ครัวลำพู ซีฟู้ดอร่อยโรแมนติกริมน้ำตรัง

ไม่เพียงหยิบยื่นมิตรภาพและน้ำใจอันงดงาม แต่ยังแถมด้วยอาหารตาและลาภปากที่ทำให้เราต้องทึ่ง ว่าเมืองตรังของเรามีอะไรแบบนี้ด้วยหรือ เมื่อคุณนันท์ pixtrang.com และครอบครัว ขับรถพาเราชมเส้นทางท่องเที่ยวในยามสนธยา สบสายตากับแสงตะวันสีส้มอมทองเป็นประกายฉายฉาน บนฟ้าสีม่วงคราม เรื่อยไปตามถนนสู่เมืองกันตัง ด้วยระยะทางขนาดกำลังเพลิน เราก็มาถึงแหล่งดินชุ่มน้ำที่เขียวขจีไปด้วยทิวต้นจากริมฝั่งแม่น้ำตรัง เข้าซอยวัดย่านซื่อไปจนถึงคอสะพาน เราก็พบกับร้านอาหารริมน้ำบรรยากาศสุดโรแมนติก นามว่า
“ครัวลำพู”

 

 

ให้คะแนนร้านอาหาร
สูงสุด = 5 ดาว
หมายเหตุ
รสชาติ
อร่อยมีระดับ อาหารทะเลสดมาก
บรรยากาศ
ยามเย็นริมน้ำตรัง สวยมาก
การบริการ
เป็นกันเอง บ้านๆ แต่ไม่ขาดตกบกพร่อง
ราคา-ความคุ้มค่า
คุณภาพและรสชาติสมราคา
สถานที่่-ความสะดวกสบาย นั่งสบาย แต่อยู่ไกลตัวเมือง ถนนจะมืดในขากลับ

 

แน่นอนว่า ชื่อร้านนี้มีที่มาจากต้นลำพูใหญ่ในละแวกนั้น แหล่งอาศัยของหิ่งห้อยน้อยใหญ่ ซึ่งจะส่งแสงระยิบพริบพรายให้เราได้วาบหวามใจ…ในยามค่ำ
น่าเสียดายที่เราไม่มีกล้องถ่ายรูปดีๆ ติดตัวไป
หลักฐานความประทับใจจึงบันทึกไว้ได้เพียงภาพเบลอๆ ไร้อารมณ์ จากกล้องไอโฟนของสาวใหญ่วัยแพลทตินั่มในนาทีที่เหนื่อยจนมือเริ่มสั่น

แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา…เพราะถึงแม้ภาพที่เก็บมา จะไม่โสภาเท่าที่ตาเห็น แต่ก็เป็นหนึ่งในความจริงที่ไม่ได้ปรุงแต่ง หากดูรูปเหล่านี้แล้วอยากรู้ว่าของจริงดีกว่าแค่ไหน ให้คูณด้วยห้า แล้วหารด้วยสอง ก็จะได้คำตอบที่พอดี

บรรยากาศยามเย็นริมแม่น้ำตรังทำให้ฉันทึ่ง แต่ที่ชวนให้ตะลึงจริงๆ กลายเป็นขนาดมหึมาของกุ้งแม่น้ำตรัง ของอร่อยหายากที่จะมี ณ แม่น้ำตรังนี้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แม้เราจะอยากกินจนน้ำลายหก แต่ก็ยังกินอะไรไม่ลงเพราะเป็นห่วงกลัวว่าสัตว์พื้นถิ่นของเราอาจจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า จนกระทั่งได้รับคำตอบที่ชื่นใจจากโกวุฒิ หรือ คุณวุฒิ สุจริยา เจ้าของร้านใจดีแห่ง “ครัวลำพู” ให้ความมั่นใจว่า กุ้งแม่น้ำตรังตัวเขื่องๆ เหล่านี้ได้มาจากการเพาะเลี้ยงแบบธรรมชาติในกระชัง ส่วนใหญ่ที่จับมาเป็นตัวผู้ และเป็นกุ้งเกย์ จึงไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยแม่กุ้งที่กำลังวางไข่ จะถูกคัดแยกไปขยายพันธุ์ต่อที่กรมประมง ซึ่งเป็นการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติในแบบยั่งยืน น่ายกย่อง

