มรดกธรรมชาติ – พืชพรรณไม้

จากป่าต้นน้ำถึงน้ำตกและแนวธารตลอดไปจนถึงป่าชายเลน คือแหล่งพืชพรรณธรรมชาตินับร้อยนับพัน และไม้มีค่าหายากหลายชนิด

ในบริเวณตอนเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ท้องที่ตำบลช่อง อำเภอนาโยง คือที่ตั้งของป่าดงดิบชื้นเขาช่อง เป็นป่าที่มีความสมบูรณ์อยู่มาก มีพรรณไม้ขนาดใหญ่หลายชนิด เช่น หลุมพอ ยาง ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ไข่เจียว กระบาก กฤษณา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพวกไผ่ ปาล์ม หวาย ตลอดจนพืชวงศ์ขิง วงศ์เฟิร์น และพืชสมุนไพรต่างๆ ด้วย

 

ไม้เคี่ยม เป็นไม้มีชื่อของเมืองตรังชนิดหนึ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cotylelo bium melanoxylon Pierre, และมีชื่อพ้องว่า C.lanceolatum Craib เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่มีชุกชุมในป่าดิบทางภาคใต้ เนื้อละเอียด แข็ง เหนียว หนัก แข็งแรงมาก ใช้ในน้ำทนทานดี เลื่อยไส และตกแต่งได้ไม่สู้ยาก ใช้ทำบ้านเรือน เรือ แพ สะพาน เขื่อน ไม้หมอนรถไฟ และการก่อสร้างอื่นๆ ที่ต้องการความแข็งแรงทนทานมาก จากความแข็งแรงนี้เองทำให้มีสำนวนว่า หนักแน่แก่นเคี่ยม

ในจังหวัดตรังนิยมใช้ไม้เคี่ยมใส่ในน้ำตาลจาก เพื่อให้รสฝาดของไม้เคี่ยมรักษาน้ำตาลมิให้บูดเสียเร็ว ทั้งยังใช้ใส่น้ำตามเมาเพื่อให้รสกลมกล่อม

เปลือกไม้เคี่ยมใช้เป็นยากลางบ้าน หรับห้ามเลือดบาดแผลสด และใช้เป็นยาชะล้างบาดแผล นิยมใช้เคี่ยมดำมากกว่าเคี่ยมขาว ชันจากไม้เคี่ยมเป็นยาสมานแผลและแก้ท้องร่วง ยอด ราก ดอก ลำต้นตำพอกแผลแก้ฟกบวมเน่าเปื่อย หรือใช้ผสมกับเปลือกตานแดง (ขี้อาย) เปลือกหว้าต้มบ้วนปากแก้ปากเปื่อย

การตีมีดพร้านาป้อที่มีชื่อเสียงของเมืองตรัง จะใช้ถ่านซึ่งทำจากไม้เคี่ยม เพราะประหยัด ให้ความร้อนสูงไม่แพ้ถ่านหิน

ในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง มีรายงานินค้ากล่าวถึงการส่งออกไม้เคี่ยมว่า ทำเป็นไม้ขนาด 8 x 2 นิ้ว สำหรับทำพื้น และ 8 x 6 นิ้ว สำหรับทำเป็นไม้หมอนทางรถไฟส่งไปเมืองเดลีและเมืองอื่นๆ ส่วนไม้เล็กขนาดกำนั้นทำเป็นเสาจากการส่งออกไม้นี้ทำให้พระยารัษฎาฯ ผู้มองการณ์ไกลได้ให้แนวคิดไว้ว่า ไม้เล็กไมควรตัดบรรทุกออกจากเมือง เกลือกว่านานไปจะไม่มีไม้ใหญ่ เพราะไม้เคี่ยมนี้เป็นไม้แข็งดีที่สุด ในหัวเมืองฝ่ายแหลมมลายูชั้นนอกนั้น มีอยู่ที่เมืองตรังกับกระบี่เท่านั้น ควรจะมีกำหนดให้ตัด

