บุคคลผู้มีชื่อเสียงทางพัฒนาสังคม-แสวง ภูศิริ : นักวิชาการเกษตร

แสวง ภูศิริ นักวิชาการเกษตรจากลุ่มน้ำบางปะกงผู้มีสายเลือดแห่งความเป็นเกษตรกรอย่างแท้จริงยึดมั่นในความคิดว่าผู้มีความรู้ความสามารถด้านการเกษตรควรออกไปทำการเกษตรอย่างจริงจังทั้งนี้เพื่อใช้ความรู้เป็นแบบอย่างของชาวบ้านแนวคิดนี้ของเขาสามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจรังและได้ผล

แสวง ภูศิริ เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2468 ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จบการศึกษาระดับชั้นม.3 จากโรงเรียนบวรวิทยายนม.6 จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเกษตรศาสตร์แม่โจ้เชียงใหม่และเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนแต่มีเหตุให้ไม่จบการศึกษาจึงออกไปเป็นครูประชาบาลที่จังหวัดกาญจนบุรี 3 ปี เงินเดือนครูนั้นไม่พอใช้ต้องออกมาทำงานในฟาร์มแห่งหนึ่งในตำแหน่งผู้จัดการฟาร์มในปี 2492 กองการยางกรมกสิกรรมขณะนั้นได้เริ่มจัดตั้งสถานีการยางขึ้นทั่วประเทศ 13 แห่งของขังหวัดตรังจัดตั้งขึ้นที่บ้านน้ำราบบนเขาช่องแต่ไม่มีผู้ใดสมัครมาลงในปี 2494 จึงลาออกจากฟาร์มพาครอบครัวคือนางรัตนาภริยาคู่ทุกข์คู่ยากและบุตรชายหญิง 3 คนรวม 5 ชีวิตเดินทางสู่เทือกเขาบรรทัดใช้ชีวิตเป็นทั้งข้าราชการและเกษตรกรณเมืองตรังนับแต่นั้นมา

เทือกเขาบรรทัดในอดีตเป็นที่กล่าวขานกันว่าคือแหล่งปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายแต่ แสวง ภูศิริ มีชีวิตอยู่ที่นี่อย่างสงบสุขด้วยเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงแต่แล้วในปี 2497 เบี้ยเลี้ยงซึ่งสูงกว่าเงินเดือนถูกตัดไปรายได้จึงไม่พอใช้จ่ายในครอบครัวจึงตัดสินใจลงมาเช่าที่อยู่บริเวณเชิงเขาจำนวน 5 ไร่ปัจจับุนเป็นที่ตั้งของค่ายลูกเสือพระยารัษฎาฯ จังหวัดตรัง ลงมือปลูกข้าวโพดหวานแตงโมและพืชอื่นๆ นับเป็นบุคคลแรกที่นำเมล้ดข้าวโพดหวานมาปลูกผลผลิตในปีแรกไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคแต่ไม่ทำให้เกิดความท้อถอยต่อมาทุกปีในงานเฉลิมพระชนมพรรษาจะมีข้าวโพดหวานของเกษตรกรแสวงวางขายให้ซื้อหาจนในที่สุดข้าวโพดหวานก็เป็นที่นิยมบริโภคของชาวตรังและแพร่หลายไปสู่จังหวัดต่างๆทั่วภาคใต้

มีความสุขอยู่กับชีวิตเกษตรกรอิสระพร้อมกับศึกษาค้นคว้าเพื่อผลผลิตใหม่ๆทางการเกษตรและให้คำปรึกษาแก่เพื่อนเกษตรกรในละแวกใกล้เคียงโดยมิได้หวงแหนหรือเก็บงำความรู้วันหนึ่งในปี 2511 มีทหารกลุ่มหนึ่งมาเชิญตัวไปสอบสวนที่โรงพักโดยไม่มีสาเหตุเมื่อถูกปล่อยตัวกลับบ้านจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนเรียนไปทำงานไปเพราะมีภาระรับผิดชอบครอบครัวด้วยเมื่อศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนแล้วจึงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยเกษตรกรรมตรังตั้งแต่ปี 2514 จนเกษียณอายุราชการ

อาจารย์แสวง เป็นผู้ริเริ่มให้เกษตรกรเพาะเห็ดตั้งแต่ปี 2514 โดยทำเป็นตัวอย่างจนเป็นที่นิยมของเกษตรกรและขยายวิธีการเพาะเห็ดไปยังจังหวัดใกล้เคียงเป็นผู้ริเริ่มต้นคว้าวิธีการเพาะเห็ดฟางในฤดูฝนให้ได้ผลดีเท่ากับในฤดูแล้งเป็นผู้พัฒนาการปลูกสะตอให้ออกฝักทุกฤดูกาลศึกษาการขยายพันธ์มะละกอโดยวิธีต่อกิ่งริเริ่มการติดตายางสีน้ำตาลเป็นบุคคลแรกในจังหวัดตรังประดิษฐ์อุปกรณ์รถยนต์โดยใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับน้ำมันเบนซินซึ่งเป็นตัวจุดระเบิดทำให้ประหยัดน้ำมันทดลองเพาะกุ้งก้ามกรามในฟาร์มของตนและประดิษฐ์กังหันน้ำโดยใช้พลังน้ำและลมแทนหลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในบ่อเลี้ยงกุ้งทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งให้ความรู้แก่เกษตรกรและแหล่งฝึกงานของนักศึกษาจำนวนมาก