ขนาดกุ้งแต่ละตัวไม่เล็กไปกว่าแขนเด็ก น้ำหนักตัวละประมาณ ครึ่งกิโล ถึงเจ็ดขีด สนนราคาอยู่ในระดับที่ต้องยกนิ้วให้ เพราะโกวุฒิขายในราคากิโลกรัมละ 600 บาท ซึ่งเราก็ได้รับความอร่อยเกินราคาจริงๆ

เพื่อยืนยันว่ากุ้งแม่น้ำตรังตัวโตจริง เราจึงบีบบังคับให้คุณนันท์ ผู้เป็นทั้งเจ้ามือ และช่างภาพ ช่วยเทียบสัดส่วนให้ผู้ชมทางบ้านเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น โดยมีคณวิ คุณติ๊ก และคุณเล็ก แห่ง ททท. ตรัง คอยให้กำลังใจอยู่ข้างๆ

อย่างไรก็ดี เราแอบรู้สึกผิดสังเกตที่เนื้อก้ามกุ้งถูกแกะวางไว้ให้กินอย่างเรียบร้อย สวยงาม ราวกับมีบริกรในร้านอาหารฝรั่งเศสมาตระเตรียมไว้ให้ ซึ่งออกจะเหนือความคาดหมายในบรรยากาศธรรมชาติกลางป่าจากเช่นนี้ ได้รับคำเฉลยว่า โกวุฒินั้น เป็นคนโรงแรมระดับมืออาชีพมาก่อน รูปแบบการบริการจึงเป็นแบบติดดาว แถมยังมีอัธยาศัยไมตรีดีเยี่ยม นอกจากน้ำจิ้มรสเด็ดแล้ว ก็ยังมีรสชาติของมิตรภาพดีๆที่ช่วยทำให้อาหารมื้อนี้อร่อยยิ่งขึ้นไปอีก

ตื่นเต้นกับกุ้งยังไม่หาย กลิ่นหอมเปรี้ยวปากยั่วน้ำลายของแกงส้มปูไข่หน่อไม้ดอง ก็ทำให้เรามองหาข้าวสวยร้อนๆ ….โอ๊ยย อร่อยจริงๆ รสชาติถึงเครื่อง แต่ไม่เผ็ดจนเสียผู้เสียคนเหมือนร้านอาหารไทยอีกหลายร้านที่ไม่เข้าใจเสียทีว่า ถึงรสถึงชาตินั้น มิได้แปลว่าเผ็ดจี๋…มันหมายถึงอร่อยจัดจ้านครบรสต่างหาก

น่าเสียดายเหลือเกินที่ ปูนิ่มทอดกรอบสามรส อาหารแนะนำจานเด็ดนั้นอร่อยเกินไปจนเราเผลอกินหมดโดยไม่ได้ทันถ่ายรูป  … ดังนั้น จึงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมากสำหรับจานที่คุณไม่เห็น อิ อิ

และเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เมื่อปลากระพงทอดราดน้ำปลาจานเติบนี้ถูกยกมาเสิร์ฟ เราจึงประกาศก้องว่า “อย่าเพิ่งกินนะพี่น้อง ขอถ่ายรูปก่อน!!!!” กลิ่นหอมของปลาทอดกับกลิ่นหวานๆเค็มๆของน้ำปลาหวาน ทำเอาช่างภาพต้องกลืนน้ำลายก่อนกดชัตเตอร์

หน้าปกเมนูมีรูปดอกอะไรก็ไม่รู้ ดูสวยแปลกๆ ถามมาถามไปได้ความว่า คือดอกลำพู SIGNATURE FLOWER ของร้าน…และที่สวยเกินกว่าเหตุ ก็เพราะถ่ายโดยฝีมือช่างภาพ pixtrang.com นี่เอง

ไหนๆ เราก็มาถึงครัวลำพูแล้ว ก็มาทำความรู้จักกับดอกลำพู กันหน่อยนึง

ดอกลำพู  นั้นเกิดจากต้นลำพู ซึ่งมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Sonneratia caseolaris Engler
เหตุที่เรื่องราวของดอกลำพู มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยประเภทนิราศอยู่หลายตอน
เพราะสมัยก่อนคนไทยเราสัญจรทางน้ำ และต้นลำพูก็เป็นไม้ชายน้ำที่มีสิ่งน่าสนใจหลายอย่างให้เอ่ยถึง
ดังเช่น…

