สุรินทร์ โตทับเที่ยง ผู้สร้างตำนานวิวาห์ใต้สมุทร

สุรินทร์ โตทับเที่ยง ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตประธานหอการค้าจังหวัดตรัง

วิวาห์ใต้สมุทรที่โด่งดังไปทั่วประเทศที่รู้จักในระดับโลก เป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องยาวนานนับสิบปีนี้เกิดจากการต่อยอดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเปิดตัวเมืองตรังสู่การรับรู้ของโลกภายนอก เช่นเดียวกับกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับเทศกาล วิถีชีวิต และทรัพยากรการท่องเที่ยวที่เมืองตรังมีอยู่พร้อมสรรพ ถูกจุดประกายโดยหอการค้าจังหวัดตรัง โดยหนึ่งในผู้ก่อตั้งและรั้งตำแหน่งประธานหอการค้าตรัง ก็คือ สุรินทร์ โตทับเที่ยง

“จากปีแรกที่เราเริ่มงานวิวาห์เมื่อปี 2539 นั้นเป็นการต่อยอดจากการเริ่มเปิดเมืองตรังเพื่อการท่องเที่ยวตั้งแต่เมื่อปี 2527-2532 โดยตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นมักมีนักท่องเที่ยวบ่นว่ามีขยะทิ้งอยู่ใต้ทะเลเยอะมากทั้งยางรถยนต์ ทีวี หม้อหุงข้าว แม้แต่ตู้เย็น ฯลฯ จึงเริ่มรณรงค์ประชาสัมพันธ์กับชาวประมงและครอบครัวที่อยู่ชายฝั่งทะเล ให้ทราบว่านอกจากมีผลต่อธรรมชาติของทะเลแล้วยังทำลายวัฏจักรของปะการังที่มีผลต่อสัตว์ทะเล จึงเกิดกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเลในปี 2538 ปีถัดมามีนักดำน้ำคู่หนึ่งที่ร่วมกิจกรรมนี้แล้วปิ๊งกันระหว่างงานเลี้ยงขอบคุณที่เขามาช่วยทะเลตรังนี่คือที่มาของการจัดกิจกรรมวิวาห์ใต้สมุทรเป็นกิจกรรมแรกซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จักตรัง

“ระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผมนั่งดูอยู่นั่งดูการเติบโตของเมืองตรังแบบค่อยเป็นค่อยไป การเติบโตของเมืองตรังแม้ในช่วงเกิดวิกฤตที่มีผลต่อการท่องเที่ยวยอดของเราก็ไม่ตก เราเติบโตทุกปีเพราะเราทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เราดูแลนักท่องเที่ยวเหมือนกับเขาเป็นญาติของเรา”

“นับจากปี 2527 ที่เริ่มด้านการท่องเที่ยวตรังยอดนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 0 ผมบอกว่าอยากให้คนตรังซึ่งมี 6 แสนคนดูแลนักท่องเที่ยวสัดส่วน 1 ต่อ 1 คนสำหรับในปีนั้น ตอนนั้นเราตั้งเป้าต่อไปว่าให้คนตรัง 1 คนดูแลนักท่องเที่ยว 2 คน เป้าหมาย 1 ล้าน 2 แสนคนก็ไม่ไกลเกินความจริง เพราะปี 2550 มีนักท่องเที่ยว 6 แสนกว่าคน ปี 2551 ขึ้นมาเป็น 7 แสนกว่าคน ปี 2552 ขึ้นมา 8 แสนกว่าคน และเชื่อว่าปีนี้น่าจะเกือบ 1 ล้านคน ดังนั้นถ้าเราทำต่อไปอาจเป็นสัดส่วนคนตรัง 1 คนดูแลนักท่องเที่ยว 3 คน ตัวอย่างจากฝรั่งเศสคนไม่มากแต่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากกว่าสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ นี่คือตัวอย่างของการท่องเที่ยวต้องทำอย่างจีรังยั่งยืนค่อยเป็นค่อยไปและทุกภาคส่วนมาช่วยกัน นี่คือความสำเร็จที่เราค่อยๆ ใส่เพิ่มเติมเข้ามาให้มีกิจกรรมกันทุกเดือน แม้แต่หน้าฝนไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยวเราก็จัดเทศกาลหมูย่างเมืองตรังจัดเดือนกันยายนคิดค้นจัดมาจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 21 แล้ว เช่นเดียวกับขนมเค้กเมืองตรังก็ 21 ปี ผลแรกๆ อาจจะน้อยแต่เมื่อค่อยๆ ทำทุกวันนี้หมูย่างตรัง-ขนมเค้กตรังโด่งดังแล้ว”

สุรินทร์ย้อนรำลึกความหลังว่ากิจกรรมวิวาห์ใต้สมุทรนั้นเคยมีคนท้องถิ่นคัดค้าน เข้าใจว่าเขาทำไปเพราะอยากดังจนพูดกันว่า “คุณสุรินทร์ อยากออกทีวี” ฯลฯ ซึ่งกว่าที่จะประสานสื่อมวลชนให้ตีความท่องเที่ยวตรังได้มันเป็นอย่างไรและผลกลับมาเป็นเช่นไรวันนี้มันก็ตอบโจทย์ได้ในตัวมันเอง

“ตอนนี้คำว่า “เมืองตรัง” นั้นขายได้แล้ว เราภูมิใจว่าอย่างน้อยๆ เราได้ทดแทนบุญคุณของตรังบุญคุณท้องถิ่นที่เราเกิด ผมบอกกับสังคมบอกกับคนตรังว่า “อย่าถามว่าเมืองตรังให้อะไรเรา เราต้องถามตัวเราว่าเราเป็นคนตรังเราได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมหรือยัง” สิ่งเหล่านี้ผมพยายามบอกโดยเฉพาะกับพ่อค้าว่าตราบใดที่เมืองตรังเรายังไม่ดี โจรมากเหมือนไหร่มันก็ปล้นพ่อค้าอย่างเราก่อนเพราะเราคือเป้าหมายหลักก่อนคนอื่น ดังนั้นเราก็ต้องให้กับเมืองตรังก่อน ก่อนที่เขาจะมาปล้นเรา ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นซึ่งเราพยายามคิดพยายามทำให้กับจังหวัดตรังไม่ใช่เรื่องธรรมดาแต่ต้องใช้เวลาในการสร้างสม”

You may also like...