แม้ว่าพระยารัษฎาฯ จะดำริถึงการรักษาไม้เคี่ยมมานานปี แต่ในเมืองตรังวันนี้ไม้เคี่ยมคือไม้หายากชนิดหนึ่ง คนรุ่นหลังได้เห็นเพียงไม้เคี่ยมที่เป็นไม้กระดานปูพื้นหรือเสาสะพาน หรือตอเคี่ยมที่นักตกแต่งสวนไปเสาะหาขุดมาประดับสวน และอาจได้ยินชื่อคนบางคนที่ผิวคล้ำจัดว่า เคี่ยม ตามสำนวน ดำเหมือนตอเคี่ยม

 

ไม้มะริด คือไม้อีกชนิดหนึ่งที่กล่าวถึงในประวัติศาสตร์ของเมืองตรัง เป็นไม้ที่ใช้ส่งส่วยให้เมืองนครศรีธรรมราชมาแต่ดั้งเดิม ในคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเมืองตรัง พ.ศ. 2433 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงเครื่องเรือนเครื่องใช้ประเภทตลับ โถ ที่ทำด้วยไม้มะริด และกล่าวถึงไม้มะริดในเมืองตรังว่า ได้ถามถึงไม้มะริดว่าไม่มีซื้อขายกัน แต่ต้นที่มีอยู่นั้นไม่ใช่บนเขาสูง ที่ต่ำๆ ก็มี

ไม้มะริดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros philippensis A. DC. ชื่อพ้อง D. discolour Willd. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Butter fruit เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ขึ้นประปรายห่างๆ ในป่าดิบและป่าเบญจพรรณทางภาคใต้ กะพี้สีชมพูอ่อน หนาหรือลึกประมาณ 20 เมตร แก่นสีดำแกมน้ำตาล แถบสีน้ำตามไหม้ หรือน้ำตาลแกมแดงผสม เนื้อละเอียดเหนียว แข็ง และหนักมาก เป็นไม้ที่ทนทาน เลื่อยไสและตกแต่งยาก แต่ขัดชักเงาได้ดี ใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ชั้นดี ด้ามเครื่องมือ หีบบุหรี่ หีบประดับมุก กรอบรูป ฯลฯ

ปัจจุบันจากข้อมูลของสำนักงานป่าไม้ ไม่ปรากฏว่ามีไม้มะริด ที่ใดในป่าเมืองตรัง แต่ยังมีไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับไม้มะริด คือไม้ตานดำ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ขาวดำ หรือไม้สาวดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros transitoria Bakh. ซึ่งในเมืองตรังเคยมีมากในป่าแถบอำเภอปะเหลียนเชื่อมต่อกับจังหวัดสตูล โดยเฉพาะที่บ้านควน ไม้ดำซึ่งเป็นแหล่งไม้ที่ใช้ส่งส่วยผ่านเมืองพัทลุงไปยังเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อจะส่งไปยังกรุงศรีอยุธยาอีกต่อหนึ่ง

 

ไม้เทพธาโร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าจวงหอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum porrectum Kosterm. และมีชื่อพ้องว่า C. parthenoxylon Nees มีทั่วไปในป่าดิบบนเขา เนื้อไม้สีเทาแกมน้ำตาล ริ้วสีเขียวแกมเหลือง มีกลิ่นหอมฉุน เนื้อเป็นมันเลื่อม เสี้ยนตรงหรือเป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย เหนียว แข็งปานกลาง เลื่อย ไส ตกแต่งง่าย ใช้ในการแกะสลักบางอย่าง ทำเตียงนอน ตู้และหีบใส่เสื้อผ้าที่กันมอดและกันแมลงตัวอื่นๆ ได้ ในแถบพื้นที่ตำบลคลองมวนเคยมีไม้เทพธาโรนี้เป็นจำนวนมาก แต่ถูกโค่นทำลายปรับพื้นที่เป็นสวนยางหมดแล้ว ปัจจุบันมีผู้ไปขุดรากมาใช้แกะสลักเป็นรูปต่างๆ เพื่อนำมาขายเป็นของที่ระลึก

