อบจ.ตรังกับรางวัลนวัตกรรมท้องถิ่นไทย


ในวันที่ 17 กันยายน 2553 ที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) โดยการนำของ นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้รับรางวัลนัตกรรมท้องถิ่นไทยในงาน “นวัตกรรมท้องถิ่นไทย ครั้งที่ 1” ซึ่งจัดขึ้นที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานครฯ จากการส่ง “โครงการพัฒนาระบบเครือข่ายคมนาคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดตรังแบบมีส่วนร่วม” เข้าร่วมการประกวด โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบโล่รางวัล พร้อมกันนี้ในวันดังกล่าวอบจ.ตรังยังได้ร่วมออกบูทจัดแสดงนิทรรศการโครงการดังกล่าวเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้อันเกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ได้นำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาจังหวัดของตนอีกด้วย

เหตุผลที่โครงการดังกล่าวของอบจ.ตรังได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.)  และ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและเผยแพร่นวัตกรรมท้องถิ่น ให้ได้รับรางวัลดังกล่าวก็เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เป็นนวัตกรรมท้องถิ่นที่โดดเด่นและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่พัฒนาจังหวัดตรังโดยการสมทบงบประมาณระหว่างอบจ.ตรังกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง (เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล) ในจังหวัดตรังในอัตราส่วน 60 ต่อ 40 ตามลำดับ ซึ่งเป็นรูปแบบความร่วมมือที่นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ในพ.ศ. 2548 เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในจังหวัดตรัง เช่น ถนน (จนเรียกกันจนติดปากว่า “ถนนเครือข่าย”) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวตรัง และในปัจจุบันความร่วมมือดังกล่าวได้ขยายไปยังการก่อสร้างสะพานและท่าเทียบเรืออีกด้วย

นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้เล่าเหตุผลของการริเริ่มรูปแบบความร่วมมือดังกล่าวว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างบางแห่งมีงบประมาณประจำปีน้อยมาก เช่น 10 ล้านบาทต่อปีและใน 10 ล้านบาทดังกล่าวยังต้องนำมาจ่ายค่าใช้จ่ายประจำอีก (เช่น เงินเดือนข้าราชการ – ลูกจ้าง) ทำให้ปีหนึ่ง ๆ เหลืองบประมาณที่สามารถนำมาพัฒนาพื้นที่ได้จริงน้อยมากและหากทำได้ก็ได้แต่งานที่มีคุณภาพต่ำ เช่น ถนนหินคลุก จึงได้คิดวิธีการที่อบจ.ตรังซึ่งมีงบประมาณมากกว่าและสามารถใช้งบประมาณดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้ทั่วทั้งจังหวัดจะสามารถให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาพื้นที่ได้เพราะท้ายที่สุดผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาดังกล่าวคือประชาชนชาวตรัง เมื่อเวลาผ่านไปรูปแบบการสมทบงบประมาณดังกล่าวได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ โดยจำนวนถนนเครือข่ายในพ.ศ. 2549 มีจำนวน 16 สาย พ.ศ. 2550 มีจำนวน 56 สาย พ.ศ. 2551 มีจำนวน 15 สาย พ.ศ. 2552 มีจำนวน 51 สาย และพ.ศ. 2553 มีจำนวน 22 สายตามลำดับ

ในรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2550 (เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน) ซึ่งจัดทำโดย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ได้จัดลำดับการพัฒนาคนของทั้ง 76 จังหวัดของประเทศไทยเอาไว้โดยใช้ดัชนีชี้วัดทั้งหมด 8 ตัว โดยหนึ่งในแปดดัชนีชี้วัดดังกล่าวคือดัชนีการคมนาคมและการสื่อสาร จังหวัดตรังมีผลจากการวัดโดยดัชนีดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ระดับ “ดีเลิศ” โดยอยู่ในลำดับที่ 16 ของประเทศ (สุพรรณบุรีอยู่ในลำดับที่ 32 (ดี) และ เชียงใหม่อยู่ในลำดับที่ 45 (ปานกลาง)) ซึ่งประเมินจากจำนวนหมู่บ้านที่ถนนสายหลักใช้การได้ตลอดปีและความยาวของถนนต่อพื้นที่
    
จากการเข้าร่วมพิธีมอบราววัลนวัตกรรมท้องถิ่นไทยครั้งที่ 1 ทำให้ทราบว่าการปกครองท้องถิ่นของไทยนั้นมิใช่เรื่องใหม่เนื่องจากมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรกขึ้น (สุขภิบาลกรุงเทพ) ตั้งแต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แต่การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอดีตมักเป็นการทำงานเชิง “ตั้งรับ” คือเป็นการรับคำสั่งมาจากการปกครองส่วนกลาง (กระทรวง ทบวง กรม) และการปกครองส่วนภูมิภาค (จังหวัด อำเภอ) จนกระทั่งประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทำงาน “เชิงรุก” มากขึ้นซึ่งหมายถึงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์คิดค้นโครงการเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น การมอบรางวัลนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานให้มากยิ่งขึ้น โดยในปีที่ 1 ของการประกวดนี้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ส่งโครงการเข้ามาเพื่อร่วมการประกวดมากกว่า 1,000 โครงการ แต่มีเพียง 61 โครงการเท่านั้นที่ผ่านการคัดเลือก โดยอบจ.ตรังเป็นเพียง 1 ใน 5 ของอบจ.ทั้ง 75 แห่งทั่วประเทศที่ได้รับรางวัลดังกล่าว  

You may also like...