รวบรวมความกล้าต้านยาเสพติด

ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในกลุ่มเยาวชนถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศทั่วโลก การจับกุมผู้กระทำความผิดเป็นบทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปรามและเป็นการแก้ปัญหาแค่เพียงที่ปลายเหตุ แต่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องควรเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุซึ่งก็คือการป้องกันปัญหามิให้เกิดขึ้น ตามสุภาษิตที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้”

โครงการการศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน (Drug Abuse Resistance Education) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่าโครงการแดร์ (DARE) นั้น เป็นโครงการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้คิดค้นหลักสูตรเพื่อสอนนักเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเกี่ยวกับทักษะต่าง ๆ เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าไปข้องแวะกับยาเสพติด แก๊งก๊วน และพฤติกรรมแห่งความรุนแรงที่เกิดจากแรงกดดันที่มาจากการชักชวนของเพื่อนร่วมชั้นเรียนซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่มีลักษณะของการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1983 (พ.ศ. 2526) โดยตำรวจแห่งมลรัฐลอสแองเจลลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา จากความสำเร็จของโครงการดังกล่าวทำให้โรงเรียนประมาณร้อยละ 70 ในสหรัฐอเมริกาได้นำหลักสูตรแดร์ไปสอนในโรงเรียน ที่สำคัญสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้ถึงขนาดที่ได้มีการกำหนดให้หนึ่งวันในแต่ละปีเป็นวันแดร์แห่งชาติ (National D.A.R.E. Day) เพื่อรำลึกถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 43 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้นำหลักสูตรแดร์ไปปรับใช้ในประเทศของตน โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 41 ของโลกที่รับโครงการแดร์เป็นโครงการของประเทศ

การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปสอนนักเรียนในโรงเรียนส่งผลให้เกิดผลดีต่าง ๆ มากมายต่อชุมชนคือ (1) น้อง ๆ นักเรียนมีความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่รู้สึกเกรงกลัวที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ (2) น้อง ๆ นักเรียนได้เข้าใจบทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีบทบาทอื่น ๆ อีกมากมายในการช่วยเหลือสังคมมิใช่แค่เพียงจับกุมผู้ร้ายเท่านั้น (3) ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างน้อง ๆ นักเรียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากน้อง ๆ นักเรียนมาจากหลายชุมชนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีกำลังจำกัดไม่สามารถเข้าไปดูแลได้อย่างทั่วถึง (4) เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเป็นตัวเชื่อมไปสู่ประเด็นอื่น ๆ ของสังคมที่นอกเหนือไปจากเรื่องยาเสพติด (5) ก่อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเด็นสังคมต่าง ๆ โดยน้อง ๆ นักเรียนจะเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปสอนในโรงเรียนว่า “ครูแดร์”

ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ดำเนินโครงการฝึกฝนตำรวจภูธรทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ตามหลักสูตรแดร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลักสูตรแดร์นั้นมีการสอนในสองระดับคือประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยเนื้อหาในสองระดับดังกล่าวมีความแตกต่างกันเล็กน้อยตามระดับของผู้เรียน การเรียนการสอนใช้ระยะเวลาทั้งหมด 10 คาบ คาบละ 1 ชั่วโมง ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วย (1) การแนะนำโครงการแดร์ (2) บุหรี่กับนักเรียน (3) ม่านควัน (4) เหล้ากับนักเรียน (5) ความจริง (6) รากฐานของมิตร (7) การรวมทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกัน (-8-) การกระทำของแต่ละคน (9) ฝึก ฝึก ฝึก และ (10) กิจกรรมพิเศษ โดยหลักสูตรแดร์ได้ครอบคลุมยาเสพติดมากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติดที่รู้จักกันดีอย่างบุหรี่ ไปจนกระทั่งยาเสพติดที่สร้างปัญหาให้กับสังคมอย่างกระท่อมและยาบ้า การวัดผลหลังการอบรมกระทำโดยการให้น้อง ๆ นักเรียนเขียนเรียงความเรื่องยาเสพติดเพื่อเป็นการวัดความรู้ความเข้าใจ ที่น้อง ๆ ได้รับไปจากชั้นเรียน โดยมีการประกวดการเขียนเรียงความด้วย ผู้ที่ชนะการประกวดจะได้รับรางวัลในพิธีมอบประกาศนียบัตรเมื่อสิ้นสุดการอบรม