 

ปาล์มเจ้าเมืองตรัง ปาล์มเป็นพันธุ์ไม้อีกกลุ่มที่พบมากในป่าดงดิบชื้นของเมืองตรัง สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้เขาช่องได้รวบรวมพันธุ์ปาล์มไว้มากมายหลายชนิด โดยเฉพาะพวกหวายจะมีเกือบครบทุกชนิด รวมทั้งไม้หายากที่กล่าวกันว่ามีถิ่นกำเนิดในเมืองตรังคือ ปาล์มเจ้าเมืองตรัง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Licuala peltata Roxb.

ประวัติของปาล์มชนิดนี้ ขุนพิศาลีมารักษ์ (เจียม จารุจินดา) อดีตนายำเภอห้วยยอดและกันตัง เขียนไว้ว่า พระยารัษฎาฯ พบที่บางสัก เห็นรูปทรงงามดีก็นำไปใส่กระถางเลี้ยงไว้ ต่อมาส่งเข้าประกวดที่สมาคมพฤษศาสตร์เมืองปีนัง พวกกรรมการที่เป็นฝรั่งเห็นเข้าชอบใจ ตัดสินให้รางวัล และตั้งชื่อให้ว่า Governor of Trang อันเป็นที่มาของชื่อ เจ้าเมืองตรัง

ป่าเมืองตรังวันนี้ ไม่ว่าในบางสักถิ่นเดิมหรือในป่าดงดิบชื้น ไม่มีใครเคยได้พบต้นตอของปาล์มเจ้าเมืองตรังอีกเลย แต่มรดกเมืองตรังชิ้นนี้ก็ยังมีให้ชื่นชมจากที่ปลูกไว้ตามบ้านและตามสถานที่สำคัญต่างๆ

 

จั๋งน้ำพราย พืชสกุลปาล์มในประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่า 150 ชนิด อยู่ในป่าดงดิบชื้นทางภาคใต้ประมาณ 100 ชนิด แต่ละชนิดมีรูปทรง ก้าน ใบ แตกต่างกันออกไปเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว ในป่าเมืองตรังมีปาล์มอีกชนิดหนึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักนิยมปาล์มคือจั๋งน้ำพราย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhapis siamensis Hodel ส่วนในภาษาอังกฤษเรียก Lady palm หรือ Rhapis palm ชื่อจั๋งน้ำพรายเป็นการเรียกตามถิ่นกำเนิด เพราะพบครั้งแรกในบริเวณเขาน้ำพราย ตำบลปากคม อำเภอห้วยยอด

รูปทรงของจั๋งน้ำพรายเป็นปาล์มขนาดเล็ก แตกกอคล้ายไม้ไผ่ มีทรงพุ่มโปร่ง ก้านใบยาว ใบสีเขียวเป็นมัน จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั้งในกระถางและลงดิน

ปัจจุบันจั๋งน้ำพรายในสภาพธรรมชาติมีเหลือน้อยเนื่องจากถูกขุดย้ายออกไปจากพื้นที่เดิม เมื่อขุดไปแล้วอัตราการรอดก็น้อยเพราะต้องไปอยู่ในที่ผิดธรรมชาติ ประกอบกับการติดผลน้อย เมล็ดพันธุ์ที่กระจายตามธรรมชาติก็พลอยน้อยไปด้วย หากสภาพการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จั๋งน้ำพรายอาจจะหมดไปจากเขาน้ำพราย เช่นเดียวกับที่ปาล์มเจ้าเมืองตรังไม่มีเหลือในป่าเมืองตรัง

 

