ประวัติ-เกาะลิบง บทบาทของผู้นำท้องถิ่น

๒.๘ เกาะลิบง บทบาทของผู้นำท้องถิ่น

จากประวัติและตำนานของเกาะลิบงในยุคกรุงศรีอยุธยาที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังมีตำนานต่อไปอีกสรุปได้ว่า เมื่อพระยาแขกมาตั้งเมืองขึ้นที่บ้านพร้าว ด้านทิศเหนือของเกาะลิบงเมืองนี้รุ่งเรืองมาและได้มีสัมพันธไมตรีกับพม่า ต่อมาบุตรชายของเจ้าของเมืองทั้งสองก็ได้เป็นเกลอกันตามประเพณีแล้ว ทุก ๆ ปีเกลอจะต้องผลัดกันไปเยี่ยมเยือนกันประจำ (เรียกว่า วังเกลอ) อยู่มาวันหนึ่งลูกชายของเจ้าของเมืองลิบงเดินทางไปวังเกลอที่เมืองพม่า ทำให้ได้พบและหลงรักลูกสาวเจ้าเมืองพม่าซึ่งเป็นน้องสาวของเกลอตัวเองตามประเพณีน้องเกลอเป็นเสมือนน้องร่วมท้องพี่น้องไม่อาจแต่งงานกันได้ ชายหนุ่มจึงออกอุบายลักพาตัวหญิงสาวมาอยู่กินกันที่เกาะลิบง ทำให้ทางพม่าโกรธมาก และยกทัพมาทำลายเกาะลิบงจนย่อยยับ ตั้งแต่นั้นเมืองก็ร้างไป

แม้ว่าตำนานจะไม่ใช่หลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ แต่มักจะมีส่วนที่เป็นแก่น ซึ่งมีข้อเท็จจริงบางประการซ่อนอยู่ นั่นคือความเกี่ยวพันกับพม่าและมลายู ซึ่งมาจากเหตุการณ์ในช่วงปลายอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่มีศึกพม่าอยู่สองครั้ง ข่าวศึกพม่าดังกล่าวอาจเป็นต้นเค้าของการผูกตำนาน โดยจะเป็นเหตุการณ์จริงหรือไม่ก็ได้

พ.ศ. ๒๓๒๘ มีการแบ่งเป็น ๒ ทัพ เนมโยคุงนะรัดเป็นแม่ทัพใหญ่ยกมาตีเมืองชุมพร ไชยา และยี่หวุ่นยกทัพเมืองยกมาตีเมืองถลาง พม่าตีได้ตั้งแต่ชุมพรเรื่อยลงมาจนถึงนครศรีธรรมราช กำลังจะยกไปตีพัทลุงและสงขลา พอดีได้รับข่าวว่ากองทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ยกลงมาช่วย จึงแตกหนีไปสมทบกับทัพที่ถลาง ในตอนนี้อาจผ่านมาทางเมืองตรังและเกาะลิบงได้ด้วย

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ พระเจ้าปดุงให้อะเติงหวุ่นกับแยค่องยกมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่ชุมพร ไชยา และถลาง ในครั้งนี้เกาะลิบงเป็นที่ชุมนุมทัพเรือจากหัวเมืองปักษ์ใต้และมลายู คือ เคดะห์ สงขลา นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล ปัตตานี กองทัพเหล่านี้ได้ร่วมกันสรางป้อมและเสาหลักที่เกาะลิบงก่อนยกไปทำศึกที่เมืองถลาง ในขณะทำสงคราม รายาปะแงรันหรือหลวงฤทธิสงคราม เจ้าเมืองลิบง ได้นำทัพเข้าร่วมรบอย่างกล้าหาญ ปัจจุบันแนวกำแพงและเสาหลักยังปรากฏอยู่ที่ปากคลองบ้านพร้าว

การที่พระยาลิบงหรือโต๊ะปังกะหวาได้ขึ้นครองอำนาจเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรังนับเป็นผู้นำท้องถิ่นคนแรกที่ได้ตำแหน่งนี้ เดิมคงเป็นเพียงผู้นำชุมชนในเกาะ แต่มีความโดดเด่นด้วยสาเหตุหลายประการ เนื่องจากลิบงเป็นที่ตั้งท่าเรือสำคัญสำหรับการค้าทางฝั่งตะวันตก เป็นแหล่งรวบรวมและเก็บภาษีสินค้าทางทะเล สินค้าสำคัญที่สุดได้แก่รังนก เป็นจุดนัดหมายแวะพักของการติดต่อ เห็นได้จากเมื่อท่านผู็หญิงจันหรือเท้าเทพกระษัตรีย์จะเข้าไปกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๓๓๐ ได้จดหมายถึงพระยาราชกปิตัน เพื่อขอซื้อสิ่งของต่าง ๆ นำเข้าไปกรุงเทพฯ โดยนัดหมายให้ส่งสินค้าที่เกาะลิบง

โต๊ะปังกะหวามีบทบาทเป็นผู้ควบคุมผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของเมืองตรัง ด้วยความเป็นผู้นำในกลุ่มชาวพื้นเมืองหมู่เล ซึ่งเป็นมุสลิมที่มีจำนวนมากตามชายฝั่งทะเลและเกาะรวมทั้งความสามารถในการจัดการค้าและเก็บภาษี ทำให้มีความดีความชอบในหน้าที่ราชการมรตำแหน่ง พระปลัดเมืองตรัง นาม พระเพชภักดีศรีสมุทรสงคราม ก่อนที่จะได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง

เมืองตรังเป็นเมืองที่มัทรัพยากรสมบูรณ์ให้ผลประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ครอบครอง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ตกอยู่กับนครศรีธรรมราช เมื่อผู้ปกครองท้องถิ่นมีกำลังแข็งกล้าพอ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่แสดงออกเพื่อพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ การเป็นอริวิวาทระหว่างพระยาลิบงกับนครศรีธรรมราชจึงน่าจะมาจากเหตุนี้

ต่อมาโต๊ะปังกะหวาถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้หลวงฤทธิสงครามเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง แต่ทรงพิจารณาแล้วห็นว่าจะใหเมืองตรังขึ้นตรงต่อกรุงเทพอีกไม่ได้ เพราะหลวงฤทธิสงครามยังขาดประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองตรังไปขึ้นกับเมืองสงขลา และให้พระยาสงขลา (บุญฮุย) เป็นผู้บังคับบัญชาดูแลช่วยเหลือหลวงฤทธิสงครามปกครองเมืองตรังภูราต่อไป

เมื่อหลวงฤทธิสงครามถึงแก่กรรม ในปี พ.ศ. ๒๓๕๔ ความสำคัญของเกาะลิบงก็สิ้นสุดลงด้วย แต่ยังคงเป็นท่าเรือค้าขายต่อมาตลอดสมัยเจ้าพระยานคร (น้อย) เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้เป็นที่ตั้งด่านภาษี

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>