ประวัติของมัสยิดประจำจังหวัดตรัง

เมืองตรังหรือจังหวัดตรังขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองน่าอยู่”เพราะมีอาหารอร่อย มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และที่สำคัญ ชาวตรังไม่ว่านับถือศาสนาใดได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมานานแล้ว องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) โดยการนำของนายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อประชาชนทุกภาคส่วนตลอดมา จังหวัดตรังมีประชากรประมาณ 612,042 คน ประมาณร้อยละ 18 หรือประมาณ 110,168 คนเป็นชาวมุสลิม (ประมาณร้อยละ 80.5 เป็นชาวพุทธ ประมาณร้อยละ 1.2 เป็นชาวคริสต์ และประมาณร้อยละ 0.3 นับถือศาสนาอื่น ๆ) ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวมุสลิมในจังหวัดตรังมีความประสงค์ที่จะมีมัสยิดกลางหรือมัสยิดประจำจังหวัดเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เพื่อให้ชาวมุสลิมจากชุมชนต่าง ๆ มาร่วมกันละหมาดและฟังคุตบะห์ (การแสดงธรรม) ในช่วงบ่ายวันศุกร์ และปฏิบัติศาสนกิจในวันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนา มัสยิดกลางจึงมักมีมิมบัร (พลับพลาเทศนา) ให้อิหม่ามหรือคอเต็บ (ผู้แสดงธรรม) ขึ้นกล่าวคุตบะอ์หรือแจ้งข่าวสารต่าง ๆ     

ความจำเป็นของมัสยิดประจำจังหวัดตรังปรากฏชัดในพ.ศ. 2532 เมื่อสด จิตรลดา แชมป์โลกมวยสากลชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลาม ได้มาชกป้องกันตำแหน่งที่เวทีมวยชั่วคราวที่จังหวัดตรัง สด จิตรลดา ได้ขอไปละหมาดก่อนขึ้นชกที่มัสยิดกลางของจังหวัดตรัง แต่ในขณะนั้นจังหวัดตรังยังไม่มีมัสยิดกลาง สด จิตรลดา จึงต้องไปละหมาดที่มัสยิดบ้านวังเป้าซึ่งตั้งอยู่ที่ ต. บางเป้า อ. กันตัง แทน         

อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการขนาดใหญ่อย่างการก่อสร้างมัสยิดประจำจังหวัดมิใช่เรื่องง่าย นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้เล่าว่าก่อนการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นในพ.ศ. 2546 เพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่น เช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนนั้น การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ระดับจังหวัดเป็นไปได้ยากเนื่องจากก่อนการแก้กฎหมายดังกล่าว ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากมติสภาท้องถิ่น ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องอาศัยเสียงสนับสนุนข้างมากจากสภาท้องถิ่น ส่งผลให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องคอยเอาอกเอาใจสมาชิกสภาท้องถิ่นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น จัดสรรงบประมาณลงในแต่ละเขตให้เท่า ๆ กัน แทนที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง การดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อประชาชนทั้งจังหวัดจึงทำได้ยากมาก 

หลังจากการแก้กฎหมายในพ.ศ. 2546 และเมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกอบจ.ตรังเป็นสมัยที่สองเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2547 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับรองผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2547 นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง จึงได้นำความต้องการดังกล่าวของชาวมุสลิมในจังหวัดตรังมาแปลงเป็นนโยบาย โดยอบจ.ตรังได้เชิญคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดตรัง และผู้นำศาสนาจากมัสยิดต่าง ๆ จำนวน 121 แห่งในจังหวัดตรังมาประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ที่ห้องประชุมสภาอบจ.ตรัง ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้มีการก่อสร้างมัสยิดประจำจังหวัดตรัง และที่ประชุมได้ลงมติเลือกสถานที่ก่อสร้างด้วย โดยเลือกพื้นที่หมู่ 1 ต. ทุ่งกระบือ อ. ย่านตาขาว จ.ตรัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมเพราะมีขนาดตามต้องการและมีชุมชนมุสลิมอยู่ใกล้เคียงตามข้อบัญญัติของศาสนาอิสลาม   
 
ในการขออนุญาตเพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้าง อบจ.ตรังได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งกระบือ สำนักงานที่ดินจังหวัดตรัง สาขาย่านตาขาว วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดตรัง โรงเรียนกีฬาจังหวัดตรัง และนายเชิดพันธุ์ ณ สงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังในขณะนั้น อบจ.ตรังจึงได้ใช้ที่ดินตามที่ขอซึ่งมีขนาด 39 ไร่ 3 งาน 56 ตารางวา และได้ซื้อสวนยางใกล้เคียงมาเพิ่มเติมอีกประมาณ 5 ไร่เศษ