ในปี 2524 ถูกผู้ก่อการร้ายลอบยิงพร้อมกับลูกสาว รถถูกกระสุนพรุนไปทั้งคัน ตัวอาจารย์ถูกกระสุนที่ขาบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากทหารขอโดยสารรถกระบะกลับเข้าค่าย ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับสวนรัตนา ต้องพักรักษาตัวถึง 6 เดือน ช่วงที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้นก็คิดดัดแปลงรถคันที่ถูกยิงไปด้วย เมื่อไปรับรางวัลงานวิจัย จึงเดินทางโดยรถยนต์คันที่ได้ดัดแปลงแล้วนั้น และใช้ไม้เท้าประคองตัวเข้ารับรางวัล รถยนต์คันดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอันมากจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นประธานมอบรางวัล

ผลงานที่ได้รับรางวัล คือผลงานวิจัยเรื่องทุเรียนนก ผลการวิจัยเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรทั่วประเทศ จึงได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2524 หลังจากนั้นได้รับรางวัลครูดีเด่น ระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ประจำปี 2527

หลังเกษียณอายุราชการแล้ว ก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่กับงานเกษตรกรรมบนผืนแผ่นดินตรังและในปี 2532 ได้เข้าร่วมโครงการพระราชดำริ คือโครงการรวบรวมพันธุ์หวายจังหวัดตรังและโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชโครงการส่งพระองค์ สวนจิตรลดา เมื่อปี 2535

ปัจจุบันกำลังบุกเบิกทำสวนส้มโชกุน โดยรวมทุนกับลูกๆในพื้นที่ 110 ไร่ บริเวณหมู่ที่ 1 บ้านพรุเสม็ดขาว ตำบลย่านซื่อ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง สภาพพื้นที่อยู่ใกล้แม่น้ำตรัง ต้องสร้างคันดินสำหรับป้องกันน้ำท่วมและสร้างประตูกั้นเพื่อสกัดน้ำเค็มที่จะหนุนขึ้นมาในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี อาจารย์แสวง ใช้ต้นตอของส้มชนิดต่างๆ ทดลองหาความทนทานต่อสภาพดิน ในจำนวนต้นตอชนิดต่างๆนั้น ได้ใช้ต้นมะสัง ไม้แคระที่มีความทนทานสูง ส่วนสภาพดินบริเวณพื้นที่นี้ กรมวิชาการเกษตรได้ตรวจสอบแล้ววาาเป็นดินที่หมดสภาพความสมบูรณ์แล้วและแนะนำให้ใช้ปูนขาวปรับปรุงดิน โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ปลายปี 2543 ต้นส้มโชกุนจะให้ผลผลิต สวนส้มนี้จึงเป็นแปลงสาธิตอย่างดีแปลงหนึ่ง ในการพัฒนาสภาพดินให้เกิดประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งพื้นที่ในลักษณะนี้ ถูกทิ้งให้ว่างเปล่าอยู่อีกมากตามลุ่มแม่น้ำตรัง

คำประกาศเกียรติคุณ อาจารย์แสวง ภูศิริ ซึ่งได้รับรางวัลคุรุสภา ประเภทผู้สอนดีเด่น ประจำปี 2527 ตอนหนึ่งว่า

“งานในด้านความสัมพันธ์กับชุมชนได้ให้ความร่วมมือในการเป็นวิทยากรฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นแก่เกษตรกรเป็นวิทยากรอบรมเรื่องการทำสวนผลไม้เมืองร้อนภาคใต้เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบผสมผสานแก่นักศึกษาในแถบภาคใต้ให้คำปรึกษาให้ความช่วยเหลือในด้านเกษตรกรรมแก่เกษตรกรในจังหวัดส่งเสริมให้มีการพัฒนาในการเพิ่มผลผลิตเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรใช้เวลาว่างในการแต่งหนังสือคู่มือเกษตรกรรมหลายเล่มโดยอาศัยการค้นคว้าและประสบการณ์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและเกษตรกรทั่วไป…”

แม้จะเกษียณอายุราชการมาแล้วหลายปี อาจารย์แสวง ก็ยังคงได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในวิยาลัยเกษตรกรรมตรัง วิทยาลัยชุมชนภูเก็ต และสถาบันราชภัฏภูเก็ต ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษสาขาพืชศาสตร์ วิทยาลัยชุมชนภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. 2537 ได้รับเกียรติบัตรแสดงว่าเป็นอาจารย์พิเศษตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. 2540

อาจารย์แสวง ภูศิริ เป็นนักสู้ผู้บุกเบิกในวงการเกษตรกรรมเมืองตรังอย่างแท้จริง นับเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรทั่วไป จึงเป็นกำลังสำคัญและมีคุณค่ายิ่งในวงการเกษตรกรรมของเมืองตรังผู้หนึ่ง

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>