หอยปะ

หอยปะเป็นหอย 2 ฝา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Meretrix Lusoria ที่อื่นอาจเรียกว่า หอยขาว หรือหอยตลับลาย ที่หมู่บ้านปากน้ำปะเหลียน ฝั่งตะวันออกตั้งแต่บ้านหินคอกควาย ฝั่งตะวันตกตั้งแต่บ้านวังวนลงไป บ้านเรือนสองฝั่งมีเปลือกหอยปะทับถมนับล้านๆ ตัว บ่งบอกถึงทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงผู้คนมายาวนาน เพราะในร่องน้ำระหว่างสองฝั่งมีเกาะเล็กๆ ชื่อเกาะหอไหร้ ซึ่งปกคลุมด้วยป่าชายเลน เมื่อน้ำขึ้นจะท่วมไปทั้งเกาะ ครั้นพอน้ำลงจะเห็นแนวทรายเป็นบริเวณกว้าง ที่ตรงนี้คือแหล่งหอยปะขนาดใหญ่ อาจจะใหญ่ที่สุดในประเทศไทยก็เป็นได้ ส่วนด้านปากน้ำตรังก็มีแหล่งหอยปะตั้งแต่บริเวณสถานีวิจัยนิเวศวิทยาป่าชายเลน หมู่บ้านโต๊ะหร้าไปถึงเกาะเคี่ยม และทะเลด้านนอกจนถึงแหลมจุโหย เกาะลิบง ปริมาณหอยด้านนี้น้อยกว่าด้านแม่น้ำปะเหลียน

 

แต่เดิมการหาหอยนั้นชาวบ้านเรียกว่า คุ้ยหอย โดยใช้เท้าเขี่ยและมือเก็บ ถ้าเป็นนักหาหอยขาย วิธีการที่ใช้ คือ ถีบกระดาน ครั้นเมื่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารทะเลเริ่มซื้อหอยปะเข้าโรงงาน วิถีดั้งเดิมก็เปลี่ยนไป มีการใช้เรือและเครื่องมือคราดที่เก็บได้จำนวนมาก เดิมเคยเลือกเฉพาะหอยตัวใหญ่มากินมาขาย ก็กลายเป็นเก็บกวาดขึ้นมาหมดทั้งตัวเล็กตัวน้อย เพื่อลงกะทะต้มและส่งขายเป็นกิโล เปลือกหอยที่ซ้อนทับกันมานานปีจึงเริ่มเล็กลง ตามจำนวนชั้นที่เพิ่มขึ้น

 

เป็นที่น่าดีใจว่า ชาวบ้านตามหมู่บ้านชายฝั่ง ได้แก่ บ้านแหลม วังวน อำเภอกันตัง บ้านหินคอกควาย อำเภอปะเหลียน ทุ่งตะเซะ ท่าบันได อำเภอย่านตาขาว ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมฟื้นฟูป่าชายเลนบนเกาะหอไหร้ ตั้งแต่พ.ศ. 2541 โดยมีสมาคมหยาดฝน องค์กรพัฒนาเอกชนเป็นผู้ประสานความร่วมมือ กิจกรรมนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างของการใช้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น การรักษาป่าชายเลนบริเวณนี้ไว้นับเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติ สร้างความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำรวมทั้งหอยปะรอบๆ เกาะ และยังเชื่อมโยงไปถึงการสร้างความสัมพันธุ์ระหว่างผู้คนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน แบ่งสรรปันใช้ให้เกิดประโยชน์ยั่งยืนต่อไปเปลือกหอยปะชั้นบนสุดตามริมฝั่งและลานบ้านของชุมชนเหล่านี้คงจะโตขึ้นเท่าที่เคยเป็นในชั้นล่างสุด

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>