พริกไทย พริกไทยเป็นพืชเมืองร้อน ถิ่นกำเนิดเดิมคืออินเดีย จัดเป็นประเภทเครื่องเทศและสมุนไพร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Piper nigrum Linn. วงศ์ Piperaceae พริกไทยที่มีชื่อของเมืองตรังคือพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน

ในอดีต จังหวัดตรังได้ชื่อว่าปลูกพริกไทยได้มากจนเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้สูง และเป็นที่ยอมรับในกลุ่มชาวต่างประเทศว่า พริกไทยตรังมีคุณภาพดีเยี่ยม ชื่อ Trang pepper เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในตลาดยุโรปเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จฯเมืองตรัง ร.ศ. 109 หลวงภิรมย์สมบัติปลัดจีน กราบทูลว่า

“มาอยู่เมืองตรัง 50 ปีเศษแล้ว แต่ก่อนมีสวนพริกไทยน้อย ตัวมาคิดทำการใหญ่โตขึ้นจึงได้มีภาษีสวน สวนของตัวเองพริกออกปีหนึ่ง 300 หาบเศษ” และจีนปานเจ้าภาษีกราบทูลว่า “พริกไทยเมืองนี้ถ้ามากอยู่ใน18,000 หาบ อย่างน้อยอยู่ใน 7,000 หาบ”

ต่อมาเกิดราคาพริกไทยตกต่ำ ประกอบกับจังหวัดมีพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงกว่า คือยางพารา ทำให้สวนพริกไทยเกือบจะหมดไปในที่สุด แม้ภายหลังทางการจะได้พยายามส่งเสริมการปลูกพริกไทยขึ้นอีกก็ยังได้รับความนิยมน้อย แต่พริกไทยพันธุ์ปะเหลียนดั้งเดิมของเมืองตรังก็ยังคงมีอยู่ทั่วไปตามบ้าน

 

ผักกูด ผักกูดเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Athyrium esculentum Copel. วงศ์ Athyriaceae ชื่อพ้องคือ Diplazium esculentum Sw. ชอบขึ้นตามที่ชื้น พบบริเวณที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ลำน้ำทั่วไป ตั้งแต่ที่ราบตรังนาจนไปถึงตามริมห้วย ในป่าต้นน้ำของเมืองตรังยังมีผักกูดอยู่อีกมาก นับเป็นพืชชั้นล่างที่เป็นตัวดัชนีชี้วัดความชุ่มชื้นของแผ่นดิน เพราะที่ใดมีผักกูดที่นั้นจะไม่ขาดน้ำ

ผักกูดเป็นพืชที่ใช้เป็นอาหารได้ มีโปรตีนสูง นิยมนำมาลวก หรือลวกราดกะทิ จิ้มน้ำพริก ยำ หรือจะผัด ต้ม แกง ก็ได้ ในบรรดาผักที่วางขายอยู่ในตลาดสดจึงมีผักกูดรวมอยู่ด้วยเสมอ

 

สาคู จากมรดกพืชพรรณแห่งตรังเขาลงมาสู่พื้นล่าง ตามที่ราบลุ่มตรังนาที่ยังคงความชุ่มชื้นอยู่ได้ เพราะมีพืชพรรณชนิดหนึ่งขึ้นอยู่เป็นหย่อมๆ ตามแหล่งน้ำกลางทุ่ง นั่นคือ สาคู

สาคูเป็นพืชตระกูลปาล์ม มี 2 ชนิด ชนิดที่ก้านช่อดอกไม้ไม่มีหนาม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Metroxylon sagu Rottb. ส่วนชนิดที่ก้านช่อดอกมีหนามชื่อ Metroxylon rumphii Mart. คำว่าสาคู มาจากภาษามลายู ภาษาอังกฤษเรียกว่า Sago palm

