ศูนย์แสดงแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเขาสามบาตร

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) โดยการนำของนายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้เปิดศูนย์แสดงแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเขาสามบาตร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตวัดไพรสณฑ์ บ้านป่าหมาก หมู่ที่ 4 ต. นาตาล่วง อ. เมือง จ.ตรัง ที่อบจ.ตรังได้ใช้งบประมาณปี 2551 จำนวน 1,879,900 บาท สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ด้านศิลปะโบราณและประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ซึ่งจะนำไปสู่ความกระจ่างในการศึกษาประวัติศาสตร์ของจังหวัดตรังและของประเทศไทยโดยรวม โดยสิ่งที่อบจ.ตรังได้ดำเนินการไปเพื่อประกอบขึ้นเป็นศูนย์แห่งนี้ประกอบด้วย (1) การขยายเขตไฟฟ้าแรงต่ำเข้าไปภายในพื้นที่โครงการ (2) การก่อสร้างป้ายโครงการพร้อมไฟส่องป้าย (3) การก่อสร้างอาคารแหล่งเรียนรู้เขาสามบาตร (4) การติดตั้งระบบไฟฟ้าชนิดกันน้ำภายในถ้ำ (5) การก่อสร้างทางเดินเข้าสู่ภายในถ้ำ (6) การปลูกต้นหางนกยูงฝรั่ง 52 ต้น และ (7) การปรับปรุงศาลาเดิม หลังจากการทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการดังกล่าว องค์การบริหารส่วนตำบลนาตาล่วง (อบต.นาตาล่วง) จะเป็นหน่วยงานที่รับช่วงในการบริหารจัดการดูแลศูนย์แห่งนี้ต่อไป         

ความเป็นมาของชื่อเขาสามบาตร

ชื่อ “เขาสามบาตร” มีการสันนิษฐานตามการเขียนตัวสะกดของชื่อไว้ว่าน่าจะมีที่มาจาก 2 แหล่ง คือ
(1) เขาสามบาตร สะกดเช่นเดียวกับ “บาตรพระ” ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า “นางเลือดขาว” และคณะซึ่งมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้รวบรวมทรัพย์สมบัติจำนวน 3 บาตรพระ เพื่อไปสมทบการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ที่นครศรีธรรมราช โดยเดินทางข้ามเขาพับผ้ามายังเมืองตรังตามลำคลองปะเหลียนจนไปถึงปากแม่น้ำ จากนั้นเดินทางทวนลำน้ำไปทางทิศเหนือจะสามารถไปสู่เมืองนครศรีธรรมราชได้ แต่เมื่อได้ทราบว่าการก่อสร้างเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงนำสมบัติไปฝังไว้ที่เขาสามบาตร 
อีกกระแสหนึ่งเล่าว่า “ยายจัน” ซึ่งมีบ้านอยู่บริเวณเขาสามบาตรและเป็นผู้มีฐานะมั่งคั่ง ได้รวบรวมทรัพย์สมบัติเพื่อไปสมทบการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ที่นครศรีธรรมราชเช่นกัน แต่เมื่อได้ทราบว่า องค์พระธาตุได้สร้างเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงนำทรัพย์สมบัติจำนวนสามบาตรพระ ไปฝังไว้ในถ้ำที่เขาสามบาตร แล้วผูกเป็นปริศนาคำกลอน บอกที่ซ่อนสมบัติเอาไว้ว่า “ขึ้นตนขาม ข้ามต้นทึง ถึงต้นขอย คอยลงมา ไม้ค่าวาขัดดอก ใครคิดตก กินไม่รู้สิ้นเลย” จากเรื่องราวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช ในอดีตเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่จนเป็นที่เล่าขานกันไปทั่วทั้งภาคใต้ ตำนานนิทานจำนวนมากต่างกล่าวอ้างถึงความเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช โดยถ้ำพระพุทธใน อ.รัษฎา จ.ตรัง ก็มีเรื่องเล่าทำนองนี้เช่นกัน
           
(2) เขาสามบาท สะกดด้วยตัว “ท” โดยสันนิษฐานตามสภาพของถ้ำเขาสามบาตรที่ภายในมี “สระน้ำ” ประกอบกับจารึกสมัยอยุธยาบนผนังถ้ำ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ได้เสด็จมาสำรวจภายในถ้ำเขาสามบาตรเมื่อพ.ศ. 2446 ในขณะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ได้ทรงบันทึกชื่อถ้ำแห่งนี้ไว้ใน “จดหมายเหตุระยะทางไปตรวจราชการแหลมมาลายู” ตามการเรียกขานของชาวท้องถิ่นในสมัยนั้นเป็น 2 ชื่อคือ “เขาสามบาตร” บ้าง “เขาสระบาป” บ้าง จึงทำให้มีการตีความว่า “สะ” อาจหมายถึง “ชำระให้สะอาด” หรือ “ทำให้หมดสิ้น” เขาสะบาปจึงอาจเป็นสถานที่ประกอบพิธีล้างบาปโดยใช้น้ำจากสระภายในถ้ำ แต่ชาวบ้านรุ่นหลังเห็นว่าในถ้ำมีสระน้ำ จึงเรียกชื่อจนเปลี่ยนความหมายจาก “เขาสะบาป” เป็น “เขาสระบาป” กระทั่งเสียงเพี้ยนกลายเป็น “เขาสามบาท” หรือ “เขาสามบาตร” ในที่สุด     

