มรดกวัฒนธรรม-โบราณคดี-แหล่งประวัติศาสตร์

แหล่งประวัติศาสตร์เกาะลิบง ตามประวัติเมืองตรัง โต๊ะฮ้าหวาหรือโต๊ะปังกะหวา ผู้นำชุมชนในเกาะลิบง ได้เป็นพระยาลิบงตำแหน่งเจ้าเมือง ต่อมาเมื่อสิ้นพระยาลิบงแล้ว หลวงฤทธิสงครามได้เป็นเจ้าเมือง

สมัยที่หลวงฤทธิสงครามเป็นเจ้าเมือง ตรงกับการเกิดศึกถลาง ในพ.ศ. 2352 ฝ่ายไทยระดมกำลังจากหัวเมืองต่างๆ มารับศึกพม่า โดยให้เกาะลิบงเป็นชุมชนทัพเรือจากเมืองต่างๆ ในฝ่ายใต้ ยกพลไปรบพม่าจนได้ชัยชนะในที่สุด พอถึง พ.ศ. 2354 หลวงฤทธิสงครามถึงแก่กรรม เกาะลิบงจึงคลายความสำคัญลง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นที่ตั้งด่านภาษี อยู่ที่บริเวณแหลมจุโหย ปรากฏในจดหมายเหตุไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. 121 พระนิพนธ์ใน สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ว่า

…เกาะลิบงนั้น แขกเรียกปูลูติลิบอง แปลว่าเกาะไม้เหลาชโอน เดิมว่าเป็นเมืองรายาแขก ว่ารอยคูและรากอิฐยังมีปรากฏ แลว่าเขาขุดได้ถ้วยชามมากในเมืองเก่านั้น บ่าย 5.50 ถึงหน้าโรงภาษีชายเกาะลิบองด้านในทอดสมอแล้วึ้นไปดูบนโรงภาษีหาที่นอนเวลา 2 ทุ่ม ลงไปกินข้าวในเรือรบ กินแล้วกลับมานอนบนโรงภาษี

หลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเกาะลิบงยังมีปรากฏในบริเวณ หมู่ที่ 1 ของตำบลเกาะลิบง คือบริเวณตั้งแต่ปากคลองบ้านพร้าวเข้าไปจนถึงบ้านโคกท้อนและควนสระ

บริเวณบ้านโคกท้อนมีหลุมฝังศพที่ชาวบ้านกล่าวว่าเป็นหลุม โต๊ะฮ้าหวา หรือ โต๊ะกะหวา อยู่ในสวนยาง สภาพเป็นเนินดินเตี้ยๆ กว้างยาวประมาณ 1 x 3 เมตร มีเสาหลักทำจากไม้เคี่ยวปักหัวท้าย ใกล้เนินดินนี้มีต้นกระท้อนต้นใหญ่นับอายุประมาณร้อยปี และมีแนวคูคลองเป็นเหมือนคลองขุด ทางด้านตะวันตกเป็นควน หรือภูเขาย่อมๆ มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 36 x 50 เมตร ปัจจุบันตื้นเขินไปแล้ว ชาวบ้านเรียกว่า ควนสระและกล่าวว่าเป็นสระน้ำที่เจ้าเมืองสร้างไว้ อีกที่หนึ่งคือบริเวณปากคลองบ้านพร้าว ฝั่งตะวันออกของคลองมีซากกำแพงเมืองเป็นเสาไม้เคี่ยมขนาดใหญ่ยังโผล่ให้เห็นเป็นแนว ส่วนทางฝั่งตะวันตก ชาวบ้านแถบนั้นเล่าว่ามีรอยเสาเช่นกันแต่ถูกทรายกลบทับหมดแล้ว