ในการออกแบบมัสยิดประจำจังหวัดตรัง อบจ.ตรังได้รับแบบแปลนมัสยิดต้นแบบมาจาก นายอารีฟิน บินอาสมาแอล ชาวมาเลเซียผู้มีความรู้เกี่ยวกับการออกแบบมัสยิดเป็นอย่างดี โดยมีนายกิตตินุพงษ์ ถนอมธีระนันท์ สถาปนิก 7 ว. สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตรัง และนายสมหมาย ชนะสิทธิ์ วิศวกรโยธา 7 วช. อบจ.ตรัง เป็นผู้แก้ไขแบบแปลนดังกล่าวให้เหมาะสมกับความเป็นภาคใต้ของไทย นอกจากนี้ ในช่วงระหว่าง 26-29 มีนาคม พ.ศ. 2549 นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้พาคณะทำงานเดินทางไปทัศนศึกษาที่มัสยิด 3 แห่งในประเทศมาเลเซียซึ่งได้แก่ มัสยิดปูตรา (Putra Mosque) ซึ่งเป็นมัสยิดสีชมพูที่มีความงดงาม มัสยิดประจำเขตปกครองพิเศษของมาเลเซีย (Masjid Wilayah Persekutuan) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และมัสยิดปีนัง (Penang State Mosque) เพื่อนำมาปรับปรุงแบบของมัสยิดประจำจังหวัดตรังให้เหมาะสม นอกจากนี้ ทางคณะทำงานยังได้ศึกษาแบบของมัสยิดจากแหล่งอื่น ๆ อีกด้วย เช่น งานวิจัยทางสถาปัตยกรรมเรื่องการศึกษามัสยิดในกรุงเทพ ฯ ผ่านทางรูปทรงที่ว่างและการวางผัง โดยอาจารย์อาดิศร์ อิดรีสรักษมณี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และตำราสถาปัตยกรรมอิสลามอื่น ๆ อีกด้วย โดยมัสยิดประจำจังหวัดตรังได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับผู้มาละหมาดได้ทั้งสิ้น 1,260 คน ชั้นล่างสำหรับสุภาพบุรุษ (720 คน) และชั้นบนสำหรับสุภาพสตรี (540 คน)

วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การก่อสร้างมัสยิดประจำจังหวัดตรัง เนื่องจากเป็นวันแห่งการวางทิศกิบละห์ที่มิห์รอบหรือแกนกลางของทุก ๆ มัสยิดต้องหันไปทางทิศนี้ ซึ่งเป็นทิศที่ชี้ไปยังมัสยิดอัล-ฮะรอม  (Al Haram Mosque) นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย มัสยิดดังกล่าวเป็นมัสยิดที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นลำดับที่หนึ่งในศาสนาอิสลาม และเป็นทิศที่ชาวมุสลิมผินหน้าไปเวลาละหมาด โดยมีพลเรือตรีศาสตราจารย์นคร ทนุวงษ์ รองเจ้ากรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ เป็นผู้วางทิศ เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ การตกแต่งจะเป็นขั้นตอนถัดมา โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ได้มีการประชุมชาวมุสลิมในจังหวัดตรังเพื่อสอบถามความคิดเห็นในเรื่องนี้ ที่ประชุมลงมติว่าสีของมัสยิดประจำจังหวัดตรังควรเป็นสีม่วงซึ่งคล้ายกับสีของดอกศรีตรังซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดตรัง

ที่สำคัญ มัสยิดแห่งนี้ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นศาสนสถานแล้ว ยังมีหน้าที่รับใช้สังคมในด้านอื่น ๆ อีกด้วย มัสยิดหลายแห่งเป็นที่ตั้งของสมาคมและมูลนิธิเพื่อการกุศลต่าง ๆ เช่น สมาคมแม่บ้านมุสลิม ศูนย์ฝึกอาชีพ ศูนย์ฝึกพยาบาล ฯลฯ อีกด้วย นอกจากนี้ พื้นที่ชั้นใต้ดินของมัสยิดประจำจังหวัดตรัง ได้รับการออกแบบให้มีห้องสมุดและห้องประชุม จากการสอบถามคุณอารีฟิน บินอาสมาแอล ทำให้ทราบว่าผู้ที่มิได้นับถือศาสนาอิสลามก็สามารถมาใช้บริการห้องสมุดในมัสยิดได้ โดยหนังสือในห้องสมุดดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเกี่ยวกับศาสนาเท่านั้น มีข้อจำกัดเพียงประการเดียวคือ ผู้ที่มิใช่ชาวมุสลิมไม่สามารถสัมผัสคัมภีร์อัลกุรอานได้ ส่วนห้องประชุมนั้นสามารถใช้จัดการประชุมหรือจัดงานที่ไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลามได้ เช่น งานเลี้ยงที่ปราศจากเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ เป็นต้น   

—————————————————————————-

บทความโดย สิทธิ หลีกภัย เลขานุการนายกอบจ.ตรัง

You may also like...