ส่วนต่าง ๆ ของถ้ำเขาสามบาตร

ถ้ำเขาสามบาตรแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ (1) คูหาส่วนหน้า เป็นส่วนที่แสงสว่างลอดเข้าไปได้ ชาวบ้านเรียกคูหาส่วนนี้ว่า “ถ้ำเสาภูมิ” (2) คูหาตอนกลาง เป็นคูหาที่แสงสว่างส่องเข้าถึงบางส่วน ชาวบ้านเรียกคูหาส่วนนี้ว่า “ถ้ำพระ” เพราะเคยมีพระพุทธรูปที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์เคยทอดพระเนตรประดิษฐานอยู่ ทำให้เชื่อว่าภายในถ้ำแห่งนี้น่าจะเคยเป็นศาสนาสถาน และ (3) คูหาตอนใน เป็นคูหาที่มืดและเป็นโพรงถ้ำแยกย่อยเข้าไปในผนังประมาณ 8 คูหา ซึ่งมีทั้งที่เป็นซอกโพรงแคบ ๆ เพดานต่ำ ต้องคลานเข้าไปและบริเวณกว้างที่สามารถเดินไปมาได้สะดวก

ความสำคัญทางโบราณคดีของเขาสามบาตร

ภายในถ้ำค้นพบหลักฐานทางโบราณในคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบได้แก่ เศษชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินค่อนข้างหยาบแบบหม้อสามขา ชามภาชนะปากผาย เครื่องมือสะเก็ดหิน ค้อนหิน เปลือกหอยแครงเจาะรู กระดองเต่า หอยน้ำจืด รวมทั้งรูปภูเขาสามลูกบนผนังถ้ำ
ส่วนหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ประกอบด้วย โบราณวัตถุสมัยอยุธยา ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะเนื้อดินขาวเหนียวแบบชามมีเชิง คนโทและพวยกา และที่สำคัญคือ ตัวอักษรที่จารึกบนผนังถ้ำที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้เคยทรงวินิจฉัยว่า เป็นลักษณะเดียวกับตัวอักษรที่วัดป่าโมก (อ. ป่าโมก จ. อ่างทอง) ในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 31 แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2252- 2275) แต่พุทธศักราชที่ปรากฏในข้อความจารึก (พ.ศ. 2157) แสดงว่าตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2148 – 2163) เนื้อหาของข้อความจารึกดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่าภายในถ้ำแห่งนี้เคยเป็นศาสนสถาน
นอกจากนี้แล้ว บริเวณรอบ ๆ เขาสามบาตร นักวิชาการบางท่านได้สันนิษฐานว่าน่าจะเคยเป็นที่ตั้งของ ตัวเมืองตรังอีกแห่งหนึ่งในอดีต เพราะค้นพบร่องรอยคูเมืองอันเป็นหลักฐานยืนยันที่สำคัญ       

สถานะปัจจุบันและคำแนะนำสำหรับผู้มาเยือน

ปัจจุบันที่ดินบริเวณเขาสามบาตร เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์อยู่ในความดูแลของอบต.นาตาล่วง รวมทั้งถูกกำหนดให้เป็นเขตที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมไทยของจังหวัดตรังตามกฎหมายว่าด้วยผังเมืองอีกด้วย และจากการสัมภาษณ์ ว่าที่ร.ต. ชาญยุทธ เกื้ออรุณ สมาชิกสภาอบจ.ตรัง ทำให้ทราบว่า อบต.นาตาล่วงและภาคประชาชนกำลังดำเนินการรวบรวมสิ่งของโบราณที่เคยค้นพบภายในถ้ำที่มีผู้เก็บรักษาไว้เพื่อที่จะนำมาจัดแสดงในอาคารแหล่งเรียนรู้เขาสามบาตรที่ได้สร้างขึ้น 
ที่สำคัญ นอกจากการดูแลรักษาเขาสามบาตรของหน่วยงานภาครัฐแล้ว ประชาชนและผู้มาเยือนควรช่วยกันดูแลด้วย โดยการเข้าไปเยี่ยมชมควรเป็นการเยี่ยมชมอย่างมีจิตสำนึก เช่น ไม่ขีดเขียนบนฝาผนังถ้ำ ไม่ทิ้งขยะเรียงราด ไม่เก็บสิ่งของภายในถ้ำไปเป็นของตนเอง ไม่หักหรือตัดหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ ฯลฯ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สถานที่ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ให้อยู่คู่เมืองตรังของเราตลอดไป     

————————————————————————
บทความโดย สิทธิ หลีกภัย  เลขานุการนายกอบจ.ตรัง sitthi22@yahoo.com

(ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงมาจาก หนังสือโครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมเขาสามบาตร ซึ่งจัดทำโดย หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดตรัง โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง)   

You may also like...