อบจ.ตรังสนับสนุนการศึกษาของผู้นำ “ท้องที่”

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) โดยการนำของนายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้เป็นเจ้าภาพในการจัด “การสัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ปกครองท้องที่จังหวัดตรัง” ณ โรงแรมวัฒนาพาร์ค อ.เมือง จ.ตรัง โดยมีกำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง และประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านและเลขานุการชมรม 14 จังหวัดภาคใต้ประมาณ 750 คนเข้าร่วมการประชุม หลังจากที่อบจ.ตรังเคยจัดการประชุมในลักษณะนี้มาแล้วเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 และ 4 กันยายน พ.ศ. 2552 ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ให้ผู้เข้ารับการสัมมนาได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องระเบียบข้อปฏิบัติ บทบาท สิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองท้องที่ได้เป็นอย่างดี (2) และให้ผู้เข้ารับการสัมมนาได้มีโอกาสพบปะสมาคมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างการฝึกอบรมและมีโอกาสสอบถามปัญหา ข้อข้องใจตลอดจนแนวทางปฏิบัติจากวิทยากรที่ได้รับเชิญมาให้ความรู้ในวันดังกล่าว

กำนันผู้ใหญ่บ้านคือส่วนหนึ่งของราชการส่วนภูมิภาคที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายปกครองของจังหวัด ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล) คือราชการส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารของจังหวัด อำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านนั้นมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเกล้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากแบบ “กินเมือง” เป็นแบบ “เทศาภิบาล” โดยมีเขตการปกครองจากใหญ่ไปสู่เล็กคือ (1) มณฑลเทศาภิบาล (2) จังหวัด (3) อำเภอ (4) ตำบล และ (5) หมู่บ้าน ตามลำดับ ในระยะแรก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงจัดการการปกครองในระดับมณฑลและจังหวัดก่อนด้วยการส่งข้าหลวงออกไปประจำมณฑลและจังหวัดต่าง ๆ เพื่อดำเนินการให้การบริหารราชการเป็นแบบแผนเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ต่อมาได้ทรงริเริ่มการจัดการการปกครองในระดับตำบลและหมู่บ้านโดยมีการริเริ่มตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน โดยให้คนในท้องที่มีส่วนร่วมด้วยการให้ราษฎรเป็นผู้เลือกกันเอง

ในพ.ศ. 2435 ในการส่งเสริมแผนการปฏิรูปการปกครองในระดับตำบลและหมู่บ้านของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมอบหมายให้หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ (เส็ง วิริยศิริ) ทดลองจัดระเบียบการเลือกกำนันและผู้ใหญ่บ้านในอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จและเป็นการวางระบบการปกครองท้องที่แบบใหม่ที่ดึงคนในระบบไพร่ที่สังกัดมูลนายให้เข้ามาเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกันของรัฐสมัยใหม่ ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งตำบลและหมู่บ้านตามหัวเมืองใกล้ ๆ ที่มีการคมนาคมไปมาสะดวกเพิ่มขึ้น

ในร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ได้มีการประกาศใช้พรบ. ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 โดยพรบ. ฉบับดังกล่าวกำหนดอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน เช่น ผู้ใหญ่บ้านเป็นนายทะเบียนสำมะโนครัวประจำหมู่บ้าน (เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนราษฎรในแต่ละครัวเรือน) โดยต้องคอยจัดทำให้ถูกต้องเสมอ และกำนันมีหน้าที่สำรวจและเก็บรักษายอดสัมมะโนครัว เป็นต้น ต่อมา พรบ. ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 ได้ถูกยกเลิกโดยพรบ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2547 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน ซึ่งพรบ. ฉบับนี้ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านใน 10 ลักษณะ คือ (1) การใช้อำนาจหน้าที่ปกครองราษฎร (2) รายงานต่อทางราชการ (3) นำข้อราชการไปประกาศแก่ราษฎร (4) การจัดทำทะเบียน (5) กิจการสาธารณประโยชน์ (6) การฝึกหัดการอบรมให้ราษฎรรู้จักกระทำการในเวลารบ (7) การบำรุงและส่งเสริมอาชีพของราษฎร ( การป้องกันโรคติดต่อ (9) การจัดหมู่บ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และ (10) การที่เกี่ยวด้วยความอาญา นอกจากนี้ กำนันผู้ใหญ่บ้านยังต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ อีกไม่น้อยกว่า 40 ฉบับ เช่น มีหน้าที่เป็นผู้ให้คำรับรองเกี่ยวกับความเหมาะสม ความประพฤติและหลักฐานของผู้ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนตามพรบ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน มีหน้าที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพรบ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 พรบ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน และเป็นเจ้าพนักงาน ตรวจบัตรตามด่านตรวจต่าง ๆ ตามพรบ. การทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2534 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน ฯลฯ

นอกจากการจัดการประชุมสัมมนาเพื่อเพิ่มความรู้ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นระยะ ๆ แล้ว ในอดีตอบจ. ตรังโดยการนำของนายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้ดำเนินโครงการยกระดับการศึกษาผู้นำท้องที่จังหวัดตรัง เนื่องจากผู้นำท้องที่โดยเฉพาะ กำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ปกครองระดับที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชน และต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ วิสัยทัศน์และเป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชน แต่จากการสำรวจพบว่า ผู้นำท้องที่เพียงส่วนน้อยมีโอกาสจบการศึกษาในระดับสูง คือ จบการศึกษาระดับประถมศึกษาร้อยละ 54.1 จบระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 18.9 จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 21.6 และสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพียงร้อยละ 5.4 โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่อบจ.ตรังร่วมกับสำนักงานศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตรัง (สำนักงานกศน.จังหวัดตรัง) (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดตรัง) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดการศึกษานอกระบบโรงเรียน มีหลักสูตรและวิธีการเรียนที่หลากหลาย เหมาะสมกับประชากรทุกระดับ และเมื่อจบการศึกษาที่สำนักงานกศน.จังหวัดตรังแล้ว สามารถศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้ที่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ซึ่งเปิดสอนสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบอาชีพและเกษตรกรที่สามารถนำอาชีพมาเทียบเป็นวุฒิการศึกษาได้ และในรายวิชาใดที่ไม่สามารถเทียบได้ก็จัดให้พบกลุ่มนอกเวลาซึ่งทำให้ผู้เรียนมีโอกาสจบการศึกษาได้แม้จะต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยก็ตาม

โดยในปีการศึกษา 2549, 2551 และ 2552 ได้มีกำนันผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมโครงการดังกล่าวที่สำนักงานกศน.จังหวัดตรัง จำนวน 112 คน 199 คน และ 91 คน ตามลำดับ และ ร่วมโครงการที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรังในปี 2549 ทั้งหมด 32 คน ในปี 2550 ทั้งหมด 78 คน ในปี 2551 ทั้งหมด 22 คน และ ในปี 2552 ทั้งหมด 2 คน ตามลำดับ และหลังจากจบการศึกษาชั้นปวส.แล้ว อบจ.ตรังก็ส่งเสริมให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีอีกด้วย แต่ตั้งแต่ในปี 2551 เป็นต้นมา กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจัดโครงการเพิ่มพูนคุณวุฒิแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ (ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี) ดังนั้น ผู้ที่จบการศึกษาในระดับปวส.ดังกล่าวจึงสามารถไปเข้าร่วมโครงการของกระทรวงมหาดไทยได้ต่อไป

 

———————————————–

บทความโดย สิทธิ หลีกภัย เลขานุการนายกอบจ.ตรัง

sitthi22@yahoo.com

You may also like...