ต้นสาคูมิได้มีเพียงในจังหวัดตรังเท่านั้น หากขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบภาคใต้ของประเทศไทย ลงไปจนถึงอินโดนีเซีย ในจังหวัดตรัง สาคูเป็นพืชสำคัญต่อวิถีชีวิตแห่งชุมชนตรังนา จากการสำรวจป่าสาคูในอำเภอเมืองและอำเภอนาโยง ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโรงเรียนสวัสดิ์รัตนาภิมุข พบว่า มีพืชในป่าสาคูไม่ต่ำกว่า 50 ชนิด เช่น ไทร จิก มะเดื่อ คลุ้ม ผักหนาม ฯลฯ ความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำทำให้บริเวณป่าสาคูมีน้ำตลอดปี จึงมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการวางไข่ ขยายพันธุ์และเป็นที่หลบซ่อนของปลาต่างๆ ได้ดี สัตว์น้ำอื่นๆ และสัตว์ที่เมาหาอาหารก็มีหลายชนิด ป่าสาคูจึงเป็นบ่อน้ำธรรมชาติและเป็นระบบนิเวศย่อยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญยิ่งในเขตที่ราบลุ่ม

ผลิตภัณฑ์จากต้นสาคูเป็นตัวทำรายได้หลายทาง ใบสาคูใช้เย็บจากมุงหลังคา ห่อขนมจาก ทางสาคูใช้ทำคอกสัตว์ รั้งแบบง่ายๆ ผิวเปลือกของทางสาคูนำมาจักตอกสานเสื่ไว้ปูนอนหรือตากข้าว

คนทั่วไปรู้จักสาคูที่มาทำเป็นขนมหวาน แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าสาคูมาจากต้นสาคูได้อย่างไร เมื่อต้นสาคูโตเต็มที่ตอนอายุประมาณ 8-10 ปี จะมีดอกออกตรงยอดคล้ายเขากวาง ชาวบ้านเรียกว่า แตกเขากวาง เมื่อออกผลแล้วสาคูจะตาย ช่วงนี้เองที่ต้นสาคูมีแป้งสะสมอยู่เต็ม เห็นได้จากก้านใบที่มีละอองขาวๆ จับอยู่ ชาวบ้านจะรู้ว่าตอนนี้ทำแป้งสาคูได้แล้ว

กระบวนการทำแป้งสาคูเริ่มจากการตัดต้นสาคู ต้องตัดให้สูงจากพื้นดินประมาณครึ่งเมตร ตัดเป็นท่อนๆ ท่อนละ 1 นำท่อนสาคูมาผ่าเป็นสี่เสี้ยว ขูดเอาไส้ในมาเป็นฝอยแป้งแล้วนำไปละลายในน้ำสะอาด คั้นเอากากออกและใส่ในภาชนะทรงสูง ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 1 คืน ช่วงนี้ต้องคอยเปลี่ยนน้ำ 1-2 ครั้ง เพื่อเอาน้ำฝาดออก มิฉะนั้นแป้งจะเปรี้ยว ผ่านไปหนึ่งคืนก็เทน้ำใสส่วนบนทิ้ง เอาแป้งมาห่อผ้าขาวให้สะเด็ดน้ำหรือผึ่งแดดให้แห้งก่อนที่จะนำมาคลึงด้วยขวดหรือวัสดุผิวเรียบให้เป็นแป้งละเอียด บางแห่งนำมาร่อนด้วยกระด้งให้เป็นเม็ดกลมๆ แป้งสาคูที่ได้จากต้นสาคูจะเป็นสีชมพูอ่อน ส่วนสาคูเม็ดสีขาวที่เห็นอยู่ในท้องตลาดเป็นสาคูที่ได้มาจากแป้งมันสำปะหลัง

ลำต้นสาคูส่วนปลายๆ จะมีรสหวาน เหลือจากตัดไปทำแป้งยังใช้ประโยชน์ได้อีกโดยเอามาสุมด้วยทางสาคู ประมาณเดือนสองเดือนจะมีด้วงสาคูออกมาเป็นร้อยตัว ต้นสาคูที่แก่เต็มที่และตายเองจะมีดวงสาคูอยู่เช่นกัน ด้วงสาคูเป็นอาหารโปรตีนสูงที่นิยมกันมาก ขายได้ราคาดี