ลำพูรายชายตลิ่งดูกิ่งค้อม
มีขวากล้อมแหลมรายดังปลายเข็ม
เห็นปูเปี้ยวเที่ยวไต่กินไคลเค็ม
บ้างเก็บเล็มลากก้ามรุ่มร่ามครัน

กลอนนี้มาจากบทวรรณคดีเรื่อง นิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ ทำให้มองเห็นภาพของต้นลำพู ซึ่งขึ้นอยู่ตามป่าชายเลน และที่น้ำกร่อยได้อย่างชัดเจน

ลำพูเป็นไม้ต้นสูง ๕ – ๑๕ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวรูปรี หรือรูปไข่แกมรูปรี ยาวประมาณ ๓.๐ – ๕.๐    ซม. ปลายแหลมเป็นส่วนใหญ่ ก้านใบสั้นและออกเป็นคู่ตรงกันข้าม มีรากหายใจเป็นแท่งแหลมๆ  โผล่ขึ้นจากพื้นดินรอบๆ ต้น ออกดอกที่ปลายกิ่ง หรือตามซอกใบ ๑ – ๓ ดอก ดอกตูมสีเขียวเป็นรูปไข่ปลายแหลมเล็กน้อย กลีบดอกเป็นเส้นหรือรูปใบหอก เกสรเพศผู้เป็นเส้นสีชมพูจำนวนมาก ร่วงง่าย คงเหลือแต่กลีบเลี้ยงสีเขียวเป็นกลีบสามเหลี่ยมหนาๆ  ๖ กลีบ ซึ่งจะติดอยู่กับผลจนผลแก่ ผลกลมแป้น มียอดเกสรเพศเมียเป็นเส้นยาวติดอยู่ที่ยอด ผลดิบใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก รับประทานกับแกงเผ็ด หรือใส่ข้าวยำเช่นเดียวกับดอก ผลสุกมีรสเปรี้ยวอมฝาดรับประทานกับน้ำปลาหวานเหมือนมะม่วง ชาวบ้านนำรากหายใจของลำพูมาช้เป็นจุดขวดและเป็นทุ่นลอยในการประมงเนื้อไม้ของลำพูแข็งใช้ทำเชื้อเพลิงได้

ในเวลากลางคืนตามต้นลำพูจะมีหิ่งห้อยมาเกาะตามใบอยู่เต็มต้น ทำให้มีแสงระยิบระยับสวยงาม ดังที่สุนทรภู่ได้บรรยายไว้ใน นิราศเมืองแกลง ว่า

ลำพูรายพรายพร้อยหิ่งห้อยจับ สว่างวับแวววามอร่ามเหลือง
เสมอเม็ดเพชรัตน์จำรัสเรือง      ค่อยประเทืองทุกข์ทัศนาชม
สรุปว่า ต้นลำพูนั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นต้นไม้อันแสนโรแมนติก แต่ยังเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายน้ำอีกด้วยนะจ๊ะ

ส่วนเหตุผลที่รูปสวยนี้ไม่ค่อยชัด เพราะเราเอาไอโฟนถ่ายมาจากปกหนังสืออีกที แถมบรรยากาศก็มืดสลัวซะแล้ว ชะเอิง เอย
แหมเสียดายจริงๆ….ถ้าหนีบเอา penfolds มาสักลัง คืนนี้คงได้เห็นหิ่งห้อยระยิยระยับจับใจ แต่ไม่เป็นไร ฝากไว้ก่อน เดี๋ยวจะแวะมาใหม่ เพราะโกวุฒิใจป้ำ แจกนามบัตรVIPแถมลายเซ็นต์ ให้เรามาเบ่งได้ลด 10% ในโอกาสต่อไป

อากาศปลายปีกำลังเย็นสบาย อาหารอร่อย จิบไวน์ ระยับแสงหิ่งห้อยแพรวพราย ริมสายน้ำตรัง …ว้าววววว!!!!

 

หมายเหตุ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2560

ข้อมูลปัจจุบัน ร้านครัวลำพูไม่ได้บริหารโดย “โกวุฒิ” เจ้าของเดิมแล้ว จึงไม่แน่ใจว่า บทวิจารณ์นี้จะยังเป็นข้อมูลอัพเดตแค่ไหนในเรื่องคุณภาพอาหารและบริการ ดังนั้น ถ้าใครอยากชิมอาหารฝีมือร้านใหม่ของ “โกวุฒิ” สามารถแวะไปชิมได้ที่ร้าน “ภูตรัง” นะคะ

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>