ถัดไปจากปากคลองบ้านพร้าวมี ทุ่งหัวคน ชาวบ้านเชื่อกันว่า ที่ตรงนี้คือแดนประหารนักโทษ เพราะเคยพบหัวกะโหลกคน และเครื่องถ้วยชามเป็นจำนวนมาก ใกล้ๆ กันจะมี แหลมโต๊ะชัย ชาวบ้านสำรวจพบทางเข้าถ้ำเมื่อประมาณ พ.ศ. 2534 ภายในถ้ำมีวัตถุโบราณจำนวนมาก เช่น แหวน กำไล แจกัน หม้อ และเครื่องถ้วยชาม ทั้งที่มีสภาพสมบูรณ์และชำรุด

แหล่งประวัติศาสตร์เมืองเก่าควนธานี หลักฐานความเป็นเมืองที่ตำบลควนธานี ยังมีร่องรอยต่างๆ ในบริเวณตั้งแต่ศาลหลักเมืองลงไปจดชายคลองจากท่าแก้มดำจนถึงท่าหัวไทร

ถัดจากศาลหลักเมืองลงไปจะมีร่องรอยคุกโบราณ กระสุนปืนใหญ่ เมื่อลงไปใกล้ริมน้ำ จะมีซากอิฐและแนวกำแพงซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มาสร้างไว้ตั้งใจจะให้เป็นที่ว่าราชการเมือง นอกจากนั้นมีเหรียญประมาณ 3.8 เซนติเมตร จารึกปี ค.ศ. 1799 หรือ พ.ศ. 2342 ด้วยอักษรภาษาต่างประเทศ คงจะเป็นเหรียญที่มาจากการติดต่อค้าขายกับเรือต่างประเทศ

ในจดหมายเหตุระยะทางเสด็จฯ ประพาสฯรอบแหลมมลายู ร.ศ. 109 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงบริเวณที่ตั้งเมืองที่ควนธานีไว้ชัดเจนว่า

…ถึงตำบลแก้มดำ มีเรือเมล์จอดอยู่ลำ 1 มีโรงภาษีที่จีนนิยมมาทำ มีโรงหลายหลัง เดิมว่าจะทำเป็นตลาด มีทางลงมาแต่ควนธานีไม่ถึง 100 เส้น มีคลองขุดตัดคลอง 1 พระยามนตรีทำ แต่คลองนั้นเล็กว่าหญ้าขึ้นมากมาออกที่ริมท่าทีจะขึ้นควนธานี…

บริเวณท่าแก้มดำคือบริเวณสะดานข้ามแม่น้ำตรังในปัจจุบันส่วนท่าที่จะขึ้นควนธานีคือท่าหัวไทร มีคลองขุดเชื่อมระหว่าง 2 ท่านี้ ผู้ดำเนินการขุดคลองคือพระยามนตรีสุริยวงศ์ ข้าหลวงหัวเมืองฝ่ายตะวันตกซึ่งมาประจำที่เมืองตรัง สภาพที่ตั้งเมืองในครั้งนั้นปรากฏในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ว่า

…ที่ควนธานีมิใช่ควนเดียว ดูเป็นหลายควนต่อๆ กัน ต้องเดินขึ้นสูงลงต่ำบ่อยๆ ในลูกที่ปลูกพลับพลานี้ มีหนทางตัดไปกลางสาย 1 เป็นทางใหญ่ปลูกต้นประดู่รายสองฟาก…ทางนี้เป็นต้นทางที่จะไปยังทับเที่ยง มีวัดอยู่ที่ริมพลับพลาคือวัดควนธานี มีโรงโทรเลขอยู่ริมทาง มีทางตัดลงไปจากเนินไปที่แก้มดำอีกทาง 1 แต่เดินตัดลงเนินนี้ไปขึ้นเนินสวนตรัง ที่ริมทางนั้นมีศาลหลักเมือง…ไปไม่มากถึงสวนพระตรังที่เป็นคอเวอนเมนต์อยู่ มีหมากมะพร้าวอย่ข้างปลายสวนต้นทางมาก ต่อไปจึงเป็นหมู่จำปาดะ ในหมู่นี้สมเด็จเจ้าพระยามาทำตึกข้าหลวงไว้…