ป่าสาคูที่ใกล้เมืองที่สุดของตรังคือ ป่าสาคูที่บ้านต้นเสมอ ตำบลโคกหล่อ ส่วนที่อำเภอนาโยงก็มีกระจายทั่วไปทุกท้องทุ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการพัฒนาแหล่งน้ำของทางราชการด้วยการขุดลอกคูคลองต่างๆ ได้ทำลายป่าสาคูไปแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย เมื่อไม่มีป่าสาคู ความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพตรงนั้นก็จะเสื่อมสลายไปด้วย การพัฒนาแหล่งน้ำที่ดีที่สุดของที่ราบลุ่มแห่งตรังนา คือการรักษามรดกป่าสาคูให้คงอยู่ตลอดไป

 

จาก พืชอีกชนิดหนึ่งที่เป็นพืชตระกูลปาล์มเช่นเดียวกับสาคูคือจาก (Atap palm) ที่อยู่ของจากคือป่าชายเลน บริเวณน้ำกร่อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nypa fruticans Wurmb

แหล่งจากของจังหวัดตรังเป็นแนวขนานกับแม่น้ำตรัง เขตอำเภอกันตัง เริ่มตั้งแต่ตำบลบางหมากตอนล่าง ย่านซื่อ คลองลุ บ่อน้ำร้อน ลงมาจนถึงตำบลกันตังใต้ ตามชายฝั่งแม่น้ำปะเหลียนก็มีอยู่ตรงบริเวณบ้านแหลม ตำบลวังวน และพื่นที่อื่นๆ ที่น้ำทะเลขึ้นถึง หมู่บ้านริมแม่น้ำจึงมีอาชีพทำใบจากกันมาแต่ดั้งเดิม แหล่งใหญ่ที่สุดที่ยังคงทำใบจากสำหรับมวนยาสูบส่งขายและสืบทอดวิถีชีวิตริมแม่น้ำกับป่าจากมาจนปัจจุบันคือตำบลย่านซื่อ อำเภอกันตัง

กระบวนการทำใบจากเริ่มด้วยการตัดยอดจากมาก่อน ปัจจุบันยอดจากที่ใช้ทำอยู่ที่ย่านซื่อนั้นจะไปซื้อมาจากที่อื่นๆ ด้วย เช่น เกาะจาก กันตังใต้ โดยใช้วิธีเหมาสวน ราคาขึ้อยู่กับว่าจะมีจากมากน้อยเพียงใด ได้มาแล้วจะต้องสับยอดมัดรวมกันไว้แล้วไปรมกำมะถัน 1 วัน เพื่อให้ยอดจากแห้ง สียอดจากจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนๆ จากนั้นก็เอามาลอก แล้วช่อยอดจาก คือมัดรวมเป็นกระจุกแขวนไว้ใต้ถุนหรือในโรงจาก ใช้เวลา5 – 7 วันกว่าจะแห้ง แล้วเข้ารมกำมะถันอีก 1 วัน หลังจากนั้นจึงนำมาตัดยาวประมาณ 3.5 นิ้ว บรรจุถึงส่งขายได้ ผู้รับซื้อคือพ่อค้าคนกลางในตลาด นำไปขายส่งต่างจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง

เรื่องการรมกำมะถันนั้น พวกที่ทำรายย่อยจะไม่รม เพราะมีกลิ่นเหม็น ลูกค้าบางกลุ่มไม่ชอบ แต่มีข้อเสียคือใบจากจะมีสีแดง ส่วนที่รมกำมะถันจะมีสีเหลืองอ่อนๆ ดูสวยงามกว่า

