ไอเอ็มทีจีทีคืออะไร

โครงการไอเอ็มทีจีที (IMT-GT) นั้นย่อมาจาก Indonesia – Malaysia – Thailand Growth Triangle ซึ่งมีชื่อภาษาไทยว่า “โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย” และเป็นหนึ่งในหลายโครงการในระดับอนุภูมิภาคภายในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคของ “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Association of South East Asian Nations) หรือ “อาเซียน” (ASEAN) โดยอาเซียนนั้นมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ แต่ IMT-GT เป็นเรื่องของการพัฒนาบางส่วนของ 3 ประเทศสมาชิกอาเซียนคือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เท่านั้น   

โครงการ IMT-GT มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่บางส่วนที่ได้กำหนดไว้ของประเทศสมาชิกทั้งสามที่เรียกว่า “อนุภูมิภาค” ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นครั้งหนึ่งอาจไม่ได้รับความสำคัญทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร โดยการ (1) เพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนในอนุภูมิภาคนี้ไม่ว่าระหว่างอนุภูมิภาคนี้ด้วยกันเองหรือจากนอกอนุภูมิภาคนี้ โดยใช้ข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน เช่น แรงงานราคาถูก และ ข้อดีทางเศรษฐกิจที่เป็นพื้นฐาน เช่น ความใกล้เคียงกันทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น (2) เพิ่มปริมาณสินค้าส่งออกสู่ภูมิภาคที่เหลือของโลกโดยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และ (3) เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศสมาชิกโดยเพิ่มการจ้างงาน โอกาสในด้านการศึกษา สังคมและวัฒนธรรม 
 
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน IMT-GT นั้นได้ขยายพื้นที่โครงการตลอดมา โดยในปัจจุบันทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ของไทยได้เข้าเป็นพื้นที่ของโครงการนี้ ส่วนอินโดนีเซียนั้นได้กำหนดให้ทั้งเกาะสุมาตราเป็นพื้นที่ของโครงการนี้ โดยบนเกาะดังกล่าวมีทั้งหมด 10 จังหวัด ได้แก่ อาเจะห์ สุมาตราเหนือ สุมาตราตะวันตก เรียว จัมบี สุมาตราใต้ ลำพุง บังกาเบลิตุง เกาะเรียว และเกาะนาตูน่า ส่วนมาเลเซียนั้นได้กำหนดให้  9 รัฐ อันได้แก่ เกดะห์ ปะลิส เประ ปาลัวปีนัง สลังงอร์ มะละกา กลันตัน เนกรีเซมบีลัน และตรังกานู เข้าเป็นพื้นที่ในโครงการนี้

โครงการ IMT-GT นั้นได้รับการริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2536 โดยอดีตผู้นำของ 3 ประเทศสมาชิก คือ (1) ดร. มหาธีร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (2) ฯพณฯ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีไทย และ (3) ท่านซูฮาร์โต้ อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โดยระบบการทำงานของ IMT-GT นั้นมีภาคเอกชนเป็นผู้นำและมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน เหตุที่มีภาคเอกชนเป็นผู้นำก็เพราะภาคเอกชนเป็นผู้ที่ทำธุรกิจอยู่ในอนุภูมิภาคนี้ย่อมรู้ดีว่าอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ และภาคเอกชนต้องการการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐบ้าง เนื่องจากภาคเอกชนไม่สามารถแก้ปัญหาได้เองในบางเรื่องและจำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐในการแก้ปัญหาเหล่านั้น เช่น การขอให้มีการเปิดด่านระหว่างประเทศในหนึ่งวันนานขึ้นเพื่อที่ผู้ประกอบการในแต่ละประเทศจะได้ค้าขายข้ามพรมแดนกันได้มากขึ้น การสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ถนน ท่าเทียบเรือ เป็นต้น และภาครัฐในฐานะผู้สนับสนุนมีหน้าที่ช่วยเหลือภาคเอกชนโดยการ (1) ส่งเสริมบรรยากาศทางธุรกิจ เช่น สร้างความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินเพื่อดึงดูดการลงทุน (2) สร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจของภาคเอกชน เช่น ถนน ท่าเรือ ท่าอากาศยาน และ (3) รับฟังความก้าวหน้าพร้อมทั้งแก้ปัญหาที่ภาคเอกชนต้องเผชิญ
     
IMT-GT มิได้มุ่งแต่การขายสินค้าเพียงประการเดียว แต่มุ่งกระตุ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน 6 เรื่อง ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม (2) เกษตรกรรม อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม (3) การค้าและการลงทุน (4) การท่องเที่ยว (5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ (6) ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน (Working Group) 6 คณะตามหัวข้อเรื่องดังกล่าวข้างต้น     

ภาครัฐของไทยมี “สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (สศช.) เป็นเลขานุการระดับชาติ พร้อมทั้งมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานสนับสนุน และมีหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐเป็นคณะทำงานตามสาขาความร่วมมือทั้ง 6 ด้านของ IMT-GT ดังต่อไปนี้ (1) กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักในคณะทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม (2) กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักในคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน (3) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานหลักในคณะทำงานด้านการท่องเที่ยว (4) สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลักในคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (5) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในคณะทำงานด้านการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และ (6) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลักในคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ส่วนประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ก็มีหน่วยงานภายในของประเทศเพื่อดูแลงานทั้ง 6 ด้านดังกล่าวเช่นเดียวกัน   

ส่วนภาคเอกชนมี “สภาธุรกิจ” (Joint Business Council หรือ JBC) ของแต่ละประเทศเป็นเลขานุการระดับชาติ สำหรับประเทศไทยนั้น สามารถติดต่อได้ที่ “สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา”   ภาคเอกชนของทั้งสามประเทศใน IMT- GT จะประชุมกันปีละ 2 ครั้ง การประชุมดังกล่าวเรียกว่า “การประชุมสภาธุรกิจสามฝ่าย” โดยจังหวัดตรังเคยเป็นสถานที่จัดการประชุมสภาธุรกิจสามฝ่าย ครั้งที่ 22 และเป็นที่ตั้งของ “เอ็มทีจีทีพลาซ่า” แห่งแรกในอนุภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) โดยการนำของ นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรังได้ริเริ่มโครงการ“ท่าเทียบเรือนาเกลือ” ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต. นาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อให้เป็นท่าเทียบเรือเพื่อการส่งออกทางฝั่งทะเลอันดามันที่สามารถเชื่อมโยงกับท่าเรือเบลาวัน บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และท่าเรือปีนัง รัฐปีนัง ของประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ อบจ.ตรัง ยังได้กำหนดให้ท่าเรือทุ่งคลองสน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต. บ่อหิน อ. สิเกา จ.ตรัง เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคนี้อีกด้วย

—————————————
บทความโดย สิทธิ หลีกภัย เลขานุการนายกอบจ.ตรัง

You may also like...