ใกล้ไปทางท่าเรือแก้มดำ มีซากเตาเผาอิฐและฐานเจดีย์เก่า เตาเผาอิฐมีลักษณะเป็นหลุมลึก ขอบหลุมเป็นฐานอิฐที่ก่อขึ้นมาจากพื้น มีอิฐเก่าๆ เหลืออยู่หลายก้อน เป็นชนิดเดียวกับที่พบที่ทำเนียบของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

ส่วนฐานเจดีย์เก่า จากการสำรวจเป็นเพียงเนินดินที่สูงขึ้นมาจากพื้นดิน ตรงกลางจะมีเสาที่เป็นไม้อยู่ 3 เสา สูงประมาณ 150 เซนติเมตร ฐานรากเจดีย์กว้างประมาณ 9 x 9 เมตร แผ่นอิฐที่สำรวจพบมีสภาพพบมีสภาพที่สมบูรณ์และมีขนาดเดียวกันกับอิฐที่พบที่เตาเผาอิฐ สันนิษฐานว่ามาจากเตาเผาเดียวกัน

แหล่งประวัติศาสตร์อำเภอกันตัง พ.ศ. 2436 พระยารัษฎาฯ ย้ายที่ตั้งเมืองจากควนธานีไปตั้งที่กันตัง จัดสร้างสถานที่ราชการต่างๆ เช่น ศาลากลาง ศาล ที่ว่าการอำเภอ ฯลฯ เป็นเครื่องผูกฝาจากชั่วคราวขึ้นก่อน จนปีพ.ศ. 2440 จึงกราบบังคมทูลรายงานขอจัดสร้างสถานที่ราชการเหล่านี้ขึ้นใหม่ พร้อมกับการพัฒนาเมืองตรังให้เป็นเมืองท่าค้าขาย จัดสร้างท่าเรือและสะพานท่าเทียบเรือ เช่น สะพานเจ้าฟ้า ซึ่งสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเปิดและพระราชทานนาม เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2445 ในย่านนี้ยังมีบริษัทที่ทำการค้าทางเรือกับต่างประเทศในสมัยพระยารัษฎาฯ สืบทอดกิจการมาจนถึงปัจจุบัน

ใน พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เมืองตรัง ทรงพระราชนิพนธ์ถึงสถานที่ต่างๆ ไว้หลายแห่ง เช่น

…ตำหนักที่ประทับตั้งอยู่บนไหล่เขา ที่พักข้าราชการตั้งลดหลั่นเป็นชั้นๆ กันลงไป อยู่ข้างน่าสบายมาก ตำหนักเป็นเรือนบังกะโลหลังเล็กๆ ชั้นเดียว ทำด้วยไม้หลังคามุงจาก มีห้องหลายห้อง แต่เป็นห้องย่อมๆ ทั้งนั้นอยู่ข้างกะหนุงกะหนิงพอใช้ ทูลกระหม่อมพระราชทานนามว่า ตำหนักจันทน์…

ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวคือที่ตั้งโรงเรียนกันตังพิทยากร และสำนักงานของหน่วยราชกาลต่างๆ จนถึงสระน้ำเชิงควนตำหนักจันทน์ หลังการรับเสด็จ พ.ศ. 2452 แล้ว ก็ใช้เป็นเรือนรับรอง บ้านพัก และสโมสรข้าราชการรัชกาลที่ 6 ทรงเรียกสถานที่นี้ว่าเป็นสวนบันเทิงสถาน ต่อมาชาวกันตังเรียกกันว่า ในคลับ หมายถึงสโมสรนั่นเอง ตัวอาคารตามพระราชนิพนธ์ไม่มีแล้ว คงมีแต่ชื่อซึ่งใช้เรียกสวนสาธารณะของเทศบาลที่อยู่บนควนติดกับบริเวณตำหนักจันทน์เดิม ที่สวนสาธารณะบนควนนั้นยังมีร่องรอยของสนามเพลาะ และที่ตั้งกองกำลังทหารญี่ปุ่นเมื่อครั้งสงครามโลกที่ 2 ซึ่งทางเทศบาลได้ดูแลให้อยู่ในสภาพเดิมเพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เนื้อความในพระราชนิพนธ์ที่น่าสนใจอีกตอนหนึ่งคือตอนกล่าวถึงอาคารสถานที่ราชการต่างๆ