นอกจากใช้ทำใบจากมวนยาสูบแล้ว จากยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมาก เช่น ทำน้ำตาลจาก ผลจากรับประทานสดและเชื่อม ใบจากอ่อนใช้สานติหมา ภาชนะตักน้ำ ก้านจากที่ลอกแล้วเอามาเหลาใช้สาน กันหม้อ หรือเสวียนหม้อ และภาชนะต่างๆ ทำไม้กวาดก้านจากก็ได้ ใบจากที่ไม่แก่มากนักใช้ห่อขนมจาก ทางจากทำไม้ฟืน โพรงจากหรือกอจากที่ตายแล้วกลายเป็นทุ่นให้เด็กใช้เกาะหัดว่ายน้ำ ใบจากแก่ใช้เย็บจากมุงหลังคา จากมุงหลังคานี้ในสมัยก่อนเป็นสินค้าส่งออกไปขายถึงปีนังและมลายูด้วย

หญ้าทะเล เป็นพืชชั้นสูงชนิดหนึ่งที่สามารถเติบโตได้ดีในน้ำทะเล ซึ่งนักพฤษศาสตร์กล่าวว่า หญ้าทะเลเป็นพืชที่วิวัฒนาการมากสาหร่ายทะเล และเคยเป็นพืชที่เจริญเติบโตอยู่บนบก ต่อมาได้ปรับตัวลงไปเจริญเติบโตในทะเลอีกครั้ง เป็นพืชที่พบว่าสามารถเติบโตได้ดีในเขตอบอุ่นถึงเขตร้อน อยู่ในกลุ่มพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ลำต้นเป็นปล้องอยู่ใต้ดิน มีรากงอกออกมาตามข้อ กิ่งก้านใบจะงอกชูขึ้นข้างบน มีดอกและมีผล ในจังหวัดตรังพบหญ้าทะเลขึ้นชุกชุมตามแถบชายฝั่งหลายแห่ง ที่พื้นทะเลมีสภาพเป็นดินทรายปนโคลน เช่น เกาะสุกร เกาะลิบง เกาะนก ปากคลองเจ้าไหม เกาะมุก หาดฉางหลาง และแหลมไทร

จากการสำรวจชนิดของหญ้าทะเลบริเวณชายฝั่งจังหวัดตรังพบว่า มีหญ้าทะเล 6 สกุล 9 ชนิด ได้แก่ หญ้าชะเงาใบยาว (Enhalus acorodes) หญ้าชะเงาใบสั้นสีน้ำตาล (Cymodocea rotandata) หญ้าทะเลใบสั้นปลายใบแฉก (Haladule uninervis) หญ้าเต่า (Thalasia hemprichii) หญ้าชะเงาใบสั้นปล้องยาว (Cymodocea serrulata) หญ้าผมนาง (Halodule pinifolia) หญ้าใบสน (Syringodium isetifolium) หญ้าใบกลมหรือใบมะกรูด (Halophila ovalis) และหญ้าแคระ (Halophila beaccarii)

หญ้าทะเลเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างยิ่ง คือเป็นแหล่งผลิตขั้นปฐมภูมิในระบบห่วงโซ่อาหารทางทะเล เป็นแหล่งวางไข่ เพาะฟัก และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ทำให้มีสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยอยู่มาก ต่อมาปรากฏว่ามีชาวประมงบางกลุ่มใช้วิธีผิดกฏหมายในการจับสัตว์น้ำ เช่น ใช้อวนรุนและอวนลาก เครื่องมือเหล่านี้เป็นตัวการทำลายหญ้าทะเลและทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งจะทำให้สัว์น้ำร่อยหรอลงและอาจหมดไปในที่สุด แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า ทั้งชุมชนประมงชายฝั่ง องค์กรเอกชน และทางราชการตระหนักในความสำคัญของหญ้าทะเล และร่วมมือกันทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์แนวหญ้าทะเลกันอย่างต่อเนื่อง

You may also like...