ประวัติ-ตรังภูรา

๒.๗ ตรังภูรา

เมืองตรังภูราปรากฏชื่อในรัชกาลที่ ๑ แสดงให้เห็นว่าเมืองตรังในระยะนี้มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไป คือ มีการรวมเมืองที่มีอาณาเขตกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม และมีที่ตั้งเมืองเป็นหลักแหล่ง ดังปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ ว่า

…แต่เดิมเมืองตรังแบ่งออกเป็น ๒ เมือง คือ เมือง ภูรา ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำตรัง เป็นเมืองที่มีขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญมาก ในฐานะเป็นที่เก็บมูลค้างคาวสำหรับทำดินปืน และที่ร่อนแร่ดีบุกด้วยเมืองหนึ่ง และเมืองตรังตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก มีบริเวณกว้างขวางมากอีกเมืองหนึ่ง อาณาเขตของเมืองตรังและเมืองภูรามีดังนี้ ทิศใต้ลงไปถึงเกาะลิบง ทิศตะวันตกจดทะเลต่อแดนกับที่ปากกุแหระ แขวงเมืองนครศรีธรรมราชทิศตะวันออกจดที่ปะเหลียน…..ทั้งเมืองตรังและภูราแต่เดิมมีผู้รักษาเมืองเมืองละคน ครั้นต่อมาให้พระภักดีบริรักษ์ (นายจันมีชื่อมหาดเล็ก) ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชออกไปเป็นผู้รักษาเมืองตรัง พระภักดีบริรักษ์ได้กราบทูลขอยกเอาเมืองตรังกับภูราเป็นเมืองเดียวกันเรียกว่าเมืองตรังภูรา

เมืองตรังแต่เดิมที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตรังนั้น มีอาณาเขตครอบคลุมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตรังไปจนจดทะเลและเกาะต่าง ๆ ในน่าน้ำตรังด้วย

เมืองภูราอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำตรัง อาณาเขตจดทิวเขานครศรีธรรมราชชุมชนเมืองเข้าใจว่าอยู่ในบริเวณตั้งแต่ตำบลนาตาล่วง ตำบลนาท่าม ถึงตำบลลำภูรา เพราะมีแหล่งโบราณคดีสำคัญในยุคอยุธยา คือถ้ำเขาสามบาตร ถ้ำตรา และถ้ำเขาน้ำพราย เป็นรากเหง้าเดิมของเมืองประการหนึ่ง และมีซากเรือโบราณอยู่บริเวณริมแม่น้ำอีกประการหนึ่ง พื้นที่เมืองภูราอยู่ในเขตลอนลูกฟูกหินปูน มีภูเขาหินปูนที่มีถ้ำกระจายทั่วไป ทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญคือ การเก็บมูลค้างคาวตามถ้ำไปทำดินประสิว ส่วนบริเวณทิวเขานครศรีธรรมราชก็มีแหล่งแร่ดีบุก มูลค้างคาวและดีบุกจึงเป็นส่วนสำคัญที่เมืองภูราต้องส่งให้นครศรีธรรมราชก็มีแหล่งแร่ดีบุก มูลค้างคาวและดีบุกจึงเป็นส่วนสำคัญที่เมืองภูราต้องส่งให้นครศรีธรรมราชเพื่อส่งไปยังราชธานี สำหรับที่ภูรามีกรมการเมืองอีกชุดหนึ่งแยกมาจากเมืองตรัง ดังปรากฏในทำเนียบข้าราชการนครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๓๕๔ ซึ่งมีตำแหน่ง นายที่ คือหลวงทิพภักดี ถือศักดินา ๑๐๐๐ และมีนายค่าย ๒ นายด่าน ๑ และปลัด ๑ รวมเป็นกรมการเมืองทั้งสิ้น ๕ คน

การดำรงตำแหน่งของพระภักดีบริรักษ์ไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มตั้งแต่ปีใด แต่มีหลักฐานจากเอกสารจดหมายเหตุ ซึ่งเป็นหนังสือของผู้ว่าราชการเมืองตรังออกนานพระภักดีบริรักษ์ถึงพระยาราชกปิตัน (ฟรานซิสไลท์) ใน จ.ศ.๑๑๔๙ (พ.ศ.๒๓๓๐) และ จ.ศ. ๑๑๕๔ (พ.ศ.๒๓๓๕) แสดงว่าการดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๑

เมื่อพระภักดีบริรักษ์ถูกเรียกตัวกลับเข้ารับราชการในกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้โต๊ะปังกะหวาเป็นพระยาลิบง ผู้รักษาเมืองตรัง ต่อมาในปี จ.ศ. ๑๑๖๖ (พ.ศ. ๒๓๔๗) พระยาลิบงเกิดเป็นอริวิวาทกับเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) เมื่อเรื่องราวทราบถึงราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็โปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองตรังขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯเสียชั่วคราวในปีนั้น แสดงว่าพระภักดีบริรักษ์พ้นจากตำแหน่งไปก่อน พ.ศ. ๒๓๔๗ พอสมควร เพราะอย่าน้อยพระยาลิบงก็ต้องใช้เวลาในการสร้างพลังอำนาจเพื่อต่อสู้กับการครอบครองของนครศรีธรรมราช

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>