ตั้งแต่ในพ.ศ. 2551 เป็นต้นมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) โดยการนำของนายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้สนับสนุนงบประมาณแก่ตำรวจภูธรจังหวัดตรัง ให้ดำเนินโครงการแดร์ตามโรงเรียนต่าง ๆในจังหวัดตรังมาอย่างต่อเนื่อง จากสถิติทำให้ทราบว่าน้อง ๆ นักเรียนที่ผ่านการอบรมตามโครงการนี้มีดังนี้ ปี2551 จำนวน 787 คน ปี 2552 รุ่นที่ 1 จำนวน 729 คน รุ่นที่ 2 จำนวน 459 คน ปี 2553 รุ่นที่ 1 จำนวน 953 คน รุ่นที่ 2 จำนวน 1,108 คน และในปี 2554 รุ่นที่ 1 จำนวน 1,207 คน (รวมทั้งสิ้นจนถึงปัจจุบัน 5,243 คน)

ในพ.ศ. 2552 รัฐบาลโดยการนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยใช้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน เป็นยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินงานซึ่งประกอบด้วย (1) รั้วชายแดน (2) รั้วชุมชน (3) รั้วสังคม (4) รั้วโรงเรียน และ (5) รั้วครอบครัว อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นว่า การสร้าง “รั้วตนเอง” น่าจะสำคัญที่สุดเนื่องจากหากยาเสพติดผ่านรั้วอื่น ๆ มาได้แต่ถ้าเราไม่เสพเสียอย่าง ยาเสพติดเหล่านั้นก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้ การให้ความรู้แก่น้อง ๆ นักเรียนโดยผ่านโครงการนี้จึงเป็นการสร้างรั้วตนเองให้น้อง ๆ เยาวชนได้ทางหนึ่ง

คำว่าแดร์ (DARE) ประกอบด้วยตัวอักษร4 ตัว โดย D ย่อมาจาก Drug แปลว่า “ยาเสพติด” A ย่อมาจาก Abuse แปลว่า “ใช้ในทางที่ผิด” R ย่อมาจาก Resistance แปลว่า “การต่อต้านขัดขืน” และ E ย่อมาจาก Education แปลว่า “การศึกษา” ทั้งหมดจึงแปลว่า “การศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติด” นอกจากนี้ DARE ยังแปลว่า “กล้าหาญ” อีกด้วย โครงการนี้จึงเปรียบเสมือนการที่อบจ.ตรังและตำรวจภูธรจังหวัดตรังชักชวนน้อง ๆ นักเรียนให้รวบรวมความกล้าเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดนั่นเอง

สุดท้ายนี้ ทั้งอบจ.ตรังและตำรวจภูธรจังหวัดตรังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจถึงพิษภัยของยาเสพติดประเภทต่าง ๆ ในครั้งนี้ จะส่งผลให้น้อง ๆ นักเรียนซึ่งเปรียบเสมือนยุวทูตผู้นำความรู้จากโรงเรียนกลับบ้านจะสามารถนำความรู้ที่ได้จากโครงการนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อดูแลตนเอง เพื่อนฝูง ครอบครัวและชุมชน ให้ห่างไกลจากยาเสพติดและปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดได้อย่างยั่งยืน

———————————————————-

บทความโดย สิทธิ หลีกภัย เลขานุการนายกอบจ.ตรัง

sitthi22@yahoo.com

You may also like...