บุคคลผู้มีชื่อเสียงทางการเมือง-จัง จริงจิตร : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัด

นายจัง  จริงจิตร  เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๐  ที่ตำบลโคกขัน  อำภอเมือง  จังหวัดตรัง  เป็นบุตรของนายหงวน  นางพริ้ม  จริงจิตร  ภนนยาชื่อ  นางกี่  จริงจิตร  (เซ่งยี่)  บิดาอพยพมาจากเมืองจีน ตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ที่ตำบลบางรัก เมื่ออายุได้ประมาณ ๗ – ๙ ขวบ  ได้เรียนภาษาจีนที่บ้านบ่อพร้าว  ตำบลบ้านโพธิ์ และที่บ้านสวนจันทร์ ตำบลโคกขัน  และเรียนภาษาไทย  เมื่ออายุได้  ๑๑  ขวบ  ที่วัดโคกหล่อ(วัดนิยมประทีป) โดยจัดเตรียมเสื้อผ้าสิ่งของเครื่องใช้ใส่คานหาบไปวัด ในนั้นมีผ้าขาวม้าไปด้วยสองผืนเพื่อใช้สับเปลี่ยนกัน ในขณะที่เด็กคนอื่นมีกันคนละผืน เพื่อนๆ เด็กวัดด้วยกันจึงพากันเรียก ไอ้สองผืน
     นายจังเรียนรู้หนังสือไทยได้อย่างรวดเร็วและแตกฉาน  ท่านสมภารเห็นความสามารถ  จึงมอบหน้าที่ให้เป็นครูสอนคนอื่นๆ ไปด้วย ทั้งเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน และผู้สูงวัยกว่า ก็กลายเป็นลูกศิษย์ไปด้วย ชื่อ ครูจัง  จึงเป็นชื่อเรียกอีกนามหนึ่งตั้งแต่นั้นมา
     ครั้นอายุได้ ๑๓ ปี เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่วัดคลองน้ำเจ็ด ถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๔ เข้าเรียนที่โรงเรียนตรังคภูมิ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัดตรัง ครั้นที่ยังตั้งเมืองอยู่ที่อำเภอกันตัง เมื่อจบหลักสูตรแล้วใน พ.ศ. ๒๔๕๖ ก็ไปศึกษาระดับมัธยมในโรงเรียนประจำมณฑล คือโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย  จนจบมัธยมปีที่  ๕  และสอบได้ประโยคครูมูล  (ครู ป.)
     นายจังเข้ารับราชการครูเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๕๘ ณ โรงเรียนตรังคภูมิ์ ได้บรรจุเป็นครูในระดับชั้นจัตวา  รับเงินเดือนครั้งแรกในชีวิต ๓๐ บาท และเมื่อมีการย้ายเมืองไปตั้งใหม่ที่ตำบลทับเที่ยงแล้วได้ไปเป็นครูที่โรงเรียนวิเชียรมาตุโรงเรียนประจำจังหวัดแห่งใหม่ ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ อีก ๑ ปี สอบไล่ได้ประโยคครูประถม และใน พ.ศ. ๒๔๖๗ เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สอบไล่ได้ชั้น มัธยมศึกษาปี ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ กลับไปสอนที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยา แต่เป็นห่วงครอบครัวที่ตรังจึงขอย้ายมาเป็นครูที่โรงเรียนวิเชียรมาตุในปีนั้น  ชีวิตที่ควรจะหยุดนิ่งอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขอยู่ได้เพียง ๗ ปี ก็มีคำสั่งจาก กระทรวงธรรมการขณะนั้น ให้ไปดำรงตำแหน่งธรรมการอำเภอเมื่องกระบี่ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๗๖
     หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขต โดยให้ราษฎรมีสิทธิ์เลือกผู้แทนตำบลละ ๑ คน เพื่อให้ผู้แทนจากตำบลไปเลือกผู้แทนในระดับจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง โดยกำหนดให้จำนวนผู้แทน ๑  คนต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน ทั้งประเทศมีผู้แทนได้ ๗๘ คน จังหวัดตรังขณะนี้มีผู้แทนได้คนเดียว ผลการเลือกตั้งได้แก่ นายจัง  จริงจิตร
     เมื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว  นายจัง  จริงจิตร  ได้ปฎิบัติหน้าที่อย่างสมเกียรติ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการ กรรมาธิการสามัญ เรื่องต่างๆ หลายเรื่อง เช่น เป็นกรรมาธิการสามัญพิเศษ พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ควบคุม จำกัดยาง พ.ศ. ๒๔๗๗ กรรมาธิการสามัญ พิจารณร่าง พ.ร.บ. ควบคุมแร่ดีบุก พ.ศ. ๒๔๗๗ ฯลฯ
     ในฐานะตัวแทนของราษฎร นายจัง  จริงจิตร ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไปออกเสียงลงคะแนนแทนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกในประวัติศาสตร์ของรัฐบาล
     เมื่อพ้นหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จัง  จริงจิตร  กลับมาเป็นครูที่โรงเรียนวิเชียรมาตุและลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งในสมัยที่ ๒ แต่ไม่ได้รับเลือก จึงกลับมาเป็นครูโรงเรียนวิเชียรมาตุอีกครั้ง และใช้ชีวิตอย่างสมถะตามเดิม มีจักรยานคู่ชีพคันเดียวเป็นพาหนะเดินทาง จนถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๙๗ รวมอายุได้ ๕๗ ปี

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>