถือศรัทธาในทางความศักดิ์สิทธิ์ มีการบนบานศาลกล่าวต่างๆ อยู่เสมอ เล่ากันว่า คณะหนังตะลุงมโนราห์ที่เดินทางผ่านศาลหลักเมืองนี้จะต้องตีกลองหรือบรรเลงดนตรีสักการะทุกครั้งที่ผ่าน เพื่อมิให้เกิดขัดข้องในการเดินทางและการแสดง อีกเรื่องหนึ่งคือ ตามประเพณีถือศีลกินเจของคนไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดตรังซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เมื่อขบวนแห่พระผ่านศาลหลักเมืองก็ต้องแวะหยุดสักการะนอกจากนี้ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดพิธีถือศีลกินเจที่บริเวณศาลหลักเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๑๑ และจัดต่อมาจนถึง พ.ศ. ๑๕๓๓ จึงเลิกไปเพราะทางจังหวัดเตรียมการบูรณะ

ใน พ.ศ. ๒๕๓๕ ทางจังหวัดเริ่มโครงการบูรณะศาลหลักเมืองตรัง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยสร้างอาคารศาลหลักเมืองเป็นอาคารทรงไทยจตุรมุข และจัดทำยอดเสาหลักเมืองใหม่ นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงพระสุหร่ายและทรงเจิม ในวันอังคารที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน แล้วอัญเชิญยอดเสาหลักเมืองกลับจังหวัดตรัง ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงเปิดศาลหลักเมืองตรังในวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘

ทุกวันนี้ความเชื่อถือศรัทธาต่อศาลหลักเมืองตรังยังคงสืบทอดต่อๆ มา ผู้คนที่ผ่านไปมามักยกมือไหว้คารวะ หรือหยุดแวะสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะศาลหลักเมืองตรังเป็นสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองตรังมานานกว่าร้อยปี

 

19718755_1567749649925020_623517934_o

หอนาฬิกาเมืองตรัง หอนาฬิกาเมืองตรัง ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกถนนพระรามหกที่ตัดกับถนนวิเศษกุล เป็นจุดที่ถือได้ว่าอยู่ตรงใจกลางของเมือง

หอนาฬิกาเดิมเป็นหอกระจายข่าวที่มีโครงสร้างเป็นไม้ บริเวณฐานทำเป็นวงกลมประดับด้วยอิฐแดง พื้นที่ในวงกลมใช้ปลูกไม้ดอก ต่อมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๙ มีการเพิ่มเติมป้ายประกาศที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อสื่อข่าวสารต่างๆ ปรับพื้นที่ต่างระดับใช้เป็นที่วางกระถางไม้ดอกไม้ประดับความสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

แม้หอนาฬิกาเมืองตรังจะเป็นงานสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ แต่มีความสำคัญต่อมาความรู้สึกของชาวตรังเสมอมาเพราะตั้งอยู่ตรงใจกลางเมือง จึงเป็นจุดหลักของการบอกทิศทางและการนัดหมายต่างๆ ได้ดี เมื่อข่าวในเชิงว่าหอนาฬิกาแห่งนี้ทำให้เกิดปัญหาจราจรจะต้องทุบทิ้งก็จะมีปฎิกิริยาคัดค้านจากประชาชนและสื่อมวลชนทันที เสียงสะท้อนเหล่านี้ย่อมแสดงว่า ชาวตรังมีความผูกพันกับหอนาฬิกาแห่งนี้จนถือเป็นสิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมืองได้อีกอย่างหนึ่ง

line

พระแสงราชศัสตราประจำเมืองตรัง พระแสงราชศัสตราถือเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคสำคัญประกอบพระราชอิสริยยศประจำพระองค์และประจำตำแหน่งพระมหากษัตริย์ อันแสดงถึงอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดิน

เมื่อพระมหากษัตริย์พระราชทานพระแสงราชศัสตราแก่ผู้ใด หมายความว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ให้บุคคลผู้นั้นมีอำนาจราชสิทธิ์เด็ดขาด ในการปฎิบัติราชกิจแทนพระองค์ในวาระสำคัญต่างๆ เช่น การทำศึกสงคราม หรือการปกครองดูแลหัวเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ บุคคลผู้ที่ได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตรา มีความชอบธรรมในฐานะผู้มีอำนาจเต็มสามารถออกคำสวั่งในกิจการงานใดๆ ได้เด็ดขาดทุกเรื่อง แม้จรกระทั่งสามารถตัดสินพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดขั้นสูงสุด คือ สั่งประหารชีวิตได้โดยไม่ต้องกราบบังคมทูลให้ทราบความก่อน พระแสงราชศัสตราจึงถือเป็น พระแสงดาบอาญาสิทธิ์

ธรรมเนียมการพระราชทานพระแสงราชศัสตรา เพิ่งมีหลักฐานปรากฎชัดในสมัยอยุธยา สืบทอดต่อมาจนเลิกไปเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ สมัยเดียวกับการเลิกประเพณีพระราชทานเครื่องยศสำหรับผู้ว่าราชการเมือง ในเครื่องยศนั้นจะมีกระบี่หรือดาบรวมอยู่ด้วย กระบี่นี้ใช้เป็นเครื่องแทงน้ำในการประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่เป็นระบบเทศาภิบาล พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออกตรวจราชการตามหัวเมืองต่างๆ ด้วยพระองค์เอง จึงทรงเห็นปัญหาประการหนึ่งคือ การขาดอาวุธสำหรับแทงน้ำในการประกอบพิธีถอน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในหัวเมือง จึงมีพระราชดำริจะฟื้นฟูธรรมเนียมการพระราชทานพระแสงราชศัสตรา แต่มีพระราชประสงค์แตกต่างไปจากรัชกาลก่อนๆ คือ จะพระราชทานไว้ประจำเมืองต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ และใช้สำหรับแทงน้ำในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นสำคัญ แต่ไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะใช้ลงโทษเหมือนพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ในสมัยก่อน

ในการพระราชทานพระแสงราชศัสตรานี้มีประเพณีว่า เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จไปประทับแรมในจังหวัดใด เมื่อใด ให้ถวายพระแสงราชศัสตรามาไว้ประจำพระองค์ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในเมืองนั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มธรรมเนียมการพระราชทานพระแสงราชศัสตราแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ก็ยังคงมีพระราชทานพระแสงศัสตราประจำเมืองต่อมา จนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงเลิกธรรมเนียมนี้ไป แต่ยังคงธรรมเนียมที่ผู้ว่าราชการเมืองจะต้องถวายพระแสงราชศัสตราแด่พระมหากษัตริย์เมื่อเสด็จประทับแรมที่เมืองนั้น

จังหวัดตรังได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ วันพระราชทานคือวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๕๘ ผู้รับคือ อำมาตย์ตรี พระตรังคบุรีศรีสมุทรเขตร (สินธุ์ เทพหัสดินฯ) ผู้ว่าราชการเมืองตรัง รับพระราชทาน ณ พลับพลาทองจตุรมุข ในสนามหน้าวัดตรังคภูมิพุทธาวาส

ลักษณะของพระแสงราชศัสตราประจำเมืองตรัง เป็นพระแสงด้ามทองฝักทองทอดบนพานแว่นฟ้า เป็นดาบไทยฝีมือช่างทองหลาง มีคำจารึกชื่อ เมืองตรัง บนใบพระแสงทั้ง ๒ ด้าน

ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระแสงองค์นี้ใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำเมืองตรัง ซึ่งจัดขึ้นตามโบราณราชประเพณีที่พระอารามหลวง คือวัดตันตยาภิรม

การถวายพระแสงราชศัสตราแด่พระมหากัตริย์ที่ประทับแรม ณ เมืองตรัง มีหลักฐานปรากฎ ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เมื่อคราวพะบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ในวันที่ ๒๗ มกราคม และวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๑ และเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เสด็จฯ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๒

ที่เก็บพระแสงราชศัสตราประจำเมืองตรังคือที่คลังจังหวัดตรัง

You may also like...