มรดกวัฒนธรรม-โบราณคดี-สถาปัตยกรรมดีเด่น

อุโบสถวัดเขากอบ วัดเขากอบตั้งอยู่ที่ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด

อุโบสถวัดเขากอบสร้างเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2503 โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคา 2 ชั้น หันหน้าทางทิศตะวันออก มีระเบียงโดยรอบ แต่มีลักษณะพิเศษ คือ มีมุข 3 ด้าน ได้แก่ ด้านหน้า ด้านหลัง และมุขข้างเพียงด้านเดียวคือด้านทิศใต้ ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นปูนปั้นลายฉลุโปร่ง เป็นช่องลมในตัว

 

อาคารโรงเรียนห้วยยอด (กลึงวิทยาคาร) อาคารโรงเรียนห้วยยอด (กลึงวิทยาคาร) ตั้งอยู่ที่ถนนเพชรเกษม ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด อาคารที่มีลักษณะน่าสนใจทางสถาปัตยกรรมคืออาคารเรียนหลังแรก

ประวัติการก่อสร้างอาคารเกิดขึ้นพร้อมกับการตั้งโรงเรียน เริ่มจากขุนกัลปศาสน์ (นายกลึง เสมรดิษฐ์) อดีตนายอำเภอเขาขาว เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2468 ปลูกสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อยเปิดสอนได้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2470 โดยยุบโรงเรียนตำหนักรื่นรมย์และโรงเรียนวัดโคกแค (วัดกาญจนาบริรักษณ์)

อาคารหลังนี้ยังได้ใช้เป็นที่เรียนของนักเรียนฝึกหัดครูมณฑลภูเก็ต เดิมอาศัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จังหวัดภูเก็ต ย้ายมาใช้ที่ตรัง ระหว่าง พ.ศ. 2471 – 2474

ลักษณะเป็นอาคารไม้ ขยายปีก 2 ข้าง โถงกลางมี 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องซีเมนต์รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ยกพื้นมีเสาคอนกรีตเตี้ยๆ รองรับ มีระเบียงหน้าทั้ง 2 ปีก แต่ละปีกมี 3 ห้อง หน้าต่างและช่องลมเป็นบานเกร็ดไม้ เป็นอาคารที่ใช้วัสดุในท้องถิ่น และรูปทรงเหมาะกับสภาพภูมิอากาศ

เมื่อ พ.ศ. 2539 คณะกรรมการโรงเรียนเห็นว่าตัวอาคารชำรุดทรุดโทรมมาก จึงจัดการซ่อมบำรุงใหม่ ให้ชื่ออาคารว่า อาคารอนุสรณ์ศรัทธา เป็นที่น่าสังเกตว่า การซ่อมบำรุงครั้งนี้ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ศิลปกรรมท้องถิ่น คือพยายามรักษารูปแบบเดิมไว้ทุกประการ สร้างความภาคภูมิใจให้ชุมชนชาวอำเภอห้วยยอดเป็นอย่างยิ่ง

สถานีรถไฟกันตัง การสร้างทางรถไฟสายใต้เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2454 จากเพชรบุรีลงมาถึงทุ่งสงแล้วแยกไปทางอำเภอหาดใหญ่ต่อไปยังมลายูสายหนึ่ง และมาสุดท้างที่ท่าเรือกันตังอีกสายหนึ่ง ตามประวัติของการรถไฟกล่าวว่า เส้นทางรถไฟจากกันตังถึงสถานีห้วยยอดและสถานีทุ่งสงเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2456

ความสำคัญของสถานีรถไฟกันตังในสมัยแรกเริ่มคือ เป็นที่รับส่งสินค้ากับต่างประเทศ ซึ่งมีรางรถไฟต่อไปถึงท่าเทียบเรือ ส่วนที่สถานีรถไฟนั้นเดิมเคยใช้เป็นที่ตั้งโรงงานชั่วคราวประกอบรถจักรและล้อเลื่อน ซึ่งขนถ่ายจากต่างประเทศมาขึ้นที่ท่าเรือกันตังด้วย

ตัวอาคารสถานีดูเด่นด้วยรูปลักษณ์และสีสัน เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยา ทาสีเหลืองสลับเทา ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้านหน้ามีมุมยื่น ตกแต่งมุมเสาด้วยลวดลายไม้ฉลุ ปัจจุบันมีการบูรณะซ่อมแซมแต่ยังคงสภาพเดิมไว้มาก

You may also like...