…ฝนฟ้าโปร่งดีแล้ว จึงทรงรถม้าเสด็จไปทอดพระเนตรสถานที่ราชการต่างๆ เสด็จที่ศาลารัฐบาลก่อน แล้วเสด็จที่ศาลและที่ว่าการอำเภอเมือง ซึ่งตั้งอยู่บนควนอันเกียวกันทั้ง 3 หลัง ศาลารัฐบาลอยู่กลาง เป็นตึกใหญ่ 2 ชั้น แต่ด้านหลังที่เท จึงเห็นเป็นตึก 3 ชั้น ศาลกับที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ขวาและซ้ายศาลารัฐบาล เป็นตึกชั้นเดียวทั้ง 2 หลัง จากที่นี้เสด็จไปทอดพระเนตรเรือนจำที่ตั้งอยู่เชิงเนิน…

สถานที่ดังกล่าวทรุดโทรมและถูกรื้อถอนไปตามกาลเวลา เหลือหลังสุดท้ายคือศาล ใช้เป็นที่ว่าการอำเภอจนถึง พ.ศ. 2511 หลังจากได้ที่ว่าการอำเภอหลังใหม่แล้วก็ถูกรื้อถอนใน 2-3 ปีต่อมา จนถึง พ.ศ. 2539 ทางอำเภอใช้สถานที่ตรงนั้นสร้างศาลาประชาคมอำเภอกันตัง

พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 1 ถนนค่ายพิทักษ์ ใกล้กับสำนักงานเทศบาลเมืองกันตัง เดิมสถานที่นี้คือบ้านพระยารัษฎาฯ หรือจวนผู้ว่าฯ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ในค่าย นับเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของอำเภอกันตัง ซึ่งในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกล่าวถึงไว้ว่า

…ครั้นทรงรถประพาสทั่วแล้ว ได้เสด็จไปที่บ้านเจ้าคุณรัษฎา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับตำหนัก ที่นี่ท่านจองไว้เมื่อครั้งเป็นเจ้าเมือง มีคนอยู่ที่นั้นด้วย ท่านให้นามว่าควนรัษฎา ที่ท่างของท่านน่าสบายร่มรื่นดี…

หลังจากที่พระยารัษฎาฯ ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว บ้านหลังนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาท เมื่อถึง พ.ศ. 2534 โรงเรียนกันตังพิทยากรร่วมกับหน่วยราชการและประชาชนในจังหวัดตรัง ดำริจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชีวิตและงานของพระยารัษฎาฯ ติดต่อขอใช้สถานที่จากทายาท คือดาโต๊ะเบียนแจง ณ ระนอง และได้รับอนุญาตตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2535 การจัดพิพิธภัณฑ์เน้นบรรยากาศที่เป็นบ้าน ให้ดูเสมือนว่าเจ้าของบ้านยังคงอยู่จึงมีหุ่นจำลองพระยารัษฎาฯ เป็นสื่อสำคัญ มีเครื่องใช้เดิมในบ้าน และภาพถ่ายต่างๆ ที่แสดงถึงชีวิตและงานของพระยารัษฎาฯ และประวัติศาสตร์ของเมืองตรังเมื่อครั้งตั้งเมืองที่กันตัง

พิพิธภัณฑ์แห่งนึ้จึงเป็นแหล่งหนึ่งที่นักเรียนนักศึกษา ประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามามิได้ขาด รวมทั้ง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ ที่บันทึกไว้ในสมุดเยี่ยมของพิพิธภัณฑ์ ว่า

สร้างตรังเป็นศรีตรัง สร้างสวนยางเป็นสายใย

ให้แจ้งแห่งหัวใจ ท่านเจาคุณรัษฎาฯ

You may also like...